"...กรณีนี้ มีเบาะแสแจ้งว่า การใช้สิทธิลาพักร้อน-ลากิจ เป็นเวลาถึง 55 วัน ของพนักงานอบต.อาจสามารถ รายนี้ เกิดขึ้นเพราะเจ้าตัวร่วมคณะเดินทางไปทำงานในประเทศเกาหลีใต้ ในลักษณะแรงงานที่ลักลอบเข้าไปทำงานแบบผิดกฎหมาย หรือที่เรียกกันว่า ‘ผีน้อย’ ส่วนเหตุผลที่ทำให้เรื่องแดง เป็นเพราะว่าถูกสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.)เกาหลีใต้ จับกุมตัวได้ และถูกส่งตัวกลับมาที่ประเทศไทย ขณะที่เหตุผลที่ทำให้พนักงานอบต.อาจสามารถ รายนี้ ใช้สิทธิลากิจเดินทางไปได้ อาจเป็นเพราะได้รับสิทธิพิเศษจากความสนิทสนมกับผู้บริหารระดับสูงในหน่วยงานรายหนึ่ง?..."
เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน
กรณี "ผีน้อย" อบต.อาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด หลังปรากฏเป็นข้อมูลเผยแพร่ทางเพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน ว่า มี พนักงานขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด แปลงกายเป็นผีน้อยบินไปเกาหลี ใช้สิทธิลาเต็มที่ ช่วง 10 วันแรก ตั้งแต่ 3-16 ม.ค.66 ใช้ลาพักร้อน จากนั้นวันที่ 17 ม.ค.-21 มี.ค. ใช้สิทธิยื่นขอลากิจอีก 45 วัน กินเงินเดือนหลวงฟรีๆ
ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ก.ค.66 นายอนุชา พึ่งบุญศรี ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดร้อยเอ็ด ได้นำคณะเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ อบต.อาจสามารถ เพื่อสอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และขอข้อมูลหลักฐานการเข้า-ออก การทำงาน การลา และเอกสารเกี่ยวกับการขออนุญาตการลาภายในระยะเวลาที่ปรากฏในข่าวไว้ เพื่อรวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานไว้ตรวจสอบ
ภายหลังการลงพื้นที่ นายอนุชา ระบุว่า โดยหลักการแล้วพนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ประสงค์จะลากิจส่วนตัว ให้เสนอหรือจัดส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ไปจนถึงผู้มีอำนาจในการอนุญาต และเมื่อได้รับอนุญาตแล้ว จึงจะหยุดราชการได้ และการลานั้น ผู้มีอำนาจอนุมัติอนุญาต ต้องมีหน้าที่พิจารณาความจำเป็นเร่งด่วนของผู้ประสงค์ขอลา ทั้งนี้ การลานั้นต้องไม่ทำให้ราชการเสียหายด้วย หากพบการกระทำความผิดจริง ก็จะดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
กรณีนี้หากพิจารณาข้อมูลแค่เพียงผิวเผิน อาจจะถูกมองว่า แค่การลางานนาน 55 วัน ของเจ้าหน้าตำแหน่งเล็กๆ ไม่น่าจะใช่เรื่องใหญ่โต ที่จะต้องให้ความสนใจอะไรมากนัก
แต่หากพิจารณาลงลึกในรายละเอียดข้อมูล ที่สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันจากทีมสอบสวนของ ป.ป.ช.ร้อยเอ็ด จะพบว่า กรณีนี้นับเป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับปัญหาความฉ้อฉล ในการลากิจของเจ้าหน้าที่ข้าราชการทั่วประเทศ ที่ไม่ควรถูกมองข้ามโดยเด็ดขาด
ตามรายละเอียดดังนี้
@ ทำไม พนักงาน อบต.อาจสามารถ รายนี้ ต้องใช้สิทธิขอลาพักร้อน-ลากิจ เป็นเวลานานถึง 55 วัน
ตามระเบียบการลาของพนักงานส่วนท้องถิ่นของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นั้น การลาพักร้อน 10 วัน และการลากิจ 45 วัน ถือเป็นสิทธิที่พนักงานส่วนท้องถิ่นสามารถทำได้ โดยการลากิจนั้นกำหนดให้ผู้ลาต้องเสนอใบลาต่อผู้บังคับบัญชาจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาต หากได้รับอนุญาตตามดุลยพินิจ ในช่วงระหว่างการลาไม่เกิน 45 วัน มีสิทธิได้รับเงินเดือน
แต่กรณีนี้ มีเบาะแสแจ้งว่า การใช้สิทธิลาพักร้อน-ลากิจ เป็นเวลาถึง 55 วัน ของพนักงานอบต.อาจสามารถ รายนี้ เกิดขึ้นเพราะเจ้าตัวร่วมคณะเดินทางไปทำงานในประเทศเกาหลีใต้ ในลักษณะแรงงานที่ลักลอบเข้าไปทำงานแบบผิดกฎหมาย หรือที่เรียกกันว่า ‘ผีน้อย’
ส่วนเหตุผลที่ทำให้เรื่องแดง เป็นเพราะว่าถูกสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.)เกาหลีใต้ จับกุมตัวได้ และถูกส่งตัวกลับมาที่ประเทศไทย
ขณะที่เหตุผลที่ทำให้พนักงานอบต.อาจสามารถ รายนี้ ใช้สิทธิลากิจเดินทางไปได้ อาจเป็นเพราะได้รับสิทธิพิเศษจากความสนิทสนมกับผู้บริหารระดับสูงในหน่วยงานรายหนึ่ง?
@ เหตุผลจูงใจที่ทำให้ พนักงาน อบต.อาจสามารถ รายนี้ ต้องลักลอบไปทำงานที่ต่างประเทศ
เกี่ยวกับประเด็นเหตุผลจูงใจที่ทำให้ พนักงานอบต.อาจสามารถ รายนี้ ต้องลักลอบไปทำงานที่ต่างประเทศ ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลยืนยันเป็นทางการ เนื่องจากทีมสอบสวนยังไม่ได้เชิญเจ้าตัวและผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล เพราะอยู่ในช่วงการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกด้านเอกสาร
แต่มีการประเมินว่า อาจจะมีผลมาจากปัจจัยเรื่องค่าใช้จ่ายต่อเดือน เนื่องจากตำแหน่งพนักงานใน อปท.อัตราค่าตอบแทนที่ได้รับอยู่ที่เดือนละหมื่นกว่าบาท หักค่าโน่นค่านี่แล้ว จะเหลือเงินอยู่ประมาณ 3 พันกว่าบาทเท่านั้น เงินอาจจะไม่พอใช้?
แต่ที่น่าสนใจ คือ กระบวนการลักลอบไปทำงานที่ต่างประเทศกรณีนี้ มีขั้นตอนอย่างไร? ติดต่อใคร? ใครร่วมเดินทางไปบ้าง? ใครออกค่าใช้จ่ายให้?
มีพนักงาน อบต.คนอื่น หรือเจ้าหน้าที่ อปท.อื่นๆ ดำเนินการในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นหรือไม่?
@ การทำเรื่องขอลากิจลักษณะนี้ มีการกระทำเข้าข่ายฝ่าฝืนระเบียบหรือไม่
ส่วนการทำเรื่องขอลากิจลักษณะนี้ มีการกระทำเข้าข่ายฝ่าฝืนระเบียบหรือไม่
ประเด็นนี้ยังไม่มีข้อมูลยืนยันเป็นทางการเช่นกัน แต่ตามขั้นตอนการลา พนักงานที่จะลา จะต้องทำเรื่องเสนอต่อ ผู้บังคับบัญชาไปจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาต ซึ่งในกรณีนี้ พนักงาน อบต.อาจสามารถ ได้ทำเรื่องถึงปลัดอบต. และมีการส่งเรื่องต่อไปที่นายก อบต. และเรื่องก็ถูกเสนอต่อไปยังจังหวัด ซึ่งการอนุมัติก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้บังคับบัญชาไปจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาต
แต่จุดสำคัญของขั้นตอนนี้ คือ พนักงานอบต.อาจสามารถ อ้างเหตุผลอะไรในการขอลากิจเป็นระยะเวลานานกว่า 45 วัน
เพราะโดยปกติการลากิจลักษณะแบบนี้ จะต้องมีเหตุผลสำคัญจริงๆ เช่นเรื่องอาการเจ็บปวด ที่ต้องใช้เวลารักษาตัวอย่างต่อเนื่อง
ถ้าอ้างเรื่องเจ็บปวด หรือเรื่องสำคัญอื่นๆ แต่ในข้อเท็จจริงแล้วเจ้าตัวกับใช้เวลาลากิจที่ได้รับในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ โดยมีข้อมูลจากตม.เกาหลีใต้เป็นหลักฐาน จะทำให้กระบวนการลาครั้งนี้ กลายเป็นเรื่องผิดระเบียบขึ้นมาทันที
ที่สำคัญ ผู้บังคับบัญชา รู้เห็นเป็นใจกับการลากิจทิพย์ ไปสวมรอยเป็น ผีน้อย ทำงานแลกเงินด้วยหรือไม่
ถ้ารู้เห็นด้วย ผู้บังคับบัญชาก็อาจมีความผิดต้องรับโทษเรื่องการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ไปด้วย
ทีมสอบสวนของ ป.ป.ช.ร้อยเอ็ด ให้ข้อมูลยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า ในการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้องที่ อบต.อาจสามารถ เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2566 ที่ผ่านมา ทีมสอบสวนได้เอกสารหลักฐานมาพอสมควรแล้ว โดยเอกสารบางส่วนชี้ให้เห็นถึงข้อพิรุธที่สำคัญบางประการที่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ แต่ยังมีข้อมูลสำคัญอีก 3 ส่วนที่อยู่ระหว่างการประสานงาน คือ 1. หลักฐานการจับกุมแรงงานผิดกม. ที่ตม.เกาหลี และตม.ไทย 2. ระเบียบข้อบังกับวันลาของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และ 3.เอกสารการทำเรื่องลากิจ ของพนักงาน ที่ได้รับการอนุมัติจากทางอบต.และส่งเรื่องไปยังจังหวัด เพื่อนำมาใช้ประกอบการสอบสวน ก่อนที่จะมีการเชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ปากคำชี้แจงข้อเท็จจริงเป็นทางการอีกครั้ง
"เรื่องนี้เท่าที่เห็นข้อมูลเบื้องต้น นับว่าเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนพอสมควร แต่ถ้าสามารถคลี่คลายได้ น่าจะเป็นกรณีศึกษาสำคัญเกี่ยวกับปัญหาช่องโหว่ ในการยื่นลากิจ และการลางานต่างๆ ของ พนักงาน อปท.ทั่วประเทศในอนาคตได้อย่างดีเลยทีเดียว" ทีมสอบสวนของ ป.ป.ช.ร้อยเอ็ด ระบุ
ล่าสุด มีรายงานข่าวว่า ในวันที่ 24 ก.ค.2566 จะมีตัวแทนผู้เกี่ยวข้องเข้ายื่นเรื่องร้องต่อ ป.ป.ช.ร้อยเอ็ด ให้สอบสวนเอาผิดผู้เกี่ยวข้องกรณีนี้ เป็นทางการ ซึ่งจะทำให้กระบวนการสอบสวนกรณีนี้ของ ป.ป.ช.ร้อยเอ็ด เป็นไปด้วยความรวดเร็วมากขึ้น กว่าขั้นตอนการตั้งเรื่องจากข้อมูลที่ปรากฏในสื่อมวลชน
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันการสอบสวนคดีนี้ ยังไม่แล้วเสร็จ พนักงานอบต.อาจสามารถ และผู้เกี่ยวข้องทุกคน มีสิทธิ์ชี้แจงข้อมูลหลักฐานเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของตนเองได้ตามขั้นตอนทางกฎหมาย