“…ต้องเข้าใจสภาพปัญหาของประเทศนี้ มีคนจำนวนมากยังต้องทำงานทั้งชีวิตโดยที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าครองชีพ ยิ่งทำงานก็ยิ่งจนลงเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงย้อนกลับไปสู่โจทย์ว่าเราจะทำอย่างไรให้ระบบบำนาญแห่งชาติเกิดขึ้นได้จริง หรือเป็นไปได้ และสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้ในการเลือกตั้งครั้งนี้…”
ประเทศไทยมี ‘ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ ตั้งแต่ปี 2545 และถือได้ว่าเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่ได้รับการยกย่องในเวทีโลก เพราะเป็นระบบที่ให้ความคุ้มครองประชากรเกือบ 100% ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะล้มละลายจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ทำให้ ตลอดระยะเวลา 20 ปีมานี้ คนไทยมั่นใจได้ว่า หากเจ็บป่วยจะเข้าถึงการรักษาได้ตามสิทธิที่ตัวเองพึงมี
แต่ขณะนี้และในอนาคตที่ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ ที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% และจากข้อมูลพบว่าคนไทยไม่มีเงินออมเพียงพอต่อการใช้ชีวิตในวัยเกษียณ
จึงเกิดเป็นโจทย์ความท้าทายใหม่ คือ การสร้างระบบหลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ อธิบายว่า นโยบายเรื่องสวัสดิการรองรับสังคมสูงวัย เป็นเรื่องที่ถูกนำเสนอจากภาควิชาการและภาคประชาสังคมมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นข้อเสนอที่สอดคล้องกับ ‘มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ’ ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 เรื่อง ‘หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ’ ถือเป็นความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
ในส่วนของแนวทางตามข้อเสนอนี้ จะต้องดำเนินการภายใต้ 5 เสาหลัก คือ
-
การพัฒนาผลิตภาพประชากร การมีงานทำ และมีรายได้จากการทำงานที่เหมาะสมตลอดช่วงวัย
-
การออมระยะยาวเพื่อยามชราภาพที่ครอบคลุม เพียงพอ และยั่งยืน
-
เงินอุดหนุนและบริการสังคมที่จำเป็นจากรัฐ หรือเงินบำนาญผู้สูงอายุ
-
การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพโดยเฉพาะบริการสุขภาพระยะยาว (Long-term care)
-
การดูแลโดยครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่น
เพื่อฉายภาพให้เห็นถึงความพร้อมและมุมมองความจำเป็นที่จะต้องเกิดระบบสวัสดิการดังกล่าว เมื่อเร็วๆ นี้ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) สภาองค์กรของผู้บริโภค และ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวที Policy Dialogue ครั้งที่ 2 เรื่อง ‘ตอบโจทย์ประชาชน: พรรคการเมืองกับนโยบายสวัสดิการ เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ’
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล กล่าวถึงนโยบายสร้าง ‘ระบบหลักประกันรายได้ถ้วนหน้าสำหรับผู้สูงอายุ’ รายละ 3,000 บาทต่อเดือน ว่า ภายในปี 2570 พร้อมสร้างโอกาสปลดหนี้ให้กับผู้สูงอายุ เช่น การลดหนี้ลงครึ่งหนึ่ง การปลูกป่าชำระหนี้ การติดตั้งโซลาร์เซลล์ในชุมชนเพื่อแบ่งรายได้ เป็นต้น
ตลอดจนจัดตั้งกองทุนดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว โดยให้รายละ 9,000 บาทต่อเดือน เพื่อใช้ในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะติดบ้าน ติดเตียง
สำหรับแหล่งงบประมาณที่นำมาใช้ จะมาจากการบริหารการจัดเก็บรายได้ให้มากขึ้น เช่น ปรับเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษี รวมถึงการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่ๆ อย่าง ภาษีที่ดินแบบรวมแปลงในอัตราก้าวหน้า ภาษีความมั่งคั่ง ตลอดจนการปรับลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นในส่วนของกองทัพ ฯลฯ ที่มองว่าจะมีงบเข้ามาดำเนินนโยบายต่างๆ เป็นจำนวนกว่า 6.5 แสนล้านบาท พร้อมเน้นย้ำว่าจะไม่มีการตัดสวัสดิการเงินบำนาญของข้าราชการแน่นอน
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล
ดร.พรชัย มาระเนตร์ ตัวแทนจากพรรคชาติพัฒนากล้า ได้ให้แนวทาง 3 ปรับ ของพรรค ประกอบด้วย
- ปรับเศรษฐกิจ
สนับสนุนการจ้างงานผู้สูงอายุ 5 แสนตำแหน่ง โดยบริษัทที่รับจะได้เงินสนับสนุนรายละ 5,000 บาทต่อเดือน ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีรายได้ไม่ถึง 4 หมื่นบาท เพื่อเพิ่มโอกาสการออม
- ปรับรัฐ
นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ลดข้าราชการส่วนกลางแล้วกระจายไปสู่จังหวัด ชุมชนต่างๆ เพื่อไปกระตุ้นเศรษฐกิจ
- ปรับบ้าน
จัดสรรงบให้บ้านหลังละ 5 หมื่นบาท เพื่อปรับปรุงที่อยู่อาศัยตามหลักอารยสถาปัตย์ ป้องกันการพลัดตกหกล้ม ช่วยลดค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล รวมถึงการเกิดภาวะติดเตียงของผู้สูงวัย
สำหรับแหล่งงบประมาณ จะบริหารจัดการงบประมาณเดิมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น นำงบสร้างเสริมสุขภาพ มาใช้ในการปรับปรุงบ้านให้ผู้สูงอายุอย่างจริงจัง ผลักดันให้เกิดสหกรณ์มหาชนที่จะสามารถสร้างทุนเพื่อนำไปสู่เงินปันผล จัดทำพันธบัตรป่าไม้ โดยนำพื้นที่บางส่วนมาปลูกต้นไม้ยืนต้น แล้วนำต้นไม้ไปขายเป็นพันธบัตรกับนักลงทุนในต่างประเทศ เพื่อช่วยเกษตรกรที่เป็นหนี้ยาวถึงวัยหลังเกษียณ เป็นต้น
ดร.พรชัย มาระเนตร์ ตัวแทนจากพรรคชาติพัฒนากล้า
ดร.อุดมศักดิ์ ศรีสุทิวา ตัวแทนจากพรรคชาติไทยพัฒนา ระบุถึงแนวทางของพรรคในการจัดสวัสดิการที่ไม่ใช่การสงเคราะห์ ภายใต้แนวคิด ‘WOW Thailand’ คือ ความมั่งคั่ง (Wealth) สร้างโอกาสให้เกิดความเท่าเทียม (Opportunity) และสวัสดิการถ้วนหน้า (Welfare for All) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่
-
ผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรง จะมีนโยบายขยายอายุเกษียณเป็น 65 ปี เพื่อสร้างรายได้ โดยอาจไม่จำเป็นต้องทำงานเต็มเวลา ซึ่งจะมีการลดภาษีให้ 3 แสนบาทแรก
-
ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง จะมีการสร้างศูนย์ดูแลผู้สูงอายุทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานเพื่อมาดูแลผู้สูงอายุกลุ่มนี้เพิ่มอีกกว่า 3 หมื่นคน
สำหรับแหล่งงบประมาณ ได้แบ่งเป็น 2 แนวทาง คือ
-
ผ่านการปฏิรูประบบงบประมาณ ตัดงบที่ไม่จำเป็นแล้วมาเติมสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ
-
ปฏิรูประบบภาษี โดยจะยกระดับจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า รวมถึงการเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีบาป ภาษีที่ดิน ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้วย นอกจากนี้ยังมีนโยบายให้แรงงานในภาคการเกษตร สามารถยกระดับตัวเองด้วยการขายคาร์บอนเครดิตได้
ดร.อุดมศักดิ์ ศรีสุทิวา ตัวแทนจากพรรคชาติไทยพัฒนา
นายปริเยศ อังกูรกิตติ ตัวแทนจากพรรคไทยสร้างไทย ระบุว่า ทางพรรคได้แบ่งการรับมือสังคมผู้สูงอายุเป็น 2 ส่วน คือ
-
คืนชีวิตให้
เช่น ลดค่าใช้จ่ายในด้านสุขภาพ ผ่านนโยบาย 30 บาทพลัส ที่จะช่วยให้เข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ง่ายและประหยัดขึ้น ใช้ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) มีคะแนน Health Credit ที่สามารถนำไปลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้ พร้อมจัดสรรเงินบำนาญให้ผู้สูงวัยเดือนละ 3,000 บาท -
ยกระดับศักยภาพ
จะสร้างการจ้างงานในระดับชุมชน เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์ผู้สูงวัย รวมถึงตั้งกองทุนสร้างไทยมาสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนที่มีการรวมกลุ่มกัน
สำหรับแหล่งงบประมาณ จะมาจากการจัดเก็บที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะภาษีที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งหายไปมากในช่วงโควิด-19 พร้อมกันนี้ยังจะกำหนดให้เงินบำนาญผู้สูงอายุ ต้องเข้าไปที่ศูนย์สุขภาพประจำชุมชน เพื่อสร้างเสริมสุขภาพตนเองให้ดีขึ้น อันจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขลง จากที่มีการคาดการณ์ว่าประเทศจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในด้านนี้กว่า 7 แสนล้านบาท
นายปริเยศ อังกูรกิตติ ตัวแทนจากพรรคไทยสร้างไทย
ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ ให้แนวทางว่า จะดึงผู้สูงอายุที่ยังมีศักยภาพทำงานให้กลับเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ โดยจะปลดล็อคเงื่อนไขอายุในกฎหมายทุกฉบับ จัดตั้งชมรมผู้สูงอายุทุกหมู่บ้านด้วยเงินอุดหนุนปีละ 3 หมื่นบาท ผลักดันให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นภาคบังคับเพื่อให้มีการออมอย่างถ้วนหน้า จัดตั้งธนาคารหมู่บ้าน/ชุมชน โดยให้แห่งละ 2 ล้านบาท
สำหรับแหล่งงบประมาณ จะไม่มองแบบนักบัญชีที่มุ่งตัดรายจ่าย หั่นงบประมาณ แต่จะมองแบบนักเศรษฐศาสตร์ โดยการทำให้เศรษฐกิจของประเทศกลับมาเติบโตอย่างยั่งยืน อย่างน้อย 5-6% ของ GDP ในทุกๆ ปี โดยเงินที่ได้มาก็จะไม่นำไปแจกเพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภคเพียงอย่างเดียว แต่จะนำไปจัดสรรผ่านธนาคารหมู่บ้าน/ชุมชน ด้วยเงื่อนไขให้นำไปใช้เพื่อการประกอบอาชีพต่อไป
ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ตัวแทนจากพรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า ทางพรรคมีตัวเลขหลักประกันรายได้ให้กับผู้สูงอายุ เป็นเงิน 3,000 4,000 จนถึง 5,000 บาท ตามอายุที่มากขึ้น และภาระการดูแลสุขภาพที่มากขึ้น พร้อมเป้าหมายสร้างอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น 1 แสนอัตรามาดูแลผู้ป่วยติดเตียง มีการใช้ Telemedicine สร้างแรงจูงใจในการจ้างงานผู้สูงวัย พร้อมยืดอายุเกษียณออกไปเป็น 65 ปี หรือใช้เงื่อนไขสุขภาพเป็นตัวตั้ง เป็นต้น
สำหรับแหล่งงบประมาณ ส่วนหนึ่งพบว่าจากโครงสร้างงบประมาณของรัฐ จะสามารถดึงมาใช้ดำเนินนโยบายได้ 3 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลือจะมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยมาตรการกระตุ้นที่หลากหลาย ขณะเดียวกันสิ่งสำคัญคือการบริหารนโยบายที่จะต้องสอดรับกับที่มาของรายได้ และการเติบโตทางเศรษฐกิจ
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ตัวแทนจากพรรคพลังประชารัฐ
ดร.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย ระบุถึงแนวคิดหลักว่าผู้สูงอายุจะต้องอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี โดยการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนคือการทำให้เศรษฐกิจของประเทศแข็งแรง จึงมีนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ให้กับทุกคนที่อายุ 16 ปีขึ้นไปผ่าน Digital Wallet เพื่อนำไปใช้จ่ายใกล้บ้านภายใน 6 เดือน ซึ่งจะเพิ่มเม็ดเงินขนาดใหญ่ลงไปหมุนเวียน จากนั้นจะพัฒนาระบบบัตรทองต่อเนื่องทั้งด้านสุขภาพจิต Telemedicine ฯลฯ รวมถึงมีสถานชีวาภิบาลกระจายทั่วประเทศเพื่อดูแลผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ ตลอดจนหลักสูตรพัฒนาศักยภาพผู้สูงวัย
สำหรับแหล่งงบประมาณ มองว่านโยบายแจกเงิน 10,000 บาท จะถูกหมุนเวียนกลับมาเป็นเงินภาษีให้กับรัฐบาล ขณะที่การใช้ระบบเทคโนโลยี Blockchain ก็จะเป็นพื้นฐานของการป้องกันปัญหาคอร์รัปชัน ที่ช่วยดึงงบกลับมาสู่ประเทศชาติ พร้อมกันนี้ยังจะเพิ่มการเจรจาการค้ากับต่างประเทศให้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง สร้างประเทศไทยให้เป็นจุดหมายการเดินทางของโลก เป็นต้น
ดร.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย
นายศุภชัย ใจสมุทร ตัวแทนจากพรรคภูมิใจไทย ระบุว่าจะมีการเดินหน้าต่อเนื่องในนโยบายเกี่ยวกับผู้สูงวัยของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เช่น คัดกรองสุขภาพ เปิดคลินิกสูงวัย มอบแว่นสายตา ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ รากฟันเทียม ฯลฯ เพิ่มค่าตอบแทนให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) พร้อมภาระหน้าที่ดูแลผู้สูงวัย ผู้ป่วยติดเตียงในแต่ละหมู่บ้าน และอีกหนึ่งนโยบายสำคัญคือ การแจกกรมธรรม์ประกันชีวิต 1 แสนบาท ให้กับผู้ที่มีอายุครบ 60 มี โดยสามารถกู้เงินส่วนหนึ่งออกมาใช้ในระหว่างการดำรงชีวิตอยู่ได้
สำหรับแหล่งงบประมาณ นอกจากการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ยังจะนำจุดแข็งของระบบสาธารณสุขไทยมาใช้สร้างรายได้ ผ่านการผลักดัน Health & Wellness Center ให้ผู้สูงวัยจากต่างประเทศเข้ามาใช้บริการ ที่จะช่วยสร้างเม็ดเงินและการจ้างงานจำนวนมาก เป็นต้น
นายศุภชัย ใจสมุทร ตัวแทนจากพรรคภูมิใจไทย
นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ตัวแทนจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ยืนยันว่าตัวเลขที่เหมาะสมสำหรับบำนาญผู้สูงวัย คือจ่ายให้รายละ 1,000 บาทต่อเดือน ขณะเดียวกันจะมีการจัดตั้งกองทุนโดยสนับสนุนปีละ 70 ล้านบาท ให้ผู้สูงวัยสามารถเข้ามากู้เพื่อประกอบอาชีพ รวมถึงอบรมอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ให้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงได้เพิ่มขึ้น ส่วนผู้ที่ยากจนก็จะยังมีการช่วยเหลือผ่านกลไกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นอกจากนี้จะต้องผลักดันให้คนเข้ามาสมัครในกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพิ่มมากขึ้น
สำหรับแหล่งงบประมาณ มองว่าเมื่อจ่ายบำนาญให้รายละ 1,000 บาทต่อเดือน จะสอดคล้องกับงบประมาณที่มีอยู่เดิม ซึ่งเป็นการมองบนหลักความเป็นจริง ที่งบประมาณแผ่นดินนั้นไม่สามารถเพิ่มได้มากกว่านี้ พร้อมเน้นย้ำว่าประชาชนจะต้องมีความเข้าใจว่ารัฐบาลมีบทบาทในการเป็นผู้สนับสนุน จึงไม่ควรรอรัฐบาลทำอะไรให้ แต่ประชาชนจะต้องสามารถดูแลตัวเองได้ผ่านการเก็บออมของตน
นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ตัวแทนจากพรรครวมไทยสร้างชาติ
จากนโยบายของพรรคการเมืองทั้ง 9 พรรค พบว่า แนวนโยบายทั้งหมดสอดคล้องกับ 5 เสาหลัก ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15
ขณะที่ ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวสรุปว่า การสร้างระบบหลักประกันรายได้ให้กับผู้สูงอายุ เป็นสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ไม่ใช่ระบบสงเคราะห์คนกลุ่มเฉพาะเจาะจง นับเป็นเรื่องหนึ่งที่อยู่ในการพูดคุยมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยมีข้อเสนอทางวิชาการมากมาย บนความสมเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ว่าประเทศไทยควรจะมีอะไรบ้าง เพื่อคุ้มครองความยากจนสำหรับผู้สูงวัย
“เราต้องเข้าใจสภาพปัญหาของประเทศนี้ มีคนจำนวนมากยังต้องทำงานทั้งชีวิตโดยที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าครองชีพ ยิ่งทำงานก็ยิ่งจนลงเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงย้อนกลับไปสู่โจทย์ว่าเราจะทำอย่างไรให้ระบบบำนาญแห่งชาติเกิดขึ้นได้จริง หรือเป็นไปได้ และสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ จึงดีใจที่ได้เห็นแนวคิดที่สอดคล้องจากหลายพรรคการเมือง และหวังว่าจะเกิดการผลักดันขับเคลื่อนเรื่องนี้ของรัฐบาลและในสภาต่อไปอย่างจริงจัง” ดร.ทีปกร ระบุ
ด้าน นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยและประธานกรรมการบริหาร สช. กล่าวเสริมว่า หลายคนชอบเปรียบเปรยว่าประเทศไทยแก่ก่อนรวย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุก่อน ทำให้ดูเหมือนกับไม่เคยเตรียมการอะไรไว้ หากแต่ในฐานะประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย
ขอยืนยันว่าไทยได้เตรียมการเข้าสู่สังคมสูงวัยมาเป็นเวลายาวนาน นับตั้งแต่ปี 2525 ที่ไทยได้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาโลกว่าด้วยผู้สูงอายุ ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ตามมาด้วยการเกิดขึ้นหลายสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นระบบประกันสังคม ในปี 2534 ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในปี 2545 เกิด พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ในปี 2546 ตามมาด้วยกองทุนผู้สูงอายุ และ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ตามมาในปี 2554 เป็นต้น
“ระบบกองทุน การออมต่างๆ แม้จะเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ไม่ได้ถูกผลักดันและส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง จึงหวังว่าตัวแทนทั้ง 9 พรรคการเมืองที่เข้าร่วมในเวทีนี้ และถือเป็นผู้กล้าหาญในการเข้ามาทำงานที่ยากยิ่ง จะสามารถฟันฝ่าให้สิ่งเหล่านี้เป็นจริงและสำเร็จได้” นพ.วิชัย กล่าว
ทั้งหมดนี้ คือ นโยบายจากผู้แทน 9 พรรคการเมืองเกี่ยวกับสวัสดิการเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ที่อาจจะนำมาประกอบการตัดสินใจในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.นี้