“…สำหรับการอนุรักษ์ป่าในแบบสวีเดนโมเดลไม่ได้หมายถึงการห้ามตัด แต่การตัดไม้แต่ละต้นต้องสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด ป่าเป็นเหมือนทุนที่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้คน เป็นแนวทางการดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ...”
วิวัฒนาการของมนุษย์ก็ล้วนเริ่มมาจากป่า ไม่ว่าจะองค์ความรู้และประสบการณ์การใช้ประโยชน์จากป่าและพืชพรรณต่างๆ ที่ได้ถ่ายทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นเพื่อการดำรงชีพ จนกระทั่งสังคมก้าวเข้าสู่โลกแห่งทุนนิยมและยุคสมัยของเทคโนโลยี มีการครอบครองแย่งชิงพื้นที่และทรัพยากร เพื่อตอบสนองต่อการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้นตามจำนวนประชากรที่มากขึ้น
‘ป่าไม้’ จึงถือว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อสิ่งมีชีวิตเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกทั้งยังเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติสำคัญที่มีประโยชน์ในการรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม เป็นตัวช่วยในการรักษาอุณหภูมิของโลกให้คงที่ เพราะมีคุณสมบัติสำคัญคือสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศ เพิ่มความชื้นจากการปล่อยไอน้ำสู่บรรยากาศ ปกป้องพื้นดินจากแสงแดด ช่วยรักษาสมดุลและความหลากหลายทางธรรมชาติ เป็นพื้นที่ต้นน้ำ แหล่งกักเก็บน้ำตามธรรมชาติ และยังเป็นแหล่งที่อยู่ให้กับสัตว์นานาชนิด
ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ในปี 2563 พื้นที่ป่าไม้ทั่วโลก เหลืออยู่ประมาณ 26,650 ล้านไร่ หรือ 4.26 พันล้านเฮคตาร์ ครอบคลุมพื้นที่ 31% ของโลก โดยตลอดช่วง 20 ปี นับตั้งแต่ปี 2543 – 2563 พื้นที่ป่าไม้ของทั้งโลกลดลงจาก 31.9% เหลือ 31.2% หรือพื้นที่ป่าไม้หดหายประมาณ 650 ล้านไร่ หรือเกือบ 100 ล้านเฮกตาร์ และจากรายงานของสถาบันทรัพยากรโลก (WRI) และ Global Forest Watch ระบุว่า ปี 2564 โลกสูญเสียพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 12% จากที่เคยสำรวจเมื่อปี 2562 ถึง 4.2 ล้านเฮกตาร์ หรือประมาณ 262.50 ล้านไร่
รายงาน The State of the World's Forests (SOFO) ยังระบุว่า ช่วง 30 ปีที่ผ่านมาโลกสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ 2,625 ล้านไร่ หรือ 420 ล้านเฮกตาร์ คิดเป็นประมาณ 10.34% ของพื้นที่ป่าทั้งหมดในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาจากการตัดไม้ทำลายป่า ถึงแม้ว่าอัตราการตัดไม้ทำลายป่าจะลดลง แต่ในทุกๆปี โลกยังสูญเสียป่าไม้ปีละ 62.50 ล้านไร่ หรือ 10 ล้านเฮกตาร์ โดยความหลากหลายทางชีวภาพของป่าไม้ยังคงอยู่ภายใต้การคุกคามจากการตัดไม้ทำลายป่า และความเสื่อมโทรมของป่า
แม้ว่าการตัดไม้ทำลายป่า จะส่งผลกระทบระยะยาวต่อความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ในแง่ของเศรษฐกิจ ไม้ เป็นสินค้าสำคัญที่หลายประเทศยังต้องพึ่งพาในการส่งออกและแปรรูปใช้ภายในประเทศ
การวางสมดุลระหว่างการใช้ทรัพยากรและการอนุรักษ์เพื่อลดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย
‘สวีเดน’ เป็นประเทศแห่งการส่งออกไม้เศรษฐกิจสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก มูลค่ารวมกว่า 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และยังครองตำแหน่งผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
สิ่งที่น่าสนใจคือ สวีเดน มีแนวทางจัดการป่าไม้อย่างไร จึงสามารถครองตำแหน่งสองด้านที่ดูเหมือนว่าจะขัดแย้งกันได้ทั้งคู่
นายยอน ออสเตริม เกรินดาห์ล เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย กล่าวในตอนหนึ่งของเวทีเสวนา ‘ความร่วมมือด้านความยั่งยืนไทย-สวีเดน ปี 2566’ ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สวีเดนส่งออกไม้เป็นอันดับที่ 3 ของโลก มูลค่ารวมกว่า 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่ยังสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่เคยเหลือเพียง 25% เมื่อ 100 ปีก่อน เป็น 75% คือการใช้พระราชบัญญัติป่าไม้ (Forestry Act) ที่ทำให้ตัดไม้แต่ได้ป่า
ถ้าตัดต้นไม้หนึ่งต้น ต้องปลูกเพิ่มอย่างน้อย 3 ต้น นอกจากจะได้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น ระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ช่วยดูดซับคาร์บอน ลดผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ยังช่วยให้คนอยู่ร่วมกับป่า ใช้ประโยชน์จากป่า และมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูป่าไปพร้อมกัน โดยได้ป่าไม้ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชน เช่น ไม้สำหรับการก่อสร้างอาคารสมัยใหม่ ไม้แปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงเศษไม้เหลือใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล
อาคารไม้ Sara Kulturhus ณ เมือง Skellefteå
นายแอรอน แคปแลน ผู้อำนวยการ Eco-Innovation Foundation (EIF) ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการในการพัฒนาเมืองสีเขียวให้กับเขตต่างๆ ในสวีเดน กล่าวว่า ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา สวีเดนผ่านการลองผิดลองถูกมามาก และเคยถูกวิจารณ์ว่า ‘สนใจแค่ต้นไม้ไม่กี่สายพันธุ์อย่างต้นสนเท่านั้น’ จึงเป็นเรื่องท้าทายมาก กับการจะเพิ่มความหลากหลายให้กับป่าในสวีเดน ซึ่งธรรมชาติเป็นป่าสน เพื่อเปลี่ยนเมืองให้เป็นสีเขียว เป็นเมืองนิเวศที่มีการจัดการป่าอย่างยั่งยืน เพื่อให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสมดุล เพราะคนที่เป็นเจ้าของป่าคือชาวบ้าน ฉะนั้นการจะเปลี่ยนป่าต้องได้รับการยอมรับจากชาวบ้านด้วย
“สำหรับการอนุรักษ์ป่าในแบบสวีเดนโมเดลไม่ได้หมายถึงการห้ามตัด แต่การตัดไม้แต่ละต้นต้องสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด ป่าเป็นเหมือนทุนที่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้คน เป็นแนวทางการดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งปัจจุบันรายได้จากป่าไม้ของสวีเดนเทียบเท่า 10% ของ GDP ของประเทศ ไม่เพียงการแปรรูปไม้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เฟอร์นิเจอร์ เยื่อกระดาษ เชื้อเพลิงชีวภาพ ฯลฯ แม้กระทั่งส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว เช่น เป็นสถานที่ท่องเที่ยวฮันนีมูนกลางป่า การเดินป่า เป็นต้น” นายแอรอน กล่าว
ด้าน นายดลรวีร์ วรานนท์ ที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงสตอกโฮล์ม กล่าวว่า บทเรียนสำคัญที่ได้จากสวีเดน คือ การสร้างระบบนิเวศที่ทำให้ทุกๆ องค์ประกอบที่เกี่ยวข้องเติบโตขึ้นมาได้พร้อมๆ กัน และส่งเสริมให้ป่าไม้เติบโตขึ้นได้อย่างยั่งยืน ซึ่งระบบนิเวศของการจัดการป่าอย่างยั่งยืนของสวีเดน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ผู้ส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) และอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply)
ผู้ส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders)
เป็นผู้ที่อยู่ในระบบนิเวศ ซึ่งจะมีส่วนช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกัน เบื้องต้นสามารถแบ่งได้เป็น 6 กลุ่ม ดังนี้
-
กลุ่มที่ 1 ภาครัฐ มีความสำคัญอย่างมากในแง่ของการออกนโยบาย พัฒนากฎหมายที่สนับสนุนภาคเอกชนและประชาชน ช่วยเหลือกลุ่มต่าง ๆ รวมถึงการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้อง
-
กลุ่มที่ 2 ภาคเอกชน ซึ่งเป็นผู้ใช้ไม้ (Demand) และทำให้เกิดมาตรฐานขึ้นมา รวมถึงการวิจัยและพัฒนาก็สำคัญไม่แพ้กัน
-
กลุ่มที่ 3 ภาควิชาการ มีส่วนสำคัญในการทำวิจัยและพัฒนา รวมถึงการสร้างความรู้ในการทำป่าไม้อย่างยั่งยืนให้กับภาคประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง
-
กลุ่มที่ 4 ภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นสะพานเชื่อม ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายร่วมกับภาครัฐได้
-
ส่วนที่ 5 ภาคอุตสาหกรรมป่าไม้ มีความสำคัญในการปลูกป่า และนำไม้มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
-
ส่วนที่ 6 ผู้ประกอบการป่าไม้ เกษตรกรรายย่อย จะมีส่วนร่วมในการสร้างป่าไม้ยั่งยืนของประเทศไทย การเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ต้องมีคนกลุ่มนี้ และควรได้รับการมอบอำนาจ (empower) ให้เขามีพลังมากขึ้น สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น และทำให้มีส่วนร่วมในการใช้พื้นที่ป่าอย่างเหมาะสม
อุปสงค์ (Demand) - อุปทาน (Supply)
ในส่วนอุปทานของสวีเดน มาจาก 3 ส่วนหลัก คือ
-
การส่งเสริมการปลูกป่าของภาคอุตสาหกรรม
-
การปลูกป่าจากผู้ประกอบการ เกษตรกรรายย่อย
-
การบริหารจัดการป่าไม้ธรรมชาติ ซึ่งมีความสำคัญมาก
"จากบทเรียนของสวีเดน ป่าอนุรักษ์ถ้าบริหารจัดการดีๆ สามารถเติบโตได้ดีกว่าที่จะปล่อยให้เติบโตโดยธรรมชาติ" นายดลรวีร์ กล่าว
ส่วนของอุปสงค์ ชาวสวีเดนให้ความสำคัญมากกับการพัฒนาเมืองจากไม้ (Wood City) โดยการก่อสร้างอาคาร 1 หลัง ต้องใช้ไม้ที่หลากหลายชนิดมาก ตั้งแต่พื้น ผนัง หลังคา หรือส่วนอื่นๆ ที่อยู่ในองค์ประกอบของอาคาร ไม้บางชนิดที่ในอดีตราคาอาจจะไม่สูงมาก แต่ในปัจจุบันสามารถที่จะสร้างมูลค่าได้มากขึ้น ทำให้เป็นแรงผลักดันที่ส่งเสริมการปลูกต้นไม้หลากหลายมากขึ้นไม่ใช่เพียงการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และนำมาสู่ความหลากหลายทางชีวภาพที่มากยิ่งขึ้น
สำหรับประเทศไทย นายดลรวีร์ กล่าวว่า รูปแบบการพัฒนาป่าอย่างยั่งยืนของภาครัฐที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันนั้น สอดคล้องกับแนวทางของ Forest Landscape Restoration (FLR) ซึ่งที่ประกอบไปด้วยเรื่องป่าธรรมชาติ ป่าอนุรักษ์ ป่าเศรษฐกิจ แล้วก็ลงไปถึงป่าในเมือง และมีบางส่วนเป็นป่าชายเลน
ดร.สุวรรณ ตั้งมิตรเจริญ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ กล่าวว่า ในส่วนของป่าเศรษฐกิจ เมื่อมองในเชิงพื้นที่ของไทย แบ่งได้เป็น 4 กลุ่มชัดเจน กลุ่มแรก คือ พื้นที่กรรมสิทธิ์ ซึ่งมีพื้นที่มากที่สุด เป้าหมายของป่าเศรษฐกิจในประเทศไทยคือ 15% ครึ่งหนึ่ง คือเป็นพื้นที่กรรมสิทธิ์ และอีกส่วนหนึ่ง คือ พื้นที่ สปก. หรือสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ส่วนต่อมาคือ พื้นที่ คทช. คือ พื้นที่ที่รัฐอนุโลมให้กลุ่มที่ราษฎรอยู่ในพื้นที่ป่าสงวน ลุ่มน้ำชั้น 3-4-5 ซึ่งไม่ได้เป็นพื้นที่ต้นน้ำ และส่วนสุดท้าย คือ พื้นที่ป่าถาวร
ประเทศไทยมีการทำอุตสาหกรรมไม้มานานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้สัก ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นตั้งแต่ 50 ปีมาแล้ว ที่ได้รับความช่วยเหลือจากประเทศเดนมาร์กในโครงการปรับปรุงพันธุ์ไม้สัก เมื่อมองให้ครบทั้งห่วงโซ่มูลค่า ในส่วนของต้นน้ำได้มีการดำเนินการไปแล้วในเรื่องของการพัฒนาพันธุ์สัก การจัดการสวนป่าเพื่อเศรษฐกิจ ในส่วนของกลางน้ำ เป็นเรื่องของการแปรรูป การพัฒนาผลิตภัณฑ์
ส่วนของปลายน้ำก็เป็นเรื่องของการตลาด ที่จะต้องสร้างตลาดให้มีความเสถียร และเป้าหมายจริง ๆ คือ การส่งเสริมการส่งออกเพื่อทำให้เกิดแรงจูงใจว่าปลูกแล้วมีตลาดขายได้อย่างจริงจัง ประเมินว่าแค่เฉพาะตลาดภายในประเทศคงยังไม่เพียงพอ
“เมื่อเปรียบเทียบกับกับทางสวีเดน ต้องยอมรับว่าเรายังห่างไกล โดยเฉพาะในเรื่องของ Wood Construction ซึ่งบทเรียนจากสวีเดนทำให้ไทยเราต้องหันมามองในเรื่องของ ป่าในเมือง ที่จะนำไปสู่การนำไม้มาใช้ใน Wood construction หรือ Wood Building ต่าง ๆ เห็นด้วยกับทางแมกโนเลียว่า น่าจะลองนำร่องดูในเรื่องของการทำโครงสร้างอาคารไม้ 8 ชั้น ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี สำหรับภาคเอกชน หรือแม้แต่ในภาครัฐเอง ที่น่าจะต้องเพิ่มการใช้ไม้เข้าไปในสัดส่วนของหน่วยงานของภาครัฐเอง” ดร.สุวรรณกล่าว
ทั้งหมดนี้ คือ โมเดล ‘ตัดไม้แต่ได้ป่า’ ของประเทศสวีเดนที่วางแนวทางการที่คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าและสามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างยั่งยืน จนนำมาสู่การเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมที่มีป่ามากกว่า 80% ของพื้นที่ ควบคู่กับการผู้ส่งออกไม้อันดับ 3 ของโลก ในส่วนของประเทศไทย หลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นรัฐ เอกชน หรือภาคประชาสังคมต่างตื่นตัวและให้ความสำคัญในเรื่องป่าไม้มากขึ้น นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ก็ต้องติดตามต่อไปว่าผลจะเป็นอย่างไร