“…สิ่งที่น่าสนใจของชุมชนลอยน้ำนี้ คือ บ้านลอยน้ำแต่ละหลังจะติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ (Solar Cell) บนหลังคา รวมจำนวน 22 แผง เพื่อผลิตไฟฟ้าไว้ใช้ภายในบ้าน และหากเหลือใช้ยังสร้างการแลกเปลี่ยนพลังงานหมุนเวียนภายในชุมชนผ่านระบบไฟฟ้าสมาร์ทกริด (Smart Grid) หากไฟฟ้าเกินความต้องการใช้ก็สามารถขายเข้าระบบได้อีกด้วย และหากในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามาก ก็สามารถซื้อไฟฟ้าจากระบบได้…”
น้ำกินพื้นที่โลกใบนี้มากถึง 1 ใน 3 หรือ 70% และในปัจจุบันประชากรโลกที่มากขึ้น ส่งผลให้ในอัตราการอยู่อาศัยหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมือง นอกจากนี้ยังมีเรื่องการใช้ทรัพยากรที่มากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นถ้าเราจะสามารถอาศัยอยู่ในน้ำได้อย่างยั่งยืน ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดีและน่าสนใจ
ชุมชนลอยน้ำอัจฉริยะ Schoonschip ตั้งอยู่ในคลอง Johan van Hasselt ทางเหนือของกรุงอัมสเตอร์ดัม ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ นับเป็นต้นแบบชุมชนที่ตอบโจทย์การอยู่อาศัยยุคใหม่เพื่อสร้างสภาพสิ่งแวดล้อมที่การอยู่อยู่อาศัยที่ดีขึ้นและอย่างยั่งยืน โดยมีการสร้างการแลกเปลี่ยนพลังงานหมุนเวียนภายในชุมชนผ่านระบบไฟฟ้าสมาร์ทกริด (Smart Grid) ระบบกักเก็บน้ำฝนเพื่อหมุนเวียนใช้งาน รวมถึงการใช้พลังงานจากก๊าซชีวภาพ ซึ่งออกแบบโดย Space&Matter องค์กรสถาปนิกที่เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมแบบยั่งยืน ด้วยความตั้งใจที่จะออกแบบผังเมืองที่ตอบโจทย์การอยู่อาศัยยุคใหม่
Schoonschip เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2554 ออกแบบบ้านจำนวน 30 ยูนิต ให้สามารถอยู่อาศัยร่วมกันได้ยูนิตละ 2 ครอบครัว รวมปัจจุบันมีผู้อยู่อาศัยจำนวน 46 ครอบครัว มีสมาชิกรวมทั้งสิ้นราว 150 คน โดยเจ้าของบ้านสามารถร่วมออกแบบกับสถาปนิกที่ตนเลือก ส่งผลให้บ้านแต่ละหลังแตกต่างกัน ทั้งด้วยวัสดุ และรูปแบบเฉพาะตัว ซึ่งทำให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้อยู่อาศัยได้โดยตรง และแต่ละยูนิตของบ้านลอยน้ำ Schoonschip สามารถใช้เรือเคลื่อนย้ายไปก่อสร้างในพื้นที่อื่น โดยไม่ทำให้เกิดมลภาวะทางเสียง รบกวนเพื่อนบ้านรอบข้าง
สิ่งที่น่าสนใจของชุมชนลอยน้ำนี้ คือ บ้านลอยน้ำแต่ละหลังจะติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ (Solar Cell) บนหลังคา รวมจำนวน 22 แผง เพื่อผลิตไฟฟ้าไว้ใช้ภายในบ้าน และหากเหลือใช้ยังสร้างการแลกเปลี่ยนพลังงานหมุนเวียนภายในชุมชนผ่านระบบไฟฟ้าสมาร์ทกริด (Smart Grid) หากไฟฟ้าเกินความต้องการใช้ก็สามารถขายเข้าระบบได้อีกด้วย และหากในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามาก ก็สามารถซื้อไฟฟ้าจากระบบได้
นอกจากนี้ ชุมชนแห่งนี้ยังมีการสร้างระบบกักเก็บน้ำฝนบนหลังคาเอาไว้ใช้หมุนเวียนภายในบ้าน ส่วนน้ำประปาจะผลิตผ่านการดึงน้ำจากคลองหมุนเวียนมายังตัวเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ และส่งต่อไปยังเครื่องทำความร้อนใต้คลอง เพื่อเปลี่ยนอุณหภูมิน้ำให้ร้อนหรือเย็น
ส่วนน้ำเสียที่เกิดขึ้นภายในชุมชนจะถูกส่งไปบำบัดในพื้นที่ส่วนกลางเพื่อนำไปผลิตเป็นพลังงานจากก๊าซชีวภาพ และธาตุอาหารสำหรับพืช หมุนเวียนกระจายกลับไปให้ชุมชนได้ใช้ตลอดทั้งปี โดยแต่ละบ้านยังมีข้อตกลงร่วมกันที่จะต้องปลูกต้นไม้บนหลังคา หรือทำสวนรอบบ้าน เพื่อให้เกิดระบบนิเวศสีเขียว เป็นการฟอกอากาศภายในชุมชนอีกด้วย
ด้านการคมนาคมของ Schoonschip ชุมชนแห่งนี้ก็น่าสนใจเช่นเดียวกัน และนับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งต้นแบบของการประหยัดพลังงาน เพราะผู้อาศัยภายในชุมชนจะต้องแบ่งปันการใช้รถยนต์ หรือยานพาหนะอื่นๆ โดยจะเป็นแนวคิดแบบส่วนรวมแบ่งปันการใช้ ซึ่งผู้ที่ต้องการเดินทางจะต้องมาจองคิวในการใช้รถยนต์ล่วงหน้า หรือหากใครจะเดินทางไปทางเดียวกันก็สามารถเดินทางไปด้วยกันได้ และยานพาหนะที่ใช้ในชุมชนก็จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า และจักรยานไฟฟ้า
จากตัวอย่างชุมชนลอยน้ำอัจฉริยะ ต้นแบบสู่การพัฒนาในไทย
ในส่วนของประเทศไทย กลุ่มธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต ที่เป็นเป้าหมายสำคัญ คือ พลังงานหมุนเวียน ระบบกักเก็บพลังงาน และห่วงโซ่คุณค่าในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร รวมถึงลงทุนพัฒนาระบบบริหารจัดการพลังงาน หรือที่เรียกว่า Smart Energy Platform โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จับมือกับ บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (WHAUP) ผู้ให้บริการโซลาร์รูฟท็อป พลังงานแสงอาทิตย์ในนิคมอุตสาหกรรมครบวงจร และ บริษัท เซอร์ทิส จำกัด (SERTIS) ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี โดยได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาระบบ Smart Energy Platform
โดยระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะด้วยดิจิทัล (Smart Energy Platform) สำหรับการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นหนึ่งในโครงการที่กำลังทำการศึกษา โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Block chain) เพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยในการทำธุรกรรมและอำนวยความสะดวกการซื้อขายพลังงาน
สำหรับ สมาร์ทกริด (Smart Grid) คือระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ที่นำเทคโนโลยีหลากหลายประเภทเข้ามาทำงานร่วมกัน โดยครอบคลุมตั้งแต่การประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีเหล่านั้นตลอดทั้งห่วงโซ่ของระบบไฟฟ้าตั้งแต่การผลิตไฟฟ้า การส่งไฟฟ้า การจำหน่ายไฟฟ้า ไปจนถึงภาคส่วนของผู้บริโภค ได้อย่างชาญฉลาด การสื่อสารในการเก็บข้อมูลและทำการสั่งการควบคุมโครงข่ายไฟฟ้า โดยใช้ข้อมูลดังกล่าวในการตัดสินใจ เช่น เก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าจากผู้ใช้งานและการผลิตไฟฟ้าจากผู้ผลิต การควบคุมอัตโนมัติของระบบโครงข่ายไฟฟ้าเพื่อทำการปรับปรุงประสิทธิภาพความเชื่อถือได้ ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และความยั่งยืนในการผลิตและจ่ายไฟฟ้าในระบบโครงข่ายไฟฟ้า นั่นคือผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไปตั้งแต่ภาคบ้านเรือน ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจและการพาณิชย์ เป็นต้น และยังครอบคลุมไปถึงการเชื่อมต่อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้าและเตรียมพร้อมรองรับการนำรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาใช้งานในอนาคต เป็นต้น
จากนิยามดังกล่าวจะเห็นได้ว่าสมาร์ทกริดนั้น เกิดจากแรงขับเคลื่อนสำคัญ 3 ประการ ได้แก่
-
เพิ่มประสิทธิภาพ (Efficiency) โดยรวมของระบบการผลิต ส่งจ่าย และการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และสามารถสื่อสารแบบเวลาจริงและเป็นแบบอัตโนมัติ และมีคุณภาพ (Quality) ไม่มีปัญหาการเบี่ยงเบนของแรงดัน (Voltage) กระแสไฟฟ้า (Current) หรือความถี่ (Frequency)
-
รองรับการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ต่างๆ เช่น แสงอาทิตย์ ลม ฯลฯ ที่เชื่อมต่อเข้ากับระบบโครงข่ายไฟฟ้า
-
เพิ่มความน่าเชื่อถือได้ของระบบโครงข่ายไฟฟ้า โดยมีกลไกในการนำระบบกลับในสภาวะผิดพร่องทางไฟฟ้า (Fault) กลับสู่สภาวะปกติได้เองโดยอัตโนมัติ (Self-Healing) เนื่องจากใช้ระบบคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงทำการควบคุม และมีเสถรียรภาพที่ยั่งยืน
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าในการศึกษาดูงานที่ Schoonship ว่า การเดินทางมาศึกษาดูงานในครั้งนี้สอดคล้องไปกับภาพรวมการดำเนินงานของ ปตท. ที่มีทิศทางธุรกิจมุ่งสู่พลังงานสะอาดและพลังงานรูปแบบใหม่มากขึ้น ซึ่ง Schoonschip นับเป็นชุมชนที่ตอบโจทย์การอยู่อาศัยยุคใหม่เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยที่ดีขึ้น สร้างการแลกเปลี่ยนพลังงานหมุนเวียนภายในชุมชนผ่านระบบไฟฟ้าสมาร์ทกริด ระบบกักเก็บน้ำฝนเพื่อหมุนเวียนใช้งาน รวมถึงการใช้พลังงานจากก๊าซชีวภาพ
อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ปตท.มีโครงการที่พัฒนาระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะด้วยดิจิทัล ร่วมกับ บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ บริษัท เซอร์ทิส จำกัด (Sertis) สำหรับการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเออยู่แล้ว ดังนั้นจะนำแนวคิดในการพัฒนาชุมชนและการแลกเปลี่ยนพลังงานหมุนเวียนระบบไฟฟ้าสมาร์ทกริดของที่ชุมชนลอยน้ำแห่งนี้ไปต่อยอด
สำหรับความร่วมมือ Smart Energy Platform สำหรับการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ยังได้รับการคัดเลือกให้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการพลังงาน (Energy Regulatory Commission Sandbox : ERC Sandbox) จัดโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยเป็นโครงการนำร่องเพื่อศึกษาการซื้อขายไฟฟ้า รองรับโครงการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กไม่ผ่านระบบจำหน่าย (Micro Grid) เพื่อขยายผลการใช้งานไปยังพื้นที่อุตสาหกรรม ทำให้เกิดการบริหารจัดการการใช้พลังงานทางเลือกอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมพลังงานยั่งยืน
ทั้งหมดนี้ คือ สิ่งที่น่าสนใจของชุมชนลอยน้ำอัจฉริยะ Schoonship หนึ่งในต้นแบบของชุมชนในกรุงอัมสเตอร์ดัม ที่ปัจจุบันมีผู้สนใจลงทะเบียนจองล่วงหน้าเพื่อต่อคิวเข้าอยู่อาศัยมากกว่า 1,000 ราย เนื่องจาก เป็นชุมชนที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตสอดรับต่อสภาพภูมิอากาศ หรือสภาวะโลกร้อน เป็นชุมชนที่มีการปรับตัวพลิกวิกฤตจากสภาพอากาศให้เป็นโอกาสของการออกแบบที่อยู่อาศัย จะต้องติดตามต่อไปว่า สำหรับประเทศไทยเรานั้น จะสามารถนำโมเดลชุมชนต้นแบบนี้มาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมอย่างไร