“…กรณี LAAB ยังให้ได้เช่นกัน จากข้อมูลกรมวิทย์ และกรมควบคุมโรค ระบุว่า XBB.1.16 ยังพบไม่มาก ยังให้ได้แต่ต้องให้เร็วที่สุดภายใน 5-7 วัน นับตั้งแต่มีอาการ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 24 - 48 ชั่วโมงให้ยาต้านไวรัสชนิดอื่นเพิ่มเติมได้ คือ nirmatrelvir/ritonavir หรือ remdesivir หรือยาต้านไวรัสตัวอื่นที่มีในไทยยังให้ได้เช่นกัน…”
เทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังงดเว้นในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 มาหลายปี มีกิจกรรมรวมตัวคนจำนวนมาก เช่น การสังสรรค์ในครอบครัว รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ โดยเฉพาะการเล่นน้ำสงกรานต์ที่มีการจัดในหลายพื้นที่ ซึ่งระหว่างทำกิจกรรมมีการใกล้ชิดและไม่ได้สวมหน้ากาก จึงเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อและทำให้พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ได้
โดยสถานการณ์สัปดาห์ล่าสุด วันที่ 9-15 เมษายน 2566 พบผู้ป่วยรายใหม่เข้ารักษาในโรงพยาบาล 435 ราย เฉลี่ยวันละ 62 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 30 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 19 ราย และผู้เสียชีวิต 2 ราย ซึ่งรับวัคซีนเข็มกระตุ้นนานเกินกว่า 3 เดือนแล้ว
เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า หลังจากผ่านเทศกาลสงกรานต์ ช่วงท้ายเทศกาลเริ่มมีข่าวการติดเชื้อโควิด เชื้อกลายพันธุ์ หรือการรักษาที่อาจทำให้เกิดการสับสน โดยเมื่อวันที่ 17 เมษายนนี้ ทางคณะกรรมการวิชาการได้มีการทบทวนเรื่องต่างๆเกี่ยวกับวิชาการ และจากการประชุมร่วมกันจึงจำเป็นต้องมีการสื่อสารกับบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ให้เกิดความสับสนเกิดขึ้น
ทางด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดทั่วโลกเริ่มลดลง สำหรับประเทศไทย ต้นเดือน เม.ย.มีผู้ป่วยน้อยมาก แต่หลังสงกรานต์ เริ่มเพิ่มขึ้น 2.5 เท่าจากสัปดาห์ก่อนหน้า คาดว่าหลังสงกรานต์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นระลอกเล็ก
สำหรับกรณีการรับวัคซีนโควิด-19 นั้น ขณะนี้ทั่วโลกเริ่มปรับการให้วัคซีนเป็นแบบประจำปี สำหรับไทยคาดว่าหลังสงกรานต์ จะมีผู้ป่วยเพิ่มตามคาดการณ์ และมีลักษณะการระบาดใกล้เคียงกับโรคไข้หวัดใหญ่ คือ จะระบาดมากขึ้นในช่วงฤดูฝน
นอกจากนี้ ไทยมีผลสำรวจภูมิคุ้มกัน พบว่า ประชากร 94% มีภูมิคุ้มกันจากธรรมชาติ และวัคซีน จึงมีคำแนะนำ ให้รับวัคซีนห่างจากเข็มสุดท้าย 3 เดือน และให้ฉีดวัคซีนพร้อมวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยใช้วัคซีนรุ่นเดิมและรุ่นใหม่ สามารถใช้เป็นเข็มกระตุ้นได้ ซึ่งตอนนี้มีวัคซีนสำรองทุกชนิดมากกว่า 10 ล้านโดส
พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ กล่าวถึงอาการหลังการติดเชื้อของโควิด-19 สายพันธุ์ XBB.1.16 จากประเทศอินเดียว่า ได้รวบรวมข้อมูลระบุว่า อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากสายพันธุ์อื่นๆ ส่วนอาการในผู้ใหญ่ กรณี XBB.1.16 มีไข้ ปวดหัว เจ็บคอ น้ำมูกไหล ส่วนในเด็กจะแตกต่างตรงมีไข้สูง และมีอาการตาแดง ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษ แต่เจอในเด็กเท่านั้น ผู้ใหญ่ไม่มีรายงาน
อย่างไรก็ตาม ได้มีการประชุมผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ในการพิจารณาแนวทางเวชปฏิบัติฯ โดยปรับแนวทางฯ 2 ประเด็น ดังนี้
-
ปรับการให้ยาต้านไวรัสในผู้ป่วยกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรง
-
ปรับเงื่อนไขของการให้ Long-acting Antibody หรือ LAAB
ทั้งนี้ แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 27 วันที่ 18 เมษายน 2566 เป็นความร่วมมือของคณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่าง ๆ และผู้แทนทีมแพทย์ที่ปฏิบัติหน้างาน ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด ได้ทบทวนและปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วย ตามข้อมูลวิชาการในประเทศ และต่างประเทศ
โดยแนวทางหลักๆ เหมือนเดิม ไม่ว่าจะอยู่ OPD คลินิก หรือโรงพยาบาล ในส่วนของการรักษาโควิด-19 ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย (Probable case) ติดเชื้อทางเดินหายใจและเข้าเกณฑ์ระบาดวิทยา ให้ดำเนินการตรวจ ATK หรือ RT-PCR และแยกพื้นที่ที่เป็นสัดส่วน
กรณีไม่พบเชื้อ ให้ปฏิบัติตามความเหมาะสม ทั้งรักษาระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ดูแลตัวเองเคร่งครัด 5 วัน หากไม่ดีขึ้นใน 48 ชั่วโมงให้ตรวจซ้ำ แต่กรณีเจอเชื้อให้การรักษาตามอาการผู้ป่วย หากไม่รุนแรงรักษาแบบผู้ป่วยนอก ซึ่งตรงนี้ไม่เปลี่ยนแปลง
สำหรับการรักษาโควิด-19 ได้แบ่งเป็นกลุ่มตามความรุนแรงของโรคและปัจจัยเสี่ยงออกเป็น 4 กรณี ประกอบด้วย
ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสบายดี (Asymptomatic COVID-19)
ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก ให้ปฏิบัติตนตาม DMH อย่างเคร่งครัด อย่างน้อย 5 วัน และไม่ให้ยาต้านไวรัส เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง เน้นรักษาระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ อย่างเคร่งครัดเป็นเวลา 5 วัน กรณีนี้เราพบมากกว่า 60% กรณีนี้ไม่ต้องให้ยาต้านไวรัส
ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญ (Symptomatic COVID-19 without pneumonia and no risk factors for severe disease)
ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก ให้ปฏิบัติตนตาม DMH อย่างเคร่งครัด อย่างน้อย 5 วัน และให้การดูแลรักษาตามอาการ ตามดุลยพินิจของแพทย์
ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือ มีโรคร่วมสำคัญ หรือผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง แต่มีปอดอักเสบ (pneumonia) เล็กน้อยถึงปานกลางยังไม่ต้องให้ oxygen
โดยกลุ่มนี้มี 11 กลุ่ม คือ อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ร่วมโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง เบาหวาน ภาวะอ้วนมากว่า 90 กิโลกรัม มีภาวะตับแข็ง มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และผู้ติดเชื้อเอชไอวี กลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรครุนแรง หรือมีโรคร่วมสัมพันธ์
ในกรณีนี้มีการปรับเปลี่ยนในเรื่องคำแนะนำในการรักษา ให้ยาต้านไวรัส โดยให้เลือก 1 ชนิดตามลำดับ คือ nirmatrelvir/ritonavir หรือ remdesivir หรือ molnupiravir หรือ tixagevimab/cilgavimab (Long-acting Antibody: LAAB) โดยเริ่มพิจารณาให้ยานับจากวันที่เริ่มมีอาการ และให้พิจารณายาที่มีประสิทธิภาพและพิจารณาอาการผู้ป่วยเป็นหลัก
ส่วนกรณี LAAB ยังให้ได้เช่นกัน จากข้อมูลกรมวิทย์ และกรมควบคุมโรค ระบุว่า XBB.1.16 ยังพบไม่มาก ยังให้ได้แต่ต้องให้เร็วที่สุดภายใน 5-7 วัน นับตั้งแต่มีอาการ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 24 - 48 ชั่วโมงให้ยาต้านไวรัสชนิดอื่นเพิ่มเติมได้ คือ nirmatrelvir/ritonavir หรือ remdesivir หรือยาต้านไวรัสตัวอื่นที่มีในไทยยังให้ได้เช่นกัน
สำหรับการให้ยาต้านไวรัสพิจารณาจากปัจจัยต่อไปนี้ ได้แก่
-
ประสิทธิภาพของยาในการลดอัตราการป่วยหนักและอัตราตาย ประวัติโรคประจำตัว
-
ข้อห้ามการใช้ยา
-
ปฏิกิริยาต่อกันของยาต้านไวรัสกับยาเดิมของผู้ป่วย
-
การบริหารเตียง
-
ความสะดวกของการบริหารยา และราคายา
การเลือกใช้ยาใดกับผู้ป่วยรายใดแพทย์อาจใช้ยาตามรายการข้างต้นนี้ได้ โดยพิจารณาจากปัจจัยดังกล่าว สถานพยาบาลแต่ละแห่งอาจจะมีความแตกต่างกัน
ผู้ป่วยยืนยันที่มีปอดอักเสบที่มี hypoxia (resting O2 saturation ≤94% ปอดอักเสบรุนแรงไม่เกิน 10 วันหลังจากมีอาการ และได้รับ oxygen
ยังใช้คำแนะนำตามเดิม โดยแนะนําให้ remdesivir โดยเร็วที่สุดเป็นเวลา 5-10 วัน ขึ้นกับอาการทางคลินิก ควรติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ร่วมกับให้ corticosteroid
นอกจากนี้ แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา ฉบับล่าสุดนี้ ยังระบุถึง คำแนะนำเพิ่มเติมในการดูแลรักษา เช่น
-
การพิจารณาใช้ ยาฟ้าทะลายโจร ในการรักษาโควิด-19 อาจพิจารณาใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการน้อย ไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่รุนแรง และไม่มีข้อห้ามต่อการใช้ฟ้าทะลายโจร ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาผลการใช้ฟ้าทะลายโจรร่วมกับยาต้านไวรัสชนิดอื่น และไม่แนะนำให้ใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อป้องกัน
-
การพิจารณาให้ยา favipiravir ในผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการน้อย ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคที่รุนแรง พบว่าการได้รับยาภายใน 4 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการ สามารถลดอาการไม่สบายต่างๆ ของผู้ป่วยได้ และอาจจะช่วยลดระยะเวลาการมีอาการ โดยเฉพาะถ้าให้ยาเร็ว แต่ไม่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก
-
มีรายงานการศึกษาพบว่า molnupiravir ทำให้เกิด mutagenic change ในเซลล์ของไวรัสและเซลล์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในห้องทดลองได้ ซึ่งต้องติดตามการศึกษาในระยะยาวต่อไปว่ายานี้จะมีผลต่อสัตว์ทดลองและมนุษย์หรือไม่ รวมทั้งมีข้อกังวลเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของกระดูกและกระดูกอ่อนในเด็ก ดังนั้นในขณะนี้จึงไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในเด็ก หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร
พร้อมกันนี้ยังมีคำแนะนำในกรณีที่ผู้ป่วยขอใบรับรองแพทย์ให้ระบุ 5 วัน ถ้าจะให้พักนานกว่านั้น ควรมีเหตุผลความจําเป็นทางการแพทย์ที่ชัดเจน
ทั้งหมดนี้ คือ แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ฉบับล่าสุด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะอยู่ร่วมกับโควิด-19 มานานแล้ว แต่ก็ขอให้ยังระวังตัว อย่าประมาท เนื่องจากไวรัสยังมีการพัฒนาสายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา การล้างมือ เว้นระยะห่าง และใส่หน้ากากอนามัย ยังคงเป็นมาตรการที่ใช้ป้องกันการติดเชื้อได้