สธ.ปรับแนวทางเวชปฏิบัติโควิด-19 ติดเชื้อไม่มีอาการ-ไม่รุนแรง ไม่ต้องใช้ยาต้านไวรัส ย้ำไม่แนะนำใช้ 'ฟ้าทะลายโจร' เพื่อป้องกัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2566 กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยแพร่ แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 27 วันที่ 18 เม.ย. 2566 ซึ่งเป็นความร่วมมือของคณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ และผู้แทนทีมแพทย์ที่ปฏิบัติหน้างานในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด โดยได้ทบทวนและปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วย ตามข้อมูลวิชาการในประเทศ และต่างประเทศ
สำหรับการปรับแนวทางเวชปฏิบัติฯ ฉบับนี้มีประเด็นต่างๆ ได้แก่
-
ปรับการให้ยาต้านไวรัสในผู้ป่วยกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรง
-
ปรับเงื่อนไขของการให้ Long-acting Antibody (LAAB)
ทั้งนี้ ในส่วนของการรักษาโควิด-19 ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย (Probable case) ผู้ที่มีผลตรวจ ATK หรือ RT-PCR ต่อ SARS-CoV-2 ให้ผลบวก ทั้งผู้ที่มีอาการและไม่แสดงอาการ ได้แบ่งเป็นกลุ่มตามความรุนแรงของโรคและปัจจัยเสี่ยงออกเป็น 4 กรณี ประกอบด้วย
-
ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสบายดี (Asymptomatic COVID-19) ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก ให้ปฏิบัติตนตาม DMH อย่างเคร่งครัด อย่างน้อย 5 วัน และไม่ให้ยาต้านไวรัส เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง
-
ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญ (Symptomatic COVID-19 without pneumonia and no risk factors for severe disease) ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก ให้ปฏิบัติตนตาม DMH อย่างเคร่งครัด อย่างน้อย 5 วัน และให้การดูแลรักษาตามอาการ ตามดุลยพินิจของแพทย์
-
ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือ มีโรคร่วมสําคัญ หรือผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง แต่มีปอดอักเสบ (pneumonia) เล็กน้อยถึงปานกลางยังไม่ต้องให้ oxygen ในกลุ่มนี้มีคําแนะนําการให้ยาต้านไวรัส โดยให้เลือก 1 ชนิดตามลําดับ คือ nirmatrelvir/ritonavir หรือ remdesivir หรือ molnupiravir หรือ tixagevimab/cilgavimab (Long-acting Antibody: LAAB) โดยเริ่มพิจารณาให้ยานับจากวันที่เริ่มมีอาการ
-
ผู้ป่วยยืนยันที่มีปอดอักเสบที่มี hypoxia (resting O2 saturation ≤94% ปอดอักเสบรุนแรงไม่เกิน 10 วันหลังจากมีอาการ และได้รับ oxygen แนะนําให้ remdesivir โดยเร็วที่สุดเป็นเวลา 5-10 วัน ขึ้นกับอาการทางคลินิก ควรติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ร่วมกับให้ corticosteroid
ในส่วนของคำแนะนำเพิ่มเติมในการดูแลรักษา เช่น การพิจารณาใช้ "ยาฟ้าทะลายโจร" ในการรักษาโควิด-19 อาจพิจารณาใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการน้อย ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโควิด-19 ที่รุนแรง และไม่มีข้อห้ามต่อการใช้ฟ้าทะลายโจร ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาผลการใช้ฟ้าทะลายโจรร่วมกับยาต้านไวรัสชนิดอื่น และไม่แนะนำให้ใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อป้องกันโควิด-19
การพิจารณาให้ยา "favipiravir" ในผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการน้อย ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคที่รุนแรง พบว่าการได้รับยาภายใน 4 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการ สามารถลดอาการไม่สบายต่างๆ ของผู้ป่วยได้ และอาจจะช่วยลดระยะเวลาการมีอาการ โดยเฉพาะถ้าให้ยาเร็ว แต่ไม่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก
มีรายงานการศึกษาพบว่า "molnupiravir" ทำให้เกิด mutagenic change ในเซลล์ของไวรัสและเซลล์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในห้องทดลองได้ ซึ่งต้องติดตามการศึกษาในระยะยาวต่อไปว่ายานี้จะมีผลต่อสัตว์ทดลองและมนุษย์หรือไม่ รวมทั้งมีข้อกังวลเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของกระดูกและกระดูกอ่อนในเด็ก ดังนั้นในขณะนี้จึงไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในเด็ก หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร
พร้อมกันนี้ยังมีคำแนะนำในกรณีที่ผู้ป่วยขอใบรับรองแพทย์ให้ระบุ 5 วัน ถ้าจะให้พักนานกว่านั้น ควรมีเหตุผลความจําเป็นทางการแพทย์ที่ชัดเจน