“…การเปิดประกวดราคางานจ้างเหมาก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 เควีฯ ‘รอบสอง’ ซึ่งตั้งราคากลางไว้ที่ 1,820.18 ล้านบาท นั้น สูงกว่าราคากลางในการประกวดราคา ‘รอบแรก’ ประมาณ 53 ล้านบาท (ราคากลางการประกวดราคารอบแรก 1,766.73 ล้านบาท) และสูงกว่าราคาที่ Gunkul Consortium เสนอราคาครั้งที่แล้ว 155.89 ล้านบาท…”
.......................................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2566 ที่ผ่านมา บมจ.กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ได้ยื่นฟ้อง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ต่อศาลปกครองกลาง
โดยขอให้ศาลฯมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพิกถอนประกาศประกวดราคา เลขที่ จร.27/2565 งานจ้างเหมาก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 เควี ตามโครงการก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 เควี เพื่อทดแทนและเพิ่มความสามารถในการจ่ายไฟไปยังเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ฉบับลงวันที่ 8 ก.พ.2566 ราคากลาง 1,820 ล้านบาท
เนื่องจาก GUNKUL เห็นว่า ประกาศฯดังกล่าว เป็นการออกคำสั่งโดยไม่ชอบฯ ทำให้กลุ่มกิจการร่วมค้ากันกุล ซึ่งมีสิทธิอันชอบธรรมในการเข้าทำสัญญากับ กฟภ. ได้รับความเสียหาย โดยต้องถูกพรากสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย นั้น (อ่านประกอบ : ถูกพรากสิทธิ! ‘กันกุลฯ’ฟ้อง‘กฟภ.’เปิดประมูล‘เคเบิลใต้น้ำ’เกาะสมุย 1.8 พันล้าน ไม่ชอบ)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายละเอียดที่มาที่ไปของคดีดังกล่าว มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@ประมูลเคเบิลใต้น้ำ ‘ครั้งที่ 1’-'กันกุลฯ'เสนอราคาต่ำสุด
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2562 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้ กฟภ. ดำเนินโครงการปรับปรุงและก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 เควี เพื่อทดแทนและเพิ่มความสามารถในการจ่ายไฟไปยังเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงในการจ่ายไฟฟ้าและลดปัญหาไฟฟ้าดับในพื้นที่เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า
ต่อมาในวันที่ 18 ก.ค.2562 กฟภ. ได้ออกประกาศประกวดราคา เลขที่ จร.-คกท.-17/2562 โครงการจ้างเหมาก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 เควี ตามโครงการก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 เควี เพื่อทดแทนและเพิ่มความสามารถในการจ่ายไฟไปยังเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ราคากลาง 1,766.73 ล้านบาท
เมื่อถึงกำหนดวันยื่นข้อเสนอราคาและเอกสารประกวดราคา มีเอกชนยื่นข้อเสนอ 4 ราย ได้แก่
1.บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK
2.กลุ่มกิจการร่วมค้า ZTT (ประกอบด้วย บริษัท เจียง ซู จงเทียน เทคโนโลยี จำกัด และบริษัท อาร์ เอส เอส 2016 จำกัด)
3.กลุ่มกิจการร่วมค้ากันกุล หรือ Gunkul Consortium (ประกอบด้วย บมจ.กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง และ Prysmian Powerlink S.r.l)
4.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD
ผลปรากฏว่า เอกชนที่ผ่านการพิจารณาด้านคุณสมบัติและเสนอราคาต่ำสุด คือ Gunkul Consortium เสนอราคา 1,668.28 ล้านบาท ส่วน อิตาเลียนไทยฯ ซึ่งผ่านการพิจารณาด้านคุณสมบัติเช่นกัน ยื่นเสนอราคามาเป็นอันดับ 2 คือ 1,677.76 ล้านบาท หรือราคาต่างกันเพียง 9.76 ล้านบาท
ขณะที่เอกชนอีก 2 ราย คือ บมจ.อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น และ กลุ่มกิจการร่วมค้า ZTT ไม่ผ่านการพิจารณาด้านคุณสมบัติ จึงไม่ได้รับการพิจารณาข้อเสนอราคา
จากนั้นคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาฯ ได้ทำหนังสือเรียก Gunkul Consortium เข้ามาเจรจาต่อรองราคา 2 ครั้ง โดย Gunkul Consortium ยินยอมลดราคางานจ้างเหมาก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 เควีฯ ลง 3.98 ล้านบาท ส่งผลให้ราคาจัดจ้างตามข้อเสนอลดลงมาเหลือ 1,664.29 ล้านบาท หรือต่ำกว่าราคากลาง 102.43 ล้านบาท
นอกจากนี้ Gunkul Consortium ตกลวที่จะลดราคา Special tool and appliance และ Spare parts ลง 12.09 ล้านบาท ทำให้วงเงินราคา Special tool and appliance และ Spare parts ลดลงเหลือ 47.78 ล้านบาท จากข้อเสนอเดิม 59.87 ล้านบาท
@‘ผู้ว่าฯกฟภ.’ออกประกาศยกเลิกประกวดราคา 2 ครั้ง
ต่อมาในเดือน พ.ย.2562 คณะกรรมการพิจารณาผลฯ ได้รายงานผลการพิจารณาคัดเลือกฯไปยัง สมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าฯ กฟภ. ในขณะนั้น
แต่ทว่าเมื่อวันที่ 26 ก.พ.2563 กฟภ. ภายใต้การสั่งการของผู้ว่าฯ กฟภ. ได้ออกประกาศแจ้งยกเลิกการประกวดราคาโครงการดังกล่าว โดยไม่ได้แสดงรายละเอียด ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย ให้ Gunkul Consortium ทราบ แต่ต่อมามีการระบุว่า การยกเลิกการประกวดราคาดังกล่าว เป็นอำนาจของ กฟภ. และผู้ว่าฯ กฟภ. ที่จะทำได้
Gunkul Consortium ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของผู้ว่าฯ กฟภ. จึงมีหนังสือทักท้วงไปยัง กฟภ. ว่า การยกเลิกการประกวดราคาฯของผู้ว่าฯ กฟภ. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ต่อมา ผู้ว่าฯ กฟภ. ได้ออกประกาศ ‘เพิกถอน’ ประกาศยกเลิกการประกวดราคางานจ้างเหมาก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 เควีฯ ลงวันที่ 26 ก.พ.2563
อย่างไรก็ตาม ในการออกประกาศเพิกถอนฯ ประกาศยกเลิกการประกวดราคาฯ ฉบับลงวันที่ 26 ก.พ.2563 ของ ผู้ว่าฯ กฟภ. ดังกล่าว ไม่ได้ให้เหตุผลว่า เหตุใดจึงยกเลิกประกาศฯของหน่วยงานรัฐ ‘กลับไปกลับมา’ เช่นนี้
แต่แล้วต่อมาในวันที่ 30 เม.ย.2563 ผู้ว่าฯ กฟภ. ได้ออกประกาศฯฉบับใหม่ ยกเลิกการประกวดราคางานจ้างเหมาก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 เควีฯ อีกเป็น ‘ครั้งที่สอง’
ทั้งนี้ Gunkul Consortium ได้ทำหนังสือโต้แย้งไปอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ กฟภ. ไม่รับฟังคำโต้แย้งของ Gunkul Consortium และไม่เปลี่ยนแปลงคำสั่งแต่อย่างใด
ส่งผลให้ Gunkul Consortium โดย บมจ.กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ได้ไปยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลฯมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ 'เพิกถอน' ประกาศของ กฟภ. โดยผู้ว่าฯ กฟภ. ที่สั่งให้ยกเลิกการประกวดราคา เลขที่ จร.-คกท.-17/2562 โครงการจ้างเหมาก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 เควีฯ
@ไม่รอคำพิพากษา‘ศาลปค.สูงสุด’ ลุยเปิดประมูลรอบสอง
กระทั่งต่อมาในปี 2564 ศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายดำที่ 1910/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1289/2564 ให้ ‘เพิกถอน’ ประกาศผู้ว่าฯ กฟภ. ที่มีคำสั่งให้ยกเลิกการประกวดราคาเลขที่ จร.-คกท.-17/2562 โครงการจ้างเหมาก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 เควีฯ ซึ่งเป็นคำพิพากษาที่เป็นคุณกับ GUNKUL
แต่คดียังไม่ถึงที่สุด เนื่องจาก กฟภ. และผู้ว่าฯ กฟภ. ได้ใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุด
อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่คดีฟ้องเพิกถอนคำสั่งยกเลิกการประกวดราคา โครงการจ้างเหมาก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 เควีฯ ‘รอบแรก’ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด นั้น
ปรากฏว่า กฟภ. ได้ออกประกาศร่าง TOR ประกวดราคาโครงการจ้างเหมาก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 เควีฯ และเปิดรับฟังความคิดเห็น 2 ครั้ง
ขณะที่ GUNKUL เอง ได้มีหนังสือโต้แย้งไปยัง กฟภ. ว่า ขอให้ กฟภ. ระงับการประกาศ TOR โครงการจ้างเหมาก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 เควีฯ ฉบับใหม่ เพื่อรอผลคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดก่อน
แต่ กฟภ. ไม่รับฟังคำโต้แย้งของ GUNKUL และได้ออกประกาศประกวดราคา เลขที่ จร.27/2565 งานจ้างเหมาก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 เควี ตามโครงการก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 เควี เพื่อทดแทนและเพิ่มความสามารถในการจ่ายไฟไปยังเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ด้วยวิธี e-bidding ฉบับลงวันที่ 8 ก.พ.2566 ราคากลาง 1,820.18 ล้านบาท
GUNKUL จึงได้ยื่นฟ้อง กฟภ. ต่อศาลปกครองกลางเป็น ‘คดีที่สอง’
โดยครั้งนี้ GUNKUL ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษา ‘เพิกถอน’ ประกาศประกวดราคา เลขที่ จร.27/2565 งานจ้างเหมาก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 เควี ตามโครงการก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 เควี เพื่อทดแทนและเพิ่มความสามารถในการจ่ายไฟไปยังเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ฉบับลงวันที่ 8 ก.พ.2566 ของ กฟภ.
@‘กุนกุล’อ้างผลการคัดเลือกฯ‘รอบแรก’ยังมีผลบังคับใช้อยู่
“…ผลการคัดเลือกตามโครงการพิพาทเดิม (การประกวดราคาเลขที่ จร.-คกท.-17/2562) ยังมีผลใช้บังคับอยู่ ทั้งนี้ ตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขแดงที่ 1289/2564 ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดี (กฟภ.) จึงไม่สามารถดำเนินการประกวตราคาตาม TOR ฉบับใหม่ได้
ด้วยผลของคำพิพากษาศาลปกครองและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตามมาตรา 70 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ คำพิพากษาดังกล่าวจึงมีผลผูกพันผู้ถูกฟ้องคดี (กฟภ.) ให้ต้องปฏิบัติตามแล้ว กล่าวคือ การประกวดราคาของโครงการพิพาทเดิม ตาม TOR ฉบับเดิมยังคงมีผลผูกพันผู้ถูกฟ้องคดีตามกฎหมาย
และผู้ฟ้องคดี (GUNKUL) ยังคงมีสถานะเป็นผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการพิจารณาผลฯ ผู้ถูกฟ้องคดีไม่สามารถดำเนินการประกวดราคาตาม TOR ฉบับใหม่ได้
แต่แทนที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางข้างต้นและ/หรือรอให้คดีของโครงการพิพาทเดิมถึงที่สุดก่อน เพื่อจะให้ทราบแน่ชัดว่า ผู้ถูกฟ้องคดีต้องดำเนินการอย่างไร ผู้ถูกฟ้องคดีกลับออก TOR ฉบับใหม่ ซึ่งย่อมเป็นการขัดต่อกฎหมายอย่างชัดแจ้ง
นอกจากนี้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีรีบเร่งออก TORฉบับใหม่และดำเนินการประกวดราคาต่อไป โดยไม่ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครอง ยังเป็นการกีดกันไม่ให้ศาลปกครองเข้ามาใช้อำนาจตุลาการในการตรวจสอบการกระทำของตนในโครงการพิพาท
โดยไม่ใยดีต่อกระบวนการยุติธรรมที่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแต่อย่างใด ดังนั้น จึงสมควรที่ศาลปกครองจะเพิกถอน TOR ฉบับใหม่เสียทั้งสิ้น” ส่วนหนึ่งของคำฟ้อง GUNKUL ที่ได้ยื่นฟ้อง กฟภ. ต่อศาลปกครองกลาง ลงวันที่ 17 มี.ค.2566 ระบุ
อย่างไรก็ดี ในการเปิดประกวดราคางานจ้างเหมาก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 เควีฯ ของ กฟภ. ‘รอบสอง’ ซึ่งตั้งราคากลางไว้ที่ 1,820.18 ล้านบาท นั้น เป็นราคาที่สูงกว่าราคากลางในการประกวดราคา ‘รอบแรก’ ประมาณ 53 ล้านบาท (ราคากลางการประกวดราคารอบแรก 1,766.73 ล้านบาท) และสูงกว่าราคาที่ Gunkul Consortium เสนอราคาครั้งที่แล้ว 155.89 ล้านบาท
@'ป.ป.ช.'ชี้มูลความผิด'อดีตผู้ว่าฯ กฟภ.'กรณียกเลิกประมูล
ขณะเดียวกัน ในขณะที่คดีพิพาทระหว่าง GUNKUL และ กฟภ. ทั้ง 2 คดี เกี่ยวกับการประกวดราคางานจ้างเหมาก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 เควี เพื่อทดแทนและเพิ่มความสามารถในการจ่ายไฟไปยังเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง นั้น
ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2566 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดทางอาญา สมพงษ์ ปรีเปรม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กฟภ. กับพวก กรณียกเลิกการประมูลก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 KV เพื่อทดแทนและเพิ่มความสามารถในการจ่ายไฟไปยังเกาะสมุยฯ ราคากลาง 1,766.73 ล้านบาท
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นควรส่งรายงานสำนวนไต่สวนเอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป (อ่านประกอบ : โดน 2 คน! ป.ป.ช .ชี้มูล 'สมพงษ์' อดีตผู้ว่าฯกฟภ.-พวก คดีล้มประมูลเคเบิลใต้น้ำ1.7 พันล.)
จากนี้จึงต้องติดตามกันต่อไปว่า การเปิดประมูลงานจ้างเหมาก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 เควี ตามโครงการก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 เควี เพื่อทดแทนและเพิ่มความสามารถในการจ่ายไฟไปยังเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี จะมีบทสรุปอย่างไร? ในขณะที่การเริ่มก่อสร้างโครงการฯได้ล่าช้าจากแผนเดิมมากว่า 4 ปีแล้ว
อ่านประกอบ :
ถูกพรากสิทธิ! ‘กันกุลฯ’ฟ้อง‘กฟภ.’เปิดประมูล‘เคเบิลใต้น้ำ’เกาะสมุย 1.8 พันล้าน ไม่ชอบ
โดน 2 คน! ป.ป.ช .ชี้มูล 'สมพงษ์' อดีตผู้ว่าฯกฟภ.-พวก คดีล้มประมูลเคเบิลใต้น้ำ1.7 พันล.