“…พระราชกำหนดฉบับนี้มีบทลงโทษเรื่องอะไร ก็จะเป็นเรื่อง การเปิดบัญชีม้าโดยตรง ซึ่งทำให้เห็นเรื่องอื่นๆ ที่เป็นต้นทางของการกระพทำความผิด ไม่มีการกำหนดหรือระวางโทษ นั่นหมายถึงว่ามีกฎหมายฉบับอื่นกำหนดไว้แล้ว แสดงว่า จริงๆ แล้ว เป็นการบอกตรงๆว่า การกรรโชก รีดทรัพย์ หลอกลวง มีกฎหมายเดิมอยู่แล้ว ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มีกฎหมายเดิมอยู่แล้ว เป็นคำถามว่า ‘ทำไมไม่ใช้กฎหมายเดิมเหล่านั้น?’…”
เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พรระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ 17 มี.ค. 2566 เป็นต้นไป
พ.ร.ก.ฯ ฉบับนี้ มีจุดประสงค์สำคัญเพื่อคุ้มครองประชาชนผู้ซึ่งถูกหลอกลวงจนสูญเสียไปซึ่งทรัพย์สิน ผ่านโทรศัพท์ หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะการหลอกลวงประชาชนให้โอนเงินไปยังบัญชีผู้อื่นที่อยู่ในขบวนการหรือที่เรียกว่า ‘บัญชีม้า’ และเพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยของสาธารณะ และความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ
ปัจจุบันมีคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอยู่ในระบบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติกว่า 2 แสนคดี และในแต่ละวันมีผู้ถูกหลอกลวงจำนวนมาก มีมูลค่าความเสียหายสูงมาก
สำหรับสาระสำคัญของพ.ร.ก.ฯ ฉบับนี้ อาทิ
-
กรณีที่สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจพบเหตุสงสัยเองหรือได้รับข้อมูลจากระบบ ว่าบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ถูกใช้ทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจ มีหน้าที่ระงับการทำธุรกรรมและแจ้งสถาบันการเงินในหรือผู้ประกอบธุรกิจที่รับโอนถัดไปทราบ โดยระงับธุรกรรมนั้นไว้ทันทีเป็นการชั่วคราวไม่เกิน 7วัน นับแต่วันที่พบเหตุอันควรสงสัยหรือได้รับแจ้ง
-
กรณีกรณีที่สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจได้รับแจ้งจากผู้เสียหาย เกี่ยวกับบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ได้มีการทำธุรกรรมเข้าข่ายเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่ระงับการทำธุรกรรมนั้นไว้ชั่วคราว พร้อมทั้งนำข้อมูลเข้าสู่ระบบ เพื่อให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจผู้รับโอนทราบและระงับการทำธุรกรรมดังกล่าวไว้ทันทีและแจ้งให้ผู้เสียหายไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจภายใน 72 ชั่วโมง
ส่วนบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนกฎหมายฉบับนี้ ประกอบด้วย
-
มาตรา 9 ผู้ใดเปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตน โดยมีได้มีเจตนาใช้เพื่อตนหรือเพื่อกิจการที่ตนเกี่ยวข้องหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้หรือยืมใช้เลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตน ทั้งนี้ โดยประการที่รู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
-
มาตรา 10 ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใด ๆ เพื่อให้มีการซื้อ ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 - 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,00 – 500,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
-
มาตรา 11 ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใด ๆ เพื่อให้มีการซื้อหรือขายเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 - 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,00 – 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คำถามที่น่าสนใจ พ.ร.ก.ฯ ฉบับนี้ จะสามารถคุ้มครองประชาชน จากการถูกหลอกลวงจนสูญเสียไปซึ่งทรัพย์สิน ผ่านโทรศัพท์ หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะการหลอกลวงประชาชนให้โอนเงินไปยังบัญชีผู้อื่นที่อยู่ในขบวนการหรือที่เรียกว่า ‘บัญชีม้า’ ได้หรือไม่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สอบถามความคิดเห็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฯ ฉบับนี้ ได้รับทราบรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
ศ.ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ให้ความเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้ออกมาเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพราะว่าเกิดความเสียหายค่อนข้างเยอะ และประชาชนจำนวนหนึ่งก็ไม่ทราบว่า การเปิดปัญชีม้า หรือการช่วยเหลือต่างๆ ในการสนับสนุนการกระทำความผิด อันฉ้อโกงทางเทคโนโลยี การหลอกลวง ถ้าจะเข้าตามระบบรัฐสภาปกติ ก็อาจจะเกิดความล่าช้า จึงมีการร่างพระราชกำหนดฉบับนี้ขึ้นมา และมีการตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาพิเศษเพื่อพิจารณากฎหมายฉบับนี้ เพื่อจะได้รวดเร็วขึ้น
“ที่ไม่สามารถใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ได้ เพราะต้องการความรวดเร็ว เพราะถ้าเข้าตามระบบรัฐสภาปกติ จะต้องผ่านสภาวาระที่ 1-2 ผ่านทั้งสภาผู้แทน และสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งการออกกฎหมายฉบับนี้ ก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินเร่งด่วน เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่างๆ ก็สามารถทำได้” ศ.ดร.สุรศักดิ์ ระบุ
เมื่อถามว่า มีประชาชนบางกลุ่มกังวลถึงผลกระทบของกฎหมายฉบับนี้ว่าอาจจะศึกษาผลกระทบไม่ครอบคลุม ศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเคยมีความพยายามที่จะนำกฎหมายฉบับนี้เข้าไปอยู่ในส่วนการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งนั่นก็เป็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) อีกชุดหนึ่ง มีการนำความผิดฐานบัญชีม้าต่างๆ ซึ่งในขณะนั้น ตนเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ และไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่าน่าจะต้องไปป้องปราม ไม่ใช่การเอาผิดไปเสียหมด
ศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า แต่จากความเสียหายที่เกิดขึ้นที่ช่วงที่ผ่านมา และเห็นได้จากข่าวในสังคม พบว่า มีประชาชนจำนวนมากไปยกเลิกบัญชีที่เปิดไว้ เนื่องจากเพิ่งรู้ตัวว่าถูกหลอก เพราะมีความรู้ไม่เท่าทัน เพราะฉะนั้น การที่กฎหมายนั้นแทรกอยู่กฎหมายอีกฉบับ อาจจะไม่เหมาะสม และในปัจจุบันกฎหมายฉบับดังกล่าวก็ยังไม่ได้เข้าสภาพิจารณา จึงมีความจำเป็นบางเรื่องที่จะระงับยับยั้ง และที่สำคัญคือ หน่วยงานที่เกี่ยวกับสถาบันการเงินทั้งหลาย ไม่กล้าระงับบัญชี เพราะอาจจะกระทบต่อสิทธิเจ้าของบัญชี
นอกจากนี้ ถ้าไม่มีกฎหมายระบุให้อำนาจไว้ เขาก็จะไม่กล้าทำอะไร และทางปฏิบัติก็จะพบว่า เมื่อมีการบังคับระงับบัญชีไว้ ก็จะเกิดการโอนเงินต่อเป็นทอดๆ และในที่สุดก็จะโอนออกนอกประเทศ ซึ่งจะเกิดความยุ่งยากในการนำกลับมา และในบางทีก็อาจจะเป็นไปไม่ได้ที่จะได้คืน
“สำหรับบทลงโทษ มีเพื่อนนักกฎหมายบางคนกล่าวไว้ว่า การที่ลงโทษ การที่ยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชี หรือใช้หมายเลขโทรศัพท์ต่างๆ จำคุก 3 ปี ไม่ได้ผล เพราะเดี๋ยวศาลก็พิจารณารอลงอาญา ซึ่งผมคิดว่าการระวางโทษหนักหรือเบานั้น มันอยู่ที่พื้นฐานความผิด จริงๆ โทษไม่เกิน 3 ปี ศาลจะลงโทษตามความรุนแรงของการกระทำผิด แต่ถ้าไม่รุนแรงจริงๆ ก็อาจจะรอลงอาญา แต่บางคนก็รู้สึกว่ารุนแรงไม่พอ อันนี้ก็แล้วแต่ว่า ทัศนคติของแต่ละบุคคลว่ามองที่ความเสียหาย หรือมองในมุมไหน” ศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าว
เมื่อถามว่า กฎหมายที่ออกมา แก้ปัญหาคอลเซนเตอร์ ได้ชัดเจนแล้วหรือไม่ ศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าวว่า คิดว่าแก้ไขได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ เมื่อเกิดเรื่องขึ้น โทรไปแจ้งธนาคาร ไม่สามารถยับยั้งอะไรได้ เพราะโอนเงินไปแล้ว อีกทั้งการโอนเงินทางเทคโนโลยีรวดเร็วมาก อีกทั้งการซื้อบัญชีม้า จะได้ทั้งรหัสและหมายเลขโทรศัพท์
ดังนั้น การออกกฎหมายนี้ เป็นเทคโนโลยีเพื่อให้แพลตฟอร์มร่วมกันระหว่างภาคเอกชน สถาบันการเงินทั้งหลาย และภาครัฐที่มีหน้าที่ป้องกันและปราบปราม จะได้ดำเนินการได้ทันท่วงที โดยปกติตนจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับการมีคณะกรรมการ แต่ในเรี่องนี้ ถ้าหากไม่มีคณะกรรมการขึ้นมา ก็จะทำให้การทำงานค่อนข้างยาก เพราะไม่สามารถวิ่งไล่อาชญากรได้ทัน
-
กาง'ร่าง พ.ร.ก.ปราบอาชญากรรมทางเทคโนโลยี' รับจ้างเปิด'บัญชีม้า'โทษหนักคุก 3 ปี
-
พ.ร.ก.ปราบอาชญากรรมออนไลน์ มีผลใช้แล้ว! รัฐมั่นใจแก้ปัญหา-ลดเสี่ยงเสียทรัพย์ได้
ด้าน รศ. ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ หัวหน้าสำนักวิชานิติศาสตร์ หัวหน้าศูนย์ศึกษากฎหมายกับเทคโนโลยี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากตัวเลขสถิติผู้เสียหายถูกฉ้อโกงออนไลน์ที่ภาครัฐประกาศ พบว่า ใน 1 ปี มีหลายหมื่นคดี ทั้งคดีที่ร้องทุกข์แล้วสาบสูญ ไม่มีความคืบหน้า หรือตามตัวผู้กระทำความผิดไม่ได้ และคดีที่ร้องทุกข์แล้ว ไม่ดำเนินต่อ หรือมีการไกล่เกลี่ยให้จบไป
จากปริมาณคดีและมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น จึงมีความจำเป็นอย่างมาก ที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาแก้ไขปัญหานี้ในลำดับต้นๆ ในทางอาชาญากรรม เมื่อเทียบกับอาชาญากรรมอื่นๆ
รศ.ดร.ทศพล กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้สามารถใช้แก้ปัญหาแก๊งคอลเซนเตอร์ได้แน่นอน และครอบคลุมเรื่องทำนองนี้ทั้งหมด แม้ว่าไม่ได้ใช้เทคนิคเดียวกับคอลเซนเตอร์ เช่น การพนันออนไลน์ (Online gambling) มีการบังคับข่มขู่กรรโชก เช่น ข่มขู่คุกคามว่าจะเรื่องการเล่นพนันออนไลน์หรือเข้าเว็บลามกต่างๆ ไปแจ้งที่ทำงาน โดยต้องแลกกับการจ่ายเงิน เป็นต้น
“แต่ถ้าที่ดูแล้ว แล้วเข้าใจว่า เรื่องที่รัฐจะต้องออกกฎหมายมาบังคับใช้เพื่อแก้ปัญหา ก็คือเรื่องคอลเซนเตอร์ เนื่องมีแรงกดดันจากสังคมเยอะ ซึ่งปัญหาหลักๆ คือ เขาคิดว่า พอตำรวจจะแก้ปัญหาอะไร ตำรวจหรือรัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาเองได้ทั้งหมด คนที่แก้ปัญหานี้ได้จริงๆ คือ ช่องทางโจมตีกันหรือล่อลวงกัน คือ ช่องทางโทรมนาคมหรืออินเทอร์เน็ต ซึ่งรัฐไม่ได้เป็นผู้ควบคุม จึงออกแบบกฎหมายว่าให้ ผู้ให้บริการเกี่ยวกับโทรมนาคม ต้องให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามที่รัฐสั่งมากขึ้น” รศ.ดร.ทศพล ระบุ
รศ.ดร.ทศพล กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ถ้าปลายทางเป็นเรื่องการเสียทรัพย์กัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการโดนหลอก การกรรโชกทรัพย์ ถ้าหากสามารถแก้ปัญหาเรื่องการไหลเวียนเส้นทางการเงินได้ ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ รัฐจึงต้องการช่องทางด่วน (Fast track) เพื่อแก้ปัญหาตรงนี้ จึงออกแบบกฎหมายบังคับกับสถาบันการเงินหรือผู้ให้บริการได้มากขึ้นกว่าเดิม
“ถ้ากฎหมายเขียนเน้นเฉพาะ 2 เรื่องนี้ ก็ชัดเจนเลยว่าจะแก้ปัญหาตรงนี้แหละ แต่ถ้าถามว่ามีความจำเป็นหรือไม่ อาจจะต้องดูว่ากฎหมายเดิมมีอยู่หรือไม่ ถ้าไม่ต้องมีพระราชกำหนดฉบับนี้ ก็พบว่า กฎหมายเดิม ก็ให้อำนาจหลายๆ ส่วน แต่กระจัดกระจายอยู่หลายกฎหมาย ถ้ามีการอบรมเตรียมความพร้อมให้กับทุกหน่วยงานของตำรวจ ให้กับเจ้าพนักงานทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง แต่อันนั้นไม่ใช่แนวทางที่เขาถนัด หรือเขาทำไม่สำเร็จก็ไม่ทราบได้ จึงใช้วิธีออกกฎหมายเฉพาะเรื่องนี้ โดยพระราชกำหนดฉบับนี้ ที่รวมแนวทางการแก้ปัญหาทั้งหมด อยู่ในฉบับเดียวกัน” รศ.ดร.ทศพล กล่าว
รศ.ดร.ทศพล ยังกล่าวถึงความเหมาะสมของบทลงโทษว่า มีความชัดเจนว่า พระราชกำหนดฉบับนี้มีบทลงโทษเรื่องอะไร ก็จะเป็นเรื่อง การเปิดบัญชีม้าโดยตรง ซึ่งทำให้เห็นเรื่องอื่นๆ ที่เป็นต้นทางของการกระพทำความผิด ไม่มีการกำหนดหรือระวางโทษ นั่นหมายถึงว่ามีกฎหมายฉบับอื่นกำหนดไว้แล้ว แสดงว่า จริงๆ แล้ว เป็นการบอกตรงๆว่า การกรรโชก รีดทรัพย์ หลอกลวง มีกฎหมายเดิมอยู่แล้ว ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มีกฎหมายเดิมอยู่แล้ว เป็นคำถามว่า ‘ทำไมไม่ใช้กฎหมายเดิมเหล่านั้น?’
ทั้งหมดนี้ คือความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ทั้งในส่วนที่ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องในการร่างและพิจารณา และในส่วนผู้ที่ศึกษา
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้พระราชกำหนดฉบับนี้ ได้บังคับใช้แล้ว ประชาชนทั่วไปจะต้องศึกษาเพื่อประโยชน์และปกป้องสิทธิของตนเองด้วย และขอย้ำว่า ผู้ใดที่รับจ้างเปิดบัญชีม้า ขอให้ปิดบัญชีและหยุดการกระทำดังกล่าว เพราะรัฐเอาจริงในการจับกุมผู้กระทำความผิดคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอย่างเข้มข้นมากยิ่งขึ้น