"...ผู้ใดเปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ โดยมิได้มีเจตนาใช้เพื่อตน ควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ..."
ปัจจุบัน มิจฉาชีพมีการหลอกลวงให้ประชาชนโอนเงินผ่านการติดต่อทางโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวรวดเร็วและเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง
จากสถิติตั้งแต่ 1 มีนาคม – 31 ตุลาคม 2565 มีคดีออนไลน์เกิดขึ้นกว่า 114,000 คดี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 22,000 ล้านบาท เฉลี่ย 800 คดีต่อวัน
อีกทั้ง ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะที่ให้อำนาจสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจ สามารถระงับการทำธุรกรรมใด ๆ ที่ต้องสงสัยว่าเป็นธุรกรรมที่กระทำผิดทางอาญา
โดยเฉพาะการหลอกลวงประชาชนให้โอนเงินไปยังบัญชีผู้อื่นที่อยู่ในขบวนการเป็นทอดๆ อย่างรวดเร็ว หรือที่เรียกว่า 'บัญชีม้า' ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถระงับการทำธุรกรรมหรืออายัดเงินได้ทันท่วงที
จึงนำมาสู่การตราร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. .... โดยเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการ และให้ส่งร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าวให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา เพื่อใช้มาตรการทางกฎหมายควบคุมเป็นการเฉพาะเพื่อคุ้มครองประชาชนจากมิจฉาชีพ
ปัจจุบัน มีคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอยู่ในระบบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติกว่า 2 แสนคดี
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้ตรวจร่างพระราชกำหนดเรียบร้อยแล้ว และนำเสนอ ครม.พิจารณา ซึ่ง ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. .... ร่างพระราชกำหนดฉบับนี้ มีทั้งหมด 14 มาตรา
สำหรับสาระสำคัญยังคงเดิม โดยมีกลไกหลักสำคัญในการอายัดบัญชีและธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ 'บัญชีม้า' คือ
การแลกเปลี่ยนข้อมูล
เป็นข้อมูลจากสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบการที่เก็บข้อมูลบัญชีเงินฝากหรือธุรกรรม รวมถึงผู้ประกอบการโทรศัพท์ ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีหรืออาจมีการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
ให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจ ต้องเปิดเผยข้อมูลหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีและธุรกรรมของลูกค้าที่น่าสงสัยนั้น ผ่านระบบกลางหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นชอบร่วมกัน
การตรวจสอบข้อมูล
กรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและมีความจำเป็นต้องทราบข้อมูลการลงทะเบียนผู้ใช้งาน ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
มีอำนาจสั่งให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่น เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องและจัดส่งข้อมูลดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนด
นอกจากนี้ ยังมีสาระสำคัญ อาทิ
- กรณีที่สถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบธุรกิจพบเหตุสงสัยเอง หรือได้รับข้อมูลจากระบบ ว่า บัญชีเงินฝาก หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ ถูกใช้ทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน
ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจ มีหน้าที่ระงับการทำธุรกรรมและแจ้งสถาบันการเงินในหรือผู้ประกอบธุรกิจที่รับโอนถัดไปทราบ โดยระงับธุรกรรมนั้นไว้ทันทีเป็นการชั่วคราวไม่เกิน 7 วัน นับแต่วันที่พบเหตุอันควรสงสัยหรือได้รับแจ้ง
- กรณีกรณีที่สถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบธุรกิจ ได้รับแจ้งจากผู้เสียหาย เกี่ยวกับบัญชีเงินฝาก หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ ได้มีการทำธุรกรรมเข้าข่ายเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่ระงับการทำธุรกรรมนั้นไว้ชั่วคราว พร้อมทั้งนำข้อมูลเข้าสู่ระบบ เพื่อให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจผู้รับโอนทราบและระงับการทำธุรกรรมดังกล่าวไว้ทันทีและแจ้งให้ผู้เสียหายไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจภายใน 72 ชั่วโมง
บทลงโทษผู้ฝ่าฝืน
มาตรา 9 ผู้ใดเปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตน โดยมิได้มีเจตนาใช้เพื่อตนหรือเพื่อกิจการที่ตนเกี่ยวข้องหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้หรือยืมใช้เลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตน
ทั้งนี้ โดยประการที่รู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 10 ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใด ๆ เพื่อให้มีการซื้อ ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,00 – 500,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 11 ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใด ๆ เพื่อให้มีการซื้อหรือขายเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,00 – 500,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
มาตรา 12 การเปิดเผย แลกเปลี่ยน การเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลตาม พ.ร.ก.นี้ ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่จะเปิดเผยให้ผู้อื่นซึ่งไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องไม่ได้
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถร้องทุกข์เกี่ยวกับคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ที่ สถานีตำรวจทุกแห่ง หรือกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือร้องทุกผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ และขอย้ำบุคคลที่รับจ้างเปิดบัญชีม้า ขอให้ปิดบัญชีและหยุดการกระทำดังกล่าว เพราะรัฐบาลเอาจริงในการจับกุมผู้กระทำความผิดคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
นี่สาระสำคัญของร่าง พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. ... ที่ถูกร่างขึ้นเพื่อปกป้องประชาชนจากมิจฉาชีพ จะต้องติดตามต่อไปว่า นอกเหนือจากมาตรการทางกฎหมายแล้ว ภาครัฐจะมีแนวทางการปกป้องประชาชนและปราบปรามอาชญกรรมออนไลน์อย่างไรอีกหรือไม่