“…ด้วยเหตุผลดังที่วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น จึงเห็นว่าการดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ (โครงการพิพาท) เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายพิพากษาให้ระงับการก่อสร้างโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่…”
......................................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 9 มี.ค. ศาลปกครองกลาง นัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ส.88/2561 และมีคำพิพากษาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) กับพวก ระงับการก่อสร้าง 'โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา' มูลค่าโครงการ 1.4 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ศาลฯชี้ว่า หาก ครม.และกรุงเทพฯ จะเดินหน้าโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาต่อ จะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อน รวมทั้งต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย (อ่านประกอบ : กระทำไม่ชอบด้วยกม.! ‘ศาลปค.’สั่งระงับโครงการ‘พัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา’ 1.4 หมื่นล้าน)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงข้อสรุปมูลเหตุแห่งการฟ้องคดี และคำวินิจฉัยของศาลฯในแต่ละประเด็น มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@ขอศาลฯสั่ง เพิกถอน‘โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา’
คดีนี้ เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม กับพวกรวม 12 คน ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 ม.ค.2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งสำนักนายกฯ ที่ 28/2558 แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) และให้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4)
เพื่อทำการศึกษาออกแบบแนวคิดเบื้องต้น ในการพัฒนาพื้นที่สองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ ‘สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า’ ถึง ‘สะพานพระราม 7’ ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร โดยให้เป็นทางสัญจรโดยใช้จักรยาน การชมทัศนียภาพ การพักผ่อนหย่อนใจและนันทนาการ การกีฬา และการท่องเที่ยว
ต่อมากระทรวงมหาดไทย ได้นำเรื่องเสนอให้ ครม.รับทราบสาระสำคัญโครงการ และอนุมัติงบประมาณเบื้องต้น 14,009 ล้านบาท ซึ่งจะลงนามสัญญาจ้างในเดือน ธ.ค.2558 โดยใช้เวลาก่อสร้าง 18 เดือน (ม.ค.2559-ก.ค.2560)
แม้ว่าก่อนหน้านั้น ผู้แทนจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ความเห็นในการประชุมคณะกรรมการกำกับโครงการฯ เมื่อ 19 ก.พ.2558 ว่า โครงการนี้มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน วัด โบราณสถาน สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะระบบป้องกันน้ำท่วม เนื่องจากโครงการที่ยื่นเข้าไปในแม่น้ำจะทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาแคบลงมาก
กระทั่งต่อมา สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ และเครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม ทำหนังสือถึงนายกฯ ขอให้ทบทวนโครงการฯ เนื่องจากการดำเนินอาจขัดกฎหมาย และจะส่งผลกระทบต่ออัตราการไหลของน้ำ โดยเฉพาะการสร้างคันกั้นน้ำสูง 3.5 เมตร นั้น เป็นการทำลายภูมิทัศน์ของแม่น้ำเจ้าพระยา อีกทั้งมีการร้องเรียนว่า การดำเนินโครงการดังกล่าว ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลโครงการ และไม่มีการศึกษาและจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
ดังนั้น เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม กับพวก (ผู้ฟ้องคดี) จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และยกเลิกการดำเนินโครงการทั้งหมด และกรณีที่โครงการได้เริ่มไปแล้ว ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 รื้อสิ่งปลูกสร้าง เป็นต้น
@‘กทม.’ไม่ได้เปิดการรับฟังความคิดเห็นตามระเบียบฯ
คำวินิจฉัยของศาล
ประเด็นที่ 1 เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม กับพวก (ผู้ฟ้องคดี) มีสิทธิฟ้องคดีหรือไม่
เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้ง 12 มีสิทธิฟ้องคดี เนื่องจากการก่อสร้างโครงการพิพาท (โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา) ทำให้ผู้ฟ้องคดีย่อมได้รับความเดือดร้อนหรืออาจจะเดือดร้อน หรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จากการดำเนินการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
ประเด็นที่ 2 การดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาของ ครม.กับพวก เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัย ดังนี้
-กรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 12 อ้างว่า การดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร โดยเฉพาะกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ.2543) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ที่กำหนดให้สะพานเป็นอาคารสาธารณะ กรุงเทพฯ จึงต้องขออนุญาตก่อสร้าง นั้น
เห็นว่า โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่ง ในลักษณะเป็นสะพานยกสูงเหนือระดับน้ำท่วมสูงสุด และใช้เส้นทางสัญจรเพื่อรองรับการเดินทางด้วยจักรยาน การชมทัศนียภาพริมแม่น้ำเจ้าพระยา พักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย และจัดกิจกรรมเพื่อสุขภาพและนันทนาการ
กรณีจึงเป็นการก่อสร้างอาคาร ซึ่งมีลักษณะเป็นอาคารสาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร แต่เนื่องจากอาคารดังกล่าว เป็นอาคารที่ราชการส่วนท้องถิ่นในเพื่อสาธารณประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ข้างต้น จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีทั้ง 12 กรณีนี้จึงไม่อาจรับฟังได้
-กรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 12 อ้างว่าการดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ได้เผยแพร่และให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนในกรุงเทพฯและชุมชนที่ได้รับผลกระทบ และไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนก่อนการอนุมัติ จึงไม่ชอบด้วยระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 นั้น
เห็นว่า เมื่อกระทรวงมหาดไทย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) เป็นราชการส่วนกลาง ส่วนกรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) เป็นราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ ตามข้อ 4 ของระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 ได้จัดทำโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา อันเป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และมีผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย วิถีชีวิต และส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับชุมชน จึงเป็นโครงการของรัฐตามข้อ 4 แห่งระเบียบฯ
กรุงเทพมหานคร จึงมีหน้าที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนเริ่มดำเนินโครงการ โดยจะมีต้องเผยแพร่ข้อมูลโครงการให้กับประชาชนทราบ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีตามข้อ 5 วรรคหนึ่งของระเบียบฯ
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การดำเนินโครงการฯได้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจำนวน 3 ครั้ง แต่ทั้ง 3 ครั้ง มิได้ระบุถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนที่อยู่อาศัยหรือประกอบอาชีพในสถานที่ที่จะดำเนินโครงการและพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งมาตรการป้องกัน แก้ไขหรือเยียวยา ความเดือดร้อนที่อาจเกิดขึ้น
กรณีจึงเป็นการดำเนินการที่ไม่ครบถ้วนตามที่กำหนดในข้อ 7 วรรคหนึ่ง (7) และวรรคสองของระเบียบฯ
ส่วนที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ให้การและอ้างเอกสารว่า ได้เผยแพร่ข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายสารสนเทศ สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ ก่อนเริ่มรับฟังความคิดเห็นนั้น เมื่อพิจารณาเอกสารดังกล่าว ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่า มีการประกาศเผยแพร่ข้อมูลโครงการและสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นตามวันเวลาที่กล่าวอ้าง
กรณีจึงรับฟังได้ว่า กรุงเทพฯ มิได้ดำเนินการตามข้อ 11 และข้อ 12 ของระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 ที่กำหนดให้ต้องประกาศให้ประชาชนทราบถึงวิธีการรับฟังความคิดเห็นเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนเริ่มดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและจัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีทั้ง 12 ฟังขึ้น
@ไม่มีการจัดทำ‘รายงานวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมฯ’ตามรัฐธรรมนูญ
-กรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 12 อ้างว่า การดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่มีการศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลระทบสิ่งแวดล้อม และรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 และประกาศที่เกี่ยวข้อง นั้น
เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีลักษณะเป็นโครงการก่อสร้างสะพานยกสูงเหนือระดับน้ำท่วมสูงสุด เพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจรรองรับการเดินทางด้วยจักรยาน การชมทัศนียภาพริมแม่น้ำเจ้าพระยา การพักผ่อนหย่อนใจ การออกกำลังกาย และการจัดกิจกรรมเพื่อสุขภาพและนันทนาการ โดยห้ามมิให้ยานพาหนะประเภทอื่นนอกจากจักรยานเข้าไปใช้พื้นที่โครงการ แม้ทางที่จัดขึ้นจะมีลักษณะเป็นสะพานก็ตาม แต่ก็มิใช่ทางหรือถนนซึ่งจัดไว้เพื่อประโยชน์ในการจราจรสาธารณะทางบก กรณีจึงไม่เป็นทางหลวงตามคำนิยามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535
ดังนั้น แม้โครงการพิพาทจะตั้งอยู่ใกล้กับโบราณสถานตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถานเป็นจำนวนถึง 90 แห่งโดยมีระยะทางหรือรัศมีไม่เกิน 2 กิโลเมตร ดังที่อธิบดีกรมศิลปากรชี้แจงข้อเท็จจริงต่อศาลก็ตาม แต่เมื่อโครงการพิพาทมิใช่การก่อสร้างทางหลวง หรือถนนตามความหมายของกฎหมายว่าด้วยทางหลวง
จึงไม่อยู่ในข่ายที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามเอกสารท้ายประกาศ 3 ลำดับที่ 20.7 ของประกาศกระทรวงทรัพยากรฯ เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ
ประกอบกับโครงการพิพาท มิใช่การก่อสร้างอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ซึ่งมีความสูงตั้งแต่ 23 เมตร ขึ้นไป หรือมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นหรือชั้นใดชั้นหนึ่งในหลังเดียวกันตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป ซึ่งมีความหมายจำเพาะอาคารตามความเป็นจริงเท่านั้น
กรณีจึงไม่อยู่ในข่ายที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามเอกสารท้ายประกาศ 3 ลำดับที่ 27 ของประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ ลงวันที่ 24 เม.ย.2555 ที่มีผลใช้บังคับขณะนั้น
อย่างไรก็ดี โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยที่ 3/2562 ลงวันที่ 18 มี.ค.2552 ว่า รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 มีเจตนารมณ์ให้สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้รับรองไว้มีสภาพบังคับได้ทันทีที่รัฐธรรมนูญประกาศให้มีผลใช้บังคับโดยไม่ต้องรอให้มีการบัญญัติกฎหมายอนุวัติการมาใช้บังคับก่อน
การบังคับใช้บทบัญญัติมาตรา 46 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 จึงต้องดำเนินการให้สอดคล้องและเป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 มาตรา 67 วรรคสอง ด้วย
จากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวซึ่งมีผลผูกพันองค์กรของรัฐ จึงเห็นว่า การที่แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแม่น้ำสายหลักของประเทศที่มีความสำคัญทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม วิถีชีวิตของผู้คน รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เมื่อโครงการพิพาทกำหนดให้มีการก่อสร้างสะพานและสิ่งปลูกสร้างอื่นล่วงล้ำเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งแม่น้ำ รูปแบบโดยทั่วไปเป็นทางเดินจักรยานกว้างประมาณ 10 เมตร และมีแผนก่อสร้างโครงการยาว 14 กิโลเมตร จึงอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างมาก
กรณีจึงอยู่ในความหมายเป็นการดำเนินการโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่จะต้องจัดให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม
และแม้การดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ได้มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงการจัดทำเพื่อเสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนำเสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ เพื่อทราบเท่านั้น
กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการที่กรุงเทพฯ ได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามนัยมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2557 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ประกอบมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 และมาตรา 47 แห่งพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสองในกรณีนี้จึงฟังขึ้น
@โครงการฯไม่เข้าข่ายต้องขออนุญาตตาม ‘กม.แพ่ง-กม.ที่ดิน’
-กรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 12 อ้างว่า การดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และประมวลกฎหมายที่ดิน เนื่องจากไม่มีการขออนุญาตเปลี่ยนแปลงพื้นที่ นั้น
เห็นว่า การดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มิได้มีลักษณะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่มีลักษณะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปไม่เฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงหรือริมแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินในโครงการได้โดยเท่าเทียมกัน
ดังนั้น จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติที่ต้องเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือต้องถอนสภาพที่ดินตามมาตรา 8 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
และในเรื่องนี้มิใช่เป็นกรณีที่กรุงเทพฯ ต้องพิจารณาให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน จึงไม่อาจนำบทบัญญัติมาตรา 13 (1) แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาใช้บังคับ ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสองไม่อาจรับฟังได้
@‘เจ้าท่า’ไม่มีอำนาจอนุญาต ‘กรุงเทพฯ’ ก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ
-กรณีผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสองอ้างว่า การดำเนินโครงการพิพาทไม่ได้ขออนุญาตเจ้าท่าเพื่อก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 นั้น
เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ผู้อำนวยการสำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ ผู้ได้รับมอบอำนาจเจ้าท่า ตามคำสั่งกรมเจ้าท่า ที่ 855/2559 ได้ออกใบอนุญาตฯ อนุญาตให้กรุงเทพฯ ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำ มีลักษณะเป็นสะพานยกสูงเหนือระดับเหนือระดับน้ำท่วมสูงสุด และใช้เป็นทางสัญจรรองรับการเดินทางด้วยจักรยาน ชมทัศนียภาพ พักผ่อนหย่อนใจ และออกกำลังกาย
แต่เนื่องจากสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว มิได้มีลักษณะของอาคารและการล่วงล้ำลำน้ำ ที่เจ้าท่าจะพึงอนุญาตได้ตามข้อ 4 (1) ถึง (7) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 63 (พ.ศ.2537) ออกตามความในพ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 ประกอบกับกรมเจ้าท่าได้มีหนังสือลงวันที่ 12 ก.ย.2565 ชี้แจงต่อศาลว่า ปัจจุบันยังไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 63 (พ.ศ.2537)
ดังนั้น เจ้าท่าจึงไม่อาจอาศัยอำนาจตามข้อ 4 ของกฎกระทรวงฉบับนี้ อนุญาตให้กรุงเทพฯ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำตามโครงการพิพาทได้
นอกจากนี้ แม้การทำสะพานยกสูงเหนือระดับน้ำท่วมสูงสุด เพื่อใช้เป็นทางสัญจรรองรับการเดินทางด้วยจักรยานจะเป็นของกรุงเทพฯ จะเป็นของทางราชการก็ตาม แต่โดยที่การดำเนินการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนชมทัศนียภาพ พักผ่อนหย่อนใจ และออกกำลังกาย จึงย่อมเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยเฉพาะ หาได้เป็นประโยชน์แก่ทางราชการแต่อย่างใดไม่
เจ้าท่าจึงไม่อาจอาศัยอำนาจตามข้อ 6 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 63 (พ.ศ.2537) ฯ อนุญาตให้กรุงเทพฯ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำ ตามใบอนุญาตเลขที่ 16/2561 ลงวันที่ 19 ต.ค.2561 ได้ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ จึงไม่อาจดำเนินโครงการพิพาทตามใบอนุญาตดังกล่าวได้เช่นกัน ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสองจึงฟังขึ้น
@ว่าจ้าง‘สจล.-ม.ขอนแก่น’เป็นที่ปรึกษาฯ ไม่ขัดกฎหมาย
-กรณีผู้ฟ้องคดีทั้ง 12 อ้างว่า การดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ขัดต่อกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556 ในเรื่องการใช้ประโยชน์พื้นที่ริมแม่น้ำและการล่วงล้ำลำน้ำ นั้น
เห็นว่า โดยที่โครงการพิพาท มีลักษณะเป็นโครงการอเนกประสงค์ เพื่อให้เป็นเส้นทางสัญจรองรับการเดินทางด้วยจักรยาน โดยมีลักษณะเป็นการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมและการสาธารณูปโภคบนฝั่งริมแม่น้ำและมีการก่อสร้างสะพานและการสาธารณูปโภคอื่นลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา
กรณีจึงเป็นไปตามข้อยกเว้นที่กำหนดในข้อ 40 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสอง ของกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556
ดังนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จึงไม่จำต้องจัดให้มีที่ว่าง เพื่อปลูกต้นไม้ตามแนวขนานกับริมแม่น้ำเจ้าพระยาไม่น้อยกว่า 6 เมตร ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสองในกรณีนี้ จึงไม่อาจรับฟังได้
-กรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสองอ้างว่า การที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นที่ปรึกษาโครงการดำเนินการออกแบบ สำรวจ ศึกษา และจัดทำแผนแม่บท เป็นผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตาม พ.ร.บ.สถาปนิก พ.ศ.2543 การดำเนินโครงการพิพาทโดยมีที่ปรึกษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงเป็นการดำเนินโครงการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น
เห็นว่า บทบัญญัติ พ.ร.บ.สถาปนิก พ.ศ.2543 มุ่งหมายที่จะควบคุมการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมของบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลเท่านั้น หาได้มุ่งหมายที่จะควบคุมนิติบุคคลมหาชน
เมื่อสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นนิติบุคคลมหาชน มีกฎหมายจัดตั้งและควบคุมไว้เป็นการเฉพาะ โดยกฎหมายจัดตั้งได้กำหนดวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการทางวิชาการหรือวิชาชีพแก่สังคม
ดังนั้น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงสามารถให้บริการทางวิชาการได้ โดยไม่ต้องยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ซึ่งในเรื่องนี้ใด้มีคำวินิจฉัยคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 220/2560 วินิจฉัยไว้แล้ว ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสองในกรณีนี้จึงไม่อาจรับฟังได้
-กรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 12 อ้างว่า การดำเนินโครงการพิพาทขัดต่อ พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 10 เนื่องจากไม่มีการขออนุญาตและได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากร นั้น
เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำชี้แจงของอธิบดีกรมศิลปากรว่า กรมศิลปากรได้มีหนังสือ ที่ วธ 0402/2055 ลงวันที่ 23 พ.ค.2562 แจ้งพื้นที่โบราณสถาน จำนวน 8 แห่ง ที่ตามแผนแม่บทกำหนดให้มีการก่อสร้างโครงการพิพาทผ่านหรือรุกล้ำเข้าไปในบริเวณโบราณสถานดังกล่าวให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ทราบ
ได้แก่ สะพานพระรามหก คลองซุง วัดอนัมนิกายาราม วัดแก้วฟ้าจุฬามณี วัดจันทรสโมสร วัดวิมุตยาราม วัดฉัตรแก้วจงกลนี และมัสยิดบางอ้อ เมื่อกรุงเทพฯ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมศิลปากรตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.โบราณสถานฯ
การจะปลูกสร้างอาคารโครงการพิพาทภายในบริเวณโบราณสถานทั้งแปดแห่งข้างต้น จึงอาจมีความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ชอบที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จะต้องได้รับการอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากรเสียก่อน ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสองจึงฟังขึ้น
@สั่ง‘ครม.-กทม.’ระงับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
“ด้วยเหตุผลดังที่วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น จึงเห็นว่าการดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ (โครงการพิพาท) เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายพิพากษาให้ระงับการก่อสร้างโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่
จนกว่าจะได้มีการดำเนินการตามข้อ 7 วรรคหนึ่ง (7) และวรรคสอง ข้อ 11 และข้อ 12 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการดังกล่าวจะได้ดำเนินการตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมบัญญัติไว้โดยครบถ้วน
รวมทั้งเจ้าท่ามีอำนาจอนุญาตและได้อนุญาตให้ก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำได้ตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย และอธิบดีกรมศิลปากรได้มีคำสั่งเป็นหนังสืออนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารภายในบริเวณโบราณสถาน ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในบริเวณที่โครงการพาดผ่าน
สำหรับคำสั่งเกี่ยวกับคำขอวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาที่ห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเฉพาะในส่วนของแผนงานที่ 1 คือ ทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว ให้ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น” คำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ ส.88/2561 คดีหมายเลขแดงที่ ส.9/2566 ระบุ
เหล่านี้เป็นคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ในข้อพิพาท 'โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา' และเนื่องจากคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดี ยังมีสิทธิ์อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด จึงต้องติดตามว่าในท้ายที่สุดแล้ว ‘โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา’ จะมีบทสรุปอย่างไร
อ่านประกอบ :
กระทำไม่ชอบด้วยกม.! ‘ศาลปค.’สั่งระงับโครงการ‘พัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา’ 1.4 หมื่นล้าน