“...เรามองเรื่องระยะยาวมากกว่าการมารักษาแบบผู้ป่วยเท่านั้น เพราะผู้ป่วยรักษาหายก็ไปเสพต่อ จึงต้องมีการให้ความรู้ เข้าใจถึงโทษที่ได้รับ โอกาสในชีวิตที่จะสูญเสียไป อันตรายต่อสุขภาพหากเป็นผู้ติดยาเสพติด สำหรับร่างกฎกระทรวงเรื่องปริมาณการครอบครองจะมีการปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับกฎหมายมากที่สุด ถ้าพร้อมก็ผ่านมาทางปลัด สธ. เสนอมาเมื่อไร ตนก็พร้อมเสนอบรรจุให้ ครม.พิจารณา ซึ่งในร่างไม่ได้มีกำหนดในบทลงโทษ แต่หากทำผิดกฎหมายนี้ก็จะต้องไปดูประมวลกฎหมายอาญาเรื่องยาเสพติด...”
เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย ภายหลังจากที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมมีการรายงานความคืบหน้าการจัดทำอนุบัญญัติภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติด 9 ฉบับ บังคับใช้แล้ว 6 ฉบับ อยู่ระหว่างพิจารณาของกฤษฎีกาและนำเข้าที่ประชุม ครม. 3 ฉบับ คือ
1) ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตโฆษณาเกี่ยวกับการบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ติดยาเสพติด (ฉบับที่...) พ.ศ. ... 2) ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการฟื้นฟูสภาพทางสังคม พ.ศ. ... และ 3) ร่างกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. ... ซึ่งมีการปรับปรุงว่า ยาเสพติดให้โทษประเภท 1 คือ แอมเฟตามีนมีปริมาณไม่เกิน 1 หน่วยการใช้หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 0.1 กรัม และเมทแอมเฟตามีนมีปริมาณไม่เกิน 1 หน่วยการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึง 0.1 กรัมหรือคำนวณน้ำหนักเป็นสารบริสุทธิ์ไม่ถึง 25 มิลลิกรัมพูดง่ายๆ คือ ถือครองยาบ้ามากกว่า 1 เม็ดขึ้นไปให้เป็นผู้ค้า
นายอนุทิน ย้ำด้วยว่า ผลกระทบต่างๆ เมื่อมีการแก้ไขร่างกฎกระทรวงจำนวนยาเสพติด กรมการแพทย์ศึกษาผลกระทบมาแล้ว ซึ่งไม่ว่าจะเสพกี่เม็ดก็ตาม การเสพเพียง 1 เม็ดก็มีผลกระตุ้นทางสมองแล้ว ในต่างประเทศ ถ้าประเทศไหนประกาศจำนวนครอบครองยาน้อยลง ก็จะทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องดำเนินคดีน้อยลง ผลต่อการทำให้ใช้ยาเสพติดน้อยลง สังคมปลอดภัยมากขึ้น ผู้ใช้เข้าสู่การรักษาง่ายขึ้น
การเปลี่ยนจำนวนกำหนดปริมาณยาเสพติดอย่าไปตกใจว่ามีเรื่องของการทำผิดมากขึ้น การยัดยาบ้า หรือการไม่พอของสถานที่คุมขังหรือสถานบำบัดต่างๆ ขอเรียนว่า ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ไม่ได้ตั้งใจจะดำเนินคดีกับผู้เสพในทุกกรณี ในร่างกฎกระทรวงมีคำว่า 'สันนิษฐาน' เพราะฉะนั้น เจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายตำรวจ ฝ่ายปกครอง ก็ต้องดูพฤติกรรมของผู้เสพผู้ครองครองว่า มีพฤติกรรมอย่างไร ถูกหลอกใช้มาหรือไม่
"เด็กถูกหลอกใช้มาเดินยาครั้งละ 5 เม็ด ตรวจกี่ทีก็มี 5 เม็ดในตัวตลอด ก็ดำเนินคดีไม่ได้เพราะไม่เกินขอบเขตกฎหมาย แต่เอายามาหมุนขายทีละ 5 เม็ดไปไม่รู้กี่รอบแล้วในวันนั้น แล้วเป็นเด็กด้วยดำเนินคดีก็ลำบาก นี่คือการอุดช่องโหว่ การทำให้ลดลงมาเหลือ 1 เม็ด ถึงจะเป็นผู้ป่วย แต่ถ้าเกิน 1 เม็ดถึงจะเป็นผู้เสพและผู้ค้า ก็จะทำให้อุปทาน (Supply) และช่องทางลดลง ไม่ได้บอกว่าจะเป็น 0 แต่ทำให้คนเลี่ยงบาลีใช้ช่องว่างช่องโหว่ของกฎหมายไปทำความผิดได้น้อยลง นี่คือเจตนารมณ์ของการแก้ไขร่างกฎกระทรวง" นายอนุทิน กล่าว
เพื่อให้สาธารณชนรับทราบรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำรายละเอียดสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฯ ที่เกี่ยวข้องมาเสนอเพิ่มเติม ณ ที่นี้
เริ่มที่หลักการและเหตุผลประกอบ
ในร่างกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐาน ว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. ... จากมาตรา 107 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด บัญญัติว่า การมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประเภท 2 หรือประเภท 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ในปริมาณเล็กน้อย ไม่เกินปริมาณที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดในกฎกระทรวง ให้สันนิษฐาน ไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ
กำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประเภท 2 หรือ ประเภท 5 หรือวัตถุ ออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ
โดยที่มาตรา 107 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับการกำหนดปริมาณยาเสพติด ให้โทษในประเภท 1 ประเภท 2 หรือ ประเภท 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญ ดังนี้
-
เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีความสอดคล้องกันและเหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน
-
เพื่อควบคุมการใช้ประโยชน์ยาเสพติดในทางการแพทย์ ทางวิทยาศาสตร์ และทางอุตสาหกรรม
-
เพื่อป้องกันการแพร่กระจายยาเสพติดและการใช้ยาเสพติดในทางที่ไม่ถูกต้อง อันจะนําไปสู่ การเสพติดยาเสพติด ซึ่งเป็นการบั่นทอนสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแพร่กระจายยาเสพติดเข้าสู่กลุ่มเยาวชนซึ่งเป็นกําลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ
-
ผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด มีโอกาสได้เข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟู สามารถกลับคืนสู่สังคม และกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
-
เพื่อกำหนดเจตนารมณ์ใช้ประกอบการพิจารณาให้โอกาสแก่ผู้เสพผู้ติดยาเสพติดที่ครอบครอง ยาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์ไว้เพื่อการเสพ โดยไม่ถือเป็นโทษความผิดร้ายแรง และพิจารณาให้รับการบำบัดรักษา ทั้งนี้ โดยให้พิจารณาควบคู่กับพฤติกรรมอื่นที่เกี่ยวกับจำหน่ายยาเสพติด หรือระดับความรุนแรงของการเสพติด ของบุคคลนั้นร่วมด้วย
-
เจ้าหน้าที่ (ตำรวจ ศาล หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง) ได้มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนการจำแนกระหว่าง ผู้ครอบครองเพื่อเสพ กับผู้ครอบครองเพื่อจำหน่าย เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประมวลฯ
-
เพื่อเกิดความสะดวกในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติต
-
เพื่อเกิดความสะดวกในการจำแนกผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด
-
สังคมได้รับประโยชน์ คือ ประชาชนไม่ต้องติดคุก สังคมได้พลเมืองกลับมา มีแรงงาน มีคน กลับมาพัฒนาสังคม ผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด กลับมามีที่ยืนในสังคม เยาวชนทำผิดมีโอกาสกลับตัว ครอบครัวอบอุ่น
จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวง นี้
ในร่างกฎกระทรวง กำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. ... ยังถึง 'หน่วยการใช้' ว่า เม็ด ซอง ขวด หรือหน่วยอย่างอื่นที่ทำขึ้นซึ่งโดยปกติสำหรับการใช้เสพหนึ่งครั้ง โดยการมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประเภท 2 หรือประเภท 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ในปริมาณเล็กน้อยตามที่กำหนดดังต่อไปนี้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ หากมากกว่านี้ถือว่าเป็นผู้ค้า
อย่างไรก็ดี แม้นายอนุทิน จะยืนยันถึงข้อดีและความพร้อมในการจัดทำร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเตรียมพร้อมบำบัดดูแลรักษาพยาบาลเป็นภารกิจของ สธ.อยู่แล้ว จะแก้หรือไม่แก้ร่างกฎกระทรวง ทุกวันนี้ก็มีคนเสพเท่านี้ ไม่ว่าจะ 1 เม็ด 5 เม็ด 15 เม็ด คนจะเสพก็เสพ เราก็พยายามจะให้มีสถานบำบัด มีโรงพยาบาลดูแล และเพิ่มจิตแพทย์บุคลากรที่สามารถปรับปรุงพฤติกรรมของผู้เสพยาเสพติดให้รับทราบถึงโทษของการเป็นผู้ติดยาว่าเป็นอย่างไร
เรามองเรื่องระยะยาวมากกว่าการมารักษาแบบผู้ป่วยเท่านั้น เพราะผู้ป่วยรักษาหายก็ไปเสพต่อ จึงต้องมีการให้ความรู้ เข้าใจถึงโทษที่ได้รับ โอกาสในชีวิตที่จะสูญเสียไป อันตรายต่อสุขภาพหากเป็นผู้ติดยาเสพติด สำหรับร่างกฎกระทรวงเรื่องปริมาณการครอบครองจะมีการปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับกฎหมายมากที่สุด ถ้าพร้อมก็ผ่านมาทางปลัด สธ. เสนอมาเมื่อไร ตนก็พร้อมเสนอบรรจุให้ ครม.พิจารณา ซึ่งในร่างไม่ได้มีกำหนดในบทลงโทษ แต่หากทำผิดกฎหมายนี้ก็จะต้องไปดูประมวลกฎหมายอาญาเรื่องยาเสพติด
"จากการหารือกับรองเลขาธิการ ป.ป.ส.และตำรวจ ท่านก็ไม่ได้มีความกังวลอะไร เพราะอย่างไรก็ต้องใช้คำว่าสันนิษฐาน ซึ่งดูจากพฤติกรรม หากมีพฤติกรรมติดยาเฉยๆ ไม่ได้ค้าก็ต้องไปบำบัด ถ้าไม่ถือครองเกินจะเน้นเรื่องการบำบัดรักษา และดูพฤติกรรมที่ผ่านมา ซึ่งในหลักของทางตำรวจและ ป.ป.ส.ก็จะมีหลักการในการไต่สวนสอบสวนอยู่แล้ว ส่วนนี้ สธ.ก็ต้องเชื่อในมาตรฐานของผู้บังคับใช้กฎหมาย" นายอนุทินกล่าว
นายอนุทินกล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังพิจารณาเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ขับเคลื่อนป้องกัน ปราบปราม บำบัด รักษา และฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และกรมราชทัณฑ์ขอสนับสนุนบุคลากรช่วยบำบัดผู้ป่วยที่ต้องขัง ซึ่ง 80% ของผู้ต้องขังมีประวัติผู้ใช้ผู้เสพยา ถ้า สธ.จะสนับสนุนบุคลากรบำบัดผู้ป่วยในที่คุมขังจะช่วยแบ่งเบาภารกิจมากขึ้น จึงให้กรมสุขภาพจิตที่ได้รับอนุมัติงบกลาง มีโครงการผลิตจิตแพทย์มากขึ้น จะดำเนินการให้สอดคล้องกับการร้องขอของกรมราชทัณฑ์
แต่ดูเหมือนว่า หลายฝ่ายในสังคม จะยังไม่ได้เห็นด้วยกับเหตุผลของนายอนุทิน และมองว่าการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีดังกล่าว อาจจะยังคงมีช่องโหว่ที่อาจจะส่งผลกระทบมากกว่า
ดังเช่นความเห็นของ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) พร้อมทั้งเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน และองค์กรภาคประชาสังคม ได้ออกแถลงการณ์แสดงความคิดเห็นถึงร่างกฏกระทรวงดังกล่าวว่า มีเนื้อหาที่ขาดข้อมูลวิชาการรองรับ และขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายคือ พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่ถือว่า ผู้เสพคือผู้ป่วย กล่าวคือ
-
การกำหนดให้การครอบครองครองยาบ้ามากกว่า 1 เม็ดขึ้นไป มีความผิดฐานเป็น 'ผู้ค้า' เป็นการสวนทางกับหลักการ 'ผู้เสพ' คือผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัด ย่อมส่งผลให้ผู้เสพส่วนใหญ่อาจกลายเป็นผู้ค้าตามข้อสันนิษฐานตามร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ นอกจากจะส่งผลกระทบด้านลบต่อผู้เสพ และสมาชิกในครอบครัวเป็นจำนวนมากแล้ว ยังทำให้มีผู้ต้องหาหรือผู้ต้องขังในเรือนจำเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างภาระต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอีกด้วย
-
การให้อำนาจเจ้าพนักงาน 'สันนิษฐาน' เป็นการให้ความชอบธรรมแก่เจ้าพนักงานสามารถที่จะอ้างการสันนิษฐานในการเลือกที่จะเอาผิดผู้ต้องหาได้ตั้งแต่ชั้นการจับกุม สืบสวนสอบสวน ย่อมเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจโดยมิชอบ
-
หลายสิบปีที่ผ่านมาพบว่า ในทางปฏิบัตินั้น กระบวนการนำผู้ใช้ยามาเข้าสู่การดูแลและบำบัดรักษาในฐานะ 'ผู้ป่วย' ยังทำได้น้อยมาก การแก้ไขกฎกระทรวงตามแนวทางดังที่กล่าว มีแนวโน้มที่จะทำให้เจ้าพนักงานมุ่งใช้เพื่อเอาผิดผู้ใช้ยาเพื่อหวังเป็นผลงาน หรือเพื่อหาผลประโยชน์จากคดีมากขึ้น และหากเมื่อผู้เสพถูกกล่าวหาว่าเป็น 'ผู้ค้า' แล้ว โอกาสของผู้เสพที่จะได้รับริการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด รวมถึงการดูแลและบำบัดรักษา (กรณีผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง) เยี่ยงผู้ป่วยที่ไม่ใช่ 'อาชญากร' ก็จะเป็นอันถูกตัดไป ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ที่ต้องการมุ่งการบำบัดผู้เสพมากกว่าการลงโทษ และหวังลดปัญหาผู้ต้องขังล้นคุกเพราะคดียาเสพติด
-
ในปัจจุบัน กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดยังมีเรื่องของการยึดทรัพย์จากผู้กระทำความผิด โดยทรัพย์ส่วนหนึ่งจะถูกนำเข้ากองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด อีกส่วนจะแบ่งให้เจ้าพนักงาน ดังนั้นการแก้กฎหมายให้นิยามของ 'ผู้ค้า' มีขอบเขตที่กว้างขึ้นนั้น จะเป็นแรงจูงใจให้เจ้าพนักงานมุ่งหวังที่จะเอาผิดผู้ใช้ยาในฐานะเป็นผู้ค้ามากขึ้น ด้วยหวังในเรื่องผลงานและทรัพย์รางวัลที่จะได้รับโดยมีกฎหมายรองรับ
-
นอกจากนี้การกำหนดให้ผู้เสพที่มียาบ้าไว้ในครอบครองเกินกว่า 1 เม็ดเข้าข่ายเป็นผู้ค้าอาจทำให้ผู้เสพถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถจับและนำตัวไปควบคุมคุมไว้เป็นเวลา 3 วันก่อนที่จะส่งตัวให้พนักงานสอบสวน ซึ่งที่ผ่านมาการจับและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยในลักษณะดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ถูกจับถูกเจ้าหน้าที่ทรมาน อุ้มฆ่าและอุ้มหาย หรือกระทำการละเมิดด้วยวิธีต่างๆอย่างร้ายแรง ไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรี เพื่อเรียกเงินหรือทรัพย์สินจากผู้ถูกจับหรือญาติพี่น้อง
-
กระบวนการจัดทำร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ขาดความโปร่งใส ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่มีการจัดทำการศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
ซึ่งจากข้อสังเกตด้านบน จะเห็นได้ว่า ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ ยังมีช่องโหว่สำคัญหลายข้อ โดยเฉพาะ ข้อ 1. การให้อำนาจเจ้าพนักงาน 'สันนิษฐาน' เป็นการให้ความชอบธรรมแก่เจ้าพนักงานสามารถที่จะอ้างการสันนิษฐานในการเลือกที่จะเอาผิดผู้ต้องหาได้ตั้งแต่ชั้นการจับกุม สืบสวนสอบสวน ย่อมเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจโดยมิชอบ ข้อ 5 นอกจากนี้การกำหนดให้ผู้เสพที่มียาบ้าไว้ในครอบครองเกินกว่า 1 เม็ดเข้าข่ายเป็นผู้ค้าอาจทำให้ผู้เสพถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถจับและนำตัวไปควบคุมคุมไว้เป็นเวลา 3 วันก่อนที่จะส่งตัวให้พนักงานสอบสวน ซึ่งที่ผ่านมาการจับและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยในลักษณะดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ถูกจับถูกเจ้าหน้าที่ทรมาน อุ้มฆ่าและอุ้มหาย หรือกระทำการละเมิดด้วยวิธีต่างๆอย่างร้ายแรง ไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรี เพื่อเรียกเงินหรือทรัพย์สินจากผู้ถูกจับหรือญาติพี่น้อง และข้อ 6. กระบวนการจัดทำร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ขาดความโปร่งใส ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่มีการจัดทำการศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
ที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาธรรมาภิบาล ทั้งในกระบวนการจัดทำร่างกฎกระทรวง และการบังคับใช้ในอนาคต ที่น่าจะมีปัญหาตามมาอีกจำนวนมากอย่างแน่นอน
ดังนั้น จึงต้องติดตามดูกันต่อไปว่า ในท้ายที่สุด กระทรวงสาธารณสุข และนายอนุทิน จะเดินหน้าผลักดันร่างกฎกระทรวง กำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. ... ฉบับเดิมต่อไป หรือนำข้อสังเกตไปปรับปรุงแก้ไขใหม่
เพื่อให้การจัดทำร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ และการบังคับใช้ต่อไปในอนาคต เกิดประโยชน์ต่อสาธารณชนอย่างแท้จริง