"...4. ในปัจจุบัน กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดยังมีเรื่องของการยึดทรัพย์จากผู้กระทำความผิด โดยทรัพย์ส่วนหนึ่งจะถูกนำเข้ากองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด อีกส่วนจะแบ่งให้เจ้าพนักงาน ดังนั้นการแก้กฎหมายให้นิยามของ 'ผู้ค้า' มีขอบเขตที่กว้างขึ้นนั้น จะเป็นแรงจูงใจให้เจ้าพนักงานมุ่งหวังที่จะเอาผิดผู้ใช้ยาในฐานะเป็นผู้ค้ามากขึ้น ด้วยหวังในเรื่องผลงานและทรัพย์รางวัลที่จะได้รับโดยมีกฎหมายรองรับ..."
หมายเหตุ: เป็นแถลงการณ์ขององค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนและด้านสังคมขอให้ยกเลิกแนวคิด 'ยาบ้ามากกว่า 1 เม็ด=ผู้ค้า' และทบทวนแนวทางการแก้ปัญหายาเสพติดบนหลักสิทธิมนุษยชน
สืบเนื่องจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ที่เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า “... ได้มีการเตรียมนำร่างกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. ... ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อเตรียมเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฉบับนี้คือ มีการปรับปรุงว่า ยาเสพติดให้โทษประเภท 1 คือ การถือครองแอมเฟตามีนปริมาณไม่เกิน 1 หน่วยการใช้หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 0.1 กรัม และเมทแอมเฟตามีนมีปริมาณไม่เกิน 1 หน่วยการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึง 0.1 กรัม หรือคำนวณน้ำหนักเป็นสารบริสุทธิ์ไม่ถึง 25 มิลลิกรัม พูดง่ายๆ คือ ถือครองยาบ้ามากกว่า 1 เม็ดขึ้นไปให้เป็น 'ผู้ค้า' ...... และยังกล่าวอีกว่า ในต่างประเทศ การประกาศจำนวนการครอบครองยาเสพติดในจำนวนที่ต่ำ จะส่งผลให้การใช้ยาเสพติดน้อยลง นำผู้ใช้เข้าสู่การบำบัดรักษาได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ รมว.สธ. ยังกล่าวอีกว่า ในร่างกฎหมายที่แก้ไขนี้ ได้ระบุให้มีคำว่า 'สันนิษฐาน' เอาไว้ เพื่อให้เจ้าพนักงานสามารถแยกพฤติกรรมของผู้เสพ ผู้ครอบครอง ผู้ค้าได้ ไม่ได้ตั้งใจจะดำเนินคดีกับผู้เสพหมดทุกกรณี ...”
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน และองค์กรภาคประชาสังคม ดังข้างท้ายแถลงการณ์นี้ ซึ่งได้ติดตามการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของไทยมาโดยตลอด เห็นว่าร่างกฏกระทรวงดังกล่าว มีเนื้อหาที่ขาดข้อมูลวิชาการรองรับ และขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายคือ พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่ถือว่า ผู้เสพคือผู้ป่วย กล่าวคือ
1. การกำหนดให้การครอบครองครองยาบ้ามากกว่า 1 เม็ดขึ้นไป มีความผิดฐานเป็น 'ผู้ค้า' เป็นการสวนทางกับหลักการ 'ผู้เสพ' คือผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัด ย่อมส่งผลให้ผู้เสพส่วนใหญ่อาจกลายเป็นผู้ค้าตามข้อสันนิษฐานตามร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ นอกจากจะส่งผลกระทบด้านลบต่อผู้เสพ และสมาชิกในครอบครัวเป็นจำนวนมากแล้ว ยังทำให้มีผู้ต้องหาหรือผู้ต้องขังในเรือนจำเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างภาระต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอีกด้วย
2. การให้อำนาจเจ้าพนักงาน 'สันนิษฐาน' เป็นการให้ความชอบธรรมแก่เจ้าพนักงานสามารถที่จะอ้างการสันนิษฐานในการเลือกที่จะเอาผิดผู้ต้องหาได้ตั้งแต่ชั้นการจับกุม สืบสวนสอบสวน ย่อมเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจโดยมิชอบ
3. หลายสิบปีที่ผ่านมาพบว่า ในทางปฏิบัตินั้น กระบวนการนำผู้ใช้ยามาเข้าสู่การดูแลและบำบัดรักษาในฐานะ 'ผู้ป่วย' ยังทำได้น้อยมาก การแก้ไขกฎกระทรวงตามแนวทางดังที่กล่าว มีแนวโน้มที่จะทำให้เจ้าพนักงานมุ่งใช้เพื่อเอาผิดผู้ใช้ยาเพื่อหวังเป็นผลงาน หรือเพื่อหาผลประโยชน์จากคดีมากขึ้น และหากเมื่อผู้เสพถูกกล่าวหาว่าเป็น 'ผู้ค้า' แล้ว โอกาสของผู้เสพที่จะได้รับริการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด รวมถึงการดูแลและบำบัดรักษา (กรณีผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง) เยี่ยงผู้ป่วยที่ไม่ใช่ 'อาชญากร' ก็จะเป็นอันถูกตัดไป ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ที่ต้องการมุ่งการบำบัดผู้เสพมากกว่าการลงโทษ และหวังลดปัญหาผู้ต้องขังล้นคุกเพราะคดียาเสพติด
4. ในปัจจุบัน กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดยังมีเรื่องของการยึดทรัพย์จากผู้กระทำความผิด โดยทรัพย์ส่วนหนึ่งจะถูกนำเข้ากองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด อีกส่วนจะแบ่งให้เจ้าพนักงาน ดังนั้นการแก้กฎหมายให้นิยามของ 'ผู้ค้า' มีขอบเขตที่กว้างขึ้นนั้น จะเป็นแรงจูงใจให้เจ้าพนักงานมุ่งหวังที่จะเอาผิดผู้ใช้ยาในฐานะเป็นผู้ค้ามากขึ้น ด้วยหวังในเรื่องผลงานและทรัพย์รางวัลที่จะได้รับโดยมีกฎหมายรองรับ
5. นอกจากนี้การกำหนดให้ผู้เสพที่มียาบ้าไว้ในครอบครองเกินกว่า 1 เม็ดเข้าข่ายเป็นผู้ค้าอาจทำให้ผู้เสพถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถจับและนำตัวไปควบคุมคุมไว้เป็นเวลา 3 วันก่อนที่จะส่งตัวให้พนักงานสอบสวน ซึ่งที่ผ่านมาการจับและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยในลักษณะดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ถูกจับถูกเจ้าหน้าที่ทรมาน อุ้มฆ่าและอุ้มหาย หรือกระทำการละเมิดด้วยวิธีต่างๆอย่างร้ายแรง ไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรี เพื่อเรียกเงินหรือทรัพย์สินจากผู้ถูกจับหรือญาติพี่น้อง
6. กระบวนการจัดทำร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ขาดความโปร่งใส ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่มีการจัดทำการศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
ด้วยเหตุดังที่กล่าวมา สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน และองค์กรภาคประชาสังคม มีความกังวลว่า การออกกฎกระทรวงดังกล่าว นอกจากจะไม่สัมฤทธิ์ผลดังเจตนารมณ์แล้ว ยังอาจนำไปสู่ยุคมืดของการจับกุมปราบปรามยาเสพติดด้วยวิธีการที่ป่าเถื่อน ละเมิดสิทธิมนุษยชนหนักกว่าที่เคยเกิดขึ้นในยุค 'สงครามยาเสพติด' จึงมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้
1. ให้ รมว.สธ. ถอนการเสนอร่างกฎกระทรวง ฉบับที่แก้ไขนี้ออกจากการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีโดยทันที
2. คณะรัฐมนตรี รัฐสภาต้องทบทวนยกเลิกกฎหมายที่รองรับการนำทรัพย์สินที่ยึดจากผู้ต้องโทษคดียาเสพติดมาแบ่งให้เจ้าพนักงาน รวมถึงดำเนินการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ให้เจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องมุ่งเน้นการทำงานป้องกัน ก่อนที่การกระทำความผิดจะเกิดขึ้น มากกว่าการมุ่งจับกุมเพื่อหวังผลงานหรือหาผลประโยชน์
3. นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (คณะกรรมการ ป.ป.ส.) ควรเข้ามากำกับดูแลการเสนอร่างกฎกระทรวงที่ขาดความเหมาะสมฉบับนี้ และทบทวนปัญหาอุปสรรคที่ผ่านมา ที่ทำให้แนวทางการนำผู้ใช้สารเสพติดมาเข้ารับการบำบัดรักษาในฐานะ 'ผู้ป่วย' ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เพื่อแก้ไขปัญหา โดยการนำมาตรการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (Harm Reduction) มาใช้ในการดูแลผู้ใช้ยาเสพติดเพื่อให้เขามีทางเลือกในการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความเสี่ยงที่เผชิญในปัจจุบัน รวมถึงการพิจารณาให้ผู้ใช้สารเสพติดที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงสามารถเข้ารับการบำบัดรักษาได้โดยใช้สิทธิประกันสุขภาพทั้ง 3 สิทธิ เพื่อเป็นการยืนยันหลักการว่า 'ผู้เสพไม่ใช่อาชญากร'
4. คณะกรรมการ ป.ป.ส.หรือคณะอนุกรรมการที่ได้รับแต่งตั้ง จัดประชุมร่วมกับองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานด้านสุขภาพหรือกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด เพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเป็นระบบทั้งองคาพยพตั้งแต่เรื่องการกำหนดความผิด การพิจารณาคดี การกำหนดบทลงโทษ การนำผู้ใช้ยาเข้าสู่บริการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (Harm Reduction) รวมถึงกระบวนการบำบัดรักษาอย่างมีคุณภาพสำหรับคนที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง และการพิจารณาผ่อนคลาย ปรับเปลี่ยนการจัดประเภทสารเสพติด/วัตถุออกฤทธิ์บางชนิด (หรือ 'ปลดล็อก') เช่น 'เมทแอมเฟตามีน' ตามที่เคยมีการศึกษาทางวิชาการ และเมื่อครั้งที่พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี เคยได้ให้แนวทางไว้ในขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งอาจรวมถึงแนวทางการที่ให้รัฐเป็นผู้จัดบริการหรืออนุญาตให้มีการจัดบริการยาหรือวัตถุออกฤทธิ์บางชนิดแก่ประชาชนภายใต้มาตรการควบคุมทางการแพทย์ได้ ซึ่งเป็นโมเดลที่ประเทศโปรตุเกสได้ใช้จนประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาคนติดยาเสพติด ตัดวงจรการค้ายาเสพติดแสวงหากำไรมาแล้ว
ด้วยความยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชน และองค์กรภาคประชาสังคมที่ร่วมสนับสนุน
1. มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
2. มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยยชนและการพัฒนา (มสพ.)
3. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF)
4. มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (Prorights Foundation)
5. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
6. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
7. กลุ่มนอนไบนารีแห่งประเทศไทย (Non-Binary Thailand)
8. เครือข่ายผู้ใช้ยาประเทศไทย
9. ชมรมแพทย์ชนบท
10. เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ภาคตะวันตก
11. สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย
12. มูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี
13. เครือข่ายสุขภาพและโอกาส
14. มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ
15. มูลนิธิเครือข่ายเยาวชนลิตเติ้ลเบิร์ด
16. เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสุขภาพ
17. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จังหวัดปทุมธานี
18. ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดปทุมธานี
19. เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ
20. กลุ่ม ฅ ฅน เพื่อการเปลี่ยนแปลง ( PCG)
21. มูลนิธิโอโซน
22. กลุ่มมอบความหวัง (Give Hope Group)
23. มูลนิธิรักษ์ไทย
24. เครือข่ายกรรมกรแดง ประเทศไทย
25. กลุ่มคนทำงานดูแลผู้ใช้สารเสพติดจังหวัดสงขลา (Care Team Songkhla)
26. กลุ่ม ACTTEAM
27. มูลนิธิเอ็มพลัส
28. เครือข่ายเพื่อนผู้ใช้ยาไทยThai Network of People who Used Drugs
29. กลุ่ม Together
30. กลุ่มส่งเสริมการเข้าถึงการสนับสนุนด้านสุขภาพและสังคม (APASS)
31. มูลนิธิผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับเอชไอวี
32. สมาคมเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ภาคตะวันออก
33. เครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง
34. กลุ่มผลัดใบเพื่อการพัฒนา
35. กลุ่มทำทาง
36. เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย
37. มูลนิธิเอดส์แห่งประเทศไทย
38. มูลนิธิเอชไอวี เอเชีย
39. บางกอกเรนโบว์
40. เครือข่ายรณรงค์เพื่อความปลอดภัยจากการใช้สารเสพติด (Safety Net)
41. โครงการสนับสนุนการพัฒนาท้องถิ่น