“เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานต้องถูกดำเนินคดีในทางแพ่ง ทางอาญาหรือทางวินัย อันเนื่องมาจากการปฏิบัติราชการ แม้จะได้กระทำโดยเจตนาสุจริตเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ แต่อาจมีการปฏิบัติที่ผิดหลักเกณฑ์หรือขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้โดยมิได้มีเจตนาทุจริต ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ และเกรงกลัวต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่…”
...........................................
แม้ว่าในปัจจุบันกฎหมายไทยได้มีบทบัญญัติในการ ‘คุ้มครองการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ’ เอาไว้
อาทิ การกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่าจำเป็นหรือสัดส่วน ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย ซึ่งมีกฎหมาย เช่น พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 , พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติอีกหลายฉบับ
หรือการกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ต้องรับผิดในทางแพ่งเป็นการส่วนตัว อันเนื่องมาจากการละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ ได้แก่ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539
แม้กระทั่งการมีกฎหมายที่คุ้มครองบุคคลสำคัญที่ให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ต่อการสอบสวน โดยบุคคลจะไม่ถูกดำเนินคดี เช่น มาตรา 135 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 และมาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ.มาตรการขอฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกฎหมายดังกล่าว มีลักษณะเป็นกฎหมายเฉพาะที่ใช้บังคับเฉพาะเรื่องและจำกัดเฉพาะบางหน่วยงาน ให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ในระดับที่แตกต่างกัน และไม่ครอบคลุมกับเจ้าหน้าที่รัฐทุกประเภท อีกทั้งบางหน่วยงานยังไม่มีกฎหมายในเรื่องนี้แต่อย่างใด
ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้กระทำ ‘โดยสุจริต’ แต่อาจเกิดกรณีที่ ‘ปฏิบัติผิดหลักเกณฑ์หรือขั้นตอน’ หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อหน่วยงานหรือบุคคลภายนอก ต้องถูกดำเนินคดีทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัยแต่เพียงลำพัง ย่อมก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่และยังเป็นการบั่นทอนขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ จนกลายเป็นปัญหาในการบริหาร เพราะเจ้าหน้าที่ไม่กล้าตัดสินใจดำเนินงานเท่าที่ควร เนื่องจากเกรงความรับผิดชอบที่จะเกิดแก่ตน
ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2566 ที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรม โดย สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ได้เสนอเรื่อง ‘แนวทางการสร้างหลักประกันความเป็นธรรมให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ’ ให้ประชุม ครม.พิจารณา มีสาระสำคัญที่น่าสนใจ ดังนี้
@เสนอยกร่าง ‘กฎหมายกลาง’ คุ้มครองการปฏิบัติงาน ‘จนท.รัฐ’
กระทรวงยุติธรรม รายงานว่า กระทรวงยุติธรรมได้จัดการประชุมเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2565 เพื่อปรึกษาหารือและรับฟังความคิดเห็นหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแนวทางการคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยผลประชุมสรุปได้ว่า
1.การจัดทำกฎหมายกลางเพื่อคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า ปัจจุบันกฎหมายให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐจากความรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย แต่ได้กำหนดไว้เพียงสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานบางประเภท โดยมีระดับการให้ความคุ้มครองที่แตกต่างกัน
ประกอบกับในหลายหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานต้องถูกดำเนินคดีในทางแพ่ง ทางอาญาหรือทางวินัย อันเนื่องมาจากการปฏิบัติราชการ แม้จะได้กระทำโดยเจตนาสุจริตเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ แต่อาจมีการปฏิบัติที่ผิดหลักเกณฑ์หรือขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้โดยมิได้มีเจตนาทุจริต ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ และเกรงกลัวต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ ซึ่งทำให้การปฏิบัติราชการไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
ดังนั้น การกำหนดให้มีกฎหมายกลางเพื่อให้หน่วยงานของรัฐ ใช้เป็นแนวทางในการคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในสังกัดภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ย่อมส่งผลให้การปฏิบัติราชการเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ของรัฐจะกล้าปฏิบัติราชการตามอำนาจหน้าที่ได้อย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์ต่อทางราชการและประชาชนได้สูงสุด
2.สมควรกำหนดกลไกการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี กรณีที่เจ้าหน้าที่ถูกดำเนินคดีทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง นอกเหนือจากบทบัญญัติของกฎหมายปัจจุบันที่กำหนดให้พนักงานอัยการว่าต่างแก้ต่างคดี เนื่องจากปัจจุบันพบว่าพนักงานอัยการมีจำนวนจำกัดและมีภาระงานมากเมื่อเทียบกับจำนวนคดีของเจ้าหน้าที่ อาจทำให้ไม่สามารถคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
อีกทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ควรต้องแบกรับภาระทางการเงินเพื่อต่อสู้คดี อันเนื่องมาจากการทำงานในหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องกระทำ จึงสมควรพิจารณากำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐให้สามารถว่าจ้างทนายความได้เอง
3.สำหรับการกันตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้เป็นพยาน เพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด ซึ่งเป็นผู้ก่อเหตุหลักในเรื่องที่ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง ควรมีการพิจารณากำหนดขอบเขตจำนวน และความเหมาะสมประกอบด้วย โดยไม่ควรให้กันตัวไว้เกินสมควร เนื่องจากจะกระทบต่อประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ
นอกจากนี้ อาจกำหนดความคุ้มครองให้ครอบคลุมถึงผู้ปฏิบัติงานในลักษณะที่เป็นการให้บริการสาธารณะ หรือดูแสรักษาความสงบเรียบร้อยในสาธารณะ เช่น ผู้ควบคุมหรือผู้ให้บริการในยานพาหนะที่ทำการขนส่งสาธารณะ เป็นต้น ตลอดจนอาจกำหนดความคุ้มครองให้ครอบคลุมถึงบุคคลอื่นซึ่งช่วยเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ปฏิบัติงานดังกล่าวในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย
4.อย่างไรก็ดี ที่ประชุมมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า การกำหนดให้มีกฎหมายกลางเพื่อคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ควรกำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการคุ้มครองหรือขอบเขตความรับผิดที่ชัดเจน เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาการตีความว่า การกระทำในลักษณะใดที่จะถือว่าเป็นการกระทำโดยสุจริต หรือเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของทางราชการ
เช่น จะต้องเป็นกรณีที่กระทำผิดหลักเกณฑ์หรือขั้นตอนเพียงเล็กน้อยซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการหรือประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ ไม่เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือบุคคลอื่นโดยมิชอบ ไม่ได้เกิดขึ้นจากการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นต้น
โดยยังคงไว้ซึ่งสิทธิของบุคคลหรือชุมชนในการฟ้องหน่วยงานของรัฐ ให้รับผิดเนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐตามที่บัญญัติในมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ทั้งนี้ จะต้องดำเนินการศึกษากฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ทั้งของประเทศไทยและของต่างประเทศที่มีลักษณะบริบทที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย และดำเนินการรวบรวมสภาพปัญหา ข้อมูลสถิติปัจจุบันว่า มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในทางแพ่ง ทางอาญา ทางปกครอง และทางวินัย จากการปฏิบัติหน้าที่ในกรณีที่ได้ปฏิบัติผิดหลักเกณฑ์หรือขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อหน่วยงานหรือบุคคลภายนอกมากน้อยเพียงใด
และศาลได้มีคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาอย่างไร รวมถึงการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากกฎหมายต่อหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม ตลอดจนการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนด้วย
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นสมควรเสนอ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบหลักการในเรื่องนี้ เพื่อที่กระทรวงยุติธรรมจะได้ร่วมดำเนินการจัดทำร่างกฎหมายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ขณะเดียวกัน กระทรวงยุติธรรมยังได้ดำเนินการศึกษาข้อมูลกฎหมายต่างประเทศประกอบแล้ว เห็นว่า การให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติหน้าที่ราชการเป็นหลักการที่ปรากฎอยู่ในต่างประเทศด้วย
เช่น ในสหรัฐอเมริกาได้กำหนดให้มีการคุ้มกันเจ้าหน้าที่ของรัฐในหลายระดับ โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลอื่นที่ปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายจากหน่วยงานของรัฐ จะได้รับความคุ้มกันแบบมีเงื่อนไข (Qualified Immunity) ซึ่งเป็นการให้ความคุ้มกันไม่ต้องเข้าสู่กระบวนพิจารณาทางแพ่ง หรือทางอาญาในชั้นศาลเป็นการส่วนตัว โดยมีเหตุผลหลักในด้านความจำเป็นที่ต้องคุ้มครองเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดโดยไม่มีความเกรงกลัวจากการถูกกลั่นแกล้งหรือความรับผิด ซึ่งจะบั่นทอนประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์สาธารณะ
อย่างไรก็ดี การได้รับความคุ้มครองลักษณะนี้ ศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาได้มีคำวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้ในหลายคดี เช่น คดี Saucier v. Katz (2001) ศาลได้วินิจฉัยว่า ในแต่ละคดีศาลจะนำประเด็นความคุ้มกันของเจ้าหน้าที่มาพิจารณาตั้งแต่ชั้นการไต่สวนมูลฟ้อง เพื่อไม่ต้องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องเข้าสู่กระบวนพิจารณาของศาล ในกรณีที่สามารถอ้างความคุ้มกันดังกล่าวได้
ส่วนเกณฑ์การพิจารณาให้ความคุ้มกันนั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐจะได้รับความคุ้มกัน เว้นแต่ปรากฎความในคดีว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ (Constitutional Right) หรือสิทธิที่มีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ (Clearly Established Law) และเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นรู้หรือควรจะรู้ถึงการละเมิดสิทธิดังกล่าว ทั้งนี้ หากเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ย่อมมีความรับผิดตามกฎหมายสหรัฐอเมริกา 42 U.S.C. 1983
นอกจากนี้ กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐในตำแหน่งที่มีภารกิจสำคัญหรือเป็นตำแหน่งในกระบวนการยุติธรรม กฎหมายได้กำหนดให้มีความคุ้มกันเด็ดขาด (Absolute Immunity) เช่น กรณีการใช้อำนาจตุลาการในการพิจารณาพิพากษาคดี (Judicial Immunity) อำนาจในการสั่งฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการ (Prosecutorial Immunity) และอำนาจในการพิจารณาร่างกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ (Legislative Immunity) เป็นต้น
@เสนอ 5 หลักการคุ้มครองการปฏิบัติราชการเจ้าหน้าที่รัฐ
กระทรวงยุติธรรมได้พิจารณาความเห็นของหน่วยงานประกอบกับบทบัญญัติของกฎหมายไทยที่ใช้บังคับในปัจจุบันและแนวทางของกฎหมายในต่างประเทศแล้ว เห็นควรดำเนินการศึกษาและจัดทำร่างกฎหมายกลางเพื่อเป็นการวางมาตรฐานในการคุ้มครองการปฏิบัติราชการของเจ้าหน้าที่ เพื่อเป็นการเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีความกล้าตัดสินใจในการปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์ของทางราชการ และการให้บริการสาธารณะ (Law of Efficiency) โดยมีหลักการสำคัญ ดังต่อไปนี้
1.กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานโดยหน่วยงานของรัฐ รวมถึงผู้ปฏิบัติงานในลักษณะที่เป็นการให้บริการสาธารณะ หรือการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในสาธารณะ เช่น ผู้ควบคุมหรือผู้ให้บริการในยานพาหนะ ที่ทำการขนส่งสาธารณะ เป็นต้น และบุคคลอื่นซึ่งช่วยเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ปฏิบัติงานดังกล่าวในการปฏิบัติหน้าที่
ได้รับความคุ้มกันไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย ในกรณีที่ได้กระทำผิดกฎหมายหรือระเบียบภายใต้เงื่อนไขว่า การกระทำผิดนั้น ไม่ใช่ส่วนที่เป็นสาระสำคัญ หรือไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการหรือประชาชน หรือเกิดความเสียหายเล็กน้อย แต่ผลการปฏิบัติงานดังกล่าว มีความคุ้มค่า เมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ราชการหรือประชาชนได้รับ
2.กำหนดกลไกในการให้ความช่วยเหลือค่าทนายความ ค่าที่ปรึกษา หรือค่าใช้จ่ายอื่น ที่จำเป็นในการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ปฏิบัติงานในลักษณะที่เป็นการให้บริการสาธารณะ หรือดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในสาธารณะ เช่น ผู้ควบคุมหรือผู้ให้บริการในยานพาหนะ ที่ทำการขนส่งสาธารณะ เป็นต้น และผู้ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ปฏิบัติงานดังกล่าวจะต้องต่อสู้คดีหรือปกป้องสิทธิของตนอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่
3.กำหนดให้มีกลไกในการให้คำแนะนำหรือข้อเสนอแนะปรับปรุง หรือแก้ไขกฎหมายหรือระเบียบเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ยิ่งมีความเสี่ยงสูงในการถูกฟ้องร้องหรือร้องเรียน
4.กำหนดมาตรการป้องกันการอ้างความคุ้มครองตามกฎหมายโดยมิชอบ
5.กำหนดหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบ และติดตามสถานการณ์การฟ้องคดีเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งให้มีกลไกในการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการโดยการสร้างการรับรู้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชน และการสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดอันเป็นประโยชน์แก่ประชาชน
ทั้งนี้ หาก ครม. ให้ความเห็นชอบในหลักการให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไปได้ จะได้มีการศึกษาข้อมูลในเชิงลึกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำร่างกฎหมายต่อไป รวมทั้งอาจนำเรื่องไปปรึกษาหารือคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติตาม พ.ร.บ.พัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2549 เพื่อความรอบคอบและการประสานการบริหารงานยุติธรรมของชาติให้เป็นไปโดยสอดคล้องกัน
@ครม.สั่ง ‘ยุติธรรม’ หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนดำเนินการ
มติคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ครม.ได้ประชุมปรึกษากันและลงมติ ให้กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงาน ก.พ.ร. รับไปพิจารณาความจำเป็นเหมาะสมในการดำเนินการเรื่องนี้ให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง
โดยให้คำนึงถึงกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้บังคับอยู่แล้วในปัจจุบัน รวมทั้งบริบทแวดล้อมอื่นๆให้ครอบคลุม ครบถ้วนในทุกมิติ ตลอดจนภาระงบประมาณที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยให้รับความเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อสังเกตของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และประธานกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วให้กระทรวงยุติธรรมนำเสนอคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ พิจารณาในภาพรวม ก่อนดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
เหล่านี้เป็นความคืบหน้าล่าสุดของการเพิ่ม ‘ความคุ้มครอง’ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ให้ต้องถูกดำเนินคดีในทางแพ่ง ทางอาญาหรือทางวินัย อันเนื่องมาจากการปฏิบัติราชการที่ได้กระทำโดย ‘เจตนาสุจริต’ และ ‘เพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ’ ผ่านการผลักดัน ‘ร่างกฎหมายกลาง’ เพื่อคุ้มครองการปฏิบัติราชการของเจ้าหน้าที่รัฐ!
อ่านประกอบ :
ฉบับเต็ม! คำฟ้องคดีส่งฟ้องผู้ต้องหา 'ผิดตัว' ศาลแพ่งฯ สั่ง'สตช.-อส.' ร่วมกันชดใช้ 20 ล.
สั่งร่วมกันชดใช้ 20 ล.! ศาลแพ่งฯ พิพากษา 'สตช.-อส.' แพ้คดีส่งฟ้องผู้ต้องหา 'ผิดตัว'