"...ขณะเกิดเหตุ นางสาวพุทธชาติ เพิ่มพูล ตัวจริงอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ไม่ได้รู้เห็นในการกระทําความผิดเรื่องที่ ถูกฟ้องนี้ ศาลสอบถามนางสาววิลาวัลย์ หรือ ณภัทรรตา ปัญโญชัย ก็ยอมรับว่าได้แอบอ้างเอาชื่อ นางสาวพุทธชาติ เพิ่มพูล มาใช้เพื่อยืนยันว่าเป็นชื่อตนเองจริง..."
นับเป็นคดีใหญ่ ที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การปฏิบัติงานตามหน้าที่ของ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และพนักงานอัยการ เป็นอย่างมาก
กรณีเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ มีคำพิพากษาตัดสินคดีความแพ่ง ให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จำเลยที่ 1 และสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) จำเลยที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 20,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ให้แก่ นางสาวพุทธชาติ เพิ่มพูล โจทก์ จากกรณีการส่งฟ้องผู้ต้องหาในข้อหาลักทรัพย์ "ผิดตัว"
หลังผู้ต้องหาตัวจริงในคดีได้แอบอ้าง นางสาวพุทธชาติ เป็นผู้ต้องหาแทน ทำให้ได้รับความเสียหายจากการถูกหมายจับ เสื่อมเสียชื่อเสียงและจิตใจที่ต้องตกมาเป็นจำเลย ทั้งที่ไม่ได้กระทำความผิด
เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีนี้ มากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำข้อมูลคำฟ้องของ โจทก์ ในคำพิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ตัดสินคดีนี้ มานำเสนอ ณ ที่นี้
@ โจทก์ฟ้องว่า
โจทก์เป็นบุคคลสัญชาติไทย มีสิทธิ์และเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย ที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
จําเลยที่ 1 เป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นนิติบุคคล ตามพระราชบัญญัติตํารวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มีอํานาจหน้าที่ ควบคุมกํากับการปฏิบัติงานของข้าราชการตํารวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
จําเลยที่ 2 เป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นนิติบุคคล ตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงาน อัยการ พ.ศ.2553 มีอํานาจหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติงานของข้าราชการฝ่ายอัยการ
เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2559 เจ้าพนักงานตํารวจสถานีตํารวจนครบาลมีนบุรี ได้จับกุมตัวนางสาววิลาวัลย์ หรือ ณภัทรรตา ปัญโญชัย มาดําเนินคดีในข้อหาลักทรัพย์
@ ผู้ต้องหาอ้างชื่อโจทก์
แต่ในวันที่ถูกจับกุมนั้น นางสาววิลาวัลย์ หรือ ณภัทรรตา ปัญโญชัย ได้แจ้งแก่เจ้าพนักงานตํารวจว่าตนเองชื่อ พุทธชาติ เพิ่มพูล และได้ ลงลายมือชื่อว่า พุทธชาติ เพิ่มพูล ในบันทึกการจับกุมและเอกสารต่างๆ ที่เจ้าพนักงานตํารวจ นำมาให้ลงลายมือชื่อ และได้ให้การรับสารภาพต่อพนักงานสอบสวนสถานีตํารวจนครบาลมีนบุรี
ทําให้พนักงานอัยการนําตัว นางสาววิลาวัลย์ หรือ ณภัทรรตา ปัญโญชัย ไปฟ้องต่อศาลจังหวัดมีนบุรี ในชื่อนางสาวพุทธชาติ เพิ่มพูล และศาลได้ประทับรับฟ้องเป็นคดีหมายเลขดําที่ อ.7598/2559
ซึ่งจําเลยได้ให้การรับสารภาพ
ศาลพิพากษาลงโทษจําคุกนางสาวพุทธชาติ เพิ่มพูล จําเลย 1 ปี แล้วลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงลงโทษจําคุก 6 เดือน
ต่อมานางสาววิลาวัลย์ หรือ ณภัทรรตา ปัญโญชัยได้ยื่นอุทธรณ์และลงลายมือชื่อในอุทธรณ์ว่า นางสาวพุทธชาติ เพิ่มพูล เป็นผู้ยื่นอุทธรณ์
โดยศาลอุทธรณ์นัดฟังคําพิพากษาศาลอุทธรณ์ วันที่ 29 มิถุนายน 2560 ก่อนถึงวันนัดมีการ ส่งหมายนัดไปยังภูมิลําเนาของโจทก์
จึงทําให้โจทก์นําเรื่องไปปรึกษาทนายความ และแต่งทนายความเข้าไปชี้แจงว่า นางสาวพุทธชาติ เพิ่มพูล ตัวจริงนั้นไม่ได้เป็นจําเลยในคดีดังกล่าว
จำเลยเป็นบุคคลอื่น แต่น่าชื่อนางสาวพุทธชาติ เพิ่มพูล มาใช้เมื่อถูกดําเนินคดี
@ ตัวจริงอยู่สิงคโปร์ไม่ได้รู้เห็นด้วย
ขณะเกิดเหตุ นางสาวพุทธชาติ เพิ่มพูล ตัวจริงอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ไม่ได้รู้เห็นในการกระทําความผิดเรื่องที่ ถูกฟ้องนี้
ศาลสอบถามนางสาววิลาวัลย์ หรือ ณภัทรรตา ปัญโญชัย ก็ยอมรับว่าได้แอบอ้างเอาชื่อ นางสาวพุทธชาติ เพิ่มพูล มาใช้เพื่อยืนยันว่าเป็นชื่อตนเองจริง
ศาลจังหวัดมีนบุรี จึงได้เลื่อนการอ่านคําพิพากษาศาลอุทธรณ์ไป และนัดไต่สวนผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด
เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2560 ตํารวจโทถาวร สายมะณี พนักงานสอบสวน สถานีตํารวจนครบาลมีนบุรี ได้เบิกความเป็นพยานในคดีหมายเลขดําที่ อ.7598/2559 ว่าวันที่ 7 ตุลาคม 2559 ได้มีเจ้าหน้าที่ตํารวจสายตรวจ สถานีตํารวจนครบาลมีนบุรี นําผู้ต้องหาซึ่งอ้างว่าชื่อนางสาวพุทธชาติ เพิ่มพูล มาส่งให้ดําเนินคดี
จากนั้นพันตํารวจโทถาวร ได้ตรวจสอบข้อมูลบุคคลตามหลักฐานรายการทะเบียนราษฎร์ ปรากฏว่า ชื่อผู้ต้องหา ตรงกับฐานข้อมูลและได้พิมพ์ลายนิ้วมือส่งไปตรวจสอบที่กองพิสูจน์หลักฐาน สํานักงานตํารวจแห่งชาติ
แต่เนื่องจากเป็นการฟ้องวาจา จึงนําผู้ต้องหาส่งฟ้องโดยยังไม่ได้แจ้งผลการตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือ
ต่อมาได้รับแจ้งผลการตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือว่าไม่ใช่ นางสาวพุทธชาติ เพิ่มพูล แต่เป็นลายพิมพ์นิ้วมือของนางสาวณภัทรรตา ปัญโญชัย
แต่เนื่องจากได้รับแจ้งผลดังกล่าวหลังจากที่มีการส่งฟ้องผู้ต้องหาไปแล้ว จึงไม่ได้มีการดําเนินการแก้ไขใดๆ และในวันที่รับตัวผู้ต้องหานั้นไม่มีบัตรประจําตัวประชาชนมาแสดง และยังเบิกความยอมรับว่า ผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือของสํานักงานตํารวจแห่งชาตินั้น ส่งมาหลังจากฟ้องคดีแล้วประมาณ 1 เดือน ซึ่งเมื่อได้รับแจ้งผลเช่นนั้นก็ไม่ได้แจ้งพนักงานอัยการอีก
เพราะเห็นว่าคดีส่งฟ้องไปแล้ว
แต่ต่อมาภายหลังจากที่โจทก์ได้ให้ทนายไปร้องคัดค้านในคดีว่าตนมิได้เป็นผู้กระทําความผิด
พันตํารวจโทถาวร สายมะณี จึงได้ไปตรวจสอบแล้วพบว่า นางสาวพุทธชาติ เพิ่มพูล ไม่ใช่ผู้ต้องหา ผู้ต้องหาจริงชื่อนางสาวณภัทรรตา ปัญโญชัย
จากข้อเท็จจริงและการกระทําโดยประมาท ของเจ้าพนักงานตํารวจสถานีตํารวจนครบาลมีนบุรีผู้จับกุม และพันตํารวจโทถาวร สายมะณี พนักงานสอบสวนสถานีตํารวจนครบาลมีนบุรี ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ
โดยไม่ตรวจสอบชื่อผู้ต้องหาให้รอบคอบดีเสียก่อนว่าผู้ต้องหาที่ถูกจับตัวมาได้นั้นชื่อนางสาวพุทธชาติ เพิ่มพูล จริงหรือไม่
เนื่องจากผู้ต้องหาก็ไม่ได้มีบัตรประจําตัวประชาชนมาแสดงให้ดูเพื่อยืนยันว่าเป็นชื่อของผู้ต้องหาจริง
เมื่อเป็นเช่นนี้เจ้าพนักงานตํารวจจึงจะต้องตรวจสอบ ความถูกต้องของชื่อผู้ต้องหาโดยละเอียดถี่ถ้วนเสียก่อน
โดยเฉพาะพันตํารวจโทถาวร สายมะณี ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสํานวนคดีนี้ยิ่งควรจะต้องตรวจสอบความถูกต้องของชื่อ ผู้ต้องหาให้ถูกต้อง เพื่อมิให้บุคคลอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องต้องได้รับความเดือดร้อนในภายหลัง
แต่ได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวด้วยความประมาทเลินเล่อ ดําเนินการส่งฟ้องผู้ต้องหาในชื่อของ นางสาวพุทธชาติ เพิ่มพูล แก่พนักงานอัยการต่อไปอีก
ซึ่งนางสาวมนต์ทิพย์ ชลนาคเกษม พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการสูงสุด (สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 11 สํานักงาน คดีอาญา) นั้นก็ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออีกเช่นกัน
โดยไม่ตรวจสอบเอกสาร หลักฐานให้ละเอียดถี่ถ้วนว่า ผู้ต้องหาที่เจ้าพนักงานตํารวจส่งตัวมานั้นชื่อนางสาวพุทธชาติ เพิ่มพูล จริงหรือไม่ กับส่งตัวผู้ต้องหาส่งฟ้องศาลจังหวัดมีนบุรีในชื่อของนางสาวพุทธชาติ เพิ่มพูล จนทํา ให้ศาลจังหวัดมีนบุรีมีคําพิพากษาลงโทษจําเลยในชื่อว่านางสาวพุทธชาติ เพิ่มพูล
@ ทราบผลการตรวจลายนิ้วมือผู้ต้องหาหลังจากส่งฟ้องแล้ว ประมาณ 6 เดือน
ต่อมา พันตํารวจโทถาวร สายมะณี ทราบผลการตรวจลายนิ้วมือของผู้ต้องหาหลังจากส่งฟ้องแล้ว ประมาณ 6 เดือน ว่าไม่ใช่นางสาวพุทธชาติ เพิ่มพูล
แต่กลับไม่ดําเนินการใดๆ ต่อไปอีก จนทําให้ นางสาวพุทธชาติ เพิ่มพูล ได้รับความเสียหาย
โจทก์ทราบถึงเหตุในการฟ้องคดีเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2560 และเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2560 เจ้าพนักงานตํารวจ สถานีตํารวจภูธร ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ได้จับกุมตัวนางสาววิลาวัลย์ หรือ ณภัทรรตา ปัญโญชัย มาดําเนินคดี ในข้อหาลักทรัพย์
แต่ในวันที่ถูกจับนั้นนางสาววิลาวัลย์ หรือ ณภัทรรตา ปัญโญชัย ได้แจ้งต่อ พนักงานสอบสวนว่าตนชื่อนางสาวพุทธชาติ เพิ่มพูล และได้ลงชื่อว่าพุทธชาติ เพิ่มพูล ในบันทึกการจับกุมและเอกสารต่าง ๆ ที่เจ้าพนักงานตํารวจ นํามาให้ลงลายมือชื่อ แล้วก็ได้ให้ การรับสารภาพต่อพนักงานสอบสวน สถานีตํารวจภูธรประตูน้ำจุฬาลงกรณ์
ต่อมาวันที่ 15 มีนาคม 2560 พนักงานสอบสวนยื่นคําร้องขอฝากขังผู้ต้องหาโดยระบุชื่อว่า นางสาวพุทธชาติ เพิ่มพูล ศาลอนุญาต ผู้ต้องหาขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างสอบสวน ศาลอนุญาต
ต่อมาวันที่ 19 เมษายน 2560 พนักงานอัยการจังหวัดมีนบุรี ได้ยื่นฟ้องนางสาวพุทธชาติ เพิ่มพูล ต่อศาล จังหวัดมีนบุรีในคดีหมายเลขดํา อ.2372/2560 เมื่อถึงกําหนดฝากขังครั้งที่ 3 ผู้ต้องหาไม่มา รายงานตัว วันที่ 21 เมษายน 2560 ศาลมีคําสั่งให้ออกหมายจับนางสาวพุทธชาติ เพิ่มพูล
ต่อมา วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 ศาลจังหวัดธัญบุรีได้นัดไต่สวนคําร้องขอเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ ในคดีหมายเลขดําที่ อ.2372/2560 ร้อยตํารวจเอกหญิงกมลชนันท์ สุกใส พนักงานสอบสวน สถานีตํารวจภูธรประตูน้ําจุฬาลงกรณ์ ได้ให้ข้อมูลต่อศาลว่า ในวันที่รับตัวผู้ต้องหานั้นผู้ต้องหาไม่มี บัตรประจําตัวประชาชน
แต่อ้างว่าชื่อนางสาวพุทธชาติ เพิ่มพูล จึงได้ตรวจสอบข้อมูล ตามหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์ปรากฏว่า ชื่อผู้ต้องหาบอกตรงกับฐานข้อมูล และได้พิมพ์ ลายนิ้วมือไปตรวจสอบยังกองพิสูจน์หลักฐานสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ได้รับแจ้งว่าเป็นลายมือ ของผู้ต้องหา
จึงสรุปสํานวนเสนอความเห็นควรสั่งฟ้อง
โดยระบุชื่อผู้ต้องหาว่านางสาวพุทธชาติ เพิ่มพูล และพนักงานอัยการได้ให้ข้อมูลต่อศาลว่า ตรวจสอบประวัติอาชญากรรมของผู้ต้องหา เบื้องต้นแล้วเชื่อว่านางสาวพุทธชาติ เพิ่มพูล และนางสาววิลาวัลย์ หรือ ณภัทรรตา ปัญโญชัย เป็นบุคคลเดียวกัน
รวมทั้งพนักงานอัยการยังได้บรรยายฟ้องว่าก่อนคดีนี้นางสาวพุทธชาติ เพิ่มพูล เคยต้องคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุก ทั้งที่ก่อนหน้าคดีนี้จําเลยคือนางสาววิลาวัลย์ ปัญโญชัย หมายเลขประจําตัวประชาชน XXXX คําร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวน และคําฟ้องของพนักงานอัยการจึงไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่า เจ้าพนักงานตํารวจสถานีตํารวจภูธรประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ผู้จับกุม และร้อยตํารวจเอกหญิง กมลชนันท์ สุกใส พนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ได้ปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความประมาทเลินเล่อ
โดยไม่ตรวจสอบชื่อให้รอบคอบเสียก่อนว่าผู้ต้องหาที่ถูกจับตัวมาได้นั้น ชื่อนางสาวพุทธชาติ เพิ่มพูล จริงหรือไม่ เนื่องจากผู้ต้องหาไม่มีบัตรประจําตัวประชาชนมาแสดงให้ ดูว่าใช่ชื่อของผู้ต้องหาจริง
เมื่อเป็นเช่นนี้พนักงานสอบสวนยิ่งต้องตรวจสอบความถูกต้องของชื่อ ผู้ต้องหาให้ละเอียดถี่ถ้วนดีเสียก่อน โดยเฉพาะร้อยตํารวจเอกหญิงกมลชนันท์ สุกใส ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสํานวนคดีนี้ยิ่งต้องตรวจสอบความถูกต้องของชื่อผู้ต้องหาให้ถูกต้อง เพื่อมิให้บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องต้องได้รับความเดือดร้อนในภายหลัง แต่ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความ ประมาทเลินเล่อ ดําเนินการส่งฟ้องผู้ต้องหาในชื่อ นางสาวพุทธชาติ เพิ่มพูล
และข้อหาที่ 2 นางสาวผกาวดี ประดับคํา พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี ก็ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ เช่นกัน
โดยไม่ตรวจสอบเอกสารหลักฐานให้ละเอียดถี่ถ้วนว่าผู้ต้องหาที่เจ้าพนักงานตํารวจส่งตัว มานั้นชื่อนางสาวพุทธชาติ เพิ่มพูล จริงหรือไม่
กลับส่งตัวผู้ต้องหาส่งฟ้องต่อศาลจังหวัดธัญบุรี ในชื่อของนางสาวพุทธชาติ เพิ่มพูล และนางสาววิลาวัลย์ หรือ ณภัทรรตา ปัญโญชัย ว่าเป็นบุคคลคนเดียวกัน
ทั้งๆ ที่เลขประจําตัวประชาชนของคนทั้งสองคนไม่เหมือนกัน
โจทก์รู้ถึงเหตุที่ฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561
เจ้าพนักงานตํารวจและอัยการถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามที่ ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
การกระทําของเจ้าพนักงานตํารวจและพนักงานอัยการดังกล่าวข้างต้น เป็นการกระทําละเมิด ในการปฏิบัติหน้าที่ ทําให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
สํานักงานตํารวจแห่งชาติ จําเลยที่ 1 สํานักงาน อัยการสูงสุด จําเลยที่ 2 เป็นหน่วยงานของรัฐตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติ ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 จึงต้องร่วมรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิด ที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทําไปในการปฏิบัติหน้าที่ ตามที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติ ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539
@ โจทก์เรียกค่าเสียหายจากจําเลยทั้งสอง
โจทก์เรียกค่าเสียหายจากจําเลยทั้งสองดังนี้ ค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างทนายความต่อสู้คดีทั้งสองคดี จํานวน 450,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการ เดินทางไป-กลับ ประเทศสิงคโปร์เพื่อมาต่อสู้คดี จํานวน 20,000 บาท ค่าเสียหายต่อเสรีภาพ ชื่อเสียง จากการถูกออกหมายจับ ทําให้ต้องถูกเจ้าหน้าที่สํานักงานตํารวจตรวจคนเข้าเมืองกักตัว ไว้เวลาเดินทางเข้าออกประเทศไทย จํานวน 1,000,000 บาท ค่าเสียหายต่อชื่อเสียงและจิตใจ
ที่ต้องตกมาเป็นจําเลยทั้งที่ไม่ได้กระทําความผิด จํานวน 20,000,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหาย ทั้งสิ้น 21,250,000 บาท โจทก์ขอเรียกร้องค่าเสียหายเพียง 20,000,000 บาท
ก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์ได้ฟ้องจําเลยทั้งสองต่อศาลปกครองกลางเมื่อ วันที่ 4 กันยายน 2561
แต่ศาลปกครองกลาง มีคําสั่งไม่รับคําฟ้องของโจทก์เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 เนื่องจากคดีไม่อยู่ในอํานาจของ ศาลปกครอง ในคดีศาลปกครองกลางหมายเลขแดงที่ 2174/2561 โจทก์ได้นําคดีนี้มาฟ้อง ต่อศาลนี้ภายใน ต่อศาล ภายใน 30 วัน คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ก่อนที่ ศาลฯ จะพิเคราะห์คำฟ้อง คำให้การและข้อเท็จจริง เห็นว่า เจ้าหน้าที่รัฐในสังกัด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จำเลยที่ 1 และสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) จำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ ไม่ตรวจสอบเอกสารหลักฐานให้ละเอียดถี่ถ้วน ว่าผู้ต้องหาที่เจ้าพนักงานตำรวจส่งตัวมานั้นกับผู้ต้องหาเป็นคนๆ เดียวกันหรือไม่
ทั้งที่เลขประจำตัวประชาชนของ โจทก์และผู้ต้องหาในคดีตัวจริงไม่เหมือนกัน จนทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ หน่วยงานรัฐต้นสังกัดของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการผู้ก่อเหตุละเมิดในคดี จำเลยทั้งสอง จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ จำเลยทั้งสอง ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์
พิพากษาให้จำเลยทั้งสอง ร่วมกันชำระเงินจำนวน 20,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วัดถัดจากวันฟ้อง หรือวันที่ 28 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ ค่าฤชาธรรมเทียบแทนโจกท์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
***********
อย่างไรก็ดี เกี่ยบกับคดีนี้ ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่า
1. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จำเลยที่ 1 และสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) จำเลยที่ 2 มีการอุทธรณ์สู้คดีหรือไม่?
2. ทั้งสองหน่วยงาน จะดำเนินการทางวินัยและความรับผิดทางละเมิดกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่างไร?
ที่สำคัญจะมีการสร้างระบบป้องกันปัญหาอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องนี้ ซ้ำรอยขึ้นมาได้อีก