" ...จําเลยเบิกความว่า ในวันเลี้ยงส่งพนักงานอัยการโยกย้าย ไม่ได้เชิญ บุคคลภายนอก ยกเว้นบุคคลภายนอกที่ทราบจะไปร่วมงานก็ไม่ได้ห้าม โจทก์เข้าไปในงาน จําเลยในฐานะหัวหน้าพนักงานอัยการเรียกโจทก์และจัดหาที่นั่งให้จนกระทั่งเวลา 23 นาฬิกา จําเลยเรียกพนักงานร้านอาหารให้เก็บเงิน ไม่ได้บอกให้ใครไปจ่ายเงินให้เนื่องจากเตรียมไว้แล้ว พนักงานบอกว่า มีคนจ่ายให้ กลับไปแล้ว ไม่ทราบว่าเป็นใคร จําเลยขอดูหลักฐานพบว่าจ่าย ในนามบริษัท ไม่ทราบว่าโจทก์เป็นผู้จ่าย เพิ่งทราบหลังจากถูกร้องเรียนและถูกฟ้องแล้ว..."
" จําเลยพูดกับโจทก์ว่า คุณ พ. พี่ต้องมีค่าใช้จ่ายนะ พี่มีลูกน้องที่เป็นแขนเป็นขา ที่คอยช่วยเหลือพี่ ถ้าต่อไปคุณพ. มีอะไรเดือดร้อนหรือลูกชายซึ่งยังเป็นเด็ก หากมีเรื่องเดือดร้อน พี่จะดูแลคดีที่จะสั่งไม่ฟ้องพี่ขอสามแสนบาท หักค่าใช้จ่ายงานเลี้ยงที่ร้านบ้านชานกรุงออกไป
หลังจากจําเลยพูดจบ โจทก์อึ้ง เพราะเข้าใจว่าจําเลยจะสั่งไม่ฟ้องและไม่เรียกร้องอะไรอีก
คิดว่าคดี จบไปตั้งแต่วัน วันเลี้ยงส่งพนักงานอัยการแล้ว
จึงพูดกับจําเลยไปว่า เดี๋ยวค่อยว่ากันครับท่าน
พูดอะไรต่อไม่ออก จากนั้นโจทก์ขอตัวกลับ"
คือ ข้อมูลชุดสำคัญที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เกี่ยวกับเนื้อหาคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ที่ตัดสินให้ลงโทษนายธีรวุฒิ วชิรมงคลพงษ์ อดีตอัยการอาวุโส เป็นเวลา 5 ปี ก่อนที่ ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จะพิพากษา แก้ไขโทษเป็นจำคุก 7 ปี ต่อมาศาลฎีกาไม่รับฎีกา คดีถึงที่สุด เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2565
อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ นายธีรวุฒิ วชิรมงคลพงษ์ ถูกฟ้องคดีในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 11 สำนักงานคดีอาญา สำนักงานอัยการสูงสุด กรณีบังคับให้ผู้เสียหายจ่ายค่าอาหารเลี้ยงส่งลูกน้องตัวเองกว่าหมื่นบาท ต่อมายังนัดผู้เสียหายมาเรียกเงินอีก 3 แสนบาท ก่อนจะกล่าวหาผู้เสียหายจ่ายเงินค่าอาหารเลี้ยงข้าราชการอัยการในลักษณะการให้สินบน
ก่อนจะถูกที่ประชุมคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 มีมติให้ไล่ออกราชการเป็นทางการ
- ก.อ.ไล่ออก 'อัยการ' บังคับชาวบ้านจ่ายค่าอาหารเลี้ยงลูกน้อง-รีด 3 แสน โดนคุก7 ปี (1)
- เปิดตัว 'อดีตอัยการ' โดนคดีบังคับชาวบ้านจ่ายค่าอาหารเลี้ยงลูกน้อง-รีด 3 แสน คุก7 ปี (2)
- เปิดพฤติการณ์ทุจริต 'อดีตอัยการ' เรียกจ่ายค่าอาหารเลี้ยงลูกน้อง-รีด 3 แสน แลกไม่ฟ้องคดี (3)
- เข้าใจว่าเป็นคนมีเมตตา! เปิดคำให้การโจทก์ แฉวินาที'อดีตอัยการ' เรียกจ่ายค่าอาหาร-รีด3แสน (4)
ต่อไปนี้ เป็นข้อมูลส่วนสุดท้าย เกี่ยวกับข้อต่อสู้ของจำเลย ก่อนที่ศาลฯ จะมีคำพิพากษาตัดสินโทษ 5 ปี ก่อนที่ ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จะพิพากษา แก้ไขโทษเป็นจำคุก 7 ปี ขณะที่ ศาลฎีกาไม่รับฎีกา คดีถึงที่สุด เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2565
**************
ศาลฯ ระบุในคำพิพากษาว่า ที่จําเลยต่อสู้ว่า จําเลยจ่ายสํานวนคดีให้นาย ว. รับผิดชอบพิจารณาสั่งแล้วเสนอจําเลยเพื่อทราบเท่านั้น
ในวันที่โจทก์ไปขอพบจําเลย จําเลยให้ ความเห็นเพียงว่า หากมีการร้องขอความเป็นธรรมในกรณีที่สั่งไม่ฟ้องบางข้อหา จะต้องเสนอสํานวนตามลําดับชั้นให้อธิบดีเป็นผู้สั่ง ไม่ได้บอกให้โจทก์ถอนหนังสือขอความเป็นธรรมนั้น
เห็นว่า ภรรยาและบุตรโจทก์ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมฉบับลงวันที่ 26 สิงหาคม 2559 ต่อพนักงานอัยการจังหวัดปทุมธานี และต่อมาได้มีการส่งสํานวนการสอบสวนไปยัง สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 11 สํานักงานคดีอาญา เพื่อให้พนักงานอัยการผู้รับผิดชอบสํานวนทราบว่า โจทก์กับพวกและผู้กล่าวหามีการฟ้องร้องกันหลายคดีในหลายศาล ทั้งสองฝ่ายตกลง ทําสัญญาประนีประนอมยอมความกันที่ศาลจังหวัดมีนบุรีเพื่อยุติทุกคดีแล้ว และขอให้มีคําสั่งให้พนักงานสอบสวนทําการสอบสวนเพิ่มเติมเกี่ยวกับงบการเงินของบริษัท ย. และบริษัท อ. ซึ่งเป็นประเด็นสําคัญในการพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องโจทก์ กับพวก
จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่โจทก์กับพวกจะขอถอนหนังสือร้องขอความเป็นธรรมที่เป็นการขัดต่อ เจตนาของตนที่มีมาตั้งแต่ต้น หากมิได้เป็นเพราะเหตุดังที่โจทก์เบิกความยืนยันว่า จําเลยบอกโจทก์ว่าจะช่วยเหลือ ให้โจทก์ถอนหนังสือขอความเป็นธรรม เพื่อที่จําเลยจะสามารถสั่งคดีได้เอง ไม่ต้องเสนอสํานวนให้ผู้มีอํานาจสูงกว่าพิจารณา
อีกทั้งหลังจากมีการถอนหนังสือขอความเป็นธรรมดังกล่าวแล้ว โจทก์กับพวกยังได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมและหนังสือขอให้สอบเพิ่มเติม ตามหนังสือขอความเป็นธรรมฉบับลงวันที่ 24 มิถุนายน 2560 หนังสือขอให้สอบเพิ่มเติม เกี่ยวกับงบการเงินของบริษัท ย. และบริษัท อ. ฉบับลงวันที่ 28 มิถุนายน 2560 และหนังสือขอความเป็นธรรมและหนังสือขอให้สอบเพิ่มเติมฉบับลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 ในประเด็นเดิมทั้งสิ้น
เช่นนี้ ย่อมเชื่อได้ว่า โจทก์กับพวกขอถอนหนังสือขอความเป็นธรรมเพราะจําเลยบอกให้ถอน ข้อต่อสู้ของจําเลยในส่วนนี้ขัดต่อเหตุผล ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง
ส่วนที่จําเลยต่อสู้ในทํานองว่า โจทก์เข้าไปร่วมงาน เลี้ยงส่งพนักงานอัยการโยกย้ายเองโดยไม่ได้รับเชิญ และโจทก์แอบไปจ่ายค่าอาหารแทน โดยไม่บอกให้เจ้าของงานรู้
โดยจําเลยเบิกความว่า ในวันเลี้ยงส่งพนักงานอัยการโยกย้าย ไม่ได้เชิญ บุคคลภายนอก ยกเว้นบุคคลภายนอกที่ทราบจะไปร่วมงานก็ไม่ได้ห้าม โจทก์เข้าไปในงาน จําเลยในฐานะหัวหน้าพนักงานอัยการเรียกโจทก์และจัดหาที่นั่งให้
จนกระทั่งเวลา 23 นาฬิกา จําเลยเรียกพนักงานร้านอาหารให้เก็บเงิน ไม่ได้บอกให้ใครไปจ่ายเงินให้เนื่องจากเตรียมไว้แล้ว
พนักงานบอกว่า มีคนจ่ายให้ กลับไปแล้ว ไม่ทราบว่าเป็นใคร
จําเลยขอดูหลักฐานพบว่าจ่าย ในนามบริษัท ไม่ทราบว่าโจทก์เป็นผู้จ่าย เพิ่งทราบหลังจากถูกร้องเรียนและถูกฟ้องแล้ว
และนางสาว ก. พนักงานแคชเชียร์ร้านอาหารบ้านชานกรุง พยานที่จําเลยอ้าง เบิกความสนับสนุนว่า ขณะที่พนักงานเสิร์ฟบอกให้พยานไปคิดเงิน มีชายอายุประมาณ 40 ปี สอบถามค่าอาหารแล้วชําระโดยใช้บัตรเครดิต ขอให้ออกใบเสร็จรับเงินในนามบริษัท และแจ้งพนักงานเสิร์ฟว่าไม่ต้องบอกเจ้าของงานว่า ใครเป็นคนจ่ายนั้น
เห็นว่า พยานปากนางสาว ก. เป็นพนักงานแคชเชียร์ร้านอาหาร หน้าที่สําคัญอยู่ที่การคิดและการเก็บเงินจากลูกค้าให้ถูกต้องครบถ้วน แต่ละวันย่อมต้องพบปะลูกค้ามากหน้าหลายตา สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป นับแต่วันเกิดเหตุจนถึงวันที่พยานมาเบิกความ เป็นระยะเวลานานเกินกว่า 3 ปี ไม่ปรากฏว่าในวันเกิดเหตุมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นผิดแผกแตกต่างไป จากวันอื่น อันจะทําให้พยานมีจุดให้จดจําได้เป็นพิเศษ
ไม่มีเหตุให้เชื่อได้ว่าพยานจะสามารถจดจํา รายละเอียดของเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุได้
อีกทั้งงานเลี้ยงส่งพนักงานอัยการโยกย้ายเป็นการจัด เลี้ยงภายใน โจทก์เป็นบุคคลภายนอกและอยู่ในฐานะผู้ต้องหา ส่วนจําเลยอยู่ในฐานะหัวหน้า สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 11 สํานักงานคดีอาญา ผู้มีอํานาจหน้าที่ในการพิจารณาสั่งคดี ของโจทก์กับพวก ไม่มีเหตุผลอันใดที่โจทก์จะได้มีโอกาสเข้าไปร่วมงานเลี้ยง
หากมิได้เป็นเพราะเหตุ ดังที่โจทก์เบิกความยืนยันว่า จําเลยชักชวนโจทก์ไปร่วมงานเลี้ยง
เมื่อไปถึงห้องจัดเลี้ยง จําเลยพาโจทก์ ไปนั่งร่วมโต๊ะตั้งแต่ต้นจนกระทั่งงานเลิก การที่โจทก์กับภรรยาและบุตรเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาอยู่ ระหว่างการสั่งคดีของพนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 11 สํานักงาน คดีอาญา ย่อมเป็นเหตุให้โจทก์อยู่ในภาวะที่ต้องเกรงใจและจําต้องกระทําการใด ๆ ให้เป็นที่พอใจ แก่จําเลยซึ่งเป็นหัวหน้าของพนักงานอัยการผู้มีอํานาจในการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องโจทก์กับภรรยา และบุตร
หากโจทก์เต็มใจและประสงค์จะจ่ายค่าอาหารแทนให้เองแล้ว โจทก์ย่อมต้องการเอาหน้า เสนอตัวรีบบอกให้จําเลยรู้โดยเร็ว หรืออาจกล่าวได้ว่า คงไม่มีผู้ต้องหาคนไหนที่จะได้เข้าไปนั่งร่วมโต๊ะ กับแม่งานในงานเลี้ยงภายในของพนักงานอัยการเจ้าของสํานวนโดยไม่ได้รับเชิญ และเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ต้องหานั้นจะต้องแอบไปจ่ายค่าอาหารแทนแล้วหนีกลับไปโดยไม่บอกใคร
นอกจากนี้ยังปรากฏใน ใบเสร็จรับเงินค่าอาหาร ระบุที่อยู่บริษัทว่าอยู่เลขที่ XXX ซึ่งเป็นภูมิลําเนาที่อยู่ของโจทก์ตามที่ระบุไว้ในใบแจ้งยอดบัญชี บัตรเครดิต/ใบเสร็จรับเงิน ที่โจทก์ใช้ชําระค่าอาหารดังกล่าว
ข้อต่อสู้ของจําเลย ในส่วนนี้ขัดต่อเหตุผล มีพิรุธ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเช่นกัน
คดีจึงรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จําเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานในตําแหน่งอัยการพิเศษฝ่าย คดีอาญา 11 สํานักงานคดีอาญา สํานักงานอัยการสูงสุด ให้โจทก์กับพวกถอนหนังสือขอความ เป็นธรรมเพื่อที่ตนจะได้มีอํานาจเต็มในการสั่งคดี โจทก์กับพวกหลงเชื่อดําเนินการขอถอนหนังสือ ขอความเป็นธรรมตามที่จําเลยบอก จําเลยชักชวนโจทก์ไปร่วมงานเลี้ยงส่งพนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 11 โยกย้ายที่ร้านอาหารบ้านชานกรุง แล้วให้โจทก์จ่าย ค่าอาหารเพื่อแลกกับการที่จะสั่งไม่ฟ้องคดีโจทก์กับพวก โจทก์จํายอมกระทําตามที่จําเลยเรียกร้อง ชําระค่าอาหารไป 18,556 บาท
และหลังจากนั้นจําเลยเรียกเงินจากโจทก์อีก 300,000 บาท โดยให้หักค่าอาหารที่จ่ายในงานเลี้ยงออกเพื่อแลกกับการที่จะสั่งไม่ฟ้องโจทก์กับพวก แต่โจทก์ไม่ยอม
การกระทําของจ๋าเลยเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความ เสียหายแก่โจทก์ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเป็นการเรียก รับ หรือยอม จะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบด้วยหน้าที่เพื่อกระทําการ หรือไม่กระทําการในตําแหน่งโดยมิชอบด้วยหน้าที่ อันเป็นความผิดตามฟ้องโจทก์
อนึ่ง เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2560 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมาย อาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 มาตรา 3 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 157 และ 201และให้ ใช้อัตราโทษใหม่แทน ปรากฏว่าโทษจําคุกตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษ จําคุกเท่ากัน ส่วนโทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิม กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จําเลย จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทํา ความผิดบังคับแก่จําเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
พิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 201 การกระทําของจําเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษ ฐานเป็นเจ้าพนักงานในตําแหน่งพนักงานอัยการ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ อื่นใดสําหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบด้วยหน้าที่ เพื่อกระทําการหรือไม่กระทําการในตําแหน่ง โดยมิชอบด้วยหน้าที่ตามมาตรา 201 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 90
จําคุก 5 ปี
จากนั้น โจทก์และจำเลย ยื่นเรื่องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ มีคำพิพากษา เมื่อปี 2565 ยืนตามศาลชั้นต้น แต่แก้ไขโทษเป็นจำคุก 7 ปี
ตามการอุทธรณ์ของโจทก์ เนื่องจากเห็นว่า โทษจำคุกที่ศาลชั้นต้นกำหนดต่ำไป เห็นควรแก้ไขให้เหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 , 201 ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
ให้จำคุก จำเลย 7 ปี
นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ต่อมา โจทก์และจำเลย ฎีกา ศาลฎีกาไม่อนุญาต ไม่รับฎีกา คดีถึงที่สุด
ซึ่งมีรายงานข่าวว่า ในช่วงก่อนนัดฟังคำพิพากษา ศาลฎีกา นายธีรวุฒิ วชิรมงคลพงษ์ ไม่ได้แสดงความวิตกกังวลหรือเตรียมตัวอะไรมาก เนื่องจากคิดว่าศาลฎีกา จะให้ฎีกา เพื่อสู้คดีต่อ
โดยในการนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว โจทก์และผู้รับมอบอำนาจ ไม่มาฟังคำพิพากษา
ส่วนจำเลยมาศาล
เมื่อศาลฎีกา ไม่รับฎีกา คดีจึงถึงที่สุด นายธีรวุฒิ วชิรมงคลพงษ์ ถูกควบคุมตัวเข้าเรือนจำรับโทษจำคุก ตั้งแต่วันนั้นเลย
ทั้งหมดนี้ เป็นข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับคดีความของ นายธีรวุฒิ วชิรมงคลพงษ์ ที่ถูกฟ้องคดีในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 11 สำนักงานคดีอาญา สำนักงานอัยการสูงสุด กรณีบังคับให้ผู้เสียหายจ่ายค่าอาหารเลี้ยงส่งลูกน้องตัวเองกว่าหมื่นบาท ต่อมายังนัดผู้เสียหายมาเรียกเงินอีก 3 แสนบาท
กับบทเรียนชีวิตที่ต้องพลิกผัน จากข้าราชการอัยการอนาคตไกล สู่การเป็นนักโทษชดใช้ความผิดในเรือนจำ จากสิ่งที่กระทำลงไป
ที่สำนักข่าวอิศรา รวบรวมมานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบ
นับเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาบทเรียนครั้งสำคัญ ของข้าราชการอัยการไทย ไม่ให้เดินย้ำซ้ำรอยเอาเป็นเยี่ยงอย่างในอนาคตอีกต่อไป
พร้อมมุ่งมั่นทำงานทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อกอบกู้ชื่อเสียงอัยการไทยกลับคืนมาโดยเร็วที่สุด