"...วันที่ 23 มีนาคม 2560 เวลาประมาณ 18.00 น. สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 11 สำนักงานคดีอาญา จัดงานเลี้ยงส่งพนักงานอัยการโยกย้ายที่ร้านอาหารบ้านชานกรุง โจทก์ไปร่วมงานโดยนั่งร่วมโต๊ะกับจำเลย และจ่ายค่าอาหารโดยใช้บัตรเครดิต เคแบงค์ วีซ่า การ์ด เป็นเงิน 18,556 บาท ตามภาพถ่ายงานเลี้ยง สำเนาใบแจ้งยอดบัญชีบัตรเครดิต และสำเนาใบเสร็นรับเงิน ..."
คดีนี้ เกิดขึ้นในราวปี 2561 ข้าราชการอัยการรายนี้ ให้ผู้เสียหายจ่ายค่าอาหารกรณีที่ข้าราชการอัยการรายนี้เลี้ยงส่งลูกน้องตัวเองกว่าหมื่นบาท
ต่อมายังนัดผู้เสียหายมาเรียกเงินอีก 3 แสนบาท ก่อนจะกล่าวหาผู้เสียหายจ่ายเงินค่าอาหารเลี้ยงข้าราชการอัยการในลักษณะการให้สินบน
ผู้เสียหายจึงไปฟ้องคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
ข้าราชการอัยการรายนี้ มีชื่อว่า นายธีรวุฒิ วชิรมงคลพงษ์ ถูกฟ้องคดีในฐานเป็นเจ้าพนักงานตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 11 สำนักงานคดีอาญา สำนักงานอัยการสูงสุด
ฝ่ายโจทก์ ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ก่อนที่ศาลฯ จะมีคำพิพากษาตัดสินคดีเมื่อวันที่ 30 พ.ย.2563 พิพากษาลงโทษ จำคุก 5 ปี
ต่อมา โจทก์และจำเลย อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 30 ส.ค.2564 ยืนตามศาลชั้นต้น แต่แก้ไขโทษเป็นจำคุก 7 ปี
โจทก์และจำเลย ฎีกา ศาลฎีกาไม่อนุญาต ไม่รับฎีกา คดีถึงที่สุด เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2565
คือ บทสรุปคดี นายธีรวุฒิ วชิรมงคลพงษ์ อัยการอาวุโส ที่ ชีวิตพลิกผัน ถูกตัดสินลงโทษจำคุก 7 ปี โดยไม่รอลงอาญา กรณีบังคับชาวบ้านจ่ายค่าอาหารเลี้ยงลูกน้อง พร้อมเรียกเงินอีก 3 แสนบาท เพื่อแลกกับการไม่สั่งฟ้องคดีให้
ปัจจุบันต้องเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำรับโทษรับกรรม กับสิ่งที่กระทำไป
ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
- ก.อ.ไล่ออก 'อัยการ' บังคับชาวบ้านจ่ายค่าอาหารเลี้ยงลูกน้อง-รีด 3 แสน โดนคุก7 ปี (1)
- เปิดตัว 'อดีตอัยการ' โดนคดีบังคับชาวบ้านจ่ายค่าอาหารเลี้ยงลูกน้อง-รีด 3 แสน คุก7 ปี (2)
ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับที่มาคดี และพฤติการณ์ของ นายธีรวุฒิ วชิรมงคลพงษ์ ในฐานะจำเลย ในคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ที่พิพากษาตัดสินให้ลงโทษ จำคุกเป็นเวลา 5 ปี ก่อนที่ ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จะพิพากษา แก้ไขโทษเป็นจำคุก 7 ปี
ต่อมา โจทก์และจำเลย ฎีกา ศาลฎีกาไม่อนุญาต ไม่รับฎีกา คดีถึงที่สุด เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2565
@ ที่มาคดี
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า โจทก์เป็นสามีนางสาว ก. และเป็นบิดานาย ณ. กับนาย ศ.
นายธีรวุฒิ วชิรมงคลพงษ์ จําเลยเป็นเจ้าพนักงานในตําแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 11 สํานักงานคดีอาญา สํานักงานอัยการสูงสุด
ก่อนเกิดเหตุบริษัท ย. กับพวก ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กองกํากับการ 2 กองบังคับการปราบปราม ให้ดําเนินคดีแก่โจทก์กับภรรยาและบุตร ในข้อหาเป็นบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดําเนินงานของบริษัทจํากัด ร่วมกันกระทําผิดหรือยินยอมให้กระทํา ลงข้อความเท็จหรือไม่ลงข้อความสําคัญในบัญชีหรือเอกสารของห้างหุ้นส่วนจํากัดหรือบริษัท หรือเกี่ยวข้องกับห้างหุ้นส่วนจํากัดหรือบริษัท กระทําหรือไม่กระทําการเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการเสียหายแก่นิติบุคคล และร่วมกันยักยอก
พนักงานสอบสวนเห็นควรสั่งฟ้องโจทก์กับพวก ส่งสํานวนพร้อมความเห็นไปยังพนักงานอัยการจังหวัดปทุมธานี
โจทก์กับพวกยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม พนักงานอัยการจังหวัดปทุมธานีคืนสํานวนเนื่องจากอยู่นอกเขตอํานาจพนักงานสอบสวนส่งสํานวนพร้อมความเห็นไปยังสํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 11 สํานักงานคดีอาญา ซึ่งอยู่ในอํานาจการสั่งคดีของจ๋าเลย
ต่อมาช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2560 เวลากลางวัน จําเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบด้วยหน้าที่
โดยบอกว่าจะช่วยเหลือสั่งไม่ฟ้อง โจทก์กับพวก และโน้มน้าวโจทก์กับพวกให้ถอนหนังสือขอความเป็นธรรมเพื่อให้จําเลยมีอํานาจเต็มในการสั่งคดี
วันที่ 3 มีนาคม 2560 โจทก์กับพวกขอถอนหนังสือขอความเป็นธรรมตามที่จําเลยแนะนํา
@ ชักชวนไปร่วมงานเลี้ยงให้ช่วยจ่ายค่าอาหารแลกไม่สั่งฟ้อง
วันที่ 23 มีนาคม 2560 จําเลยชักชวนโจทก์ไปร่วมงานเลี้ยงส่งพนักงานอัยการโยกย้ายที่ร้านอาหารบ้านชานกรุง แล้วให้โจทก์จ่ายค่าอาหารเพื่อแลกกับการที่จะสั่งไม่ฟ้องโจทก์กับพวก
โจทก์จ่ายค่าอาหารไป 18,556 บาท
และระหว่างวันที่ 24 มีนาคม 2560 ถึง 24 เมษายน 2560 วันใดไม่ปรากฏชัด เวลากลางวัน จําเลยเรียกเงินจากโจทก์อีก 300,000 บาท โดยให้หักค่าอาหารที่จ่ายในงานเลี้ยงออกเพื่อแลกกับการที่จะสั่งไม่ฟ้องโจทก์กับพวก
โจทก์ไม่ยอม
ต่อมาพนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 11 สํานักงานคดีอาญา ยื่นฟ้องบุตรทั้งสองของโจทก์ต่อศาลจังหวัดมีนบุรี ทําให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
เหตุเกิดที่แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 201
ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฎิเสธ
@ หลักฐานมัดใบเสร็จค่าอาหาร- ภาพถ่ายงานเลี้ยง
ศาลฯ พิเคราะห์หลักฐานที่ได้ตามทางพิจารณาแล้ว มีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า วันที่ 23 มีนาคม 2560 เวลาประมาณ 18.00 น. สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 11 สำนักงานคดีอาญา จัดงานเลี้ยงส่งพนักงานอัยการโยกย้ายที่ร้านอาหารบ้านชานกรุง
โจทก์ไปร่วมงานโดยนั่งร่วมโต๊ะกับจำเลย และจ่ายค่าอาหารโดยใช้บัตรเครดิต เคแบงค์ วีซ่า การ์ด เป็นเงิน 18,556 บาท ตามภาพถ่ายงานเลี้ยง สำเนาใบแจ้งยอดบัญชีบัตรเครดิต และสำเนาใบเสร็จรับเงิน
ต่อมาโจทก์ ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อสำนักงานอัยการพิเศษคดีอาญา 11 และอัยการสูงสุด เพื่อมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติม พนักงานอัยการมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติม จนกระทั่งเสร็จสิ้นแล้วมีคำสั่งไม่ฟ้องโจทก์และนาง ก. ภรรยา
แต่มีคำสั่งฟ้อง นาย ณ. กับนาย ศ. บุตร และยื่นฟ้องในข้อหาเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินงานของบริษัท ทั้งสองให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาว่า มีความผิดตามฟ้องให้จำคุกคนละ 6 เดือน ต่อมามีการยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับคนละ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี คดีถึงที่สุดแล้ว
จากนั้น วันที่ 3 กันยายน 2561 โจทก์ยื่นหนังสือร้องเรียนต่ออัยการสูงว่า ว่า จำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเรียกรับเงินเพื่อแลกกับสั่งไม่ฟ้องคดี ขอให้ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและดำเนินการทางวินัย
สำนักงานคณะกรรมการอัยการมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปให้ถ้อยคำ
ต่อมามีหนังสือแจ้งโจทก์ว่า สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาแล้ว เห็นว่ากรณีเป็นที่สงสัยว่าจำเลยกระทำผิดวินัย จึงได้ส่งเรื่องให้หน่วยงานภายใน ที่เกี่ยวข้องดำเนินการทางวินัยต่อไป
*******
ข้อมูลในคำพิพากษาฉบับนี้ ยังไม่จบ ยังมีข้อมูลในส่วนคำวินิจฉัยของศาลฯ คำให้การกรณีที่โจทก์ ถูกเชิญไปร่วมงานเลี้ยงส่งพนักงานอัยการโยกย้ายที่ร้านอาหารบ้านชานกรุง การเจรจาพูดคุยกับจำเลย ข้อต่อสู้ของจำเลย ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาตัดสินโทษ 5 ปี
รายละเอียดเป็นอย่างไร ขอนำมาเสนอในตอนถัด ๆ ไป