“…บริษัทฯ จึงวางแผนที่จะเรียกชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนเพื่อจะได้ดำเนินโครงการฯ ต่อไป และมีเงินทุนในการจ้างที่ปรึกษา โดยสำหรับสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังร้อยละ 20 ของทุนจดทะเบียน รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการฯประมาณ 4,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับต้นทุนโครงการฯ…”
...............................
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา ครม.รับทราบแนวทาง ‘การปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น’ บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) โดยสงวนสิทธิ์ในการเพิ่มทุน เพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาลไทยในการเป็นเจ้าของ ‘โครงการทำเหมืองแร่โปแตช’ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือไม่น้อยกว่าร้อยละ 20
พร้อมทั้งมีมติมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาความจำเป็นและความเหมาะสมในการลงทุนโครงการฯ การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับ Basic Agreement ซึ่งรวมถึงเรื่องที่เกี่ยวกับสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาล และแหล่งเงินหากมีความจำเป็นต้องชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุน ก่อนเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการผลักดันให้มีการเปิด ‘โครงการทำเหมืองแร่โปแตช’ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ในเชิงพาณิชย์ ผ่านมติ ครม. ดังกล่าว โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@ย้อนอดีต 43 ปี ‘โครงการทำเหมืองแร่โปแตช’ จ.ชัยภูมิ
เรื่องเดิม
เมื่อปี 2523 ประเทศสมาชิกอาเซียน 6 ประเทศ ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน และไทย ได้ลงนามในข้อตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน (Basic Agreement on ASEAN Industrial Projects) หรือ ‘Basic Agreement’ ภายใต้โครงการอุตสาหกรรมอาเซียน (ASEAN Industrial Projects : AIP)
ทั้งนี้ เพื่อกำหนดให้มีโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน ที่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างความร่วมมือเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรในกลุ่มประเทศอาเซียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยแต่ละประเทศจะต้องดำเนินโครงการอย่างน้อยหนึ่งโครงการและกำหนดให้ประเทศเจ้าของโครงการต้องร่วมลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของยอดเงินลงทุนทั้งหมด และมีสัดส่วนที่เป็นเงินลงทุนจากรัฐบาลเจ้าของโครงการไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 20 ของยอดเงินลงทุนนี้อีกร้อยละ 40 ประเทศสมาชิกอาเซียนจะเป็นผู้ลงทุน
ต่อมา ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2532 เห็นชอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมนำโครงการทำเหมืองแร่โปแตช ที่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ เข้าสู่การพิจารณาของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ (ASEAN Experts Group) ของคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยอุตสาหกรรมแร่ธาตุและพลังงาน (COIME)
โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเสนอต่อ ครม. ว่า โครงการฯมีความเหมาะสม ทั้งทางด้านเทคนิคและทางเศรษฐกิจ มีผลตอบแทนทางการลงทุนภายหลังเสียภาษีแล้วในอัตราร้อยละ 18.34 เหมาะสมที่จะเป็นโครงการอุตสาหกรรมอาเซียนได้
ประกอบกับโครงการทำเหมืองแร่โปแตชเป็นโครงการขนาดใหญ่ต้องผลิตปุ๋ยโปแตชอย่างต่ำ 1 ล้านต้นต่อปี จึงจะมีความเหมาะสมในเชิงพาณิชย์ จำเป็นต้องหาตลาดที่แน่นอน ดังนั้น การเสนอเป็นโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน จะทำให้โครงการฯ มีตลาดอาเซียนรองรับ และจะได้สิทธิพิเศษในการจำหน่ายปุ๋ยโปแตชในประเทศเหล่านี้อีกด้วย
รวมถึงการเสนอโครงการนี้เป็นโครงการอุตสาหกรรมอาเซียนของประเทศไทย จะเป็นการแบ่งเบาภาระการลงทุนของรัฐบาล เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ ต้องใช้เงินลงทุนถึง 306 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
จากนั้น ครม.มีมติเมื่อวันที่ 18 ก.ย.2533 เห็นชอบให้จัดตั้งองค์กรผู้ถือหุ้นของฝ่ายไทย เข้าร่วมทุนจัดตั้งบริษัททำเหมืองแรโปแตชของอาเซียนตามหลักเกณฑ์ Basic Agreement และให้กระทรวงอุตสาหกรรมหารือกับกระทรวงการคลังจัดหาเงิน 770,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 20.02 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับทุนจดทะเบียนขั้นต้น
และเมื่อวันที่ 17 ม.ค.2534 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ลงนามใน Joint Venture Agreement (JV) โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นของแต่ละประเทศในบริษัทฯ ได้แก่ ไทย ถือหุ้นร้อยละ 71 ,อินโดนีเซีย ถือหุ้นร้อยละ 13 ,มาเลเซีย ถือหุ้นร้อยละ 13 ,บรูไน ถือหุ้นร้อยละ 1 ,ฟิลิปปินส์ ถือหุ้นร้อยละ 1 และสิงคโปร์ ถือหุ้นร้อยละ 1
@‘รัฐวิสาหกิจไทย’ ไม่สนใจเข้าร่วมลงทุนฯ ‘เหมืองแร่โปแตชฯ’
อย่างไรก็ดี เพื่อให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจไทยมีส่วนร่วม และเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ภาครัฐ ในการรองรับการเพิ่มทุนสำหรับการทำเหมืองแร่ และเพื่อสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับการถือหุ้นของรัฐบาลใน Basic Agreement
ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2535 เห็นชอบหลักการให้กำหนดผู้ถือหุ้นในสัดส่วนของรัฐบาลไทย โดยให้หมายความรวมถึง หน่วยงานรัฐวิสาหกิจของไทยตามที่กระทรวงการคลังเสนอ อย่างไรก็ตาม ต่อมาวันที่ 14 ก.พ.2560 กระทรวงการคลัง ได้รายงาน ครม. ว่า ไม่มีรัฐวิสาหกิจใดเข้าร่วมโครงการอาเซียนโปแตช (ประเทศไทย)
ต่อมาวันที่ 6 มิ.ย.2560 ครม.ได้พิจารณาปรับปรุงมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2555 ซึ่งกระทรวงการคลังเสนอให้กำหนด ‘ผู้ถือหุ้น’ ในสัดส่วนของรัฐบาลไทยตาม Basic Agreement ให้หมายความรวมถึง หน่วยงานรัฐวิสาหกิจของไทย และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ส่วนราชการและ/หรือรัฐวิสาหกิจถือหุ้นในสัดส่วนที่มีอำนาจในการควบคุมจัดการ
โดย ครม.มีมติโดยสรุปว่า ให้กระทรวงการคลังดำเนินการตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและกระทรวงการต่างประเทศให้ได้ข้อยุติ โดยหากรัฐภาคีเห็นว่าข้อเสนอของกระทรวงการคลังเป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้โดยไม่ขัดกับ Basic Agreement ก็ให้กระทรวงการคลังดำเนินการได้ และรายงานให้ ครม.รับทราบต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ปรากฎว่า ไม่ขัดข้องต่อการดำเนินการตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง เนื่องจากไม่ขัดต่อ Basic Agreement และเมื่อกระทรวงการคลังได้ดำเนินการคัดเลือกผู้เข้าร่วมทุนในโครงการฯ ปรากฎว่า ไม่มีผู้ยื่นความประสงค์จะร่วมลงทุนในโครงการฯ
ต่อมา ครม. เมื่อวันที่ 6 ก.ค.2562 ได้พิจารณา เรื่อง รายงานผลการดำเนินการตามคำสั่งของนายกฯ เรื่อง ขอความเห็นชอบการปรับปรุงมติ ครม. เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2560 เรื่อง การปรับปรุงมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2555 เรื่อง การให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วนของรัฐบาลไทยในโครงการฯ และลงมติให้กระทรวงการคลังพิจารณาทบทวนเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง โดยให้รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย
@นักลงทุนใหม่ 2 รายสนใจลงทุน-ขอรัฐเพิ่มทุน 4,000 ล้าน
กระทั่งต่อมาในปี 2564 บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) ได้มีหนังสือเมื่อวันที่ 12 พ.ค.2564 แจ้งโดยสรุปว่า คณะกรรมการบริหารของบริษัทฯ เห็นว่า บริษัทฯ มีความเดือดร้อนจากการขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรง และเพิ่มขึ้นทุกเดือนต่อเนื่อง
ขณะที่การเรียกชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนก็ไม่ประสบความสำเร็จ จึงมีมติให้เลิกบริษัทฯตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และจะนำเสนอวาระที่เกี่ยวข้องกับการเลิกบริษัทฯ ต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ และที่ประชุมผู้ถือหุ้น ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ต่อมาบริษัทฯ ได้มีหนังสือเมื่อวันที่ 18 ส.ค.2565 แจ้งโดยสรุปว่า สถานการณ์ราคาปุ๋ยมีการปรับตัวสูงขึ้นและมีผลกระทบกับภาคเกษตรกรรม ประกอบกับมีผู้ลงทุนรายใหม่ที่สนใจเข้าร่วมลงทุนในโครงการฯ 2 รายในสัดส่วนการถือหุ้นรวมร้อยละ 40 ของทุนจดทะเบียน
บริษัทฯ จึงวางแผนที่จะเรียกชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนเพื่อจะได้ดำเนินโครงการฯ ต่อไป และมีเงินทุนในการจ้างที่ปรึกษา โดยสำหรับสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังร้อยละ 20 ของทุนจดทะเบียน
รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการฯประมาณ 4,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับต้นทุนโครงการฯ และสัดส่วนหนี้ต่อทุนตามเงื่อนไขของสินเชื่อโครงการขนาดใหญ่ (Project Financing ที่จะได้รับจากสถาบันการเงิน
นอกจากนี้ บริษัทฯมีประเด็นสอบถามว่า รัฐบาลจะมอบหมายให้หน่วยงานใดเป็นผู้ชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนในโครงการฯ และรัฐบาลจะมอบหมายให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินใด เป็นแกนหลักในส่วนเงินกู้ยืมโครงการประมาณ 30,000-35,000 ล้านบาท
@เผยบริษัทฯมีหนี้ระยะยาว 4.54 พันล.-รัฐบาลต่างปท.ไม่สนใจเพิ่มทุน
ข้อเท็จจริง
1.ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2533 อนุมัติและเห็นชอบให้จัดตั้งองค์กรผู้ถือหุ้นของฝ่ายไทย เข้าร่วมทุนจัดตั้งบริษัททำเหมืองแร่โปแตชของอาเซียน ตามหลักเกณฑ์ Basic Agreement ซึ่งกำหนดให้ประเทศเจ้าของโครงการลงทุนร้อยละ 60 ของเงินลงทุนทั้งหมด (Total Equity)
โดยรัฐบาลจะลงทุนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของยอดเงินลงทุนนี้ สำหรับที่เหลืออีกร้อยละ 40 ประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 5 ประเทศจะเป็นผู้ลงทุน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้มีหนังสือตีความเกี่ยวกับสัดส่วนการลงทุนของภาครัฐ (กระทรวงการคลัง) ว่า ในหลักการการลงทุนในสัดส่วนตามที่ระบุใน Basic Agreement หมายถึงการลงทุนในสัดส่วนนั้นตลอดเวลา
2.ที่ผ่านมากระทรวงการคลังดำเนินการจัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับการเพิ่มทุนของบริษัทฯ มาโดยตลอด โดยการขอรับการจัดสรรเงินงบประมาณ รวมถึงมีความพยายามในการหาผู้เข้าร่วมลงทุนในโครงการฯ ในสัดส่วนของรัฐบาลไทย เพื่อพัฒนาโครงการฯ และรักษาสัดส่วนการถือหุ้นในสัดส่วนของรัฐบาลไทย
อย่างไรก็ตาม ในการเพิ่มทุนของบริษัทฯ ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา และการหาผู้เข้าร่วมลงทุนในโครงการฯในสัดส่วนของรัฐบาลไทยยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากผู้ลงทุนที่มีศักยภาพยังไม่พร้อมที่จะยืนยันการเข้าร่วมลงทุนในโครงการฯ
โดยมีประเด็นสำคัญ ทั้งในด้านการยืนยันปริมาณสำรองแร่และแผนการทำเหมือง การจัดทำ Bankable Feasibility การสรุปเงื่อนไขสัญญาเงินกู้กับธนาคารพาณิชย์ และการมีนักลงทุนที่มีประสบการณ์ทางธุรกิจเหมืองแร่โพแทชเข้าร่วมลงทุน
ประกอบกับบริษัทฯ มีหนี้สินระยะยาว สำหรับค่าประทานบัตรกับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จำนวนทั้งสิ้น 4,549.56 ล้านบาท ไม่นับรวมเงินค่าปรับในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดถึงวันชำระจริง โดยปัจจุบัน กพร. อยู่ระหว่างการดำเนินการตามกฎหมายกับบริษัทฯ
3.ปัจจุบันกระทรวงการคลังมีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทฯ ร้อยละ 20 ของทุนจดทะเบียนที่ออกและชำระแล้วตาม Basic Agreement
อย่างไรก็ดี ในการเพิ่มทุนที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้นในสัดส่วนของรัฐบาลต่างประเทศตาม Basic Agreement ไม่ประสงค์ที่จะเพิ่มทุนในบริษัทฯ จึงส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาลอินโดนีเซียและมาเลเซีย ลดลงจากร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 5.96 และรัฐบาลบรูไน ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ลดลงจากร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 0.46 ซึ่งต่างจากสัดส่วนตาม Basic Agreement และ JV
@คาดใช้เงินลงทุนใหม่ 6.3 หมื่นล.-ขอคลังเพิ่มทุนงวดแรก 1.5 พันล้าน
ข้อเสนอของบริษัทฯ
กระทรวงการคลัง และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ประชุมหารือร่วมกับบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) และบริษัทฯ ได้จัดส่งข้อมูลโครงการฯเพิ่มเติม สรุปได้ดังนี้
1.โครงการฯมีกำลังการผลิตแร่โพแทชประมาณ 1.235 ล้านตันต่อปี โดยใช้เวลาพัฒนาโครงการฯ ประมาณ 3 ปี และสามารถผลิตได้ประมาณ 13.5 ปี (สิ้นสุดประทานบัตรในวันที่ 5 ก.พ.2583) และจะสามารถทดแทนการนำเข้าแม่ปุ๋ยโพแทสเซียมจากต่างประเทศได้ทั้งหมดประมาณ 700,000-800,000 ตันต่อปี และช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงปุ่ยโพแทสเซียมในราคาที่ถูกลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20-30
2.ประมาณการเงินลงทุนในช่วงระหว่างการก่อสร้างอยู่ที่ 63,600 ล้านบาท ประมาณการอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (Project Internal Rate of Return : IRR) ที่ร้อยละ 15.42 และมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value : NPV) ที่ 11,888 ล้านบาท (ใช้อัตราคิดลดที่ประมาณร้อยละ 7.60-13.00 ขึ้นอยู่กับอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนในแต่ละช่วงเวลา)
โดยสมมติฐานรายได้ของโครงการฯ ใช้ราคาของแม่ปุ๋ยโพแทสเซียมจากราคาตลาดโลกรวมค่าขนส่ง ค่าประกันภัย และค่า Premium (Free on Board Vancouver) อยู่ที่ 612 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน จนถึงปี 2571 ต่อจากนั้นปรับลดเป็น 450-514 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน จนถึงปี 2582 (สิ้นสุดประทานบัตรในวันที่ 5 ก.พ.2583)
สำหรับการลงทุนจะใช้แหล่งเงินทุนจากส่วนทุนร้อยละ 30 เป็นเงินประมาณ 19,132 ล้านบาท (เป็นส่วนของกระทรวงการคลังในสัดส่วนร้อยละ 20 คิดเป็นเงินประมาณ 3,826 ล้านบาท) และที่เหลืออีก 44,668 ล้านบาท จะใช้สินเชื่อจากสถาบันการเงิน
3.นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2566 บริษัทฯ จะเรียกชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนเริ่มต้น จำนวนประมาณ 1,500 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนของกระทรวงการคลังจำนวนประมาณ 300 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินมาใช้ในการชำระหนี้สินบางส่วนและใช้เป็นเงินหมุนเวียนในบริษัทฯ เพื่อดำเนินการขอวงเงินสินเชื่อ
แบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดจ้างที่ปรึกษาเข้ามาปรับปรุงข้อมูลและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของบริษัทฯ (SG&A) จำนวนประมาณ 413 ล้านบาท และเป็นส่วนอื่นๆ จำนวนประมาณ 1,087 ล้านบาท
บริษัทฯคาดว่า หลังจากได้นักลงทุนรายใหม่เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และเรียกชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนเริ่มต้นจำนวน 1,500 ล้านบาท เสร็จสิ้นในช่วงไตรมาส 1 ปี 2566 แล้ว ในเดือน ก.ค.2566 จะมีการจัดหาแหล่งเงิน (Target Financial Close) และเริ่มดำเนินการโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.ชัยภูมิ เชิงพาณิชย์ ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2569
@ ‘ครม.’ มอบ ‘ก.อุตสาหกรรม’ พิจารณาแผนเพิ่มทุน
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 ม.ค.2566 ครม.มีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ได้แก่
1.ตามข้อเสนอเพิ่มทุนของบริษัทฯ กระทรวงการคลังได้มีหนังสือแจ้งบริษัทฯ ว่าการพิจารณาลงทุนในโครงการฯ ในสัดส่วนของรัฐบาลไทยจำเป็นต้องพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน ผลประโยชน์ตามหลักวินัยการเงินการคลัง
ประกอบกับที่ผ่านมาบริษัทฯ ขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรง โดยการเรียกชำระค่าหุ้นเพิ่มทุน และการหาผู้เข้าร่วมลงทุนในโครงการฯ ในสัดส่วนของรัฐบาลไทยไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากผู้สนใจเข้าร่วมลงทุนที่มีศักยภาพยังไม่พร้อมที่จะยืนยันการเข้าร่วมลงทุนในโครงการฯ
โดยมีประเด็นสำคัญทั้งในด้านการยืนยันปริมาณสำรองแร่และแผนการทำเหมืองการจัดทำ Bankable Feasibility การสรุปเอนไขสัญญาเงินกู้กับธนาคารพาณิชย์ และการมีนักลงทุนที่มีประสบการณ์ทางธุรกิจเหมืองแร่โพแทชเข้าร่วมลงทุน
อีกทั้งข้อเสนอของบริษัทฯ ในครั้งนี้ มีการเปลี่ยนแปลงจากข้อมูลเดิมที่คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาตามข้อเสนอของกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2532 อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจกระทบต่อความเหมาะสมของโครงการฯ ทั้งทางด้านเทคนิคและทางเศรษฐกิจรวมถึงผลตอบแทนทางการลงทุน
ดังนั้น การพิจารณาลงทุนในโครงการฯ ตามข้อเสนอของบริษัทฯภาครัฐจะพิจารณาเมื่อรายงานผลการศึกษาเสร็จสมบูรณ์ โดยต้องพิจารณาอุปทานรวมในประเทศ และการแข่งขันกับผู้ประกอบกิจการรายอื่น รวมถึงความพร้อมด้านแหล่งเงินทุนทั้งผู้ถือหุ้นรายเดิมและผู้สนใจเข้าร่วมลงทุนรายใหม่และแหล่งเงินกู้ประกอบด้วย
ทั้งนี้ ในระหว่างการดำเนินการข้างต้น หากบริษัทฯเรียกชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนเริ่มต้น ภาครัฐจะพิจารณาเฉพาะในส่วนที่จำเป็นและมีความเหมาะสมโดยยังคงสงวนสิทธิ์ในการเพิ่มทุนเพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาลเจ้าของโครงการไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 20 ตาม Basic Agreement
2.เพื่อให้การพิจารณาลงทุนในโครงการฯ เป็นไปอย่างรอบคอบ และเป็นไปตาม Basic Agreement เห็นควรมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะหน่วยงานเจ้าของเรื่องในการเสนอโครงการฯ เป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาความจำเป็นและความเหมาะสมในการลงทุนในโครงการฯ ในสัดส่วนของรัฐบาลไทย
การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับ Basic Agreement ซึ่งรวมถึงเรื่องที่เกี่ยวกับสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาล และแหล่งเงินหากมีความจำเป็นต้องชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุน เพื่อเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป
@เปิดรายชื่อ 25 ผู้ถือหุ้นใหญ่ ‘บมจ.อาเซียนโปแตชชัยภูมิ’
สำหรับ บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 12 พ.ค.2547 ทุนจดทะเบียน 29,472.04 ล้านบาท ทุนชำระแล้ว 2,805.79 ล้านบาท แจ้งประเภทธุรกิจตอนจดทะเบียน คือ การทำเหมืองแร่ที่ใช้ทำเคมีภัณฑ์และปุ๋ย และแจ้งประเภทธุรกิจที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด คือ การทำเหมืองแร่ที่ใช้ทำเคมีภัณฑ์และปุ๋ย
มีกรรมการ 10 ราย ได้แก่ 1.นางชลิดา พันธ์กระวี 2.พล.ท.มงคล จิวะสันติการ 3.นางพจนีย์ เผ่าสวัสดิ์ 4.นายบวร วงศ์สินอุดม 5.นางดนุชา ยินดีพิธ 6.นายอนันต์ สิริแสงทักษิณ 7.นายมณเฑียร อินทร์น้อย 8.นายไกรทิพย์ ไกรฤกษ์ 9.นายฮาจิ ไครุดดิน บิน ฮาจิ อับดุล ฮามิด และ 10.นายเด๊ดดี้ เฟอร์แมน รามาดี้
ข้อมูล ณ วันที่ 8 มิ.ย.2565 มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 25 ราย คิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้น 98.3245% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว ประกอบด้วย
1.ทีอาร์ซี อินเวสเมนท์ ลิมิเตท (สัญชาติมอริเชียส) จำนวน 6.3 ล้านหุ้น มูลค่า 630 ล้านบาท สัดส่วนการถือหุ้น 22.4535%
2.กระทรวงการคลัง (สัญชาติไทย) จำนวน 5.61 ล้านหุ้น มูลค่า 561.16 ล้านบาท สัดส่วนการถือหุ้น 20.0000%
3.บริษัท ไทย-เยอรมัน ไมนิ่ง จำกัด (สัญชาติไทย) จำนวน 5.25 ล้านหุ้น มูลค่า 525.35 ล้านบาท สัดส่วนการถือหุ้น 18.7236%
4.พี ที พีโทรคีเมีย กรีชิค (เพอซีโร) (สัญชาติอินโดนีเซีย) จำนวน 1.67 ล้านหุ้น มูลค่า 167.31 ล้านบาท สัดส่วนการถือหุ้น 5.9630%
5.มินิสเตอร์ ออฟ ไฟแนนส์ (อินคอร์ปอเรชั่น) (สัญชาติมาเลเซีย) จำนวน 1.67 ล้านหุ้น มูลค่า 167.31 ล้านบาทสัดส่วนการถือหุ้น 5.9630%
6.บริษัท เอส กรุ๊ป เออีซี (ประเทศไทย) จำกัด (สัญชาติไทย) จำนวน 1.58 ล้านหุ้น มูลค่า 158.57 ล้านบาท สัดส่วนการถือหุ้น 5.6514%
7.เทอร์มอล เทรด แอนด์ อินเวสเม้นท์ ลิมิเตท (สัญชาติหมู่เกาะเวอร์จิน(อังกฤษ)) จำนวน 1.16 ล้านหุ้น มูลค่า 116.01 ล้านบาท สัดส่วนการถือหุ้น 4.1347%
8.บริษัท ทีอาร์ซี อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเตท (สัญชาติฮ่องกง) จำนวน 750,000 หุ้น มูลค่า 75 ล้านบาท สัดส่วนการถือหุ้น 2.6730%
9.นางศิริกาญจน์ ศักดิเดชภาณุพันธ์ ณ อยุธยา (สัญชาติไทย) จำนวน 350,000 หุ้น มูลค่า 35 ล้านบาท สัดส่วนการถือหุ้น 1.2474%
10.บริษัท สามลม จำกัด (สัญชาติไทย) จำนวน 330,700 หุ้น มูลค่า 33.07 ล้านบาท สัดส่วนการถือหุ้น 1.1786%
11.บริษัท อาซาฮีกลาส จำกัด (สัญชาติญี่ปุ่น) จำนวน 313,170 หุ้น มูลค่า 31.32 ล้านบาท สัดส่วนการถือหุ้น 1.1162%
12.บริษัท รวยชัย อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด (สัญชาติไทย) จำนวน 300,000 หุ้น มูลค่า 30 ล้านบาท สัดส่วนการถือหุ้น 1.0692%
13.บริษัท พีพีเจ จำกัด (สัญชาติไทย) จำนวน 297,061 หุ้น มูลค่า 29.71 ล้านบาท สัดส่วนการถือหุ้น 1.0587%
14.นางศัลยา จารุจินดา (สัญชาติไทย) จำนวน 250,000 หุ้น มูลค่า 25 ล้านบาท สัดส่วนการถือหุ้น 0.8910%
15.นายกิตติ ชีวะเกตุ (สัญชาติไทย) จำนวน 250,000 หุ้น มูลค่า 25 ล้านบาท สัดส่วนการถือหุ้น 0.8910%
16.นายคนิสร์ สุคนธมาน (สัญชาติไทย) จำนวน 177,000 หุ้น มูลค่า 17.7 ล้านบาท สัดส่วนการถือหุ้น 0.6308%
17.นายศุภชัย สุทธิพงษ์ชัย (สัญชาติไทย) จำนวน 175,000 หุ้น มูลค่า 17.5 ล้านบาท สัดส่วนการถือหุ้น0.6237%
18.น.ส.อุรภา สุทธิพงษ์ชัย (สัญชาติไทย) จำนวน 175,000 หุ้น มูลค่า 17.5 ล้านบาท สัดส่วนการถือหุ้น 0.6237%
19.ควอลิตี้ เจเวล อินเวสท์เมนท์ส ลิมิเต็ด (สัญชาติหมู่เกาะเวอร์จิน(อังกฤษ)) จำนวน 160,000 หุ้น มูลค่า 16 ล้านบาท สัดส่วนการถือหุ้น 0.5702%
20.นายพิชัย รุ่งนพคุณศรี (สัญชาติไทย) จำนวน 140,000 หุ้น มูลค่า 14 ล้านบาท สัดส่วนการถือหุ้น 0.4990%
21.นางสุเรขา วัชรบุญโชติ (สัญชาติไทย) จำนวน 140,000 หุ้น มูลค่า 14 ล้านบาท สัดส่วนการถือหุ้น 0.6237%
22.นายวรวิทย์ เจนธนากุล (สัญชาติไทย) จำนวน 136,836 หุ้น มูลค่า 13.68 ล้านบาท สัดส่วนการถือหุ้น0.4877%
23.มินิสเตอร์ ฟอร์ ไฟแนนส์ คอร์ปอเรชั่น (สัญชาติบรูไน) จำนวน 128,700 มูลค่า 12.87 ล้านบาท สัดส่วนการถือหุ้น 0.4587%
24.เนชั่นแนล ดีเวลลอปเม้นท์ คัมพานี (สัญชาติฟิลิปปินส์) จำนวน 128,700 มูลค่า 12.87 ล้านบาท สัดส่วนการถือหุ้น 0.4587%
25.เทมาเสค โฮลดิ้งส์ (ไพรเวท) ลิมิเตท (สัญชาติสิงคโปร์) จำนวน 128,700 มูลค่า 12.87 ล้านบาท สัดส่วนการถือหุ้น 0.4587%
@ส่วนผู้ถือหุ้นปี 64 ลดเหลือ 231 ล้าน-3 ปีล่าสุดยังขาดทุน
ขณะที่ข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งงบแสดงฐานะการเงิน 3 ปีล่าสุด (ปี 2562-64) ว่า
ปี 2562 มีสินทรัพย์รวม 6,851.73 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 5,703.38 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้น 1,148.35 ล้านบาท
ปี 2563 มีสินทรัพย์รวม 6,837.09 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 6,122.38 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้น 714.72ล้านบาท
ปี 2564 มีสินทรัพย์รวม 6,822.76 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 6,590.99 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้น 231.76 ล้านบาท
สำหรับงบกำไรขาดทุน 3 ปีล่าสุด (ปี 2562-64) บริษัทฯแจ้งว่า
ปี 2562 บริษัทฯ มีรายได้รวม 14.56 ล้านบาท มีรายจ่ายรวม 230.08 ล้านบาท มีดอกเบี้ยจ่าย 143.05 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ 358.56 ล้านบาท
ปี 2563 บริษัทฯ มีรายได้รวม 2.08 ล้านบาท มีรายจ่ายรวม 309.24 ล้านบาท มีดอกเบี้ยจ่าย 126.47 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ 433.64 ล้านบาท
ปี 2564 บริษัทฯ มีรายได้รวม 3.12 ล้านบาท มีรายจ่ายรวม 377.35 ล้านบาท มีดอกเบี้ยจ่าย 108.72 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ 482.95 ล้านบาท
เหล่านี้เป็นความคืบหน้าล่าสุดในการเดินหน้า ‘โครงการทำเหมืองแร่โปแตช’ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 โครงการเหมืองแร่โปแตช ซึ่งได้รับประทานบัตรจากภาครัฐไปแล้ว และหากเป็นไปตามแผนที่ 'บมจ.อาเซียนโปแตชชัยภูมิ' ประเมินไว้ เหมืองแห่งนี้จะเริ่มผลิตแร่เชิงพาณิชย์ได้ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2569 หรืออีกประมาณ 4 ปีนับจากนี้
อ่านประกอบ :
‘ผู้ว่าฯอุดร’ ร่อนหนังสือแจ้งทุกหน่วยงานเตรียมพร้อม เดินหน้าโครงการเหมืองแร่ ‘โพแทช’
นับถอยหลัง!เปิดเหมือง‘โพแทชอุดรฯ’ หลังรัฐไฟเขียว‘ประทานบัตร’ ชาวบ้านปักหลักต้านกลุ่มทุน
‘บอร์ดแร่’ไฟเขียวประทานบัตรเหมืองโพแทช อุดรฯแล้ว-‘กพร.’นัดเอกชนเซ็นรับเงื่อนไขบ่ายนี้