“…ที่เราศึกษามาทั่วโลก ไม่มีที่ไหนเอาลงไปอัดในโพรงใต้ดิน เพราะต้นทุนมันสูง ดังนั้น กองเกลือที่ใหญ่มหาศาล ซึ่งตั้งอยู่กลางแดด กลางฝน จะจัดการอย่างไรในอนาคต เพราะดินที่ขุดขึ้นมา 1 กิโลกรัม จะมีโพแทชอยู่ 3 ขีด มีเกลืออยู่ 7 ขีด และทั้งในแคนาดา และเยอรมัน ไม่มีประเทศไหนเอาไปอัดลง เพราะต้นทุนมันแพงกว่าขุดขึ้นมา…”
....................................
อีกไม่เกิน 2-3 ปี นับจากนี้
โครงการเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี จะเริ่มเดินเครื่องจักรขุดแร่ หลังจากเมื่อวันที่ 21 ก.ค.2565 คณะกรรมการแร่ หรือ ‘บอร์ดแร่’ มีมติเห็นชอบการอนุญาต ‘ประทานบัตร’ โครงการเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี อายุประทานบัตร 25 ปี ให้กับ บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) ที่มี ‘กลุ่มอิตาเลียนไทย’ หรือ ITD เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และผู้บริหารของ APPC ได้ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลง ‘ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการและเงื่อนไขตามที่กฎหมายและสัญญากำหนดไว้และเงื่อนไขที่กำหนดเพิ่มเติมเป็นเงื่อนไขในประทานบัตร’ ก่อนจะมีการเปิดเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี ต่อไป
“บริษัทฯต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขสิ่งแวดล้อมที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการในการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้ให้ความเห็นชอบ เช่น มาตรการป้องกันผลกระทบจากฝุ่นเกลือ กองเกลือ น้ำเค็ม และการลดระดับของผิวดินที่กำหนดเพื่อป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม
และให้ความสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมและความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ รวมถึงให้ความสำคัญกับการดูแลชุมชนและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่” นิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดี กพร. กล่าวกับ APPC เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2565 (อ่านประกอบ : ‘บอร์ดแร่’ไฟเขียวประทานบัตรเหมืองโพแทช อุดรฯแล้ว-‘กพร.’นัดเอกชนเซ็นรับเงื่อนไขบ่ายนี้)
ทั้งนี้ โครงการเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี นับเป็นเหมืองแร่โพแทช ‘แห่งที่ 3’ ในประเทศไทย หลังจากเมื่อปี 2558 ภาครัฐได้อนุมัติประทานบัตรเหมืองแร่โพแทช ในพื้นที่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ให้กับ บริษัท ไทยคาลิ จำกัด และอนุมัติประทานบัตรเหมืองแร่โพแทช ในพื้นที่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ให้กับ บมจ.อาเซียนโปแตชชัยภูมิ
(อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และผู้บริหารของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลง ‘ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการและเงื่อนไขตามที่กฎหมายและสัญญากำหนดไว้และเงื่อนไขที่กำหนดเพิ่มเติมเป็นเงื่อนไขในประทานบัตร’ โครงการเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2565)
@เส้นทาง 42 ปี โครงการเหมืองโพแทช จ.อุดรธานี
ย้อนกลับไปในปี 2523 โครงการเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี เริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลาย เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2523 เห็นชอบการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฯ เชิญชวนบริษัทต่างๆเข้ามายื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตแร่โพแทชในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โดย บริษัท ไทยอะกริโกโปแตช จำกัด ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) ได้ยื่นขอสิทธิดังกล่าวในพื้นที่ จ.อุดรธานี และต่อมา ครม.มีมติเมื่อวันที่ 4 ก.ย.2527 อนุมัติร่างสัญญาให้สิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่โพแทชในพื้นที่ จ.อุดรธานี และมีการลงนามสัญญาฯกับ APPC เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2527
จากนั้น APPC ได้รับอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โพแทชในพื้นที่ จ.อุดรธานี 12 แปลง เนื้อที่รวม 1.2 แสนไร่ ซึ่งจากการสำรวจพบแหล่งแร่โพแทชที่มีศักยภาพและมีความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่งแร่อุดรเหนือ และแหล่งแร่อุดรใต้ และในปี 2547 บริษัทฯได้ยื่นขอประทานบัตรในพื้นที่ ‘แหล่งอุดรใต้’ 4 แปลง เนื้อที่รวม 2.64 หมื่นไร่
(โครงการเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี ที่มา : บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด)
อย่างไรก็ดี การผลักดันโครงการเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี ถูกต่อต้านอย่างหนักจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ ‘กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี’ นักวิชาการ และชาวบ้านในพื้นที่ เนื่องจากเป็นโครงการฯที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของประชาชน
ในขณะที่ภาครัฐเองไม่ได้มีการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างครบถ้วนรอบด้าน ส่งผลให้ในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา โครงการเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี กลายเป็นชนวนความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านในพื้นที่บางกลุ่มกับกลุ่มทุน และระหว่างชาวบ้านด้วยกันเอง
ที่สำคัญแม้ว่าจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายครั้ง รวมทั้งมีการจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ในปี 2555 ซึ่งผลการศึกษา SEA การพัฒนาเหมืองแร่โพแทชในพื้นที่ จ.อุดรธานี พบว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 63.16% ได้เลือกทางเลือกที่ 3 คือ พัฒนาเหมืองแร่โพแทชบางพื้นที่อย่างมีเงื่อนไข
แต่ทว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีและชาวบ้านบางส่วน ซึ่งไม่เห็นด้วยกับโครงการเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี ยังดำเนินต่อไป เพราะมองว่าโครงการฯนี้ จะทำให้เกิดปัญหาการทรุดของผิวดินจากการทำเหมือง เกิดการแพร่กระจายของดินเค็ม น้ำเค็ม และฝุ่นเกลือที่กองบนผิวดิน รวมถึงการแย่งน้ำจากชาวบ้าน เป็นต้น
มีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองอุดรธานี โดยกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ขอให้ศาลฯมีคำสั่งให้รายงานการไต่สวนตามคำขอประทานบัตรที่ 1/2547 ถึง 4/2547 รวม 4 ฉบับ (เหมืองแร่โพแทช แหล่งอุดรใต้) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งต่อมาในปี 2561 ศาลฯได้ตัดสินว่า การจัดทำรายงานการไต่สวนฯทั้ง 4 ฉบับ เป็นรายงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่งผลให้ กพร. และ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ต้องเริ่มกระบวนการพิจารณาคำขอประทานบัตรที่ 1/2547 ถึง 4/2547 รวม 4 ฉบับ ของ บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) ใหม่อีกครั้ง โดยดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 และประกาศฯที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ หลังจากผ่านไป 3 ปี ในที่สุด ครม.มีมติเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2565 เห็นชอบให้เดินหน้าโครงการเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี ตามที่ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เสนอ และในอีกไม่ถึง 1 เดือนต่อมา คณะกรรมการแร่ มีมติอนุมัติประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี ใน ‘แหล่งอุดรใต้’ 4 แปลง เนื้อที่รวม 2.64 หมื่นไร่ ให้กับ APPC
(โครงการเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี ที่มา : บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด)
@หนุนทำเหมืองโพแทช ชี้ ‘ประเทศชาติ-ชุมชน’ ได้ประโยชน์
“เราได้ศึกษามาหลายปีแล้ว และเห็นว่าโครงการฯนี้ เกิดประโยชน์ต่อชุมชน ประเทศชาติ และไม่ได้น่ากลัวเหมือนที่เขาพูดกัน” ประจวบ แสนพงษ์ อดีตนายก อบต.ห้วยสามพาด ในฐานะประธานกรรมการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภาคประชาชนใน 4 ตำบล ในเขตพื้นที่โครงการเหมืองโพแทช จ.อุดรธานี กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
ประจวบ ย้ำว่า เมื่อโครงการเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี เดินหน้า จะเกิดประโยชน์ใน 4 เรื่อง คือ 1.เกิดการจ้างงานในพื้นที่ 2.เกษตรกรทั่วประเทศได้ใช้ปุ๋ยในราคาถูก เพราะไม่ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามา 3.ท้องถิ่นและภาครัฐจะได้รับค่าภาคหลวงแร่ และ 4.กระทรวงการคลัง ซึ่งถือหุ้น 10% ในบริษัทฯที่ได้ประทานบัตร จะได้รับส่วนแบ่งกำไร
“โครงการฯนี้ (เหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี) มีการตั้งกองทุนขึ้นมาเยอะ รวมแล้ว 11 กองทุน โดยกองทุนเหล่านี้จะมีชาวบ้านเข้าไปเป็นตัวแทนบริหาร ซึ่งสามารถช่วยเหลือชาวบ้านได้หลายอย่าง และส่วนตัวเห็นว่า โครงการนี้น่าจะเกิดตั้งนานแล้ว เพราะชาวบ้านทั้งในพื้นที่ นอกพื้นที่ และทั่วประเทศจะได้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม” ประจวบ กล่าว
ส่วนความกังวลเกี่ยวกับการรั่วไหลของเกลือจากการทำเหมืองแร่โพแทช นั้น ประจวบ ระบุว่า เมื่อก่อนเราก็กังวล แต่เมื่อภาคประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมและมีข้อเสนอแนะต่างๆในการจัดการเกลือ เช่น เสนอให้ทำบ่อเก็บเกลือขนาดใหญ่หลายบ่อ และมีหลังคาคลุม เพื่อที่ว่าเวลาฝนตกจะไม่มีการชะล้างออกไป และทำให้มั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดการรั่วไหล
“หลังจากผ่านไป 5 ปีแล้ว พวกเกลือที่เอาขึ้นมา จะถูกเอากลับลงไปยัดใส่ในอุโมงค์ที่ขุดเอาแร่ขึ้นมา จึงไม่มีโอกาสที่เกลือจะรั่วไหล เพราะการป้องกันดีมาก โดยเฉพาะบ่อเก็บเกลือ จะมีการปูพื้นพลาสติกที่มีความทนทานถึง 2 ชั้น ส่วนเรื่องการแย่งน้ำของชาวบ้าน คงไม่มี เพราะเขา (APPC) จะขุดบ่อขนาดใหญ่ของเขาเอง 4 บ่อ” ประจวบ กล่าว
(ประจวบ แสนพงษ์)
ประจวบ กล่าวถึงกรณีที่มีเสียงวิจารณ์ว่าโครงการเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี เป็นโครงการที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนมากกว่าชาวบ้าน ว่า “เขาจะจ่ายค่าชดเชยที่เรียกว่า ‘ค่าลอดใต้ถุน’ ให้กับเจ้าของที่ดินในพื้นที่ 4 ตำบล ในเขตเหมือง ไร่ละ 1,500 บาท ทุกปี และเมื่อบริษัทฯมีรายได้จากแร่แล้ว เขาจะเพิ่มเป็นไร่ละ 2,000 บาท จนสิ้นสุดโครงการฯ”
เมื่อถามว่า การเปิดเหมืองโพแทชฯ จะทำให้ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านในพื้นที่ทำเหมือง 4 ตำบล เพิ่มขึ้นหรือไม่ ประจวบ กล่าวว่า “ไม่น่าจะมี เพราะคนในชุมชนฝ่ายที่เห็นด้วย กับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ก็อยู่ในหมู่บ้านด้วยกันนี่แหละ บ้านก็อยู่ติดกัน ทำกิจกรรมตามประเพณีร่วมกัน แล้วคนที่ไม่เห็นด้วยก็มีเพียงเล็กน้อย ไม่ได้มากเท่าไหร่แล้ว”
“พวกที่เห็นต่าง ก็ไปพูดในทำนองที่ว่า โครงการฯมันเลวร้าย จะมีผลกระทบ จะทำให้ชาวบ้านไม่มีที่อยู่ที่ ไม่มีที่ทำกินอะไรนั่น แต่จริงๆแล้ว ไม่ใช่ เพราะข้อมูลที่เขาได้รับมานั้น ไม่ถูกต้อง” ประจวบ ย้ำ
@ ‘APPC’เตรียมขั้นตอนเปิดเหมือง-มั่นใจชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ค้าน
ด้าน สมโภชน์ วงศ์ประทุม หัวหน้าส่วนชุมชนสัมพันธ์ บริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) กล่าวว่า หลังจากบริษัทฯ ได้รับประทานบัตรเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี จาก กพร. แล้ว จะเริ่มมีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆภายใน 1 ปี เช่น การปรับพื้นที่ ขุดบ่อน้ำเกลือ และบ่อน้ำดี เป็นนต้น และเริ่มขุดแร่ได้ภายใน 2 ปีข้างหน้า
“เราจะเริ่มปรับพื้นที่ ก่อสร้างอาคาร ขุดบ่อน้ำเกลือ และบ่อน้ำดี แล้วเอาหัวเจาะเข้ามา ซึ่งกว่าจะเริ่มขุดเจาะได้ก็น่าจะใช้เวลา 2-3 ปีนับจากนี้” สมโภชน์ กล่าว
สมโภชน์ ระบุด้วยว่า ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เข้าไปทำมวลชนสัมพันธ์ในพื้นที่ 4 ตำบล ซึ่งพบว่าชาวบ้านใน ต.โนนสูง แทบไม่มีปัญหาอะไรเลย ส่วนที่ ต.หนองไผ่ ต.ห้วยสามพาด และ ต.นาม่วง มีหมู่บ้านที่ยังคัดค้านอยู่ตำบลละ 1-2 หมู่บ้าน และไม่ใช่ทุกครัวเรือนในหมู่บ้านที่คัดค้าน แต่คัดค้านเฉพาะบางครัวเรือนเท่านั้น
“กลุ่มชาวบ้านที่ติด ‘ธงเขียว’ ผมและทีมงานได้ลงพื้นที่พบปะบ้านทุกหลัง โดยได้ชี้แจงเรื่องผลประโยชน์ต่างๆที่เขาจะได้รับ ซึ่งเขาเองก็ไม่ได้มีท่าทีว่าจะค้านอย่างเดียว” สมโภชน์ กล่าว
สมโภชน์ กล่าวว่า การเปิดเหมืองโพแทช อุดรธานี จะช่วยลดต้นทุนนำเข้าปุ๋ยของประเทศได้ 20% ขณะที่บริษัทฯได้จัดสรรผลประโยชน์ให้ชาวบ้านผ่านกองทุนต่างๆกว่า 3,100 ล้านบาท เช่น กองทุนเพื่อการศึกษา กองทุนปุ๋ย กองทุนสวัสดิการต่างๆ และจ่ายเงิน ‘ค่าลอดใต้ถุน’ ให้ชาวบ้านในเขตทำเหมือง 2.6 หมื่นไร่ รวมทั้งมีการจ้างงานคนในพื้นที่
สมโภชน์ ยังอธิบายถึงแนวทางการขุดแร่ในโครงการเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี ว่า บริษัทฯจะใช้หัวเจาะขุดลึกลงไปในชั้นดิน 350-400 เมตร โดยจะขุดเป็นโพรง และเหลือส่วนที่เป็นเสาค้ำยันเอาไว้เพื่อไม่ให้ชั้นดินทรุดตัว ขณะที่กองเกลือที่เป็นกากแร่ ซึ่งถูกกองไว้บนดินในพื้นที่โครงการฯ จะถูกนำกลับลงไปถมในโพรงทั้งหมดในปีที่ 5 ไปแล้ว
“กองเกลือ หรือบ่อน้ำเกลือที่มีความเข้มข้นสูง เราจะปูด้วยวัสดุกันซึมที่เรียกว่า HDPE เพื่อไม่ให้น้ำเหลือซึมไปใต้ดิน มีระบบการตรวจสอบและระบบเซ็นเซอร์ ซึ่งถ้ามีการรั่วไหล ก็จะแก้ไขโดยการสูบน้ำเกลือไปยังบ่อสำรองแล้วทำการแก้ไข ส่วนเรื่องน้ำ เราจะขุดบ่อน้ำดีของเราเองและใช้น้ำของเราทั้งหมด ไม่มีการไปแย่งน้ำของชุมชน” สมโภชน์ ระบุ
สมโภชน์ กล่าวด้วยว่า บริษัทฯจะใช้เงินลงทุนประมาณ 3 หมื่นล้านบาท สำหรับการลงทุนทำเหมืองแร่โพแทชใน ‘แหล่งอุดรใต้’ เนื้อที่ 2.6 หมื่นไร่ ซึ่งคาดว่าจะมีกำลังผลิต 2 ล้านตัน/ปี หากผลออกมาดีและสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวบ้านได้ บริษัทฯจึงจะไปยื่นขอประทานบัตรเหมืองแร่โพแทชใน ‘แหล่งอุดรเหนือ’ ต่อไป
(โครงการเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี ที่มา : บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด)
(ที่มา : เอกสารข้อเสนอโครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี ที่กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอให้ ครม.พิจารณาเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2565)
@เปิดโครงสร้าง APPC พบ ‘อิตาเลียนไทย’ ถือหุ้นใหญ่ผ่านบริษัทลูก
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า สำหรับ บริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 20 ก.ย.2527 ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียนล่าสุด 100 ล้านบาท แจ้งประเภทธุรกิจล่าสุด คือ การทำเหมืองแร่ที่ใช้ทำเคมีภัณฑ์และปุ๋ย ลักษณะธุรกิจล่าสุด ทำเหมืองแร่โพแทช
มีกรรมการ 8 คน ได้แก่ 1.นายเปรมชัย กรรณสูต 2.นางนิจพร จรณะจิตต์ 3.นาย ไผท ชาครบัณฑิต 4.นาย มนู เลียวไพโรจน์ 5.นายมนัส ลีวีระพันธุ์ 6.นายวรวุฒิ หิรัญยไพศาลสกุล 7.นาย ธรณิศ กรรณสูต 8.นางสาวนิภา ลำเจียกเทศ
ส่วนกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท คือ นายเปรมชัย กรรณสูต หรือ นางนิจพร จรณะจิตต์ ซึ่งลงลายมือชื่อร่วมกับนายวรวุฒิ หิรัญยไพศาลสกุล รวมเป็น 2 คน และประทับตราสำคัญของบริษัท
สำหรับรายชื่อผู้ถือหุ้นของ APPC ประกอบด้วย 1.บริษัท สินแร่เมืองไทย จำกัด ถือหุ้น 74.9992% 2.บริษัท ไวดีเมียร์ จำกัด ถือหุ้น 15% 3.กระทรวงการคลัง ถือหุ้น 10% 4.นายเปรมชัย กรรณสูต ถือหุ้น 0.0001% 5.นางนิจพร จรณะจิตต์ ถือหุ้น 0.0001% 6.นายไผท ชาครบัณฑิต ถือหุ้น 0.0001%
7.นายชาตรี โสภณพนิช ถือหุ้น 0.0001% 8.นายวิสุทธิ์ จิราธิยุต ถือหุ้น 0.0001% 9.นายธวัชชัย สุทธิประภา ถือหุ้น 0.0001% 10.นายปิติ กรรณสูต ถือหุ้น 0.0001% และ 11.นาย ยุทธชัย จรณะจิตต์ ถือหุ้น 0.0001%
ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบรายชื่อผู้ถือหุ้นของ บริษัท สินแร่เมืองไทย จำกัด พบว่า บริษัทดังกล่าว มีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ บริษัท เอพีพีซี โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 99.99998% ส่วน บริษัท ไวดีเมียร์ จำกัด นั้น มีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ บริษัท เอพีพีซี โฮลดิ้ง จำกัด โดยถือหุ้นในสัดส่วน 99.3035%
และเมื่อลงไปตรวจสอบรายชื่อผู้ถือหุ้น บริษัท เอพีพีซี โฮลดิ้ง จำกัด พบว่า บริษัทแห่งนี้ มีผู้ถือหุ้นหลัก 2 ราย คือ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ถือหุ้น 64.5234% และบริษัท เอพีพีซี ฮ่องกง จำกัด (สัญชาติฮ่องกง) ถือหุ้น 35.4766% ส่วนนายเปรมชัย กรรณสูต ,นางนิจพร จรณะจิตต์ และนายไผท ชาครบัณฑิต ถือหุ้นคนละ 1 หุ้น
@‘กลุ่มอนุรักษ์ฯ’หวั่น‘เกลือ’รั่วไหลเข้าพื้นที่ชาวบ้านหลังเปิดเหมือง
ด้าน สุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ซึ่งคัดค้านโครงการเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี กล่าวว่า จากบทเรียนการทำเหมืองแร่โพแทชในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทั้งในต่างประเทศและประเทศไทย พบว่าโอกาสการรั่วไหลของเกลือออกสู่ภายนอกมีความเป็นไปได้สูงมาก
โดยเฉพาะการเปิดทำเหมืองแร่โพแทช 2 ในประเทศไทย คือ เหมืองโพแทชที่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา และเหมืองโพแทชที่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ซึ่งพบว่า เกิดการรั่วไหลของเกลือ และทำให้เกิดการแพร่กระจายของดินเค็ม และจนถึงปัจจุบันเหมืองโพแทชทั้ง 2 แห่ง ยังไม่สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้
“แม้ว่าทั้งเหมืองที่ด่านขุนทด และที่บำเหน็จณรงค์ จะมีการทำ EIA เหมือนกัน แต่เราพบว่า คือ ในขั้นตอนขุดเจาะได้เกิดปัญหาน้ำรั่วซึมเข้าไปในโพรงอุโมงค์ และมีการกระจายตัวของดินเค็ม ซึ่งปัจจุบันยังแก้ไม่ได้ สอง ฝุ่นเกลือจากกระบวนการผลิตได้ปลิวออกไปในรัศมี 25 ตารางกิโลเมตรของเหมือง และสาม มีการแย่งน้ำของชาวบ้าน” สุวิทย์ กล่าว
สุวิทย์ เชื่อว่า การที่ภาครัฐอนุมัติประทานบัตรและนำไปสู่การเปิดทำเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี ในระยะเวลาอีกไม่นานนี้ จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชาวบ้านในพื้นที่รอบเหมือง ไม่แตกต่างจากการเปิดทำเหมืองแร่โพแทชในพื้นที่ อ.ด่านขุนทด และอ.บำเหน็จณรงค์ ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะปัญหาการรั่วไหลของเกลือ
“การเจาะลงไปเอาดินขึ้นมา ตั้งแต่ 1 เมตรลงไป ก็ทำให้ดินแถวนั้น เค็มหมดแล้ว และเมื่อเอาดินขึ้นมา แล้วเอาไปกองไว้ คุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่า ถ้าฝนตกมาแล้ว จะไม่เกิดการแพร่กระจายของดินเค็ม โดยเฉพาะโพแทช ซึ่งเป็นเกลืออีกประเภทหนึ่ง แต่มีความเค็มมากกว่าเกลือปกติถึง 1,000 เท่า” สุวิทย์ กล่าว
สุวิทย์ ย้ำว่า “หากมีการรั่วไหลของเกลือแล้ว สิ่งที่จะยากมาก คือ การแก้ความเค็มของดินให้จืดลง และถ้ามีการทำเหมืองโพแทชในภาคอีสานกันมากๆ ก็อาจจะเกิดการแพร่กระจายของเกลือและดินเค็มในพื้นที่ภาคอีสาน จนควบคุมไม่ได้ จากปัจจุบันที่มีการแพร่กระจายของดินเค็มในภาคอีสานปีละหลายพันไร่อยู่แล้ว”
(สุวิทย์ กุหลาบวงษ์)
ส่วนกรณีที่บริษัทฯ (APPC) บอกว่าจะนำเกลือที่ขุดได้ ลงไปฝั่งคืนในโพรงอุโมงค์ใต้ดินเช่นเดิม นั้น สุวิทย์ กล่าวว่า จากการศึกษาการทำเหมืองโพแทชทั่วโลก พบว่าไม่มีที่ไหนเอากากแร่ คือ เกลือ กลับลงไปอัดที่เดิม เพราะต้นทุนสูง ทำให้เกิดคำถามว่ากองเกลือที่ขุดขึ้นมา ซึ่งจะมีความสูง 40 เมตร และใหญ่เท่าสนามฟุตบอล 10 สนาม จะจัดการอย่างไร
“ที่เราศึกษามาทั่วโลก ไม่มีที่ไหนเอาลงไปอัดในโพรงใต้ดิน เพราะต้นทุนมันสูง ดังนั้น กองเกลือที่ใหญ่มหาศาล ซึ่งตั้งอยู่กลางแดด กลางฝน จะจัดการอย่างไรในอนาคต เพราะดินที่ขุดขึ้นมา 1 กิโลกรัม จะมีโพแทชอยู่ 3 ขีด มีเกลืออยู่ 7 ขีด และทั้งในแคนาดา และเยอรมัน ไม่มีประเทศไหนเอาไปอัดลง เพราะต้นทุนมันแพงกว่าขุดขึ้นมา” สุวิทย์ กล่าว
เมื่อถามว่า ภาครัฐบอกว่าเมื่อมีการเปิดเหมืองโพแทช จ.อุดรธานี จะทำให้คนไทยซื้อปุ๋ยในราคาถูกลง สุวิทย์ ตอบทันทีว่า “ประเทศไทยผลิตน้ำตาลได้ แต่ถามว่าราคาน้ำตาลแพงหรือเปล่าล่ะ จึงเป็นไปไม่ได้ที่การเปิดเหมืองโพแทชฯ จะทำให้คนไทยซื้อปุ๋ยถูกลง เพราะเป็นเรื่องกลไกตลาด และโพแทชเอง ก็มีกลไกตลาดของมันอยู่”
สุวิทย์ ตั้งข้อสังเกตกรณีที่รัฐบาลเร่งรัดให้มีการเปิดเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี โดยระบุว่า “น่าจะเป็นการเคาะเรื่องการเมืองมากกว่า รวมทั้งเป็นเรื่องของผลประโยชน์ในเรื่องเงิน และเรื่องหุ้น เพราะทันทีที่ ครม. รับทราบให้เดินหน้าเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี ถามว่าหุ้นของอิตาเลียนไทย (ITD) ขึ้นไปตั้งเท่าไหร่”
(จดหมายเปิดผนึกของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี วันที่ 24 ก.ค.2565)
(ป้ายกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีคัดค้านโครงการเหมืองแรโพแทช จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 24 ก.ค.2565 ขอบคุณภาพ : ไทยโพสต์)
@แกนนำฯลั่นไม่ยอมให้เปิดเหมือง ‘ถ้ามาสร้าง ก็เผาทิ้งล่ะ’
ขณะที่ แม่มณี บุญรอด วัย 75 ปี แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า ทางกลุ่มอนุรักษ์ฯ มีการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี เป็นเวลากว่า 20 ปี แล้ว เพราะเป็นโครงการที่จะมีผลกระทบให้กับชาวบ้านในพื้นที่ โดยเฉพาะการแพร่กระจายของเกลือที่ทำให้เกิดปัญหาดินเค็ม
“ถ้า ครม. ว่า มันดี ก็ให้ไปเฮ็ด (ทำ) ที่บ้าน ครม. บ้าน ประยุทธ์ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี) ซึ่งการออกมาเคลื่อนไหวอยู่นี่ ก็คือเป็นการประณาม และถ้ามาสร้าง ก็คือ เผาทิ้งล่ะ เพราะถ้าสร้างจริงๆ มันจะเกิดแผ่นดินทรุด แล้วการที่เอาเกลือขึ้นมากองไว้ ก็ตาย เพราะกองเกลือนั่นแหละ สูงตั้ง 40 เมตร” แม่มณี กล่าว
(แม่มณี บุญรอด (คนยืนพูดผ่านโทรโข่ง) ขอบคุณภาพ : TPBS)
แม่มณี ยังกล่าวว่า ตนรับรู้เกี่ยวกับโครงการแร่โพแทช จ.อุดรธานี มาตั้งแต่ปี 2526 และคัดค้านโครงการฯอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 40 ปีแล้ว แต่ที่ผ่านมาผู้บริหารในรัฐบาลกลับไม่เคยฟังเสียงของประชาชน แม้ว่าโครงการฯนี้จะทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ต้องสูญเสียที่ดินทำกิน หรือทำมาหากินบนที่ดินของตัวเองไม่ได้
“ขอฝากว่าอย่ามาเฮ็ด (ทำ) ถ้ามาเฮ็ด คือ ก็คือตายนั่นแหละ เฮาเอาชีวิตเป็นประกันโลด…พวกแม่เอาชีวิตเป็นเดิมพันคือกัน บ่ให้เฮ็ด ใครมา ก็บ่ให้เฮ็ด แล้วตอนเพิ่นมาสู้กัน มาเปิดประชุม พ.1 พ.2 ประชุมทั่วไป ก็ไปจ้างคนทางอื่นมา มาไล่จับผิดกัน ฆ่ากัน ล่มเวทีกัน” แม่มณี ฝากคำพูดไปถึงรัฐบาลและอิตาเลียนไทย
เหล่านี้เป็นความคืบหน้าล่าสุดของ ‘โครงการเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี’ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่ชาวบ้านในพื้นที่มีความคิดเห็นที่ ‘แตกต่าง’ กัน จนอาจนำไปสู่ความขัดแย้งของคนในพื้นที่ และระหว่างชาวบ้านกับกลุ่มทุน และยังคงต้องติดตามว่า การเปิดเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี จะเดินหน้าไปอย่างไร!
อ่านประกอบ :
‘บอร์ดแร่’ไฟเขียวประทานบัตรเหมืองโพแทช อุดรฯแล้ว-‘กพร.’นัดเอกชนเซ็นรับเงื่อนไขบ่ายนี้