"...โจทก์อยู่ ร่วมงานเลี้ยงจนกระทั่งเวลาประมาณ 24 นาฬิกา เข้าไปบอกจําเลยขอตัวกลับ ไม่ได้บอกว่าจะจ่าย ค่าอาหารให้ แล้วออกจากห้องจัดเลี้ยงจะไปที่จอดรถ จําเลยเดินตามโจทก์ออกไป โจทก์คิดว่าจําเลยจะไปส่ง จําเลยบอกโจทก์ว่า คุณ พ. ไปจ่ายค่าอาหารให้หน่อย จําเลยเดินประคองแขนโจทก์ ไปที่โต๊ะแคชเชียร์ โจทก์ไม่รู้มาก่อนว่าจำเลยจะให้จ่ายค่าอาหาร วันนั้นโจทก์นําสุราไปช่วยงานแล้ว จึงไม่ได้เตรียมเงินสดไปด้วย โจทก์คิดคํานวณในใจว่าค่าใช้จ่ายประมาณ 40,000 ถึง 50,000 บาท แลกกับการที่จะไม่ถูกฟ้องคดีแล้วคุ้ม..."
กรณีที่ประชุมคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของ น.ส.นารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด (อสส.) ให้ไล่ออกข้าราชการอัยการ คือ นายธีรวุฒิ วชิรมงคลพงษ์ ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดขณะดำรงตำแหน่งที่สำนักงานอัยการจังหวัดมีนบุรี โดยให้มีผลย้อนหลังนับแต่วันที่ อสส. มีคำสั่งพักราชการ
อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ นายธีรวุฒิ วชิรมงคลพงษ์ ถูกฟ้องคดีในฐานเป็นเจ้าพนักงานตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 11 สำนักงานคดีอาญา สำนักงานอัยการสูงสุด กรณีบังคับให้ผู้เสียหายจ่ายค่าอาหารเลี้ยงส่งลูกน้องตัวเองกว่าหมื่นบาท ต่อมายังนัดผู้เสียหายมาเรียกเงินอีก 3 แสนบาท ก่อนจะกล่าวหาผู้เสียหายจ่ายเงินค่าอาหารเลี้ยงข้าราชการอัยการในลักษณะการให้สินบน
โดยฝ่ายโจทก์ ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ก่อนที่ศาลฯ จะมีคำพิพากษาตัดสินคดีเมื่อวันที่ 30 พ.ย.2563 พิพากษาลงโทษ จำคุก 5 ปี
ต่อมา โจทก์และจำเลย อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 30 ส.ค.2564 ยืนตามศาลชั้นต้น แต่แก้ไขโทษเป็นจำคุก 7 ปี
โจทก์และจำเลย ฎีกา ศาลฎีกาไม่อนุญาต ไม่รับฎีกา คดีถึงที่สุด เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2565
ในตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา นำรายละเอียดเกี่ยวกับที่มาคดี และพฤติการณ์ของ นายธีรวุฒิ วชิรมงคลพงษ์ ในคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ที่พิพากษาตัดสินให้ลงโทษ จำคุกเป็นเวลา 5 ปี ก่อนที่ ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จะพิพากษา แก้ไขโทษเป็นจำคุก 7 ปี
มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
- ก.อ.ไล่ออก 'อัยการ' บังคับชาวบ้านจ่ายค่าอาหารเลี้ยงลูกน้อง-รีด 3 แสน โดนคุก7 ปี (1)
- เปิดตัว 'อดีตอัยการ' โดนคดีบังคับชาวบ้านจ่ายค่าอาหารเลี้ยงลูกน้อง-รีด 3 แสน คุก7 ปี (2)
- เปิดพฤติการณ์ทุจริต 'อดีตอัยการ' เรียกจ่ายค่าอาหารเลี้ยงลูกน้อง-รีด 3 แสน แลกไม่ฟ้องคดี (3)
ต่อไปนี้ เป็นข้อมูลเกี่ยวกับคำวินิจฉัยคดีของศาลฯ และทำให้การฝ่ายโจทก์ ที่ชี้ให้เห็นถึงลำดับเหตุการณ์ การนัดพบปะกัน ก่อนจะถูกนายธีรวุฒิเรียกให้จ่ายค่าอาหารเลี้ยงส่งลูกน้อเป็นเงินกว่าหมื่นบาท ต่อมายังนัดมาเรียกเงินอีก 3 แสนบาท
คำพิพากษาของศาลฯ บรรยายข้อมูลส่วนนี้เอาไว้ดังนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จําเลยกระทําความผิดตามฟ้องหรือไม่
โจทก์เบิกความตอบศาลถามว่า ประมาณต้นเดือนมกราคม 2560 โจทก์กับพวกและ ทนายความ ไปพบพนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดี 11 ตามนัด ตรวจสอบรายชื่อพนักงานอัยการแล้วพบว่า จําเลยมีตําแหน่งสูงสุด จึงติดต่อเจ้าหน้าที่ธุรการ เพื่อขอเข้าพบจําเลยออกไปพบโจทก์กับพวก ทนายความแนะนําตัวโจทก์กับพวกให้จําเลยรู้จัก
พร้อมแจ้งจําเลยว่า โจทก์กับพวกและผู้กล่าวหาฟ้องร้องกันหลายคดีในหลายศาล ทําสัญญา ประนีประนอมยอมความกันที่ศาลจังหวัดมีนบุรีเพื่อยุติทุกคดีแล้ว และโจทก์กับพวกได้ยื่นหนังสือ ขอความเป็นธรรมต่อสํานักงานอัยการจังหวัดปทุมธานี
@ ให้คำแนะนําว่าโจทก์กับพวกถูกกลั่นแกล้ง
จําเลยอ่านหนังสือขอความเป็นธรรมแล้ว แนะนําโจทก์ว่า โจทก์กับพวกถูกกลั่นแกล้ง ให้โจทก์กับพวกถอนหนังสือขอความเป็นธรรมเพื่อให้คดีอยู่ในอํานาจการสั่งฟ้องของจําเลยได้
โจทก์ยังไม่ทราบว่าอํานาจการสั่งฟ้องเป็นอย่างไร ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมเพราะต้องการให้มีสอบสวนเพิ่มเติมเท่านั้น
ทนายความ อธิบายให้โจทก์ฟังจนเข้าใจ
โจทก์พูดออกไปในทันทีว่าอย่างนั้นผมขอถอนหนังสือเลย จําเลยบอกว่ายังไม่ใช่วันนี้ ให้โจทก์กลับไปทําคําร้องขอถอนหนังสือขอความเป็นธรรมก่อนนัดให้โจทก์ไปยื่นคําร้องในวันที่ 3 มีนาคม 2560 โจทก์ ทนายและจําเลยให้หมายเลขโทรศัพท์แก่กันไว้
จําเลยบอกโจทก์ว่าหาก ไม่สามารถไปตามนัดให้โทรศัพท์แจ้งก่อน
ต่อมาประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2560 จําวันที่แน่นอน ไม่ได้ ช่วงเวลาก่อนเที่ยง จําเลยโทรศัพท์ติดต่อโจทก์ให้ไปพบเพื่อสอบถามรายละเอียดคดี
หลังจากนั้น 2 วัน โจทก์ไปพบและเล่ารายละเอียดคดีให้จําเลยฟัง จําเลยบอกว่า โจทก์กับภรรยา และบุตรถูกกลั่นแกล้ง ไม่ได้รับความเป็นธรรม จําเลยจะช่วยเหลือ ให้โจทก์ถอนหนังสือร้องขอความ เป็นธรรม เพราะหากยังมีหนังสือขอความเป็นธรรมติดอยู่ในสํานวน การสั่งคดีจะต้องเสนอสํานวนให้ ผู้มีอํานาจสูงกว่าพิจารณา
แต่หากถอนหนังสือขอความเป็นธรรมแล้ว จําเลยจะสามารถสั่งคดีได้เอง
จําเลยแนะนําให้โจทก์พิมพ์ข้อความขอรับหนังสือขอความเป็นธรรมคืน โดยให้ภรรยาและบุตรโจทก์ มอบอํานาจให้โจทก์ดําเนินการแทน นัดโจทก์ยื่นหนังสือในวันที่ 3 มีนาคม 2560
ต่อมาวันที่ 3 มีนาคม 2560 ช่วงเวลาก่อนเที่ยง โจทก์กับภรรยา ไปยื่นขอถอนและรับหนังสือขอความ เป็นธรรมคืนตามนัด
จําเลยให้ภรรยาของโจทก์ ลงลายมือชื่อรับหนังสือขอความเป็นธรรมคืน
@ คดีอยู่ในอํานาจของจําเลยที่จะสั่งไม่ฟ้องได้แล้ว
ต่อมาในวันเดียวกันนั้น จําเลยบอกโจทก์ว่าจะมีงานเลี้ยงส่ง พนักงานอัยการ จะขอเชิญโจทก์ไปร่วมงานด้วย
จําเลยบอกว่าคดีอยู่ในอํานาจของจําเลยที่จะสั่งไม่ฟ้องได้แล้ว
โจทก์ตั้งใจจะไปร่วมงานเนื่องจากเห็นว่าจําเลยมีพระคุณที่จะสั่งไม่ฟ้องคดีโจทก์กับภรรยาและบุตร
โจทก์สอบถามจําเลยว่าต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง จําเลยบอกให้นําสุราหรือไวน์ ติดมือไปด้วย
ต่อมาวันที่ 23 มีนาคม 2560 เวลาประมาณ 14 ถึง 15 นาฬิกา จําเลยโทรศัพท์จากหมายเลข XXX ของจําเลย ติดต่อโจทก์ที่หมายเลข XXX ของโจทก์ ชักชวนโจทก์ไปร่วมงานเลี้ยงที่ร้านอาหารบ้านชานกรุง
โจทก์เห็นว่าจําเลยสามารถให้ความเป็นธรรมเกี่ยวกับคดีของโจทก์กับพวกได้ เข้าใจว่าจําเลยเป็นคนมีเมตตา
จึงตอบจําเลยว่า จะไปร่วมงาน
@ ชวนไปร่วมงานเลี้ยง
จําเลยบอกรายละเอียดเส้นทางไปร้านอาหาร
โจทก์นําสุรา ยี่ห้อจอห์นนี่ วอล์กเกอร์ วิสกี้ แบล็ค เลเบิ้ล ไปช่วยงาน2 ขวด ไม่ได้เตรียมเงินสดไปด้วย
ไปถึงร้านอาหารเวลาประมาณ 17 นาฬิกา จอดรถที่ลานจอดรถ พนักงานร้านอาหารพาไปที่ห้องจัดเลี้ยง พบจําเลย โจทก์ยกมือไหว้ทักทายและบอกว่านําสุรามาด้วย
จําเลยพาโจทก์ไปนั่งร่วมโต๊ะติดกับจําเลยซึ่งเป็นแม่งาน ภรรยาจําเลยและพนักงานอัยการนั่งร่วมโต๊ะด้วย
โจทก์รู้จักจําเลยเพียงคนเดียว ไม่ได้สนิทสนม คุ้นเคย ส่วนคนอื่นไม่รู้จัก
จําเลยแนะนําให้โจทก์รู้จักกับพนักงานอัยการหลายคน และแนะนําโจทก์ ต่อผู้ร่วมงานเลี้ยงในโต๊ะว่า คุณ พ. มาร่วมงานเลี้ยงด้วย
ไม่ได้แนะนําว่าโจทก์เป็นใคร
@ ไปจ่ายค่าอาหารให้หน่อยนะ
โจทก์อยู่ ร่วมงานเลี้ยงจนกระทั่งเวลาประมาณ 24 นาฬิกา เข้าไปบอกจําเลยขอตัวกลับ
ไม่ได้บอกว่าจะจ่าย ค่าอาหารให้ แล้วออกจากห้องจัดเลี้ยงจะไปที่จอดรถ
จําเลยเดินตามโจทก์ออกไป
โจทก์คิดว่าจําเลยจะไปส่ง
จําเลยบอกโจทก์ว่า คุณ พ. ไปจ่ายค่าอาหารให้หน่อย จําเลยเดินประคองแขนโจทก์ ไปที่โต๊ะแคชเชียร์
โจทก์ไม่รู้มาก่อนว่าจำเลยจะให้จ่ายค่าอาหาร วันนั้นโจทก์นําสุราไปช่วยงานแล้ว จึงไม่ได้เตรียมเงินสดไปด้วย
โจทก์คิดคํานวณในใจว่าค่าใช้จ่ายประมาณ 40,000 ถึง 50,000 บาท แลกกับการที่จะไม่ถูกฟ้องคดีแล้วคุ้ม
จึงตอบจําเลยไปว่าได้ครับท่าน
จําเลยบอกพนักงานแคชเชียร์ว่า ผมอัยการ ธ. เจ้าของร้านลดให้เท่าไหร่
พนักงานแคชเชียร์ตอบว่า นายลดให้พิเศษแล้วค่ะ
แล้วส่งใบสรุปยอดค่าอาหารให้จําเลย
จําเลยส่งต่อให้โจทก์ โจทก์เห็นค่าอาหารน้อยกว่าที่คิดคํานวณไว้
โจทก์จ่ายค่าอาหารโดยใช้บัตรเครดิตการ์ดธนาคารกสิกรไทย จํากัด (มหาชน) ตามใบแจ้งยอดบัญชี บัตรเครดิตและใบเสร็จรับเงิน
จากนั้นจําเลยเดินไปส่งโจทก์ที่รถ
หลังจากนั้น 2 ถึง 3 วัน จําเลยโทรศัพท์ติดต่อโจทก์ให้ไปพบที่ห้องทํางาน โจทก์ไปพบจําเลย ในวันเดียวกันนั้น
@ พี่มีลูกน้องที่เป็นแขนเป็นขา-ขอสามแสนบาท
จําเลยพูดกับโจทก์ว่า คุณ พ. พี่ต้องมีค่าใช้จ่ายนะ พี่มีลูกน้องที่เป็นแขนเป็นขา ที่คอยช่วยเหลือพี่ ถ้าต่อไปคุณพ. มีอะไรเดือดร้อนหรือลูกชายซึ่งยังเป็นเด็ก หากมีเรื่องเดือดร้อน พี่จะดูแลคดีที่จะสั่งไม่ฟ้องพี่ขอสามแสนบาท หักค่าใช้จ่ายงานเลี้ยงที่ร้านบ้านชานกรุงออกไป
หลังจากจําเลยพูดจบ โจทก์อึ้ง เพราะเข้าใจว่าจําเลยจะสั่งไม่ฟ้องและไม่เรียกร้องอะไรอีก
คิดว่าคดี จบไปตั้งแต่วัน วันเลี้ยงส่งพนักงานอัยการแล้ว
จึงพูดกับจําเลยไปว่า เดี๋ยวค่อยว่ากันครับท่าน
พูดอะไรต่อไม่ออก จากนั้นโจทก์ขอตัวกลับ
โจทก์นําเรื่องที่จําเลยเรียกรับเงินไปปรึกษาหารือกับภรรยา บุตร และทนายความ แล้วมีความเห็นตรงกันว่า คดีของโจทก์กับพวกมีการทําสัญญาประนีประนอมยอมความ กันทุกคดีแล้ว
พนักงานอัยการไม่น่าจะสั่งฟ้อง จึงไม่ยอมจ่ายเงินตามที่จําเลยเรียกร้อง ทนายความ แนะนําให้โจทก์ร้องขอความเป็นธรรมเพื่อให้พนักงานอัยการที่มีอํานาจสูงกว่าจําเลยเป็นผู้สั่งคดี แทนจําเลย
โจทก์จึงไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อสํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 11 และอัยการสูงสุด
เห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาอ้างว่า พนักงานอัยการผู้มีอํานาจหน้าที่ในการสั่งคดีเรียกรับเงินเพื่อแลกกับการสั่งไม่ฟ้องคดี อันเป็นเรื่อง ที่เกิดขึ้นเป็นการเฉพาะตัว มิใช่เรื่องปกติที่จะเกิดขึ้นและรับรู้กันได้ทั่วไป หากผู้ใดมิได้ประสบเหตุ หรืออยู่ในเหตุการณ์ด้วยตนเอง ย่อมเป็นการยากที่จะรับรู้ถึงเรื่องราวและสามารถถ่ายทอด เหตุการณ์ได้อย่างละเอียดชัดเจน แต่หากเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นกับผู้ใดแล้ว ผู้นั้นย่อมต้องได้รับ ความทุกข์ทรมาน เป็นเหตุให้ผู้นั้นรับรู้ถึงความรู้สึกและสามารถจดจําเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ เป็นอย่างดี
@ คุ้มกับการที่จะไม่ถูกฟ้องคดี
โจทก์เป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันถึงความรู้สึกนึกคิดของตนในขณะเกิดเหตุว่า โจทก์ตกลงไปร่วมงานเลี้ยงส่งพนักงานอัยการโยกย้ายตามที่จําเลยชักชวน เพราะเข้าใจว่าจําเลย เป็นคนมีเมตตา สามารถให้ความเป็นธรรมเกี่ยวกับคดีของโจทก์กับพวกได้ โจทก์ยอมจ่ายค่าอาหาร ในงานเลี้ยงตามที่จําเลยบอก
เพราะคํานวณในใจแล้วเห็นว่าเป็นการคุ้มกับการที่จะไม่ถูกฟ้องคดี
แต่เมื่อถูกเรียกเงินอีก 300,000 บาท โจทก์ไม่ยอมจ่ายเพราะเข้าใจว่าจําเลยจะสั่งไม่ฟ้อง และไม่เรียกร้องอะไรอีก คิดว่าคดีจบไปตั้งแต่วันเลี้ยงส่งพนักงานอัยการแล้ว และโจทก์เบิกความ ยืนยันถึงการกระทําทั้งหลายของจําเลยและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งในสาระสําคัญและในรายละเอียด เป็นลําดับตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ โดยมี พยานหลักฐานทั้งที่เป็นเอกสารและภาพถ่ายมาแสดงสอดคล้องเชื่อมโยงกันทุกขั้นตอน ความรู้สึก นึกคิดและการกระทําทั้งหลายที่แสดงออกมาตามข้อเท็จจริงดังกล่าวมีความสัมพันธ์เป็นเหตุเป็นผล
ซึ่งกันและกันตามธรรมชาติ ดังเช่นที่บุคคลทั่วไปในฐานะเช่นเดียวกับโจทก์จะพึงคิดและกระทํา เช่นนั้น และหากมิได้เกิดขึ้นจริงแล้วย่อมเป็นการยากยิ่งที่โจทก์จะเสกสรรปั้นแต่งเรื่องขึ้นมาเบิกความได้อย่างละเอียด อีกทั้งข้อเท็จจริงตามคําเบิกความของโจทก์ยังสอดคล้องกับสําเนาหนังสือ ร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของจําเลย ที่โจทก์ยื่นต่ออัยการสูงสุดว่า จําเลย ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเรียกรับเงินเพื่อแลกกับการสั่งไม่ฟ้องคดี ขอให้สอบสวนข้อเท็จจริงและดําเนินการทางวินัย
จนกระทั่งสํานักงานคณะกรรมการอัยการมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปให้ถ้อยคําและต่อมาได้มีหนังสือแจ้งโจทก์ว่า สํานักงานอัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่ากรณีเป็นที่สงสัยว่า จําเลยกระทําผิดวินัย จึงได้ส่งเรื่องให้หน่วยงานภายในที่เกี่ยวข้องเพื่อดําเนินการทางวินัยต่อไป ตามสําเนาหนังสือสํานักงานคณะกรรมการอัยการแจ้งโจทก์ไปให้ถ้อยคําและแจ้งผลการร้องเรียน
ประกอบกับคดีที่พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่าย คดีอาญา 11 สํานักงานคดีอาญา ยื่นฟ้องบุตรทั้งสองของโจทก์ ท้ายที่สุด ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้รอการลงโทษจําคุก คดีถึงที่สุดแล้ว และไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์เคยมี สาเหตุโกรธเคืองจำเลยมาก่อน
จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะแกล้งเบิกความเพื่อปรักปรําจําเลย เชื่อว่าเบิกความไปตามจริง
*******
ข้อมูลในคำพิพากษาฉบับนี้ ยังไม่จบ ยังมีข้อมูลในส่วนข้อต่อสู้ของจำเลย ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาตัดสินโทษ 5 ปี
รายละเอียดเป็นอย่างไร ขอนำมาเสนอในตอนถัดไป