“…ทำให้เชื่อว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 กระทำการดังกล่าวข้างต้นโดยมีเจตนาทุจริต สมคบกันวางแผน และแบ่งหน้าที่กันทำอย่างเป็นขั้นตอนเพื่อเบียดบังยักยอกหุ้นของบริษัทเวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 7.99 ล้านหุ้น มูลค่าตามบัญชีงบการเงิน 711 ล้านบาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินของ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น และอยู่ในความครอบครองดูแลรักษาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาเป็นของพวกตน…”
........................................
หลังจากสู้คดีกันมาเกือบ 9 ปี
สำหรับคดียักยอกทรัพย์ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น (PICNIC) จำนวน 2 รายการ มูลค่า 761 ล้านบาท ในช่วงปี 2549-50 ซึ่งพนักงานอัยการ เป็นโจทย์ ยื่นฟ้องอดีตผู้บริหาร PICNIC และพวก เป็นจำเลย ในความผิดต่อ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปเมื่อปี 2557
ล่าสุดศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีนี้ในวันที่ 25 ม.ค.2566
อย่างไรก็ดี เนื่องจากเป็นคดีที่น่าสนใจ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปมูลเหตุแห่งคดี และคำพิพากษาในชั้นศาลอุทธรณ์ให้สาธารณชนรับทราบ ก่อนที่ศาลอาญาจะอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ดังนี้
@ศาลชั้นต้นยกฟ้องคดียักยอกทรัพย์ ‘บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น’
ศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ 954-956/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 12833-12835/2563 ลงวันที่ 21 ส.ค.2563
จำเลย 1.นายสุเทพ อัคควุฒิไกร 2.นายภาณุวรรณ เลิศวิเศษ 3.บริษัท สีลม แอดไวซอรี่ เซอร์วิสจำกัด 4.นายสนธยา น้อยเจริญ 5.นายธรรมนูญ ทองลือ 6.หม่อมหลวงชัยภัทร ชยางกุร 7.บริษัท แอสเซ็ท มิลเลี่ยน จำกัด และ 8.นางวันดี โตเจริญ
มูลเหตุแห่งคดี
โจทก์ (พนักงานอัยการ) ฟ้องและแก้ไขฟ้องเป็นใจความว่า จำเลยทั้ง 8 กับ นายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน และพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง (หนีคดี) ได้ร่วมกันสนับสนุน ช่วยเหลือ กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ
1.1 เมื่อระหว่างวันที่ 30 พ.ย.2549 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 25 ธ.ค.2550 เวลากลางวัน ต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 1 (นายสุเทพ อัคควุฒิไกร) และที่ 2 (นายภาณุวรรณ เลิศวิเศษ) ซึ่งเป็นกรรมการผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานและได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น หรือ ปิคนิค หรือ PICNIC
ได้กระทำผิดหน้าที่โดยทุจริตเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของบริษัท โดยร่วมกันทุจริตยักยอกหุ้นบริษัท เวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด หรือ WG จำนวน 7.99 ล้านหุ้น มูลค่าตามบัญชีงบการเงิน 711 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 และที่ 2
โดยให้จำเลยที่ 3 (บริษัท สีลม แอดไวซอรี่ เซอร์วิส จำกัด) ซึ่งเป็นนิติบุคคลมีจำเลยที่ 4 (นายสนธยา น้อยเจริญ) เป็นผู้บริหาร ไปซื้อหนี้ของ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำนวนประมาณ 169 ล้านบาท ในราคาประมาณ 60 ล้านบาท จากบุคคลภายนอก
แล้วโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 7 (บริษัท แอสเซ็ท มิลเลี่ยน จำกัด) ซึ่งเป็นนิติบุคคล มีจำเลยที่ 8 (นางวันดี โตเจริญ) เป็นกรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจกระทำการแทน
โดยให้ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น ทำสัญญารับสภาพหนี้ว่า เป็นหนี้ค้างชำระจำเลยที่ 7 (บริษัท แอสเซ็ท มิลเลี่ยน จำกัด) จำนวน 150 ล้านบาท ทั้งที่จำเลยที่ 7 ซื้อหนี้ของ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น มาในราคา 63 ล้านบาท เท่านั้น
แล้ว บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด แกล้งผิดนัดชำระหนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงได้โอนถ่ายเทยักยอกหุ้นบริษัทเวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด ดังกล่าวที่นำไปวางประกันฯ ไปชำระหนี้จำนวนที่ค้างอีก 75 ล้านบาท ให้แก่จำเลยที่ 7 (บริษัท แอสเซ็ท มิลเลี่ยน จำกัด)
อันเป็นการทำนิติกรรมของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะกรรมการที่เป็นการดำเนินการที่กระทำผิดหน้าที่ โดยไม่เป็นไปตามข้อบังคับของบริษัท และไม่กระทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และระมัดระวังผลประโยชน์ของ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น
เพราะถ้าเป็นการกระทำตามหน้าที่ตามกฎหมายและดำเนินการ โดยซื่อสัตย์สุจริตที่ต้องระมัดระวังผลประโยชน์ของบริษัทแล้ว บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้จำเลยที่ 7 ที่ซื้อหนี้มาในราคาเพียง 63 ล้านบาท เป็นเงินถึง 150 ล้านบาท
และไม่ควรนำหุ้นบริษัทเวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด ที่มีมูลค่าตามบัญชีงบการเงินถึง 711 ล้านบาท ไปวางประกันหนี้ที่เหลือเพียง 75 ล้านบาท และแกล้งผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าว แล้วโอนถ่ายเทยักยอกหุ้นบริษัทเวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด ของ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น ไปเป็นของจำเลยที่ 7 (บริษัท แอสเซ็ท มิลเลี่ยน จำกัด)
1.2 เมื่อระหว่างวันที่ 4 ต.ค.2550 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 26 พ.ย.2550 เวลากลางวัน ต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 1 (นายสุเทพ อัคควุฒิไกร) และที่ 2 (นายภาณุวรรณ เลิศวิเศษ) ซึ่งเป็นกรรมการรับผิดชอบในการดำเนินงานและได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น
ได้กระทำผิดหน้าที่โดยทุจริตเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของบริษัทดังกล่าว โดยร่วมกันทุจริตยักยอกถ่ายเทเงิน 50 ล้านบาท ของ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น ซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 และที่ 2
โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาลงวันที่ 4 ต.ค.2550 กับจำเลยที่ 7 (บริษัท แอสเซ็ท มิลเลี่ยน จำกัด) พร้อมกับมอบเงินจำนวน 50 ล้านบาท แก่จำเลยที่ 7 เพื่อให้ไปวางเป็นมัดจำในการติดต่อขอซื้อหนี้ของ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จากธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น
ต่อมาการเจรจาซื้อหนี้ไม่สำเร็จ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่นำเงินดังกล่าวจากจำเลยที่ 7 คืนให้แก่ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น กลับนำไปเป็นของจำเลยที่ 7 โดยทุจริต
อันเป็นการทำนิติกรรมในฐานะกรรมการที่เป็นการดำเนินกิจการที่กระทำผิดหน้าที่โดยไม่เป็นไปตามข้อบังคับของบริษัท และไม่กระทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และระมัดระวังผลประโยชน์ของบริษัทดังกล่าว
เพราะถ้าเป็นการกระทำตามหน้าที่ตามกฎหมายและดำเนินการโดยซื่อสัตย์สุจริตที่ต้องระวังผลประโยชน์ของบริษัทแล้ว บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีภาระหน้าที่ต้องนำเงิน 50 ล้านบาท ไปวางมัดจำซื้อหนี้แก่จำเลยที่ 7 และเมื่อซื้อหนี้ไม่สำเร็จ ต้องนำเงินที่ไปวางมัดจำดังกล่าวกับจากจำเลยที่ 7
จำเลยทั้ง 8 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
@จำเลยฯสมคบ-เบียดบังยักยอกหุ้น ‘เวิลด์แก๊ส’ โดยมีเจตนาไม่สุจริต
ศาลอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติในเบื้องต้น และมีปัญหาวินิจฉัย 'ประการแรก' ตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยทั้ง 8 ร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 หรือไม่
โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังว่าจำเลยที่ 1 (นายสุเทพ อัคควุฒิไกร) และที่ 2 (นายภาณุวรรณ เลิศวิเศษ) ได้กระทำผิดหน้าที่โดยทุจริตร่วมกันยักยอกหุ้นบริษัท เวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 7.99 ล้านหุ้น
โดยให้จำเลยที่ 3 (บริษัท สีลม แอดไวซอรี่ เซอร์วิส จำกัด) ที่มีจำเลยที่ 4 (นายสนธยา น้อยเจริญ) เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทน ไปซื้อหนี้หรือรับโอนสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาของ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำนวนประมาณ 169 ล้านบาท ในราคาประมาณ 60 ล้านบาท จากธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น
แล้วให้จำเลยที่ 7 (บริษัท แอสเซ็ท มิลเลี่ยน จำกัด) ที่มีจำเลยที่ 8 (นางวันดี โตเจริญ) เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนเข้าสวมสิทธิ รับโอนหนี้หรือสิทธิเรียกร้องดังกล่าวแทนจำเลยที่ 3 และให้ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น ทำสัญญารับสภาพหนี้ว่าเป็นหนี้ค้างชำระจำเลยที่ 7 จำนวน 150 ล้านบาท
ทั้งที่จำเลยที่ 7 (บริษัท แอสเซ็ท มิลเลี่ยน จำกัด) ซื้อหนี้ของ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น มาในราคาประมาณ 63 ล้านบาท และให้ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น แกล้งผิดนัดชำระหนี้ แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงโอนถ่ายเทยักยอกหุ้นบริษัทเวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด ที่นำไปวางประกันการชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 7 นั้น
เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงในเบื้องต้น ฟังได้ว่า บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 3 (บริษัท สีลม แอดไวซอรี่ เซอร์วิส จำกัด) เป็นที่ปรึกษาด้านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ฯ จำเลยที่ 3 จึงมีหน้าที่ให้คำปรึกษาในการแก้ไขหนี้ที่มีปัญหาของบริษัทภายในขอบเขตของงานที่ระบุไว้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่บริษัทและผู้ถือหุ้น
แต่จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 4 (นายสนธยา น้อยเจริญ) ในฐานะผู้มีอำนาจกระทำการแทนกลับไปเจรจากับธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น ขอซื้อหนี้ของ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น ที่มีต่อธนาคารจำนวน 169.45 ล้านบาท มาเป็นของจำเลยที่ 3 ในราคา 63.98 ล้านบาท
โดยมีข้อตกลงให้จำเลยที่ 3 สามารถหาบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นมาสวมสิทธิของจำเลยที่ 3 เพื่อทำสัญญารับโอนสิทธิเรียกร้องจากธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น ได้ แล้วจำเลยที่ 4 (นายสนธยา น้อยเจริญ) ทำการจัดตั้งจำเลยที่ 7 (บริษัท แอสเซ็ท มิลเลี่ยน จำกัด) ขึ้น
แล้วนำจำเลยที่ 7 ไปติดต่อขอสวมสิทธิของจำเลยที่ 3 (บริษัท สีลม แอดไวซอรี่ เซอร์วิส จำกัด) เพื่อให้จำเลยที่ 7 รับโอนหนี้หรือสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาไปทำการเรียกร้องให้ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น ชำระหนี้แก่จำเลยที่ 7 เป็นเงิน 150 ล้านบาท ทั้งที่จำเลยที่ 7 สวมสิทธิรับโอนหนี้มาในราคาเพียง 63.98 ล้านบาท
การกระทำของจำเลยที่ 3 (บริษัท สีลม แอดไวซอรี่ เซอร์วิส จำกัด) โดยจำเลยที่ 4 (นายสนธยา น้อยเจริญ) ดังกล่าว เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า มิได้เป็นการทำหน้าที่ให้คำปรึกษาในการแก้ไขหนี้ที่มีปัญหาของบริษัทภายในขอบเขตของงานที่ระบุไว้ในสัญญา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่บริษัทและผู้ถือหุ้น
เพราะเมื่อจำเลยที่ 3 (บริษัท สีลม แอดไวซอรี่ เซอร์วิส จำกัด) โดยจำเลยที่ 4 (นายสนธยา น้อยเจริญ) สามารถเจรจาขอซื้อหนี้หรือสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาของ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น ที่มีต่อธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำนวน 169.45 ล้านบาท ได้เพียง 63.98 ล้านบาท
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ควรแจ้งให้ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น ทราบและเข้าร่วมวางแผนกับทนายความของบริษัท เพื่อขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามคำพิพากษากับธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น ให้ลดลงเหลือเท่าจำนวนที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไปตกลงเจรจาไว้ตามหน้าที่ของตนเพื่อประโยชน์แก่ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
แต่จำเลยที่ 3 (บริษัท สีลม แอดไวซอรี่ เซอร์วิส จำกัด) และที่ 4 (นายสนธยา น้อยเจริญ) หาได้กระทำเช่นว่านี้ไม่
ที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 อ้างว่าเหตุที่จำเลยที่ 3 เข้าทำสัญญารับโอนสิทธิเรียกร้องกับธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น เพราะระยะเวลาการพิจารณาข้อเสนอของธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น ค่อนข้างกระชั้นชิด และเป็นการกระทำที่ไม่ก่อให้เกิดภาระเพิ่มเติม หรือก่อให้เกิดความเสียหายในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินเป็นประโยชน์แก่ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น นั้น
เป็นเพียงคำกล่าวอ้างลอยๆ ที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น ได้กำหนดระยะเวลาหรือเงื่อนไขใดที่ทำให้จำเลยที่ 3 ต้องรีบตัดสินใจเข้าทำสัญญาเสียเอง
และการที่จำเลยที่ 3 (บริษัท สีลม แอดไวซอรี่ เซอร์วิส จำกัด) ซื้อหนี้มาเพียง 63.98 ล้านบาท แล้วไม่แจ้งให้ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น ทราบเพื่อชำระหนี้หรือขอปรับโครงสร้างหนี้จำนวนดังกล่าวแก่จำเลยที่ 3
แต่กลับไปจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 7 (บริษัท แอสเซ็ท มิลเลี่ยน จำกัด) ขึ้น เพื่อให้เข้าสวมสิทธิไปเรียกร้องให้ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น ชำระหนี้ถึง 150 ล้านบาท แม้จะเป็นจำนวนที่น้อยกว่าหนี้ตามคำพิพากษา ก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เพิ่มภาระก่อให้เกิดความเสียหายในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินแก่ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น แล้ว
การกระทำของจำเลยที่ 3 (บริษัท สีลม แอดไวซอรี่ เซอร์วิส จำกัด) และที่ 4 (นายสนธยา น้อยเจริญ) ที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนตามที่ตกลงไว้ แต่กลับกระทำการอย่างเป็นขั้นตอนโดยไปซื้อหนี้ของ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น มาเป็นของจำเลยที่ 3 ในราคาเพียง 63.98 ล้านบาท แล้วจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 7 ขึ้น เพื่อเข้าสวมสิทธิรับโอนหนี้แทนจำเลยที่ 3
เพื่อให้จำเลยที่ 7 ไปใช้สิทธิในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเรียกร้องให้ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น ชำระหนี้ถึง 150 ล้านบาท นั้น นับเป็นการกระทำที่ผิดปกติวิสัยของผู้มีหน้าที่ให้คำปรึกษาในการแก้ไขหนี้ที่มีปัญหาจะพึงกระทำ ส่อแสดงว่าเป็นการกระทำที่มีเจตนาไม่สุจริตแอบแฝงอยู่
และเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 (นายสุเทพ อัคควุฒิไกร) และที่ 2 (นายภาณุวรรณ เลิศวิเศษ) ในฐานะกรรมการผู้รับผิดชอบในการดำเนินงาน และได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของบริษัท ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีหน้าที่ต้องดำเนินกิจการของบริษัทด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของบริษัท
แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับไม่โต้แย้งคัดค้านการกระทำของจำเลยที่ 3 (บริษัท สีลม แอดไวซอรี่ เซอร์วิส จำกัด) และที่ 4 (นายสนธยา น้อยเจริญ) ที่มิได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่ปรึกษาด้านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามสัญญาฯ และยังไปทำหนังสือสัญญาการปรับโครงสร้างหนี้ลงวันที่ 27 ก.ย.2550 กับจำเลยที่ 7 (บริษัท แอสเซ็ท มิลเลี่ยน จำกัด)
แล้วเร่งรีบชำระหนี้แก่จำเลยที่ 7 ไปถึง 75 ล้านบาท ทั้งที่ยังมีหนี้ที่ต้องชำระแก่เจ้าหนี้รายอื่นอีกจำนวนมาก และยังทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ (ฉบับแก้ไข) ลงวันที่ 11 ธ.ค.2550 กับจำเลยที่ 7 โดยไม่จำเป็นต้องรีบทำ เพราะจำเลยที่ 7ยังมิได้ใช้สิทธิทางศาลดำเนินการบังคับคดีแต่อย่างใด
การที่จำเลยที่ 1 (นายสุเทพ อัคควุฒิไกร) และที่ 2 (นายภาณุวรรณ เลิศวิเศษ) 2 เร่งรีบทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้รวมทั้งเร่งรีบผ่อนชำระหนี้ แต่ชำระเพียงบางส่วนเพื่อเปิดทางให้มีการทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ (ฉบับแก้ไข) ลงวันที่ 11 ธ.ค.2550 อันเป็นที่มาของการวางหุ้นของบริษัทเวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นหลักประกัน
นับเป็นพฤติการณ์ที่ผิดปกติวิสัยของผู้มีหน้าที่ต้องดำเนินกิจการของบริษัทด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของบริษัทจะพึงกระทำ ส่อแสดงว่าจำเลยที่ 1 (นายสุเทพ อัคควุฒิไกร) และที่ 2 (นายภาณุวรรณ เลิศวิเศษ) กระทำไปโดยมีเจตนาไม่สุจริตแอบแฝงอยู่
อีกทั้งการที่จำเลยที่ (นายสุเทพ อัคควุฒิไกร) และที่ 2 (นายภาณุวรรณ เลิศวิเศษ) นำหุ้นของบริษัทเวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 7.99 ล้านหุ้น ที่มีมูลค่าตามบัญชีงบการเงินสูงถึง 711 ล้านบาท ไปโอนลอยวางเป็นประกันการชำระหนี้แก่จำเลยที่ 7 (บริษัท แอสเซ็ท มิลเลี่ยน จำกัด) ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (ฉบับแก้ไข) ที่มีเหลืออยู่เพียงประมาณ 75 ล้านบาท
โดยมีข้อตกลงยอมให้จำเลยที่ 7 ยึดหุ้นทั้งหมดได้หากบริษัทผิดนัดชำระหนี้ อาจทำให้บริษัทได้รับความเสียหายเกินกว่ามูลหนี้ที่เหลืออยู่จริง นับเป็นข้อตกลงที่ทำให้ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น เสียเปรียบอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งผิดวิสัยของผู้บริหารโดยทั่วไปที่มีหน้าที่ต้องดำเนินกิจการของบริษัทด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของบริษัทที่จะทำข้อตกลงเช่นนั้น
และการไปทำข้อตกลงที่เป็นการก่อภาระผูกพันแก่ทรัพย์สินของบริษัทเพิ่มเติมด้วยการนำหุ้นที่มีมูลค่าสูงกว่ามูลหนี้ ไปทำการโอนลอยมอบให้จำเลยที่ 7 เป็นประกันเช่นนี้ อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินเป็นอย่างมาก
นับเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้รับผิดชอบการดำเนินงานของบริษัทและผู้รับผิดชอบในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะต้องนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทเพื่อทราบและพิจารณาให้ความเห็นชอบในการทำข้อตกลงกับจำเลยที่ 7
แต่จำเลยที่ 1 (นายสุเทพ อัคควุฒิไกร) และที่ 2 (นายภาณุวรรณ เลิศวิเศษ) กลับทำข้อตกลงกับจำเลยที่ 7 โดยไม่นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน
ข้ออ้างของฝ่ายจำเลยที่ว่าการนำหุ้นไปวางเป็นประกันการชำระหนี้ไม่ใช่เป็นการลงทุน จึงไม่ต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทนั้น ไม่สมเหตุสมผลและฟังไม่ขึ้น เชื่อว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำไปเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้คณะกรรมการของบริษัททราบเรื่อง
และหลังจากนำหุ้นไปวางเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (ฉบับแก้ไข) ลงวันที่ 11 ธ.ค.2550 แล้ว บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น ก็ไม่ชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าว โดยไม่ปรากฏเหตุอันสมควรว่า เพราะเหตุใดจึงไม่ชำระหนี้ที่อาจก่อความเสียหายแก่บริษัทจำนวนมากเช่นนี้
ข้ออ้างของพยานฝ่ายจำเลยปากนายนำพล เงินนำโชค ประธานกรรมการตรวจสอบของ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น ที่เบิกความว่า บริษัทมีเงินเพียงพอที่จะชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 7 ได้ แต่ไม่สามารถนำเงินไปชำระหนี้แก่จำเลยที่ 7เพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 7 เพียงรายเดียวได้
เพราะอาจถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องร้องบังคับคดีโดยไม่ยอมผ่อนปรนให้อีกนั้น เป็นเพียงคำกล่าวอ้างลอยๆ และไม่สมเหตุสมผล จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น มีเงินเพียงพอที่จะชำระหนี้ทั้งหมดแก่จำเลยที่ 7 ได้ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จงใจไม่ชำระหนี้ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (ฉบับแก้ไข) ลงวันที่ 11 ธ.ค.2550 แก่จำเลยที่ 7
ดังนั้น เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 (นายสุเทพ อัคควุฒิไกร ,นายภาณุวรรณ เลิศวิเศษ ,บริษัท สีลม แอดไวซอรี่ เซอร์วิส จำกัด และนายสนธยา น้อยเจริญ) และที่ 7 (บริษัท แอสเซ็ท มิลเลี่ยน จำกัด) ดังกล่าวข้างต้นประกอบกันแล้ว ทำให้เชื่อว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 กระทำการดังกล่าวข้างต้นโดยมีเจตนาทุจริต
สมคบกันวางแผน และแบ่งหน้าที่กันทำอย่างเป็นขั้นตอนเพื่อเบียดบังยักยอกหุ้นของบริษัทเวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 7.99 ล้านหุ้น มูลค่าตามบัญชีงบการเงิน 711 ล้านบาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินของ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น และอยู่ในความครอบครองดูแลรักษาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาเป็นของพวกตน
ทำให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น ด้วยการให้จำเลยที่ 3 ซึ่งมีจำเลยที่ 4 เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนไปขอซื้อหนี้ของ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น ที่มีต่อธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำนวน 169.45 ล้านบาท มาเป็นของจำเลยที่ 3 ในราคาเพียง 63.98 ล้านบาท
โดยมีข้อตกลงให้จำเลยที่ 3 สามารถหาบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นมาสวมสิทธิของจำเลยที่ 3 เพื่อทำสัญญารับโอนสิทธิเรียกร้องจากธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น ได้
แล้วจำเลยที่ 4 ทำการจัดตั้งจำเลยที่ 7 ขึ้น และนำจำเลยที่ 7 ไปติดต่อกับธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น ขอสวมสิทธิของจำเลยที่ 3 เพื่อให้จำเลยที่ 7 รับโอนสิทธิเรียกร้องไปทำการเรียกร้อง บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้ชำระหนี้แก่จำเลยที่ 7 จำนวน 150 ล้านบาท
แล้วให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานและได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น แสร้งทำเป็นผิดนัดชำระหนี้ และเร่งรีบทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ (ฉบับแก้ไข) ลงวันที่ 11 ธ.ค.2550 กับจำเลยที่ 7
ที่มีข้อตกลงให้ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น นำหุ้นของบริษัทเวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 7.99 ล้านหุ้น ที่มีมูลค่าตามบัญชีงบการเงินสูงถึง 711 ล้านบาท โอนลอยวางเป็นประกันการชำระหนี้แก่จำเลยที่ 7 ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ (ฉบับแก้ไข) ลงวันที่ 11 ธ.ค.2550 ที่มีหนี้เหลืออยู่เพียงประมาณ 75 ล้านบาท
โดยมีข้อตกลงยอมให้จำเลยที่ 7 ยึดหุ้นทั้งหมดไปได้ หาก บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น ผิดนัดชำระหนี้ โดยหลีกเลี่ยงไม่นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการของบริษัทเพื่อทราบและพิจารณาให้ความเห็นชอบในการทำข้อตกลงก่อน แล้วจงใจไม่ชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าว ทั้งที่มีความสามารถชำระหนี้ได้ เพื่อให้จำเลยที่ 7 ใช้สิทธิยึดหุ้นที่เป็นหลักประกันไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 7 กับพวก
พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาจึงมีน้ำหนักรับฟังได้มั่นคง พยานหลักฐานจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ที่นำสืบโต้แย้งไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าวข้างต้น
@ชี้ ‘5 จำเลย’ กระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ-ส่วนอีก 3 รายยังมีข้อ ‘สงสัย’
เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นกรรมการผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และครอบครองหุ้นบริษัทเวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 7.99 ล้านหุ้น ซึ่งเป็นทรัพย์ของ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น กระทำผิดหน้าที่ด้วยประการใดๆ
โดยทุจริตจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของบริษัท และร่วมกันเบียดบังเอาหุ้นบริษัทเวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 7.99 ล้านหุ้น เป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต
จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 313 ประกอบมาตรา 307 ,308, 311 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 อันเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน
ให้ลงโทษฐานเป็นกรรมการหรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทหรือนิติบุคคลที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ร่วมกันเบียดบังเอาทรัพย์ของนิติบุคคลตามมาตรา 313 ประกอบมาตรา 308 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
ส่วนจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 7 มิได้เป็นกรรมการ ผู้จัดการหรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น และครอบครองหุ้นบริษัทเวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 7.99 ล้านหุ้น ซึ่งเป็นทรัพย์ของ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จึงไม่สามารถลงโทษตามมาตรา 313 ประกอบมาตรา 307 ,308 ,311
แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 7 สมคบกันกระทำความผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 7 กระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2
จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 7 จึงมีความผิดฐานช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่กรรมการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลเบียดบังเอาทรัพย์ของนิติบุคคลโดยทุจริตตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 315 ประกอบมาตรา 307 ,308, 311 ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 313 ประกอบมาตรา 308 เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2
สำหรับจำเลยที่ 5 และที่ 8 นั้น ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมาได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 5 และที่ 8 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนของจำเลยที่ 7 แต่จำเลยที่ 5 และที่ 8 มิได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำสัญญาดังกล่าวข้างต้นในฐานะผู้กระทำการแทนจำเลยที่ 7 หรือให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่การกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7
ส่วนจำเลยที่ 6 มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเป็นเพียงผู้แจ้งจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทเวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด จาก บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น มาเป็นจำเลยที่ 7 เท่านั้น โดยไม่ปรากฏชัดแจ้งว่ากระทำไปเพราะสมคบกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 หรือมีเจตนาเพื่อช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่การกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7
กรณีจึงยังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 5 ที่ 6 และที่ 8 เป็นผู้ร่วมกระทำผิดหรือมีส่วนให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่การกระทำผิดหรือไม่ สมควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยแก่จำเลยที่ 5 ที่ 6 และที่ 8 อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
@จำเลย 5 ราย ร่วมกระทำความผิด ‘เบียดบัง’ เงินของ ‘PICNI’ 50 ล้าน
มีปัญหาวินิจฉัย 'ประการสุดท้าย' ตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 ร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.2 หรือไม่
โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังว่าจำเลยที่ 1 (นายสุเทพ อัคควุฒิไกร) และที่ 2 (นายภาณุวรรณ เลิศวิเศษ) กระทำผิดหน้าที่ โดยทุจริตร่วมกับจำเลยที่ 4 (นายสนธยา น้อยเจริญ) ที่ 7 (บริษัท แอสเซ็ท มิลเลี่ยน จำกัด) และที่ 8 (นางวันดี โตเจริญ)
เบียดบังถ่ายเทเงิน 50 ล้านบาท ของบมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น ซึ่งอยู่ในครอบครองของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปให้จำเลยที่ 7 กับพวก โดยแสร้งทำเป็นมอบเงินเพื่อให้ไปวางเป็นประกันในการติดต่อขอซื้อหนี้ของ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จากธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น แล้วจำเลยที่ 7 นำไปเป็นของตนกับพวกโดยทุจริตนั้น
เห็นว่า ข้อเท็จจริงในส่วนนี้ฟังเป็นยุติได้ในเบื้องต้นแล้วว่า บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้รับผิดชอบในการดำเนินงาน ได้ทำสัญญาวางเงินมัดจำการโอนสิทธิเรียกร้องกับจำเลยที่ 7 (บริษัท แอสเซ็ท มิลเลี่ยน จำกัด) พร้อมกับโอนเงินจำนวน 50 ล้านบาท ให้แก่จำเลยที่ 7
ซึ่งจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 7 นำสืบถึงสาเหตุที่มีการโอนเงินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 7 ว่า เป็นเพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องการให้จำเลยที่ 4 และที่ 7 เป็นตัวแทนไปเจรจาขอซื้อหนี้จากธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น และจำเลยที่ 4 และที่ 7 จะต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวไปวางเป็นหลักประกันในการเจรจาขอซื้อหนี้
ทั้งที่ในขณะทำสัญญานั้น จำเลยที่ 4 และที่ 7 ยังไม่มีการเริ่มต้นทำการติดต่อเจรจากับธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น รวมทั้งยังไม่ได้ว่าจ้างบริษัทเซจ แคปปิตอล จำกัด ให้เป็นตัวแทนไปเจรจาแทนจำเลยที่ 7 แต่อย่างใด จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องรีบโอนเงินจำนวน 50 ล้านบาท แก่จำเลยที่ 7 ในทันทีที่ทำสัญญาฯ
การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 รีบโอนเงินจำนวน 50 ล้านบาท แก่จำเลยที่ 7 จึงนับเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลและผิดปกติ
และพยานโจทก์ปากนายสัญญา ศรีประเสริฐ ผอ.ฝ่ายควบคุมสินเชื่อของธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น ในขณะนั้น ก็เบิกความยืนยันว่า บริษัทเซจ แคปปิตอล จำกัด ได้ไปติดต่อเจรจาขอซื้อหนี้ของบริษัทปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จริง แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ โดยยืนยันว่าในการเจรจาขอซื้อหนี้ไม่จำเป็นต้องมีการวางมัดจำ
ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 (นายสุเทพ อัคควุฒิไกร) ที่ 2 (นายภาณุวรรณ เลิศวิเศษ) ที่ 3 (บริษัท สีลม แอดไวซอรี่ เซอร์วิส จำกัด) และที่ 7 (บริษัท แอสเซ็ท มิลเลี่ยน จำกัด) ที่ว่าบริษัทเซจ แคปปิตอล จำกัด ต้องการให้มีการนำเงินดังกล่าวไปวางเป็นประกันในการเจรจาซื้อหนี้ จึงไม่น่าเชื่อถือและไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 7 ไม่ได้นำเงินจำนวน 50 ล้านบาท ไปใช้ในการเจรจาขอซื้อหนี้จากธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 7 ข้างต้น ส่อแสดงว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 7 มีการสมคบกันวางแผนอย่างเป็นขั้นตอนและแบ่งหน้าที่กันทำ
โดยแสร้งทำเป็นว่ามีความจำเป็นต้องโอนเงินของ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำนวน 50 ล้านบาท ไปให้จำเลยที่ 7 อย่างรีบด่วนเพื่อให้ จำเลยที่ 7 นำไปใช้วางมัดจำการเจรจาซื้อหนี้จากธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น
ทั้งที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 7 ทราบดีอยู่แล้วว่าการเจรจาขอซื้อหนี้ระหว่างบริษัทเซจ แคปปิตอล จำกัด กับธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น ไม่จำเป็นต้องมีการวางมัดจำ
ส่วนที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 7 นำสืบว่าสัญญาวางเงินมัดจำการโอนสิทธิเรียกร้องฯ ข้อ 3 ระบุให้จำเลยที่ 7 มีสิทธินำเงินจำนวน 50 ล้านบาท ไปหักกลบลบหนี้ที่ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น มีต่อจำเลยที่ 7 ได้ หากธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น ไม่อนุมัติการขายหนี้หรือโอนสิทธิเรียกร้องฯ
และจำเลยที่ 7 ได้นำเงินจำนวน 50 ล้านบาท ไปหักออกจากเงินที่ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น ต้องชำระแก่จำเลยที่ 7 แล้ว โดยถือเป็นเงินชำระหนี้ตามสัญญาปรับปรุงหนี้ ลงวันที่ 27 ก.ย.2550 ซึ่งภายหลังได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันระหว่าง บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น กับจำเลยที่ 7 แล้วนั้น
จำเลยที่ 7 ไม่มีหลักฐานใด มาแสดงให้เห็นว่าได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปหักกลบลบหนี้กับหนี้ตามสัญญาปรับปรุงหนี้ลงวันที่ 27 ก.ย.2550 อีกทั้งสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 2 ยังระบุว่าจำเลยที่ 7 ตกลงคืนเงินมัดจำซื้อหนี้จำนวน 50 ล้านบาท แก่ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น
แสดงว่าจำเลยที่ 7 มิได้นำเงินจำนวน 50 ล้านบาท ไปหักกลบลบหนี้กับหนี้ตามสัญญาปรับปรุงหนี้ลงวันที่ 27 ก.ย.2550 ดังที่กล่าวอ้าง พยานหลักฐานจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 7 ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์
ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 7 มีการสมคบกันวางแผนอย่างเป็นขั้นตอนและแบ่งหน้าที่กันทำ โดยแสร้งทำเป็นว่ามีความจำเป็นต้องโอนเงินของ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำนวน 50 ล้านบาท ไปให้จำเลยที่ 7 อย่างรีบด่วนเพื่อนำไปใช้วางมัดจำในการเจรจาซื้อหนี้จากธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น
แต่ความจริงแล้วจำเลยที่ 7 ไม่ได้นำเงินดังกล่าวไปใช้วางมัดจำการเจรจาซื้อหนี้จากธนาคาร ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น และไม่ได้นำไปหักกลบลบหนี้กับหนี้ตามสัญญาปรับปรุงหนี้ลงวันที่ 27 ก.ย.2550 ตามที่กล่าวอ้าง
แต่กลับร่วมกันเบียดบังเงินดังกล่าวไปเป็นของตนเอง เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น
เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นกรรมการผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และครอบครองเงินจำนวน 50 ล้านบาท ซึ่งเป็นทรัพย์ของ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น ร่วมกันเบียดบังเอาเงินจำนวน 50 ล้านบาท ไปเป็นของตนหรือจำเลยที่ 7 กับพวกโดยทุจริต
ถือได้ว่าเป็นการกระทำผิดหน้าที่ด้วยประการใดๆ โดยทุจริตจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของบริษัทด้วย
จำเลยที่ 1 (นายสุเทพ อัคควุฒิไกร) และที่ 2 (นายภาณุวรรณ เลิศวิเศษ) จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 313 ประกอบมาตรา 307 ,308 ,311 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 อันเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน
ให้ลงโทษฐานเป็นกรรมการหรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัท หรือนิติบุคคลที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ครอบครองทรัพย์ของบริษัทร่วมกันเบียดบังเอาทรัพย์นั้น เป็นของตนหรือบุคคลที่สาม โดยทุจริตตามมาตรา 313 ประกอบมาตรา 308 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 อีกกระทงหนึ่ง
ส่วนจำเลยที่ 4 (นายสนธยา น้อยเจริญ) และที่ 7 (บริษัท แอสเซ็ท มิลเลี่ยน จำกัด) มิได้เป็นกรรมการ ผู้จัดการหรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จึงไม่สามารถลงโทษตามมาตรา 313 ประกอบมาตรา 307, 308, 311
แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 4 และที่ 7 สมคบกันกระทำความผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถือได้ว่าจำเลยที่ 4 และที่ 7 กระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2
จำเลยที่ 4 และที่ 7 จึงมีความผิดฐานช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่กรรมการหรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลเบียดบังเอาทรัพย์ของนิติบุคคลโดยทุจริตตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 315 ประกอบมาตรา 307 ,308 ,311 ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 313 ประกอบมาตรา 308เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 อีกกระทงหนึ่ง
ส่วนจำเลยที่ 8 (นางวันดี โตเจริญ) แม้ได้ความว่าเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 7 แต่จำเลยที่ 8 มิได้เป็นผู้ลงลายมือชื่อกระทำการแทนจำเลยที่ 7 ในสัญญาวางเงินมัดจำการโอนสิทธิเรียกร้องฯ
แม้นางสาววาสนา สุกฤติยา กับนางวาสนาหรือรัตติยกร โพธิ์ทอง เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์พยานโจทก์เบิกความว่าจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่าจำเลยที่ 7 มิได้นำเงินจำนวน 50 ล้านบาท ไปใช้วางมัดจำในการเจรจาซื้อหนี้จากธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น
แต่พบว่าจำเลยที่ 7 ได้โอนเงินบางส่วนไปให้จำเลยที่ 8 แต่พยานทั้งสองปากดังกล่าว คงเบิกความไว้เพียงลอยๆ โดยไม่มีหลักฐานอื่นใดที่เชื่อถือได้มาสนับสนุนให้เห็นจริงตามที่กล่าวอ้าง และทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 8 มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในขั้นตอนใดอีก
กรณีจึงยังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 8 กระทำความผิดด้วยหรือไม่ สมควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยแก่จำเลยที่ 8 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 8 ในความผิดฐานนี้มานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย แต่ที่ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 7 นั้น ศาลอุทธรณ์ยังไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
@จำคุก 3 จำเลยคนละ 12 ปี ปรับเงินจำเลย 5 รายรวม 7.5 พันล้าน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 (นายสุเทพ อัคควุฒิไกร) และที่ 2 (นายภาณุวรรณ เลิศวิเศษ) มีความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 313 ประกอบมาตรา 307 ,308 ,311 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษฐานเป็นกรรมการ ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ร่วมกันเบียดบังเอาทรัพย์ของนิติบุคคลโดยทุจริตตามมาตรา 313 ประกอบมาตรา 308
และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกกระทงแรกคนละ 6 ปี และปรับคนละ 1,422 ล้านบาท จำคุกกระทงที่สองคนละ 6 ปี และปรับคนละ 100 ล้านบาท รวม 2 กระทง เป็นจำคุกคนละ 12 ปี และปรับคนละ 1,522 ล้านบาท
จำเลยที่ 3 (บริษัท สีลม แอดไวซอรี่ เซอร์วิส จำกัด) มีความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 315 ประกอบมาตรา 307,308 ,311, 313 ให้ลงโทษฐานช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่กรรมการ ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เบียดบังเอาทรัพย์ของนิติบุคคลโดยทุจริต ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 313 ประกอบมาตรา 308 เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ปรับ 1,422 ล้านบาท
จำเลยที่ 4 (นายสนธยา น้อยเจริญ) และที่ 7 (บริษัท แอสเซ็ท มิลเลี่ยน จำกัด) มีความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ มาตรา 315 ประกอบมาตรา 307,308,311, 313 ให้ลงโทษฐานร่วมกันช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่กรรมการ ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เบียดบังเอาทรัพย์ของนิติบุคคลโดยทุจริต ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 313 ประกอบมาตรา 308 เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2
โดยจำคุกจำเลยที่ 4 กระทงแรก 6 ปี และปรับ 1,422 ล้านบาท ,จำคุกกระทงที่สอง 6 ปี และปรับ 100 ล้านบาท รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 12 ปี และปรับ 1,522 ล้านบาท และให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 7 กระทงแรกปรับ 1,422 ล้านบาท กระทงที่สองปรับ 100 ล้านบาท รวม 2 กระทง เป็นปรับ 1,522 ล้านบาท
หากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับได้เกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี หากจำเลยที่ 3 และที่ 7 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
เหล่านี้เป็นสรุปคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดียักยอกทรัพย์ของ บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น ในคดีหมายเลขดำที่ 954-956/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 12833-12835/2563 ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกจำเลย 3 ราย รายละ 12 ปี และสั่งปรับจำเลยทั้ง 5 ราย เป็นเงินรวม 7,510 ล้านบาท ก่อนที่ศาลฎีกาฯจะมีคำชี้ขาดในคดีนี้ในวันที่ 25 ม.ค.นี้
อ่านประกอบ :
‘ศาลฎีกา’ชี้ขาดคดียักยอกทรัพย์ PICNI 25 ม.ค.นี้ หลังชั้นอุทธรณ์สั่งจำคุก 3 จำเลย 12 ปี
ศาลสั่งอดีตบิ๊กปิคนิค พี่ชาย“สุริยา” รมช.พาณิชย์ยุคแม้วล้มละลาย