โดยแน่นอนว่าสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นจะทำให้มีการพุ่งขึ้นของผู้ติดเชื้อ แต่ก็คาดหวังกันว่าภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติที่มีความแข็งแกร่งนั้นจะทำให้การพุ่งขึ้นของผู้ติดเชื้อมีจำนวนที่น้อย ถ้าหากยังคงเป็นสายพันธุ์ที่เกี่ยวกับโอไมครอนอยู่ หรือสรุปก็คือว่าการระบาดของโควิดเข้าสู่สถานการณ์ที่จัดการได้ง่ายนั่นเอง
คำว่าวิถีชีวิตใหม่ การกลับเข้าสู่การใช้ชีวิตหลังโรคระบาด และการเป็นโรคประจำถิ่นเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงกันมากเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ะบาดของไวรัสโควิด-19 และคาดว่าในปี 2566 ก็อาจจะมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคหลายอย่างจนถึงขั้นภาวะใกล้เคียงปกติมากที่สุด
โดยสำนักข่าว Daily Beast ของสหรัฐอเมริกาได้มีการทำนายเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี 2566 เอาไว้ ซึ่งสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเอาคำทำนายดังกล่าวมีรายละเอียดดังต่อนี้
ปี 2566 ที่กำลังจะมาถึงนั้น มีการคาดการณ์กันว่าน่าจะเป็นปีที่ทั้งโลกคิดออกว่าจะอยู่ร่วมกับไวรัสโควิด-19กันอย่างไร
แต่อย่างไรก็ตาม เรากลับมีไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนเกิดขึ้นมา ซึ่งนี่อาจทำให้อะไร ๆ ไม่ได้เป็นไปตามที่เราเคยคิดกันเอาไว้
สำหรับไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนและสายพันธุ์ย่อยอื่น ๆ ในแขนงของโอไมครอนนั้นเริ่มต้นการระบาดตั้งแต่ปลายปี 2564 แล้ว และได้ทำให้ประชากรในหลายได้มีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ ซึ่งนี่อาจเป็นข้อดีเพราะภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติที่ว่านี้ทำให้หลายประเทศอยู่ในตำแหน่งที่ดีในการรับมือกับสายพันธุ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
“ที่ผมเห็นตอนนี้ก็คืออย่างที่สหรัฐอเมริกาและก็ในอีกหลายพื้นที่ทั่วโลกเริ่มจะค่อยๆออกจากระยะเฉียบพลันของโรคระบาดแล้ว” นพ.ลอว์เรนซ์ กอสติน ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพระดับโลกของมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ให้สัมภาษณ์
แน่นอนว่าโควิดยังคงทำให้ผู้คนป่วยอยู่ เพราะไวรัสได้มีการสร้างรูปแบบใหม่ให้ความความโดดเด่น แต่เนื่องจากภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ ผู้ที่ป่วยก็อาจจะป่วยไม่มาก และการติดเชื้อใหม่จะเพาะพันธุ์ทำให้เกิดแอนติบอดีสดใหม่ที่จะยืดอายุภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติของประชากรให้สามารถต่อสู้กับคลื่นลูกใหม่ของผู้ติดเชื้อต่อไปได้
“คลื่นของการติดเชื้อนั้นจะมีลักษณะที่ตื้นขึ้นๆ และจะห่างกันมากขึ้นเรื่อยๆเหมือนระลอกคลื่นในสระน้ำ” นพ. เจฟฟรีย์ เคลาส์เนอร์ นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนียกล่าว
นี่คือเทรนด์การระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลก ยกเว้นที่ประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศเดียวที่ได้เคยใช้มาตรการควบคุมโควิดในแบบเข้มข้นในช่วงปีที่ผ่านๆมา ส่งผลสำคัญทำให้ประชาชนจีนขาดภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ ดังนั้นสิ่งที่คาดกันก็คือว่าในปี 2566 ประเทศจีนน่าจะตามโลกได้ทันในเรื่องของการมีแอนติบอดีเพื่อสู้กับโควิด
เทรนด์การระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนที่ประเทศจีน (อ้างอิงวิดีโอจาก Yahoo Finance)
ปัญหาสำคัญก็คือว่าการที่ประชากรจีน 1.4 พันล้านคนตามภูมิคุ้มกันโควิดให้ทัน นั่นหมายความว่าจะมีประชากรจำนวนมากป่วยด้วยโควิด หากไม่มีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติที่มอบให้ก่อนหน้านี้
ดังนั้นถ้าหากปี 2566 เป็นปีแรกที่โลกจะเริ่มหายใจได้อย่างสะดวกเป็นครั้งแรกในรอบสี่ปีหลังจากที่มีการระบาดของโควิด สำหรับจีนก็จะถือได้ว่านี่ปีแรกก็เป็นได้ที่ประเทศจะต้องเผชิญกับการป่วยหนักเป็นครั้งแรก
ทั่วทั้งโลกยกเว้นแต่ประเทศจีนนั้นได้เผชิญกับภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติในทางที่ค่อนข้างจะลำบากผ่านการติดโควิด แน่นอนว่าวัคซีนสามารถบรรเทาความเจ็บปวดจากการติดโควิดได้ แต่ว่าแอนติบอดีที่เกิดจากวัคซีนจะไม่อาจคงอยู่ตลอดไป
ย้อนไปเมื่อปลายปี 2564 เริ่มมีการฉีดวัคซีนไปแล้วเป็นจำนวนนับพันล้านโดส และตามมาด้วยการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับประชาชนส่วนมากทันทีที่วัคซีนพร้อมใช้งานในช่วงเวลาเดียวกับที่หลายประเทศได้ยกเลิกข้อจำกัดในการป้องกันโรค อาทิข้อจำกัดเรื่องการไปทำงาน การไปเรียนหนังสือและการเดินทาง ซึ่งนี่เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่โอไมครอนปรากฏตัวขึ้นมา
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าโควิดสายพันธุ์โอไมครอนนั้นมีศักยภาพในการแพร่เชื้อที่มากกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า แต่ก็มีความรุนแรงของโรคที่น้อยกว่าด้วย ซึ่งการระบาดของโอไมครอนนั้นเริ่มมีบันทึกชัดเจนตั้งแต่ปลายปี 2564-ต้นปี 2565 แล้วหลังจากนั้นตลอดปี 2565 ก็มีโควิดสายพันธุ์ย่อยภายใต้แขนงของโอไมครอนได้แก่ BA.2, BA.5 และ BQ.1 ที่เป็นปัจจัยทำให้ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นตลอดทั้งปี 2565
ทว่าเทรนด์การระบาดในปี 2565 นั้นก็คือว่าการมีผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลและผู้เสียชีวิตที่น้อยลง โดยประเทศที่ผู้คนกลับสู่ภาวะปกติและไวรัสก็กำลังแพร่ระบาด ทิศทางก็จะเป็นว่าผู้คนนั้นได้สะสมแอนติบอดีธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ
นพ.กอสตินกล่าวต่อไปว่าสิ่งนี้เรียกกันว่าเป็นวงจรที่ควรจะเป็นเพราะว่า “ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติจะมีการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องเมื่อไวรัสแพร่กระจายอย่างกว้างขวาง นี่หมายความว่าเมื่อเวลาผ่านไป ประชากรจะมีภูมิคุ้มกันที่มาก”
ทางด้านของ นพ.เอ็ดวิน ไมเคิล นักระบาดวิทยาที่ศูนย์วิจัยโรคติดเชื้อสุขภาพโลกที่มหาวิทยาลัยเซาท์ฟลอริดากล่าวว่าการปกป้องดังกล่าวที่เกิดขึ้นทำให้เราเริ่มพอจะเห็นความหวังได้สำหรับปี 2566 และในปีถัดๆไป ซึ่งในที่สุดวัฏจักรของคลื่นของการระบาดที่ซ้ำกันนั้นจะค่อยๆลดลงไปเรื่อยๆจนเข้าสถานะของโรคประจำถิ่นที่มีการแพร่เชื้อในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง
โดยแน่นอนว่าสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นจะทำให้มีการพุ่งขึ้นของผู้ติดเชื้อ แต่ก็คาดหวังกันว่าภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติที่มีความแข็งแกร่งนั้นจะทำให้การพุ่งขึ้นของผู้ติดเชื้อมีจำนวนที่น้อย ถ้าหากยังคงเป็นสายพันธุ์ที่เกี่ยวกับโอไมครอนอยู่ หรือสรุปก็คือว่าการระบาดของโควิดเข้าสู่สถานการณ์ที่จัดการได้ง่ายนั่นเอง
องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ประกาศจุดจบของภาวะโรคระบาดโควิด-19 (อ้างอิงวิดีโอจาก DW)
กลับมาที่ประเทศจีน ซึ่งที่ผ่านมาได้เคยใช้มาตรการสุดโต่งเพื่อควบคุมไวรัสจนกระทั่งเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนได้มีการประท้วงเกิดขึ้นทั่วประเทศเพื่อกดดันรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ จนในที่สุดรัฐบาลก็ได้ตัดสินใจในวันที่ 7 ธ.ค.ว่าจะต้องยกเลิกมาตรการจำกัดในหลายๆอย่าง
ทว่านักระบาดวิทยาก็ได้ออกมาเตือนว่าการยกเลิกการล็อกดาวน์อย่างกะทันหันในประเทศที่ไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติในอัตราที่มาก อีกทั้งประเทศจีนก็ยังมีอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำในกลุ่มประชากรที่เปราะบางที่ เช่นผู้สูงอายุอาจนํามาซึ่งหายนะเนื่องจากการติดเชื้อรุนแรงทำให้ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล
ไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น ความกังวลของเหล่านักระบาดวิทยาก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าถูกต้อง การระบาดครั้งใหญ่ในกรุงปักกิ่งทําให้หน่วยงานท้องถิ่นต้องฟื้นฟูข้อจํากัดบางประการที่พวกเขาเพิ่งยกเลิกไป อย่างไรก็ตามการกลับไปสู่มาตรการล็อกดาวน์นั้นไม่ได้ช่วยอะไรเลย นอกเสียจากว่าจะทำให้สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เกิดขึ้นล่าช้าออกไปเท่านั้น
สหรัฐอเมริกาประกาศเฝ้าระวังนักเดินทางที่มาจากประเทศจีน (อ้างอิงวิดีโอจาก CBS)
และชาวจีนก็ไม่ต้องการล็อกดาวน์อีกแล้ว พวกเขาต้องการกลับสู่ภาวะปกติของตนเอง ดังนั้นการจะไปถึงจุดนั้นได้ จำเป็นที่จะต้องมีแอนติบอดีตามธรรมชาติเสีนก่อน แต่แอนติบอดีตามธรรมชาติมาจากการติดเชื้อเท่านั้น และการติดเชื้อเหล่านั้นก็อาจจะหมายถึงว่าในปี 2566 จะมีภาพของชาวจีนติดเชื้อเป็นจำนวนหลายสิบล้านคนก็เป็นได้
ขณะที่ทั้งโลก ในปี 2566 ที่จะมาถึงนี้ อาจจะเป็นปีที่ประเทศเหล่านี้ได้มีวิถีชีวิตใกล้เคียงกับปกติที่สุดนับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา แต่ก็ยังมีฉากทัศน์ที่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนก็คือว่าดควิดนั้นยังคงเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้
โดยตราบเท่าที่ไวรัสยังคงแพร่ระบาดอยู่ มันก็จะกลายพันธุ์ต่อไป และตามที่ทราบก็คือว่าตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาการกลายพันธุ์ได้ทำให้เกิดโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยที่ไปลดประสิทธิภาพของวัคซีน และสายพันธุ์ย่อยตัวล่าสุดได้แก่โอไมครอน BQ ก็ยังไปลดประสิทธิภาพของการใช้ยาแบบ โมโนโคลนอลแอนติบอดี หรือ Monoclonal antibody (แอนติบอดีที่สร้างจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ออกแบบมาให้มีความจำเพาะต่อความต้องการที่ใช้รักษาโควิด-19) ทำให้การรักษาด้วยยาเช่นนี้ไม่ได้ผล อย่างไรก็ตามมันยังไม่ถึงกับว่ามีศักยภาพในการล่วงล้ำแอนติบอดีตามธรรมชาติไปได้
ทางด้านของ นพ.เคลาส์เนอร์กล่าวว่าเขาคาดว่าเทรนด์การระบาดเช่นนี้ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต
“มันอาจจะมีสายพันธุ์ย่อยที่แตกต่างกันออกไป แต่ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจนทำให้น่าทึ่ง ตอนนี้เราอยู่ภายใต้ขั้นตอนของโอไมครอนหรือว่าสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอนมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ซึ่งมันก็ควรจะเป็นเช่นนี้ต่อไป” นพ.เคลาส์เนอร์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากไม่เป็นเช่นนั้น ถ้าหากมีโควิดสายพันธุ์ใหม่โดยสิ้นเชิง หรือว่ามีสายพันธุ์ย่อยที่มีศักยภาพในการหลบแอนติบอดีตามธรรมชาติของเราได้ โลกทั้งโลกไม่ใช่แค่ประเทศจีนจะต้องเผชิญกับคลื่นของการติดเชื้อโดยไม่มีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติเกิดขึ้น
โดยถ้าหากนี่เกิดขึ้นมาจริงวิถีการกลับไปใช้ชีวิตแบบปกติในปี 2566 ก็อาจจะกลายเป็นฝันร้ายก็เป็นไปได้
เรียบเรียงจาก:https://www.thedailybeast.com/this-is-what-scientists-expect-from-the-covid-virus-in-2023?source=articles&via=rss