“…โดยบางกรณีมีการใช้วิธีการทุจริต และวิธีการใหม่ๆหลายรูปแบบร่วมกัน ทำให้มีความสลับชับซ้อนมากขึ้น และส่วนใหญ่กระทำโดยลำพังไม่ได้ แต่จะเป็นความร่วมมือกันกระทำการทุจริต ระหว่างผู้มีหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีอากร และภาคเอกชน ที่ล้วนมีผลประโยชน์แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่กลไกตรวจสอบของรัฐจะเข้าไปตรวจจับพฤติกรรมหรือความสัมพันธ์ลักษณะนี้ได้…”
....................................
สืบเนื่องจากกรณีที่ กรมสรรพากร ส่งตัวแทนเข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ‘เจ้าหน้าที่สรรพากร’ ในพื้นที่ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ รายหนึ่ง ในคดีโกงภาษีที่คืนให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ หลังจากตรวจสอบพบกรณีดังกล่าวเมื่อเดือน ก.ค.2565 ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่รายนี้มีพฤติการณ์แก้ไขเช็คและนำเงินเข้าบัญชีธนาคารในชื่อตัวเอง รวมมูลค่ากว่า 800 ล้านบาท
ทั้งนี้ หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรบางเสาธงดำเนินการสอบสวนในเบื้องต้นแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งสำนวนคดีไปให้ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสมุทรปราการ รับไปดำเนินการสอบสวนตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไปนั้น (อ่านประกอบ : ไม่ใช่แค่สรรพากรอำเภอ! พฤติการณ์โกงคืนภาษี 800 ล. มีผู้เกี่ยวข้องอีกกว่า 3 ราย คอยช่วย)
อย่างไรก็ดี หลังจากตรวจสอบพบกรณี ‘ทุจริตการคืนภาษี’ ดังกล่าว ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ทำหนังสือที่ ปช 0011/0152 ลงวันที่ 14 ก.ย.2565 เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันการทุจริตในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม เสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ต่อมาวันที่ 6 ธ.ค.2565 ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. ในเรื่องดังกล่าว พร้อมทั้งได้มอบหมายให้ 'กระทรวงการคลัง' ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของมาตรการเพื่อป้องกันการทุจริตในการคืนภาษีมูลค่า (Vat) และรายงานผลการดำเนินการต่อ ครม.ต่อไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอสาระสำคัญของ 'มาตรการเพื่อป้องกันการทุจริตในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม' ที่ ป.ป.ช.เสนอให้ ครม.รับทราบ โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@ปี 63 ยอดขอคืนภาษีแวต 3.32 แสนล้าน-พบมีการทุจริตมาก
เหตุผลความจำเป็นที่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรี
การจัดเก็บภาษีเป็นเครื่องมือทางการคลังที่สำคัญของรัฐบาลในการหารายได้ เพื่อใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานและการสนับสนุนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
นอกจากนั้น ภาษีอากรยังเป็นเครื่องมือทางการคลังที่สำคัญของรัฐบาลในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ในกรณีที่ภาวะเศรษฐกิจไม่ปกติ รัฐบาลจำเป็นต้องมีการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจเช่น การกระตุ้นการจ้างงานในยามที่เศรษฐกิจตกต่ำ การป้องกันภาวะเงินเฟ้อด้วยมาตรการทางภาษี เป็นต้น
จากข้อมูลสถิติการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มพบว่า ในปี 2563 มีการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นจำนวนมากถึง 3.32 แสนล้านบาท ซึ่งส่งผลให้เกิดการทุจริตในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นจำนวนมากตามมา
และจากรายงานสถิติคดีศาลยุติธรรม ประจำปี พ.ศ.2562 ประเภทข้อหาที่ขึ้นสู่ศาลภาษีอากรกลางเป็นจำนวนมากที่สุด คือ ข้อหาเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลกรณีร่วมกันทุจริตในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเท็จอีกหลายคดี เป็นจำนวนเงินหลายพันล้านบาท
@ทุจริตโกงภาษีส่วนใหญ่ทำลำพังไม่ได้-รูปแบบซับซ้อนขึ้น
ความเร่งด่วนของเรื่อง
เพื่อปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริต การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและเพื่อให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมาตรการใดที่เป็นช่องทางให้มีการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลดีต่อราชการได้
ผลกระทบ
ในปัจจุบันการทุจริตภาษีอากรยังคงปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง
โดยบางกรณีมีการใช้วิธีการทุจริต และวิธีการใหม่ๆหลายรูปแบบร่วมกัน ทำให้มีความสลับชับซ้อนมากขึ้น และส่วนใหญ่กระทำโดยลำพังไม่ได้ แต่จะเป็นความร่วมมือกันกระทำการทุจริต ระหว่างผู้มีหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีอากร และภาคเอกชน ที่ล้วนมีผลประโยชน์แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่กลไกตรวจสอบของรัฐจะเข้าไปตรวจจับพฤติกรรมหรือความสัมพันธ์ลักษณะนี้ได้
ทั้งนี้ จากการศึกษาปัญหาการทุจริตในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มพบว่า มีประเด็นปัญหาที่ควรพิจารณา ดังนี้
1.การประสานและบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างหน่วยจัดเก็บภาษีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า ส่งออก ไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน ก่อให้เกิดปัญหาในด้านการตรวจสอบความถูกต้อง เช่น การปลอมแปลงเอกสาร ประกอบการนำเข้า ส่งออก และการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
2.การใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบเอกสารต่างๆ โดยเจ้าหน้าที่ละเลยไม่สอบยันใบกำกับภาษีซื้อ ไม่สอบยันข้อมูลของกรมศุลกากร และไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง เนื่องจากได้รับการสั่งการจากผู้มีอำนาจ หรือเจ้าหน้าที่อาจได้รับผลประโยชน์จากผู้ประกอบการด้วย
3.ระบบตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เอื้อต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เช่น การไม่ตรวจสอบการมีอยู่จริงของกรรมการบริษัทเมื่อมีการขอจดทะเบียนนิติบุคคล ทำให้มีการจดทะเบียนนิติบุคคลบังหน้า และการมีตัวแทนในการทำธุรกรรมแทนทำให้ไม่ทราบผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงและติดตามผู้ที่ทุจริตได้ยาก
4.การแทรกแซงหรือบังคับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ไม่ให้ทำการตรวจสอบ ทำให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาษีไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และผู้มีอำนาจได้รับผลประโยชน์ทางภาษีและถูกตรวจสอบน้อย
5.ความไม่ชัดเจนของกฎหมายหรือการที่กฎหมายเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับภาษีซึ่งนำไปสู่การถูกแทรกแซงได้ เช่น การถูกแทรกแซงจากสายการบังคับบัญชาทำให้เจ้าหน้าที่ขาดความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ในขณะที่กระบวนการควบคุมหรือตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
@แนะ ‘สรรพากร’ จัดตั้ง ‘คกก.ตรวจสอบการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม’
ข้อเสนอของส่วนราชการ
เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามทุจริตในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มมีประสิทธิภาพมากขึ้นมีความโปร่งใส เป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ก่อให้เกิดความน่าเชื่อถือในภาพรวมของประเทศป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่งเสริมการพัฒนาและบริหารประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นในด้านต่าง ๆ และเพิ่มประสิทธิภาพในนำเงินภาษีเข้ารัฐได้มากขึ้น
จึงเห็นสมควรมีมาตรการเพื่อป้องกันการทุจริตในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามนัยมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ต่อ ครม. ดังนี้
1.ให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลักในการเชื่อมโยงข้อมูลกันระหว่างหน่วยงานจัดเก็บภาษี เช่น กรมสรรพากร กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าส่งออก เช่น กรมศุลกากร กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ และธนาคารพาณิชย์ และหน่วยงานด้านการจดทะเบียนพาณิชย์เป็นนิติบุคคล เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยมีการบูรณาการเทคโนโลยีระบบฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
และควรมีกลไกการประสานข้อมูลผ่านระบบดิจิทัล ตาม พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ.2562 ซึ่งดำเนินงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อสนับสนุนภารกิจเกี่ยวกับการตรวจสอบ สอบยันข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สอบยันใบกำกับภาษีซื้อ สอบยันความถูกต้องของเอกสารประกอบตามคำสั่งของกรมสรรพากร ที่ ป.97/2543 และยังสามารถนำมาใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับของการทำธุรกรรมต่างๆ
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังควรจัดให้มีระบบการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริตที่มีประสิทธิผลมีประสิทธิภาพ และจัดให้มีสินบนนำจับในกรณีมีผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตเกี่ยวกับภาษี รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงาน
เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการตลอดจนสิทธิที่ได้รับในการแจ้งเบาะแสการทุจริต ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 และกฎ ก.พ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการให้บำเหน็จความชอบ การกันเป็นพยาน การลดโทษ และการให้ความคุ้มครองพยาน พ.ศ.2553
2.ให้กรมสรรพากรกำหนดมาตรการให้ผู้ประกอบการทุกราย ต้องจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และรายงานภาษีซื้อ ภาษีขายในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถสอบยันและตรวจสอบจากระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเพื่อให้มีกลไกการรายงานผลการปฏิบัติให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศได้ทุกขั้นตอน
เช่น หากมีการปฏิบัติไม่ครบถ้วนตามขั้นตอน หรือปฏิบัติงานล่าช้า ให้ระบบสามารถแจ้งเตือนไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น รวมถึงประสานงานกับกระทรวงพาณิชย์ในการตรวจสอบนิติบุคคลที่มาขอคืนภาษีว่ามีสถานประกอบการหรือไม่ ถ้าไม่มีสถานประกอบการต้องสันนิษฐานว่าไม่ได้เป็นผู้ผลิตเพื่อการส่งออก
3.ให้กรมสรรพากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพิ่มกลไกการตรวจสอบ ถ่วงดุล สอบยันในหน่วยจัดเก็บภาษี โดยให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งมีอธิบดีกรมสรรพากรเป็นประธาน และมีบุคคลภายนอกหรือผู้แทนจากหน่วยงานวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาวิซาชีพบัญชี เป็นต้น ร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระและมีการถ่วงดุลในกระบวนการตรวจสอบการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
@ให้ ‘ศุลกากร’ เพิ่มกลไกตรวจสอบการส่งออกที่เสี่ยงทุจริตขอคืนภาษี
4.ในกรณีข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในฐานของกรมศุลกากรว่า มีการส่งออกไม่เพียงพอต่อการพิจารณาคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้กรมสรรพากรส่งเรื่องให้กรมศุลกากรทำการตรวจสอบเพิ่มเติมว่ามีการส่งออกจริงหรือไม่ และยืนยันผลการตรวจสอบก่อน จึงจะนำมาใช้อ้างอิงได้
รวมถึงให้ตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านภาษีหรือการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลของต่างประเทศว่าผู้นำเข้ามีการประกอบการจริงหรือไม่ กรณีพบว่าผู้ส่งสินค้าส่งออกมีโอกาสเสี่ยงต่อการทุจริตในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
5.กรมศุลกากร ควรเพิ่มกลไกการตรวจสอบเพิ่มเติมจากมาตรฐานที่มีอยู่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบผู้ส่งสินค้าส่งออกที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการทุจริตในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากสินค้าที่มีราคาสูงจะมีความคุ้มค่าต่อการหลีกเลี่ยงภาษีมากกว่าสินค้าทั่วไปอื่นๆ
6.นอกเหนือจากการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการตรวจสอบเกี่ยวกับผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง Ultimate Beneficial Owner (UBO) ดังนี้
(1) ให้กระทรวงพาณิชย์ กำกับดูแลให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กำหนดหลักเกณฑ์หรือระเบียบ การแสดงตนว่าใครเป็นผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงในขั้นตอนการจดทะเบียนธุรกิจ เพื่อให้สามารถป้องกันและทราบถึงกรณี Nominee หรือกรณีผู้ที่จดทะเบียนนิติบุคคลบังหน้า รวมถึงส่งเสริมให้ภาคเอกชนต้องมีสมาคมผู้ค้าส่งออก และมีการขึ้นทะเบียนว่าสถานประกอบการมีใครเป็นผู้ส่งออกบ้าง
(2) ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย กำกับดูแลให้สถาบันการเงินกำหนดหลักเกณฑ์หรือระเบียบเกี่ยวกับการแสดงตนของลูกค้าว่า ใครเป็นผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงในขั้นตอนการเปิดบัญชี
เหล่านี้เป็นข้อเสนอแนะล่าสุดของ ป.ป.ช. ในการป้องกันการทุจริตในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ ‘ภาษีแวต’ ซึ่งมี’เจ้าหน้าที่ของรัฐ’ เข้าไปมีส่วนร่วมในการทุจริต และเป็นหนึ่งในปัญหาทุจริต ‘ซ้ำซาก’ ที่ยังคงต้องแก้ไขกันต่อไป!
อ่านประกอบ :
- ไม่ใช่แค่สรรพากรอำเภอ! พฤติการณ์โกงคืนภาษี 800 ล. มีผู้เกี่ยวข้องอีกกว่า 3 ราย คอยช่วย
- ทองแท่ง 600 ล.ตกเป็นของแผ่นดิน! อุทธรณ์พิพากษาแก้‘สาธิต’ได้มาจากร่ำรวยผิดปกติ
- อัยการส่งฟ้อง‘สาธิต-พวก’คดีแวต 4.3 พันล.-ศาลสั่งยึดทรัพย์‘สุวัฒน์’ 596 ล.ของแผ่นดิน
- ทองปริศนา 600 ล.โผล่? เบื้องหลังคดีรวยผิดปกติ‘สาธิต’-ป.ป.ช.ส่งเก็บที่ ธปท.
- ครั้งแรก! ป.ป.ช.ตรวจนับทองแท่ง 594 ล.‘สาธิต รังคสิริ’ของกลางคดีรวยผิดปกติ
- อัยการส่งฟ้อง‘สาธิต-พวก’คดีแวต 4.3 พันล.-ศาลสั่งยึดทรัพย์‘สุวัฒน์’ 596 ล.ของแผ่นดิน
- สั่ง‘สาธิต-อดีตซี 8-9’ชดใช้ 4 พันล.! เปิดผลสอบ กก.รับผิดทางละเมิด ก.คลังคดีคืนภาษี
- พิพากษายึด 31 ล.‘อดีตซี 9’รวยผิดปกติคดีคืนภาษี-อสส.สั่งฟ้องอาญา‘สาธิต-พวก’แล้ว
- ป.ป.ช.-อัยการตั้งคณะทำงานร่วมฯ ‘สาธิต-พวก’คดีทุจริตคืนภาษี ปมรวยผิดปกติไต่สวนในศาลแล้ว
- EXCLUSIVE: พฤติการณ์ 32 บ.คืนภาษีเท็จในสำนวน ก.คลังก่อนสั่ง ‘สาธิต-พวก’ชดใช้ 4 พันล.
- ป.ป.ช.-อัยการตั้งคณะทำงานร่วมฯ ‘สาธิต-พวก’คดีทุจริตคืนภาษี ปมรวยผิดปกติไต่สวนในศาลแล้ว
- สั่ง‘สาธิต-อดีตซี 8-9’ชดใช้ 4 พันล.! เปิดผลสอบ กก.รับผิดทางละเมิด ก.คลังคดีคืนภาษี
- ปิดคดีทุจริตคืนภาษี 4.3 พันล.ฟัน 6 ขรก. 28 เอกชน-4 บิ๊กรวยผิดปกติ 1.3 พันล.