"...จากข้อมูลทั้ง 3 คดี สามารถสรุปข้อสังเกตสำคัญ ...1. ตำแหน่งจำเลยในคดี เป็นผู้อำนวยการกองคลัง 1 ราย อีก 2 ราย เป็น นายก อบต. และ นายกเทศมนตรี 2. ทั้ง 3 คดี พื้นที่เกิดเหตุอยู่ในภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ ลำพูน 3. พฤติการณ์การกระทำความผิด มี 2 ส่วน คือ การดำเนินโครงการมิชอบ และ เรียกรับเงินจากผู้รับจ้าง 4. จำเลยในคดีดำเนินโครงการมิชอบ ได้รับการรอลงอาญา ส่วนคดีเรียกรับเงินจากผู้รับจ้าง ไม่ได้รอการลงอาญา นับโทษตามจำนวนกระทงที่กระทำความผิด.."
งานก่อสร้างเมรุเผาศพ!
เป็นอีกหนึ่งประเภทงานโครงการก่อสร้าง ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวนและชี้มูลความผิดทางอาญาผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และผู้เกี่ยวข้อง พร้อมส่งสำนวนผลการไต่สวนข้อเท็จจริง พยานเอกสารหลักฐาน ให้อัยการสูงสุด (อสส.) ยื่นฟ้องร้องคดีตามขั้นตอนทางกฎหมายไปแล้วหลายคดี
ในฐานข้อมูลคดีทุจริตของสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ที่รวบรวมไว้ในขณะนี้
พบว่า ในช่วงปี 2564-2565 (2ปี) มีคดีทุจริตงานก่อสร้างเมรุเผาศพ ที่ศาลฯ มีคำพิพากษาตัดสินโทษจำเลยในคดีเป็นทางการไปแล้ว อย่างน้อย 3 คดี ดังนี้
คดีแรก
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 มีคำพิพากษาในคดีกล่าวหา นางจิริยา มูลประเสริฐ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองคลัง องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บ้านกาด อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินโครงการเทลานคอนกรีตลานเมรุบริเวณป่าช้า หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านกาดโดยมิชอบ
โดยศาลฯ มีคำพิพากษาว่า นางจิริยา มูลประเสริฐ จำเลย มีความผิดตามมาตรา 157 (เดิม) พ.ร.บ.ป.ป.ช.พ.ศ.2561 มาตรา 172 พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ประกอบ ป.อ.มาตรา 86 และ มาตรา 162 (1) ,(4)
การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษ ตามมาตรา 162 (1) (4) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามมาตรา 90 จำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท
จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 5,000 บาท โดยรอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 ลงมติเห็นชอบในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5
คดีสอง
เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 มีคำพิพากษาคดีกล่าวหา นายณพลเดช ปันเรือน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บ้านกาด อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินโครงการเทลานคอนกรีตเมรุบริเวณป่าช้า หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านกาด โดยมิชอบ
โดยศาลฯ มีคำพิพากษาว่า นายณพลเดช ปันเรือน จำเลย มีความผิดตามมาตรา 157 พ.ร.บ.ป.ป.ช.พ.ศ.2561 มาตรา 172 กรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฎิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใด ในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด
จำคุก 3 ปี และปรับ 30,000 บาท
จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 15,000 บาท
ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมลงมติเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 เห็นชอบในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5
คดีสาม
เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2565 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 มีคำพิพากษาตัดสินคดีกล่าวหา นายภราดา คำดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน กับพวก คือ นายกฤติน เชื้อทอง เรียกรับเงินจากผู้รับจ้างโครงการก่อสร้างเมรุเผาศพ จำนวน 4 โครงการ
โดยศาลฯ มีคำพิพากษาว่า นายภราดา คำดี จำเลยที่ 1 มีความผิดตามมาตรา 149 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามมาตรา 91
นายภราดา คำดี จำเลยที่ 1 กระทำความผิด 5 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 2 ปี 6 เดือน
รวมจำคุก นายภราดา คำดี จำเลยที่ 1 มีกำหนด 10 ปี 30 เดือน
ยกฟ้องโจทก์ข้อหาตามคำฟ้อง ข้อ 2.1 และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับ นายกฤติน เชื้อทอง จำเลยที่ 2
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 มีมติไม่เห็นชอบในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5
จากข้อมูลทั้ง 3 คดี สามารถสรุปข้อสังเกตสำคัญ ได้ 5 ประการ ดังนี้
1. ตำแหน่งจำเลยในคดี เป็นผู้อำนวยการกองคลัง 1 ราย อีก 2 ราย เป็น นายก อบต. และ นายกเทศมนตรี
2. ทั้ง 3 คดี พื้นที่เกิดเหตุอยู่ในภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ ลำพูน
3. พฤติการณ์การกระทำความผิด มี 2 ส่วน คือ การดำเนินโครงการมิชอบ และ เรียกรับเงินจากผู้รับจ้าง
4. จำเลยในคดีดำเนินโครงการมิชอบ ได้รับการรอลงอาญา ส่วนคดีเรียกรับเงินจากผู้รับจ้าง ไม่ได้รอการลงอาญา นับโทษตามจำนวนกระทงที่กระทำความผิด
5. ข้อกฎหมายที่ใช้ในการพิจารณาตัดสินโทษ อาทิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 , 162 (1) (4) , 157 และ พ.ร.ป. ป.ป.ช. พ.ศ.2542 มาตรา 103 ประกอบมาตรา 122 และ พ.ร.ป. ป.ป.ช. พ.ศ.2561 มาตรา 192
อย่างไรก็ดี ทั้ง 3 คดีนี้ นางจิริยา มูลประเสริฐ , นายณพลเดช ปันเรือน ให้การรับสารภาพไปแล้ว ส่วน นายภราดา คำดี ไม่ได้รับสารภาพ ซึ่งคดียังไม่สิ้นสุด จำเลยมีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
ส่วนคดีความที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างเมรุเผาศพ อื่นๆ ยังมีกรณีที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ เพิ่งมีมติชี้มูลความผิด นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ กับพวก จำนวน 9 ราย ในคดีกล่าวหา ร่วมกันพิจารณาและอนุมัติเบิกจ่ายเงินอุดหนุนให้กับวัดในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อปีงบประมาณ 2554 - 2556 โดยมิชอบ ซึ่งมีผลการตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารฌาปนสถาน (เมรุ) จำนวน 1 หลัง พร้อมติดตั้งเตาเผาศพปลอดมลพิษ จำนวน 2 เตา งบประมาณ 8,500,000 บาท ของวัดเอี่ยมประชามิตร (แหลมฟ้าผ่า) ปีงบประมาณ 2554 รวมอยู่ด้วยอีก 1 คดี ซึ่งตามขั้นตอนทางกฎหมาย สำนักงาน ป.ป.ช. จะมีการส่งสำนวนการไต่สวนคดี ให้อัยการสูงสุด (อสส.) ฟ้องร้องดำเนินคดีตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป
บทสรุปผลการต่อสู้คดีในชั้นศาลจะออกมาเป็นอย่างไร ต้องคอยติดตามดูกันต่อไป
ขณะที่การชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด
แต่ไม่ว่าทุกคดีความ ผลจะออกมาเป็นอย่างไร?
บรรทัดสุดท้าย เกี่ยวกับกรณีการทุจริตงานก่อสร้างเมรุเผาศพ นับเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาบทเรียนครั้งสำคัญ ของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ให้เดินย้ำซ้ำรอยเอาเป็นเยี่ยงอย่างในอนาคตอีกต่อไปอีกหนึ่งกรณี
(หมายเหตุ : ภาพเมรุ จากhttps://www.wreathmala.com/)