“...ในมุมของท้องถิ่นเขาอาจจะมองว่ามันไม่เสียหายหรือเสียหายไม่มาก เขาอาจจะมีข้ออ้างในระดับท้องถิ่นที่สามารถเอื้อให้สามารถหักเงินเดือนได้ ยกตัวอย่างเช่นคล้ายกับกรณีของเสาไฟกินรีที่ราชาเทวะ ที่เขามีข้ออ้างไปว่าสภาท้องถิ่นนั้นได้มีการอนุมัตินโยบายแล้ว ป.ป.ช.เป็นใคร ถึงจะมาล้วงการทำงานของท้องถิ่นได้ ..แต่อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช.มองว่านี่มันก็เป็นการทุจริตต่อรัฐ ทำให้เกิดความเสียหาย เรื่องนี้ท้ายที่สุดก็ต้องส่งศาลอาญาฯให้เป็นผู้ติดสินอีกทีอยู่ดี ซึ่งเรื่องการมองต่างมุมระหว่างหน่วยงานท้องถิ่นกับทาง ป.ป.ช.นั้นก็จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เสมอเป็นเรื่องปกติ”
กรณีการทุจริตเรียกรับผลประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษเพื่อแลกกับการจ่ายเงินโบนัสให้กับพนักงานลูกจ้างของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
เป็นอีกหนึ่งคดีทุจริตที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเรื่องหลักธรรมาภิบาลในการบริหารงานภายในหน่วยงานราชการ ที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไปแล้วหลายราย หลังถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด (อสส.) ฟ้องร้องดำเนินคดีตามขั้นตอนทางกฎหมาย
เฉพาะในรอบปี 2565 มีผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกพิพากษาลงโทษไปแล้ว 5 คดี แยกเป็น
1. นายยุ่น พิลาแดง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ไพบูลย์ อำเภอน้ำขุ่น จังหวัดอุบลราชธานี กับพวก คือ นางพัชรี พิลาแดง และนายสนอง บุญเพิ่ม เรียกรับ เงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษ (โบนัส) ประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2558 เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2563 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 มีคำพิพากษาว่า ลงโทษจำคุก นายยุ่น พิลาแดง จำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 6 เดือน จำคุก นางพัชรี พิลาแดง จำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 8 เดือน ส่วนนายสนอง บุญเพิ่ม จำเลยที่ 3 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี 2 เดือน 20 วัน และปรับ 44,444.45 บาท ขณะที่โทษจำคุกนายสนอง บุญเพิ่ม จำเลยที่ 3 ให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี
ต่อมาเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2565 ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 66,666,.67 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คง ปรับ 33,333.33 บาท (อ่านประกอบ:ยืนโทษ! คุก 2 ปี 6 ด. อดีตนายก อบต.ไพบูลย์ อุบลฯ เรียกเงินตอบแทนจ่ายโบนัส พนง.)
2. นายกิตติวัฒน์ เลิศฤทธิ์ชัยกิจเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลโคกพุทรา อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง เรียกรับเงินส่วนแบ่งจากเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษ (โบนัส) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 จากพนักงานเทศบาลตำบลโคกพุทรา เมื่อวันที่ 11 กรกฏาคม 2565 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 มีคำพิพากษาว่า นายกิตติวัฒน์ เลิศฤทธิ์ชัยกิจ จำเลย มีความผิดตามมาตรา 148 ตัดสินโทษจำคุก 5 ปี และปรับ 40,000 บาท แต่จำเลยไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับไม่ได้นำเงินที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี (อ่านประกอบ:รอลงอาญาคุก 5 ปี! อดีตนายกเทศฯ โคกพุทรา เรียกเงินตอบแทนจ่ายโบนัส พนง.)
3. นางสุวิมล รัตนตรัยรัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลผักปัง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เรียกรับเงินส่วนแบ่งจากเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษ (โบนัส) ประจำปี 2549 จากพนักงานเทศบาลตำบลผักปัง เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 พิพากษาว่า นางสุวิมล จำเลยมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 149 จำคุก 5 ปี ปรับ 40,000 บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน ปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 5 ปี (อ่านประกอบ:ป.ป.ช.ขออุทธรณ์สู้! รอลงอาญาคุก2 ปี 6 ด.อดีตนายกเทศฯ ผักปัง เรียกส่วนแบ่งจ่ายโบนัส พนง.)
4. นายอพิเชษฐ สังวิบุตร์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สีแก้ว อ.เมืองร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด เรียกรับเงินผลประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษ (โบนัส) ประจำปี 2552 จากพนักงานส่วนตำบลและพนักงงานจ้าง เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษายืนตามอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 ที่มีคำพิพากษาว่า นายอพิเชษฐ สังวิบุตร์ จำเลย มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 148 จำเลยให้การปฏิเสธ ลงโทษจำคุก 5 ปี (อ่านประกอบ:ยืนโทษคุก 5 ปี! อดีตนายก อบต.สีแก้ว ร้อยเอ็ด เรียกเงินตอบแทนจ่ายโบนัส พนง.)
5. นายอุปถัมภ์ ไชยมงคล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลนาน้อย อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน เรียกรับเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษ (เงินโบนัส) ประจำปี 2555 จากลูกจ้างและพนักงานเทศบาลตำบลนา เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษายืน ตามศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 ที่ตัดสินว่า นายอุปถัมภ์ ไชยมงคล จำเลย มีความผิดตามมาตรา 157 จำคุก 2 ปี และปรับ 50,000 บาท โทษจำคุกเห็นสมควรให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี (อ่านประกอบ:รอลงอาญาคุก 2 ปี! คดีที่สองอดีตนายกเทศฯ นาน้อย น่าน เรียกเงินตอบแทนจ่ายโบนัสพนง. )
จากข้อมูลคำพิพากษาศาลฯ ทั้ง 5 คดี สามารถสรุปข้อมูลได้ 3 ส่วน คือ
- มีผู้ถูกกล่าวหาหลายราย ได้รับการรอลงอาญา
- ข้อกฎหมายที่ใช้ในการพิจารณาโทษ จะมี 2 มาตรา หลัก คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา148 และ 149
โดยมาตรา 148 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต
มาตรา 149 ระบุว่าผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต
แม้บทลงโทษทั้ง 2 มาตรา จะมีความรุนแรง แต่อย่างที่ระบุไว้แล้ว มีผู้ถูกกล่าวหาหลายราย ได้รับการรอลงอาญา หลังมีการรับสารภาพ และไม่เคยต้องโทษจำคุกมากก่อน
@สถ.ชี้ กฎหมายใหม่หลังปี 62 โดนร้องหักเงินแลกโบนัสสอบให้ออกสถานเดียว
เกี่ยวกับปัญหาพฤติการณ์การคดีทุจริตในกรณีเรียกรับผลประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษเพื่อแลกกับการจ่ายเงินโบนัสให้กับพนักงานลูกจ้างของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) ได้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ถึงปัญหาการทุจริตกรณีนี้ว่า ต้องขอชี้แจงก่อนว่าการดำเนินคดีเกี่ยวกับผู้บริหารระดับนายก อบต.,นายกเทศมนตรี ที่ผ่านมานั้นตามหลักการที่หากว่ามีการไปเรื่องฟ้องต่อศาลอาญาแล้ว ก็จะต้องมีการสอบว่าจะให้พ้นจากตำแหน่งด้วย ซึ่งเท่าที่ทำงานมา ส่วนใหญ่ถ้าหากผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นโดนสอบเรื่องประเด็นหักค่าตอบแทน เรียกเงินแลกจ่ายโบนัส ก็มักจะให้พ้นจากตำแหน่งมาโดยตลอด ยกเว้นแต่กรณีที่ว่าพ้นจากตำแหน่งเกิน 2 ปีไปแล้ว ก็ไม่สามารถสั่งให้พ้นจากตำแหน่งได้
“คดีเรื่องการหักค่าตอบแทน เรียกเงินแลกจ่ายโบนัส ส่วนมากจะเกิดในช่วงปี 2557-2559 ซึ่งส่วนมากจะเข้าข่ายว่าพ้นจากตำแหน่งเกิน 2 ปีไปแล้วทั้งนั้น มันก็เลยสั่งพ้นจากตำแหน่งไม่ได้ สรุปก็คือต้องดูเป็นกรณีไปด้วยว่าเหตุมันเกิด พ.ศ.อะไร ป.ป.ช.ชี้มูล พ.ศ.อะไร ซึ่งถ้าหากว่าเกิดก่อนปี 2562 เป็นต้นไปมันก็เกิน 2 ปีทั้งนั้น ซึ่งที่ผ่านมาเห็นการวินิจฉัยของศาลแล้วเขาก็ไม่ค่อยจะรอลงอาญา แต่ว่าสั่งลงโทษทันทีกันเสียเป็นส่วนใหญ่”
“ในปัจจุบันนั้นถ้าหากมีใครหักเงินนั้นข้าราชการเขาฟ้องหมดแล้ว ซึ่งก็จะนำไปสู่การสอบให้พ้นจากตำแหน่ง สรุปก็คือว่าต้องไปดูในช่วงเวลาของการชี้มูลกันด้วยว่ามันเป็นช่วงกฎหมายเก่าหรือว่ากฎหมายใหม่ โดยหลังจากนี้ก็ต้องตรวจสอบกันต่อไปว่าหลังจากปี 2562 นั้นมีการเรียกรับโบนัสหรือผลประโยชน์กันหรือไม่ ซึ่งถ้ามีจริงก็ต้องมาไล่ดูอีกว่าได้มีการสั่งให้พ้นจากตำแหน่งกันหรือไม่”
นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.)
@ป.ป.ช.รับที่ผ่านมามองต่างมุมท้องถิ่นเรื่องความเสียหาย
ขณะที่นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องท้องถิ่นนั้นอันที่จริงจะอยู่ในหน้าที่ของนายอำเภอกับผู้ว่าราชการจังหวัด และเป็นเรื่องในข้อตกลงระหว่างภายในองค์การที่อาจจะยินยอมหรือไม่ยินยอม แต่ก็ต้องยอมรับว่าการกำหนดให้มีการหักเงินนั้นไปห้ามก็ลำบาก ถ้าหากจะมีการทุจริตเกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา ป.ป.ช.ก็เคยมีการเตือนแล้ว และถ้าหากมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสขึ้นมาจริงๆ ก็คงดำเนินการอย่างเฉียบขาด
เมื่อถามถึงแนวทางการป้องกัน นายนิวัติไชยกล่าวว่า ป.ป.ช.ได้มีการมอบหมายถึงสำนักภาคต่างๆ สำนักมาตรการการป้องกันการทุจริตไปศึกษาก่อน ก่อนที่จะนำเสนอให้กรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ไปพิจารณาต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องเกี่ยวกับท้องถิ่นที่จะนำไปสู่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่นั้นมีมาก ก็ยังไม่ทราบว่าในประเด็นเรื่องการหารือเรื่องมาตรการป้องกันเรียกรับผลประโยชน์ตอบแทนนั้นจะมีเข้าไปเมื่อไร
เลขาธิการ ป.ป.ช.ยอมรับว่า “ในประเด็นเรื่องการเรียกผลประโยชน์นั้นอาจจะมีการมองในมุมที่แตกต่างกันออกไปอยู่บ้าง โดยในมุมของท้องถิ่นเขาอาจจะมองว่ามันไม่เสียหายหรือเสียหายไม่มาก เขาอาจจะมีข้ออ้างในระดับท้องถิ่นที่สามารถเอื้อให้สามารถหักเงินเดือนได้ ยกตัวอย่างเช่นคล้ายกับกรณีของเสาไฟกินรีที่ราชาเทวะ ที่เขามีข้ออ้างไปว่าสภาท้องถิ่นนั้นได้มีการอนุมัตินโยบายแล้ว ป.ป.ช.เป็นใคร ถึงจะมาล้วงการทำงานของท้องถิ่นได้
แต่อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช.มองว่านี่มันก็เป็นการทุจริตต่อรัฐ ทำให้เกิดความเสียหาย เรื่องนี้ท้ายที่สุดก็ต้องส่งศาลอาญาฯให้เป็นผู้ติดสินอีกทีอยู่ดี ซึ่งเรื่องการมองต่างมุมระหว่างหน่วยงานท้องถิ่นกับทาง ป.ป.ช.นั้นก็จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เสมอเป็นเรื่องปกติ”
เมื่อถามถึงกรณีที่รองอธิบดี สถ.ได้กล่าวว่าเรื่องการชี้มูลความผิดนายก อบต,นายกเทศมนตรี ส่วนมากแล้วนั้นจะเป็นการชี้มูลความผิดในช่วงก่อนปี 2562 ซึ่งเขาออกจากตำแหน่งไปนานแล้ว ไม่สามารถให้ออกจากตำแหน่งได้อีก แต่ว่าหลังจากปี 2562 ซึ่งมีกาออกกฎหมายใหม่มานั้น ถ้าหากมีการร้องว่ามีการเรียกรับค่าตอบแทนเกิดขึ้น ก็จะมีการสอบเพื่อให้ออกจากตำแหน่งนายก อบต.,นายกเทศมนตรีโดยทันที
นายนิวัติไชยกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องขอไปตรวจสอบก่อนว่าหลังจากปี 2562 ยังมีการร้องเรียนกรณีผู้ดำรงตำแหน่งนายก อบต. และนายกเทศมนตรีนั้นเรียกรับผลตอบแทนเพื่อแลกกับการเสนอเงินโบนัสหรือไม่
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการป.ป.ช.
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ได้พยายามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกปัญหาการทุจริตเรียกรับผลตอบแทนเพื่อแลกกับการจ่ายเงินโบนัสเพิ่มเติม พบว่า ที่ผ่านมา แม้จะมีผู้บริหารอปท.ถูกตัดสินลงโทษจำคุกไปหลายคดีแล้ว แต่ปัจจุบันหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ก็ยังมิได้มีการออกมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยขึ้นมาได้อีก
จึงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ในอนาคตปัญหาเรื่องนี้จะมีมาตรการป้องกันปัญหาออกมาหรือไม่? อย่างไร?