“…เมื่อลูกหนี้ผู้ร้องขอยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในคดีนี้ ในวันที่ 7 ก.ย.2565 จึงยังอยู่ภายในระยะ 6 เดือนนับตั้งแต่ศาลล้มละลายกลางเคยมีคำสั่งยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ อันถึงที่สุดในคดีหมายเลขดำที่ ฟ.14/2561 เลขแดงที่ ฟ.25/2561 จึงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/5 (3)…”
....................................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของ บมจ. อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น หรือ IFEC (ลูกหนี้) ในคดีหมายเลขดำที่ ฟฟ.21/2565 เป็นคดีหมายเลขแดงที่ ฟฟ.28/2565 เนื่องจากศาลพิเคราะห์ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้วเห็นว่า
ลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการคดี้นี้ในวันที่ 7 ก.ย.2565 จึงยังอยู่ในระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ศาลล้มละลายเคยมีคำสั่งยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการอันถึงที่สุดในคดีหมายเลขดำที่ ฟ.14/2561 และคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.25/2561 เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2565 นั้น (อ่านประกอบ :‘ศาลล้มละลาย’ ยกคำร้อง ‘IFEC’ ขอฟื้นฟูกิจการฯ หลังใช้เวลาไต่สวนฯกว่า 2 เดือน)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปสาระสำคัญของคำสั่งยกคำร้องของศาลล้มละลายกลางในคดีดังกล่าว เพื่อเป็นคดีตัวอย่างสำหรับ ‘ลูกหนี้’ รายอื่นๆที่ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในอนาคต โดยมีรายละเอียด ดังนี้
@เจ้าหนี้ยกเหตุผลคัดค้าน ‘IFEC’ ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ
สำหรับคดีนี้ เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2565 บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) ในฐานะลูกหนี้ ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 โดย IFEC ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งลูกหนี้เป็น ‘ผู้ทำแผน’ ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 8 ก.ย.2565 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้พิจารณา
อย่างไรก็ตาม มีเจ้าหนี้ของ IFEC รายหนึ่ง ได้ยื่นคัดค้านคำร้องขอฟื้นฟูกิจการฯ โดยอ้างว่าเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายและเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต
เนื่องจากในวันที่ 7 ก.ย.2565 ซึ่งเป็นวันที่ IFEC ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการนั้น ยังไม่ครบ 6 เดือน หลังจากเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2565 ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ฟ.14/2561 และคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.25/2561 โดยมีคำสั่งให้ถอนอุทธรณ์ของ IFEC หรือเท่ากับว่าศาลฯมีคำสั่งยืนให้ยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของ IFEC ตามศาลชั้นต้น
ดังนั้น การที่ IFEC ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในคดีนี้อีกครั้ง ในวันที่ 7 ก.ย.2565 จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 และมาตรา 147 ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/5 (3) ผู้ร้อง คือ IFEC จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในคดีนี้
นอกจากนี้ เจ้าหนี้รายดังกล่าวยังอ้างว่า IFEC มีพฤติกรรมส่อไปในทางไม่สุจริต เนื่องจากกรรมการของบริษัท IFEC ชุดปัจจุบันหมดอำนาจไปแล้ว หลังจากศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2561 ตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 มาตรา 108 แล้ว
ย่อมทำให้กรรมการฯที่ได้รับแต่งตั้งจากการประชุมคราวดังกล่าว ไม่อาจดำเนินการใดๆแทนบริษัทได้ รวมทั้งกรรมการบริษัทลูกหนี้ (IFEC) ในคดีนี้ด้วย เนื่องจากเป็นกรรมการที่มาจากการเลือกตั้งในคราวถัดมาจากคณะกรรมการที่ถูกเพิกถอนแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีเหตุสมควรและไม่มีช่องทางในการฟื้นฟูกิจการ
ประกอบกับพฤติการณ์ของผู้ร้องขอ (IFEC) ไม่มีความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูกิจการ เพราะไม่มีความสามารถในการแก้ปัญหาหนี้ของบริษัทลูกหนี้ได้ เนื่องจากศาลล้มละลายกลาง เคยมีคำวินิจฉัยในคดีหมายเลขดำที่ ฟ.14/2561 และคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.25/2561 เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2565 ซึ่งเป็นคดีที่ IFEC ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการว่า
บริษัทลูกหนี้ (IFEC) ยังคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้ เช่น มีปัญหาภายในและปัญหาภายนอกบริษัท โดยมีการฟ้องร้องคดีเกี่ยวพันกันจำนวนหลายคดี ทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา อีกทั้งมีข้อพิพาทแรงงานอีก
ขณะที่ในรายงานงบการเงินของบริษัทฯ พบว่าส่วนของผู้ถือหุ้นปัจจุบันติดลบมากถึง 6,142.16 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบมากขึ้นถึง 4,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 ปี ด้วยเหตุเพราะกรรมการบริษัทลูกหนี้ (IFEC) ไม่มีความสามารถในการดำเนินกิจกร ไม่สามารถหารายได้เพิ่มได้ จึงยากต่อการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการให้สำเร็จ
รวมทั้งไม่มีเหตุผลสมควรและไม่มีช่องทางในการฟื้นฟูกิจการให้เป็นผลสำเร็จ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อเจ้าหนี้ทั้งหลาย แต่กลับจะยิ่งสร้าความเสียหายให้กับเจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้น และบริษัทลูกหนี้ (IFEC) เอง นอกจากนี้ การขอฟื้นฟูกิจการ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลายาวนานออกไปอีก อันเป็นการประวิงเวลา ย่อมทำให้ผู้คัดค้านและเจ้าหนี้ทั้งหลายต้องเสียเปรียบ จึงขอให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของผู้ร้องขอ (IFEC)
ทั้งนี้ ระหว่างพิจารณาคดี ผู้คัดค้าน (เจ้าหนี้ IFEC) ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลฯวินิจฉัยชี้ขาดในข้อกฎหมายเบื้องต้น ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 9 ก.ย.2565 เกี่ยวกับการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้ว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย
เพราะเป็นการยื่นภายในระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่ศาลเคยมีคำสั่งยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ตามมาตรา 90/5 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 กล่าวคือ
เดิมลูกหนี้ (IFEC) ประสงค์ที่จะขอให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ มีคำสั่งหรือคำพิพากษากลับคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ แต่ต่อมา IFEC กลับขอถอนคำอุทธรณ์
โดยศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ มีคำสั่งอนุญาตตามที่ขอ ซึ่งย่อมหมายความในทำนองว่า ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการนั้นเอง
จึงขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในข้อกฎหมายก่อนว่า การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้ เป็นการยื่นภายในระยะเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่ศาลอุทธรณ์ฯมีคำสั่งยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ตามมาตรา 90/5 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 และชอบที่ศาลจะมีคำสั่งยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยทันที โดยไม่จำเป็นต้องไต่สวนหรือไม่
@ IFEC อ้างยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการฯชอบด้วยกฎหมาย
ขณะที่ผู้ร้องขอ (IFEC) ได้ยื่นคำคัดค้านคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นของผู้คัดค้าน (เจ้าหนี้) ฉบับลงวันที่ 9 ก.ย.2565 ว่า การดำเนินกระบวนการพิจารณาในคดีหมายเลขดำที่ ฟ.14/2561 และคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.25/2561 เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2565 นั้น
เมื่อลูกหนี้ (IFEC) ได้ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ลูกหนี้ถอนอุทธรณ์และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแล้ว ตามคำร้องที่ คล.1/2565 จึงถือเสมือนว่าลูกหนี้ผู้ร้องขอในคดีนี้ (IFEC) ไม่เคยยื่นอุทธรณ์ในคดีดังกล่าว
และคำสั่งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ คำสั่งคำร้องที่ คล.1/2565 เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2565 แม้ว่าศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ จะมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ก็เป็นเพราะลูกหนี้ได้ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์
จึงไม่ถือว่าคำสั่งดังกล่าว เป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ตัดสิน หรือวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นตามคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 175 ,147 วรรคสอง ,132 (1) และมาตรา 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28/1
ด้วยเหตุว่าวันที่ศาลเคยมีคำสั่งยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ (IFEC) ในคดีดังกล่าว คือ วันที่ 15 ก.พ.2564 และการที่ลูกหนี้ผู้ร้อง (IFEC) ขอยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการเป็นคดีนี้ เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2565 เป็นระยะเวลากว่า 1 ปี 6 เดือน นับแต่วันที่ศาลเคยมีคำสั่งยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการแล้ว
จึงล้วงพ้นระยะเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่ศาลเคยมีคำสั่งยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการเป็นคดีนี้ จึงไม่ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/5 ในการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการเป็นคดีนี้ ลูกหนี้ผู้ร้อง (IFEC) ได้ยื่นขอฟื้นฟูกิจการและได้แต่งตั้งทนายโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
อีกทั้งกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท (IFEC) ขณะยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการจนถึงปัจจุบันนั้น เป็นกรรมการบริษัทฯโดยชอบด้วยกฎหมาย
เนื่องจากกรณีที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2565 ให้เพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2561 วันที่ 25 ธ.ค.2561 ของบริษัทลูกหนี้ผู้ร้องขอ (IFEC) นั้น คดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดตามกฎหมาย และลูกหนี้ผู้ร้องไม่ขอเห็นพ้องด้วย จึงได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาและยื่นฎีกาดังกล่าวแล้ว
ลูกหนี้ผู้ร้องขอ (IFEC) จึงขอให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยในข้อกฎหมายเบื้องต้นของผู้คัดค้าน (เจ้าหนี้) ฉบับลงวันที่ 9 ก.ย.2565 และไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในคดีนี้ต่อไป
@ศาลฯชี้คำร้องต้องห้ามตามกม.-IFEC ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลเห็นว่า ข้อเท็จจริงพอวินิจฉัยได้แล้ว ให้งดการไต่สวนพยานผู้ร้องขอและผู้คัดค้าน
พิเคราะห์คำร้องขอ คำคัดค้าน คำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้น ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 9 ก.ย.2565 และคำร้องคัดค้านคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นแล้ว
ปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นที่จะต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า
ลูกหนี้ผู้ร้องขอยื่นคำร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ภายในระยะ 6 เดือนนับแต่ศาลได้เคยมีคำสั่งยกคำร้องขอ ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/5 (3) หรือไม่
เห็นว่า ในคดีหมายเลขดำที่ ฟ.14/2561 คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.25/2561 นางสมศรี จีระวิพูลวรรณ เจ้าหนี้ ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการลูกหนี้เมื่อวันที่ 15 ก.พ.2564 ต่อมาลูกหนี้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษและยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ มีคำสั่งอนุญาตให้ลูกหนี้ถอนอุทธรณ์ จำหน่ายคดีจากสารบบความศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ และศาลล้มละกลางอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ คำร้องที่ คล 1 พ.ศ.2565 เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2565
โดยสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ โดยไม่ต้องมีคำวินิจฉัยประเด็นเรื่องการพื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 วรรคสอง และมาตรา 132 (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14
เมื่อลูกหนี้ผู้ร้องขอยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในคดีนี้ ในวันที่ 7 ก.ย.2565 จึงยังอยู่ภายในระยะ 6 เดือนนับตั้งแต่ศาลล้มละลายกลางเคยมีคำสั่งยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ อันถึงที่สุดในคดีหมายเลขดำที่ ฟ.14/2561 เลขแดงที่ ฟ.25/2561 จึงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/5 (3)
ส่วนปัญหาข้อกฎหมายอื่นไม่จำต้องวินิจฉัยชี้ขาดเพราะไม่ทำให้ผลคตีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
อย่างไรก็ตาม IFEC ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำสั่งยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการฯ ของศาลล้มละลายกลางดังกล่าว และจะใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีล้มละลายต่อไป
ส่วนบทสรุปการยื่นขอฟื้นฟูกิจการของ IFEC จะเป็นอย่างไร ยังคงต้องติดตามกันต่อไป
สำหรับ IFEC เป็นบริษัทแม่ของบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เทอมอล พาวเวอร์ จำกัด (I Thermal) ซึ่งเป็นผู้ชนะประมูลทรัพย์โรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่ ไปด้วยราคา 2,012.62 ล้านบาท แต่ไม่สามารถนำเงินส่วนที่เหลือ 1,902.62 ล้านบาท มาจ่ายเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ หลังสิ้นสุดการขยายเวลาในวันที่ 30 ก.ย.2565
อ่านประกอบ :
‘ศาลล้มละลาย’ ยกคำร้อง ‘IFEC’ ขอฟื้นฟูกิจการฯ หลังใช้เวลาไต่สวนฯกว่า 2 เดือน
IFEC ใช้สิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ หลังศาลฯ'ยกคำร้อง'ขอขยายเวลาวางเงินซื้อทรัพย์'รร.ดาราเทวี'
ศาลฯขีดเส้น ‘บ.ลูก IFEC’ วางเงินค่าซื้อทรัพย์ ‘รร.ดาราเทวี’ 1.9 พันล. ภายใน 30 ก.ย.นี้
‘บ.ลูก IFEC’ ยื่นศาลแพ่งฯ ขอยืดเวลาวางเงินซื้อ ‘รร.ดาราเทวี’ 1.9 พันล. เป็นครั้งที่ 3
‘เจ้าพนักงานบังคับคดี’สั่งไม่อนุญาต‘บ.ลูก IFEC’ยืดเวลาวางเงิน‘รร.ดาราเทวี’ 1.9 พันล.
อดีตพนง.‘ดาราเทวี’ร้อง ยังไม่ได้‘เงินเดือนค้างจ่าย-ชดเชยเลิกจ้าง’ หลังปิด‘รร.’ปีครึ่ง
พลิกแฟ้ม 3 คดีพิพาท ปมร้อง 'ก.ต.'-ทนาย 'โรงแรมดาราเทวี' โต้ 'ไม่มีการแทรกแซง'
ฟ้องอย่างน้อย 73 คดี! เจ้าหนี้เอาผิด‘บ.โรงแรมดาราเทวี’-เผยภาพ‘รร.’หลังถูกทิ้งร้าง 2 ปี
ร้อง 'ก.ต.' ตรวจสอบ 'สนง.อธิบดีผู้พิพากษาภาค 5' แทรกแซงสั่งคดีโกงเจ้าหนี้ 'ดาราเทวี'
ใกล้ถึงเส้นตาย! ‘บ.ลูก IFEC’ วางเงินค่าซื้อ ‘โรงแรมดาราเทวี’ ส่วนที่เหลือ 1.9 พันล้าน