‘โอเชี่ยน เด็คคอร์’ เจ้าหนี้ ‘โรงแรมดาราเทวี’ จ.เชียงใหม่ ยื่นหนังสือถึง ‘ก.ต.’ ขอให้ตรวจสอบ ‘สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5’ แทรกแซงการสั่งคดีโกงเจ้าหนี้ หลังพบมีการกระทำส่อขัดระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมฯ
...............................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา บริษัท โอเชี่ยน เด็คคอร์ จำกัด ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของ บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด เจ้าของโรงแรมดาราเทวี จ.เชียงใหม่ ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ที่มี น.ส.ปิยกุล บุญเพิ่ม ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน ก.ต. โดยขอให้ ก.ต. ตรวจสอบกรณีสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ว่า มีการแทรกแซงการสั่งคดีหรือไม่
สำหรับหนังสือร้องเรียนของ โอเชี่ยน เด็คคอร์ สรุปความได้ว่า บริษัทฯ เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของ บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด ในคดีหมายเลขแดงที่ พ.1556/2561 แต่ต่อมาประมาณปี 2562 บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด ร่วมกับพวก โอนเงินรายได้ในกิจการโรงแรมดาราเทวีฯ ไปไว้ในบัญชีธนาคารของพนักงาน เพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับเงินชำระหนี้จากการบังคับคดี บริษัทฯจึงยื่นฟ้อง บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด ต่อศาลแขวงเชียงใหม่ ในข้อหาร่วมกันโกงเจ้าหนี้
ต่อมายังพบว่า บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด มีพฤติการณ์กระทำผิดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยมีการโอนเงินรายได้ในกิจการโรงแรมดาราเทวีฯไปยัง บริษัท ดาราเทวี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือฯ ทำให้บริษัทฯและเจ้าหนี้รายอื่นๆยื่นฟ้อง บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด และพวก ต่อศาลแขวงจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งในข้อหาฉ้อโกง และความผิดต่อ พ.ร.บ.กำหนดความรับผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนฯ พ.ศ.2499 มาตรา 40
โดยมีพฤติการณ์ เช่น บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด แจ้งให้ลูกค้าของตนเองโอนเงินในกิจการโรงแรมดาราเทวีมาเข้าบัญชี บริษัท ดาราทวี จำกัด ที่เปิดไว้ เพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ และมีการยกเลิกเครื่องรูดบัตรเครดิตเดิมในชื่อบัญชีบริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด แล้วเปิดใช้เครื่องรูดบัตรเครดิตใหม่ในชื่อ บริษัท ดาราทวี จำกัด แล้วแจ้งให้ลูกค้าในกิจการโรงแรมดาราเทวี โอนเงินเข้าบัญชีดังกล่าว ทำให้เจ้าหนี้ไม่สามารถยึดหรืออายัดเงินจำนวนดังกล่าวมาชำระหนี้ได้ เป็นต้น
ทั้งนี้ ในการพิจารณาคดีอาญาที่เจ้าหนี้รายต่างๆได้ยื่นฟ้องบริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด และพวก ในกลุ่มแรก ผลปรากฏว่า ศาลฯมีคำสั่งว่า คดีมีมูลและประทับรับฟ้องไว้ รวมทั้งสิ้น 8 คดี เช่น คดีอาญาหมายเลขคดีดำที่ อ 1061/2563 ,คดีอาญาหมายเลขคดีดำที่ อ 1274/2563 ,คดีอาญาหมายเลขคดีดำที่ อ 1060/2563 ,คดีอาญาหมายเลขคดีดำที่ อ 1451/2563 และคดีอาญาหมายเลขคดีดำที่ อ 6808/2563 เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ต่อมา บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด ยื่นร้องขอความเป็นธรรมต่อสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 และในระหว่างการไต่สวนคดีในกลุ่มต่อมา ทางผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนแจ้งว่า ต้องส่งสำนวนให้สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ตรวจสำนวนก่อนฟังคำพิพากษาหรือคำสั่ง ผลปรากฏว่า ในเวลาต่อมา ศาลฯมีคำสั่งให้คดีไม่มีมูลและยกฟ้อง รวม 9 คดี เนื่องจากไม่ปรากฏว่า บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด มีเจตนาพิเศษเพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้
เพราะรับฟังได้ว่าการที่ บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด (จำเลยที่ 1) เปิดบัญชีในนาม บริษัท ดาราทวี จำกัด เพื่อรับโอนเงินจากลูกค้าของบริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด นั้น เพื่อให้การบริหารไม่สะดุดและมีความคล่องตัวในขณะที่บัญชีของบริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด ถูกเจ้าหนี้ยึดและอายัดไว้ อันจะทำให้บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด มีสภาพคล่องและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เพื่อให้เจ้าหนี้ได้รับชำระคืนหนี้
ดังนั้น จึงไม่ปรากฏว่า บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด มีเจตนาพิเศษเพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้ และขาดองค์ประกอบความผิดในข้อหาร่วมกันโกงเจ้าหนี้ตามฟ้อง
“จึงเห็นได้ว่าหลังจากมีการแทรกแซงทางคดีจากสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 แล้ว คดีทั้ง 2 กลุ่มนี้ มีคำวินิจฉัยเรื่องลักษณะเดียวกันและจำเลยคนเดียวกัน แต่คำวินิจฉัยเป็นประเด็นที่แตกต่าง ขัดแย้งกันโดยมีนัยสำคัญ ขัดกับหลักการและแนวทางปฏิบัติของศาลสถิตยุติธรรมที่มีมา...
นอกจากนี้แล้ว การที่สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 มีคำสั่งให้ส่งร่างคำพิพากษาหรือคำสั่งไปตรวจนั้น เป็นการแทรกแซงดุลพินิจของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน โดยในบางสำนวนผู้พิพากษาได้มีการจดแจ้งไว้ในรายงานกระบวนการพิจารณา...
และคำสั่งดังกล่าว แม้เป็นอำนาจที่สามารถทำได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม และระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วย การรายงานคดีสำคัญในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่อประธานศาลฎีกาและรายงานคดี และการตรวจสำนวนในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค พ.ศ. 2562
แต่ทั้งนี้ ในการตรวจร่างคำพิพากษาหรือคำสั่งมีหลักการสำคัญ คือ เพื่อรักษาแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาหรือคำสั่ง และให้การใช้ดุลพินิจของศาลเป็นไปโดยถูกต้องในแนวทางเดียวกัน แต่การดำเนินการส่งร่างให้สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ตรวจ เป็นกรณีที่มิได้เป็นไปตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมและระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมแต่อย่างใด
เนื่องเพราะตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมฯ ประเภทคดีที่ต้องรายงานต่ออธิบดีผู้พิพากษาภาค ได้แก่ คดีอาญาความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร คดีความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายคดีทุกประเภทที่อัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 10 ปีขึ้นไป จำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต คดีเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ คดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินพิพาทตั้งแต่ห้าล้านบาทขึ้นไป หรือคดีที่สถาบันการเงินเป็นโจทก์มีทรัพย์สินที่พิพาทเกินสิบล้านบาทขึ้นไป
คดีเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่มีผู้คัดค้านและทุนทรัพย์สองแสนบาทขึ้นไป คดีละเมิดอำนาจศาล คดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพ คดีที่มีความสำคัญเกี่ยวด้วยตัวบุคคลหรือบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ฯ คดีที่มีพฤติการณ์เป็นที่สนใจของประชาชน คดีที่อาจกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คดีเกี่ยวกับความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแคนภาคใต้ เป็นต้น
แต่ปรากฏว่าข้อเท็จจริงในคดีเหล่านี้ที่อ้างถึงข้างต้น ต่างมิใช่เป็นคดีที่ต้องรายงานต่ออธิบดีผู้พิพากษาภาคดังกล่าวข้างต้นแต่อย่างใด ทั้งยังเป็นคดีที่มีมูลค่าความเสียหายจำนวนน้อย บางคดีเพียงหลักหมื่นบาท
และตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมฯ ยังมีประเภทคดีที่อธิบดีผู้พิพากษาภาคเห็นสมควรให้รายงานนั้น ต้องมีลักษณะของคดีที่คล้ายคลึงกัน หรือมีความสำคัญใกล้เคียงกันกับตามที่กล่าวมาข้างต้น แต่ตามสำนวนคดีที่อ้างถึงดังกล่าวนั้นไม่ได้มีลักษณะคดีที่มีความสำคัญแต่อย่างใด
อีกทั้งการมีคำสั่งจากสำนักงานอธิบดีภาค 5 ให้ส่งร่างคำพิพากษาหรือคำสั่งให้สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ตรวจก่อน ก็ไม่ได้มีการระบุชี้แจงว่า เพราะเหตุผลใดจึงเห็นสมควรหรือคดีที่อ้างถึงจึงมีความสำคัญอย่างไร ถึงขนาดต้องส่งร่างคำพิพากษาหรือคำสั่งให้สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ซึ่งถือว่าไม่เป็นไปตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมฯ ดังกล่าวข้างต้น
ประการสำคัญ การส่งร่างคำพิพากษาหรือคำสั่งให้สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ตรวจก่อน นั้น ผิดหลักการสำคัญ กล่าวคือ เพื่อรักษาแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาหรือคำสั่ง และให้การใช้ดุลพินิจของศาลเป็นไปโดยถูกต้องในแนวทางเดียวกัน เพราะก่อนหน้านี้ศาลได้มีคำสั่งว่าคดีมีมูลและประทับรับฟ้องไว้พิจารณาแล้วเป็นจำนวนถึง 8 สำนวนคดี
แต่เมื่อมีคำสั่งจากสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ให้ส่งร่างคำพิพากษาหรือคำสั่งให้สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ตรวจก่อน กลับทำให้ศาลมีคำสั่งยกฟ้องถึง 9 สำนวนคดี ยิ่งแสดงให้เห็นว่ามีการพยายามแทรกแซงสำนวนคดี ทั้งที่พฤติการณ์การกระทำความผิดนั้น ก็ล้วนแล้วแต่มีลักษณะของการกระทำที่คล้ายคลึงกัน จึงยิ่งทำให้มีข้อพิรุธน่าสงสัยว่า เพราะเหตุใดสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 จึงต้องเข้ามาตรวจสำนวนของคดีกลุ่มโรงแรมดาราเทวีทั้งหมด
นอกจากนี้ การที่มีคำสั่งจากสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ให้ส่งร่างคำพิพากษาหรือคำสั่งตรวจก่อนนั้นได้เกิดขึ้นหลังจากที่กลุ่มโรงแรมดาราเทวีเชียงใหม่ได้มีหนังสือร้องเรียนไปยังสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 จึงเป็นผลทำให้เกิดการรับฟังข้อเท็จจริงเพียงฝ่ายเดียว มิได้มีการเรียกให้โจทก์ได้โอกาสชี้แจงหรืออธิบายข้อเท็จจริงที่มีอยู่ในคดีแต่อย่างใด
ในทางกลับกัน กลับมีคำสั่งให้ส่งร่างคำพิพากษาหรือคำสั่งให้สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 และเป็นผลให้บรรทัดฐานของคำพิพากษาหรือคำสั่ง และการใช้ดุลพินิจของศาลแขวงเชียงใหม่ ไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับคดีทั้ง 8 สำนวนที่เคยมีคำพิพากษา หรือคำสั่งให้คดีมีมูลและประทับรับฟ้องไว้พิจารณามาก่อนที่จะมีการแทรกแซง
แต่กลับทำให้แนวคำวินิจฉัยต่างกันไปคนละทิศทางโดยสิ้นเชิง และไม่ได้มีเหตุผลพิเศษแสดงไว้ในร่างคำพิพากษาหรือคำสั่งตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วย การรายงานคดีสำคัญในศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ต่อประธานศาลฎีกา และการรายงานคดีและการตรวจสำนวนคดีในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค พ.ศ. 2562 ข้อ 14 แต่อย่างใดด้วยไม่
นอกจากนี้แล้ว การที่สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 มีคำสั่งให้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนส่งสำนวนคดีให้ตรวจสอบนั้น เป็นเพียงการมีเจตนาแทรกแซงผลคดีทำให้กระทบต่อดุลพินิจการพิจารณาทำคำพิพากษาและการมีคำสั่งของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนโดยตรง เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเพื่อเปลี่ยนแปลงผล และหรือกดดันคำพิพากษาและคำสั่งของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน สำหรับสำนวนคดีหลังที่ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนมูลฟ้องในศาลเดียวกันนี้ด้วยในตัว
และเป็นผลให้ขัดแย้งกับแนวคำสั่งของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนที่เดิม เคยประทับรับฟ้องไว้พิจารณาถึง 8 สำนวน และยังก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อแนวคำวินิจฉัยเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องด้วย เพราะเดิมทีเพียงให้ฟังได้ว่า คดีของโจทก์มีมูลศาลก็จะประทับรับฟ้องไว้พิจารณา ส่วนรายละเอียดอื่นจะไปนำสืบกันในชั้นพิจารณาอีกครั้ง
แต่คดีของผู้ร้องเรียนกลับมีการพิจารณาก้าวล่วงไปถึงว่า การกระทำของจำเลยไม่มีเจตนาพิเศษ ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่ควรต้องพิจารณาวินิจฉัยประเด็นนี้กันในชั้นพิจารณาคดีแล้วเท่านั้น
นอกจากนี้ การที่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนในคดีอาญาดำ อ 1772/2564 นี้ ก็เป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนในคดีอาญาดำที่ อ 1061/2561 ด้วย โดยในคดีดังกล่าวได้มีคำสั่งว่า คดีมีมูลและเป็นผู้พิพากษาที่ทำการไกล่เกลี่ยให้จำเลยชำระเงินเพื่อไห้โจทก์ยอมถอนฟ้อง ย่อมทราบดีว่าฝ่ายใดถูกหรือผิด จึงให้ใกล่เกลี่ยทำการประนีประนอมยอมความ โดยจำเลยยอมชำระเงิน 75 ล้านบาท ให้แก่โจทก์ในคดีดังกล่าว แต่เมื่อทำการพิจารณาคดีหลัง ซึ่งมีพฤติการณ์การทำผิดเช่นเดียวกัน หลังจากถูกแทรกแซง กลับวินิจฉัยแตกต่างกันในสาระสำคัญของคดี โดยให้พิพากษายกฟ้อง
และนอกจากนี้ คำพิพากษาที่วินิจฉัยก้าวล่วงไปถึงขั้นการพิจารณาคดีของศาล โดยวินิจฉัยว่า การที่บริษัท ดาราเทวี จำกัด จำเลยที่ 2 ทำการประชุมเปิดบัญชีรับโอนเงิน จากกิจการจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำเพื่อให้ธุรกิจของจำเลยที่ 1 ดำเนินต่อไปได้ และการยื่นพื้นฟูกิจการจำเลยที่ 1 ต่อศาลล้มละลายกลาง นั้น
เป็นการทำเพื่อพยายามหาหนทางชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ จึงไม่เป็นการกระทำโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ จึงเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อสาธารณะชน ทำให้ลูกหนี้คนอื่นๆ เอาเยี่ยงอย่าง เพื่อใช้เป็นแนวทางหลบเลี่ยงการบังคับคดีของเจ้าหนี้ ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบการบังคับคดีของประเทศอย่างรุนแรงอีกด้วย
ทั้งนอกจากนี้แล้ว ผู้ร้องเรียนก็ยังมีพยานหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า ในขณะที่มีการประชุมกรรมการเปิดบัญชีของบริษัท ดาราเทวี จำกัด นั้น โรงแรมดาราเทวีเอง ยังมีบัญชีเงินฝากในชื่อของตนเองที่สามารถใช้เบิกถอนทำธุรกรรมทางการเงินได้อยู่จำนวน 6 บัญชี แต่ไม่ยอมนำมาใช้
กลับทำการเปิดบัญชีใหม่ในนามของบริษัท ดาราเทวี จำกัด โดยมีเจตนาเพื่อหลบเลี่ยงมิให้เจ้าหนี้มายึดหรืออายัดเงินของตนเอง ซึ่งเดิมผู้ร้องเรียนประสงค์จะอ้างนำสืบในชั้นพิจารณา แต่เมื่อมีการยกฟ้องในชั้นนี้ จึงไม่อาจแสดงพยานต่อศาลได้อีกเป็นเหตุให้ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง” หนังสือร้องเรียนของ บริษัท โอเชี่ยน เด็คคอร์ จำกัด ลงวันที่ 28 เม.ย.2565 ระบุ
หนังสือร้องเรียนของ โอเชี่ยน เด็คคอร์ ระบุด้วยว่า “อาศัยด้วยเหตุผลดังที่ได้กราบเรียนชี้แจงมาในเบื้องต้น การที่สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 แทรกแซงการพิจารณาสั่งสำนวนคดีของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนในคดีอาญาหมายเลขคดีดำที่ อ.1772/2564 ของศาลแขวงเชียงใหม่ เป็นการกระทบต่อความยุติธรรมตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ระบบยุติธรรมของไทยและประชาชน รวมถึงผู้ร้องเรียนที่เป็นโจทก์ด้วย
จึงขอท่านได้ไปรดพิจารณาตรวจสอบและดำเนินการลงโทษตามระเบียบและหรือกฎหมายต่อไป ทั้งขอท่านได้โปรดแจ้งให้ผู้ร้องเรียนทราบถึงผลการดำเนินการด้วย อนึ่ง หากท่านมีความประสงค์ ผู้ร้องเรียนยินดีที่จะให้ความร่วมมือนำส่งหยานหลักฐานเพิ่มเดิมหรือเข้าให้ปากคำเพื่อท่านทราบรายละเอียดอื่น ๆ ต่อไปได้ด้วย”
สำนักข่าวอิศรารายงานต่อว่า ศาลฎีกาประทับตรารับเรื่องร้องเรียนของบริษัท โอเชี่ยน เด็คคอร์ จำกัด ดังกล่าว เมื่อวันที่ 2 พ.ค.2565 ต่อมาศาลฎีกา มีหนังสือที่ ศย 100/ล.77 เรื่อง แจ้งผลการพิจารณา ลงวันที่ 12 พ.ค.2565 แจ้งไปยังกรรมการผู้จัดการ บริษัท โอเชี่ยน เด็คคอร์ จำกัด โดยมีเนื้อหาว่า “ตามที่ท่านเป็นโจทก์ในคดีหมายเลขดำที่ อ 1829/2563 ของศาลแขวงเชียงใหม่ขอให้ตรวจสอบและลงโทษ กรณีสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 แทรกแชงคดี ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น
ศาลฎีกาได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฏว่า คดีดังกล่าวไม่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จึงได้ส่งหนังสือของท่านไปยังสำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป”
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า โดยหลักการแล้ว เมื่อมีผู้ยื่นร้องเรียนไป ก.ต. ให้ตรวจสอบการทำงานของศาลฯ สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ยินดีและพร้อมรับการตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส
ทั้งนี้ บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด และบริษัท ดาราเทวี จำกัด เป็นบริษัทลูกของ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC ขณะเดียวกัน IFEC เป็นบริษัทแม่ของบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เทอมอล พาวเวอร์ จำกัด (I Thermal) ซึ่งชนะประมูลซื้อทรัพย์สินของโรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่ ไปด้วยราคา 2,012.62 ล้านบาท และขณะนี้ I Thermal อยู่ระหว่างการหาเงิน 1,902.62 ล้านบาท มาจ่ายค่าซื้อทรัพย์โรงแรมดาราเทวี
อ่านประกอบ :
ใกล้ถึงเส้นตาย! ‘บ.ลูก IFEC’ วางเงินค่าซื้อ ‘โรงแรมดาราเทวี’ ส่วนที่เหลือ 1.9 พันล้าน
‘เจ้าหนี้’ยื่นศาลฯค้าน‘บ.ลูก IFEC’ขอขยายเวลาวางเงินซื้อ‘ดาราเทวี’-อ้าง'เสี่ยงล้มละลาย'
นัดใหม่! ขายทอดตลาด‘ดาราเทวี’ หลังเอกชน‘รายเดียว’ที่ร่วมประมูลฯ ไม่รับราคา 2.1 พันล.
รับคดีไว้พิจารณา!‘ศาลคดีทุจริตฯ’นัดไต่สวนมูลฟ้อง คดีขายทอดตลาด‘ดาราเทวี’ 20 ธ.ค.นี้
โชว์คำสั่งย้ายด่วน 'ผอ.บังคับคดีฯ' จ.เชียงใหม่ หลังถูกร้องปมขายทอดตลาด ‘รร.ดาราเทวี’
ขายทอดตลาด‘ดาราเทวี’ 3 ธ.ค.นี้ หลังศาลฯเพิกถอนคำสั่ง‘เจ้าพนักงานบังคับคดีฯ’ยกเลิกนัด
ฟ้องศาลคดีทุจริตฯ! 'เจ้าพนักงานบังคับคดีฯ'ขัดขวางขายทอดตลาด‘รร.ดาราเทวี’ 2.6 พันล้าน