“…การกระทำของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ตามที่โจทก์นำสืบ ไม่ปรากฏว่าเป็นกระทำโดยมีเจตนาพิเศษ เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ ขาดองค์ประกอบความผิดในข้อหาตามที่โจทก์ฟ้อง คดีของโจทก์ จึงไม่มีมูล สำหรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6…”
......................................
สืบเนื่องจากกรณีที่ บริษัท โอเชี่ยน เด็คคอร์ จำกัด ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของ บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) โดยขอให้ ก.ต. ตรวจสอบสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ว่า มีการแทรกแซงการสั่งคดีหรือไม่
ทั้งนี้ หนังสือร้องเรียน บริษัท โอเชี่ยน เด็คคอร์ จำกัด กล่าวอ้างถึงคดีหมายเลขดำที่ อ.1829/2563 ซึ่งบริษัท โอเชี่ยน เด็คคอร์ จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด และพวก รวม 7 คน ในข้อหา ‘ร่วมกันโกงเจ้าหนี้’ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ,มาตรา 83 และมาตรา 91
โดยคดีดังกล่าว ศาลแขวงเชียงใหม่ มีคำสั่งลงวันที่ 24 พ.ย.2563 ว่า จำเลยที่ 1-5 (บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด จำเลยที่ 1 และบริษัท ดาราเทวี จำกัด จำเลยที่ 2) มีมูลความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และมาตรา 350 ให้ประทับรับฟ้องไว้พิจารณา และสั่งนัดสืบพยาน
อย่างไรก็ตาม ต่อมาในช่วงกลางปี 2564 บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด เข้ายื่นร้องขอความเป็นธรรมต่อสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 โดยอ้างว่า ‘ถูกเจ้าหนี้กลั่นแกล้ง’
และต่อมามีการออกคำสั่งให้ ‘ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน’ เกี่ยวกับคดีพิพาท ‘โรงแรมดาราเทวี’ ส่งสำนวนให้สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ตรวจสำนวนก่อนฟังคำพิพากษาหรือคำสั่ง
ต่อมาปรากฏข้อเท็จจริงว่า หลังจากนั้น คดีที่บริษัท โอเชี่ยน เด็คคอร์ ยื่นฟ้อง บริษัท โรงแรมดาราเทวี ในข้อหา ‘กระทำเพื่อมิให้โจทก์และเจ้าหนี้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน’ ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ พ.ศ.2499 มาตรา 40 (คดีหมายเลขดำที่ อ.1772/2564) นั้น
ศาลแขวงเชียงใหม่ มีคำสั่งลงวันที่ 30 มี.ค.2565 ว่า คดีไม่มีมูล เพราะไม่ปรากฏเจตนาพิเศษเพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้ บริษัท โอเชี่ยน เด็คคอร์ฯ จึงเข้ายื่นหนังสือถึง ก.ต. เพื่อขอให้ตรวจสอบว่ามีการแทรกแซงการสั่งคดีหรือไม่ (อ่านประกอบ : ร้อง 'ก.ต.' ตรวจสอบ 'สนง.อธิบดีผู้พิพากษาภาค 5' แทรกแซงสั่งคดีโกงเจ้าหนี้ 'ดาราเทวี')
จากกรณีดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปตัวอย่างสำนวนคดีและคำสั่งของศาลแขวงเชียงใหม่ เกี่ยวกับคดีพิพาทระหว่าง ‘เจ้าหนี้’ รายต่างๆ และบริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด ในฐานะลูกหนี้ ที่น่าสนใจ จำนวน 3 คดี ดังนี้
@ศาลฯสั่งคดีมีมูล 'บ.โรงแรมดาราเทวี' ร่วมกันโกงเจ้าหนี้
คดีแรก คดีหมายเลขดำที่ อ.1829/2563
บริษัท โอเชี่ยน เด็คคอร์ จำกัด (โจทก์) ยื่นฟ้อง บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด และพวก รวม 7 คน (บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด จำเลยที่ 1 และบริษัท ดาราเทวี จำกัด จำเลยที่ 2) ในข้อหา ‘ร่วมกันโกงเจ้าหนี้’ ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ,มาตรา 83 และมาตรา 91
โจทย์บรรยายฟ้องว่า ระหว่างประมาณปลายเดือน ธ.ค.2562 ถึงกลางเดือน ม.ค.2563 จำเลยที่ 1 (บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด) และจำเลยที่ 2 (บริษัท ดาราเทวี จำกัด) โดยกรรมการผู้มีอำนาจ (จำเลยที่ 3-5) ในฐานะผู้มีอำนาจกระทำการของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 6 และจำเลยที่ 7
เจตนาทุจริต ร่วมกันกระทำความผิด เพื่อมิให้โจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 (บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด) ได้รับการชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน โดยจำเลยที่ 3-7 ได้ร่วมกันย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอน ซึ่งรายได้หรือสิทธิเรียกร้องจากการประกอบกิจการของโรงแรมจำเลยที่ 1 (โรงแรมดาราเทวี) ไปให้จำเลยที่ 2 (บริษัท ดาราเทวี จำกัด)
(สภาพอาคารโรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่ ที่ถูกปล่อยทิ้งร้างเกือบ 2 ปี ถ่ายเมื่อเดือน เม.ย.2565)
โดยระหว่างประมาณปลายเดือน ธ.ค.2562 ถึงกลางเดือน ม.ค.2563 จำเลยทั้ง 7 ร่วมกันแจ้งให้ลูกค้าผู้มาใช้บริการในกิจการโรงแรมดาราเทวี ชำระค่าบริการให้จำเลยที่ 1 (บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด) โดยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 (บริษัท ดาราเทวี จำกัด) เพื่อไม่ให้โจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 รู้สถานะการเงิน
และเพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 และเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้ โดยลูกค้าผู้มาใช้บริการในกิจการโรงแรมของจำเลยที่ 1 (โรงแรมดาราเทวี) ได้โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 ตามที่ปรากฏตามสำเนาใบแจ้งหนี้/ใบแจ้งรายการชำระเงิน (จำนวน 2 ฉบับ)
การร่วมกันกระทำความผิดของจำเลยทั้ง 7 เพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้ (ป.อาญา มาตรา 350)
“หากปล่อยให้จำเลยทั้งเจ็ด (7) คน กระทำการตามอำเภอใจเช่นนี้ ย่อมทำให้เจ้าหนี้ทุกรายเสื่อมศรัทธาต่อการใช้สิทธิทางศาลในการฟ้องบังคับชำระหนี้เอาแก่ลูกหนี้
และเป็นการขัดขวางการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาล กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม ทำให้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับความเสียหาย” คำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ อ.1829/2563 ของบริษัท โอเชี่ยน เด็คคอร์ จำกัด (โจทก์) ลงวันที่ 27 ก.พ.2563 ระบุ
คำสั่ง/คำพิพากษาศาลแขวงเชียงใหม่
ศาลฯพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า จำเลยที่ 3-5 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 (บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด) และจำเลยที่ 2 (บริษัท ดาราเทวี จำกัด) ส่วนจำเลยที่ 6-7 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 (บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด)
จำเลยที่ 1 (บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด) เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของของโจทก์ (บริษัท โอเชี่ยน เด็คคอร์ จำกัด) เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงยึดทรัพย์จำเลยที่ 1
จำเลยที่ 3-5 สั่งการให้จำเลยที่ 6-7 แจ้งให้ลูกค้าที่ใช้บริการจำเลยที่ 1 (บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด) โอนเงินค่าสินค้าและบริการเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 (บริษัท ดาราเทวี จำกัด) เพื่อไม่ให้จำเลยที่ 1 ถูกบังคับคดี
ชั้นนี้ ข้อเท็จจริงเป็นไปได้ว่า จำเลยที่ 3-5 ในฐานะส่วนตัวและเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ย่อมร่วมกันวางแผนย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้จำเลยที่ 2 ซึ่งทรัพย์ใด เพื่อไม่ให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของตนหรือผู้อื่นได้รับการชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน คดีส่วนของจำเลยที่ 1-5 จึงมีมูล
สำหรับจำเลยที่ 6-7 มีหน้าที่เกี่ยวกับฝ่ายเครดิต และบัญชีตามลำดับ ซึ่งเป็นเพียงลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ที่ลงลายมือในเอกสารการทำงานของจำเลยที่ 6-7 ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ภายในกิจการโรงแรมของจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏหลักฐานว่า ได้รู้เห็นการเกี่ยวข้องอย่างไรกับจำเลยที่ 1 คดีในส่วนจำเลยที่ 6-7 จึงไม่มีมูล
“คดีของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 มีมูลความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ,350 ให้ประทับรับฟ้องไว้พิจารณา” คำสั่งศาลแขวงเชียงใหม่ คดีหมายเลขดำที่ อ.1829/2563 คดีหมายเลขแดง อ..../25....ลงวันที่ 24 พ.ย.2563 ระบุ
(ที่มา : คำสั่งศาลแขวงเชียงใหม่ คดีหมายเลขดำที่ อ.1829/2563 คดีหมายเลขแดง อ..../25....ลงวันที่ 24 พ.ย.2563)
@ศาลสั่งรับฟ้อง 'บ.โรงแรมดาราเทวี' ผิด ม.40 พ.ร.บ.ห้างหุ้นส่วนฯ
คดีที่สอง คดีหมายเลขดำที่ 6808/2563
บริษัท บริหารสินทรัพย์ โกลบอลวัน จำกัด (โจทก์) ยื่นฟ้อง บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด และพวก รวม 8 คน (บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด จำเลยที่ 1 และบริษัท ดาราเทวี จำกัด จำเลยที่ 2) ในข้อหา ‘กระทำเพื่อมิให้โจทก์และเจ้าหนี้อื่นได้รับชำระหนี้ฯ’ ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ พ.ศ.2499 มาตรา 40
โจทย์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ (บริษัท บริหารสินทรัพย์ โกลบอลวัน จำกัด) เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดแล้วของบริษัทจำเลยที่ 1 (บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด) ของศาลล้มละลายกลาง เรื่อง ผิดสัญญาตามแผนฟื้นฟูกิจการ คดีหมายเลขดำที่ พก.15/2560 คดีหมายเลขแดงที่ พก.6/2562
โดยจำเลยที่ 1 ต้องชำระหนี้ให้โจทก์ 595.57 ล้านบาท ภายใน 90 วัน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หากจำเลยที่ 1 ผิดนัด ยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที พร้อมในอัตราร้อยละ 7.5 บามต่อปี ของต้นเงินจำนวน 565 ล้านบาท แต่ภายหลังจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
ต่อมาเมื่อระหว่างวันที่ 14 ม.ค.2563 ถึงวันที่ 8 มี.ค.2563 วันและเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยที่ 1 (บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด) และจำเลยที่ 2 (บริษัท ดาราเทวี จำกัด) โดยกรรมการผู้มีอำนาจ (จำเลยที่ 3-4) และนายบุญเลิศ เอี้ยวพรชัย ในฐานะส่วนตัวและในฐานะกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2
ได้บังอาจร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายอาญา โดยมีเจตนาทุจริต โดยมีลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ มีพฤติการณ์ของการร่วมกันกระทำความผิด ดังนี้
ระหว่างวันที่ 14 ม.ค.2563 ถึงวันที่ 8 มี.ค.2563 วันและเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยที่ 1 (บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด) และจำเลยที่ 2 (บริษัท ดาราเทวี จำกัด) โดยจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 4 และนายบุญเลิศ เอี้ยวพรชัย ในฐานะส่วนตัวและในฐานะกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2
รู้อยู่ว่าโจทก์ (บริษัท บริหารสินทรัพย์ โกลบอลวัน จำกัด) ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 จะใช้สิทธิบังคับการชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 (บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด) หรือจะใช้หรือน่าจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้
แต่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับผิดชอบการดำเนินการของบริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 และพนักงานระดับผู้บริหารและพนักงานอื่น ได้ทุจริต ร่วมกันแจ้งให้ลูกค้าผู้มาใช้บริการในกิจการของจำเลยที่ 1 (โรงแรมดาราเทวี) รายบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ จำกัด (มหาชน) (สำนักงานใหญ่) ผู้ประสงค์เข้าใช้บริการจัดงานเลี้ยงจำนวน 700 คน ในกิจการของจำเลยที่ 1
ให้ทำการชำระค่าบริการและค่าที่พักให้แก่จำเลยที่ 1 (บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด) โดยโอนเงิน 1.13 ล้านบาท เข้าบัญชีธนาคาร ซึ่งเป็นของบริษัทจำเลยที่ 2 (บริษัท ดาราเทวี จำกัด) โดยมีจำเลยที่ 8 ออกใบแจ้งหนี้
และต่อมาลูกค้าบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ จำกัด (มหาชน) (สำนักงานใหญ่) ได้โอนเงินจำนวนดังกล่าวให้แล้ว ตามที่ปรากฏในสำเนาใบแจ้งหนี้ และรายการเคลื่อนไหวทางบัญชี ในเอกสารท้ายคำฟ้อง
การร่วมกันกระทำความผิดของจำเลยทั้ง 8 คน ได้กระทำ โดยจำเลยทั้ง 8 รู้ว่า เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 (บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด) หรือเจ้าหนี้บุคคลอื่น ซึ่งจะสิทธิของเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 บังคับการชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ใช้หรือน่าจะใช้สิทธิเรียกทางศาลให้ชำระหนี้
แต่จำเลยได้ย้าย ซ่อน หรือโอนให้แก่ผู้อื่น ซึ่งทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 (บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด) ในขณะที่จำเลยที่ 2 (บริษัท ดาราเทวี จำกัด) นั้น ไม่ปรากฏว่าได้ประกอบกิจการโรงแรมแต่อย่างใด
“การร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง เป็นการไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย มุ่งแต่จะรักษาประโยชน์ส่วนตนโดยมิชอบ และไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนเสียหายของโจทก์หรือเจ้าหนี้รายอื่น ซึ่งหากปล่อยให้จำเลยทั้งแปด (8) กระทำการตามอำเภอใจเช่นนี้ ย่อมทำให้เจ้าหนี้ทุกรายเสื่อมศรัทธาต่อการใช้สิทธิทางศาลในการฟ้องบังคับชำระหนี้เอาแก่ลูกหนี้
และเป็นการขัดขวางการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาล กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม ทำให้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับความเสียหาย โจทก์จึงขอศาลที่เคารพได้โปรดพิจารณาและมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งแปดด้วย” คำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 6808/2563 ของบริษัท บริหารสินทรัพย์ โกลบอลวัน จำกัด ลงวันที่ 8 ต.ค.2563 ระบุ
คำสั่ง/คำพิพากษาศาลแขวงเชียงใหม่
ศาลฯพิเคราะห์คำฟ้องและพยานหลักฐานที่โจทก์นำเข้าไต่สวนแล้ว เห็นว่า กรรมการโจทก์ เบิกความว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมของจำเลยที่ 1 ตามสำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความ สำเนาคำพิพากษาตามยอม และสำเนาหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด เอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 โจทก์ดำเนินการบังคับคดี
“ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 ที่ 4 และนายบุญเลิศ เอี้ยวพรชัย ในฐานะส่วนตัวและฐานะกรรมการจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 รวมกันแจ้งให้ลูกค้าผู้มาใช้บริการทำการชำระเงินค่าสินค้าและบริการในกิจการของจำเลยที่ 1 โอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 3 ถึงที่ 8 เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของจำเลยที่ 1
และการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์แล้ว คดีโจทก์จึงมีมูลตามพระราชบัญญัติกำหนดความรับผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 40 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ประทับฟ้องไว้” คำสั่งศาลแขวงเชียงใหม่ คดีหมายเลขดำที่ อ 6808/2563 คดีหมายเลขแดง อ..../25....ลงวันที่ 16 มี.ค.2564 ระบุ
(ที่มา : คำสั่งศาลแขวงเชียงใหม่ คดีหมายเลขดำที่ อ 6808/2563 คดีหมายเลขแดง อ..../25....ลงวันที่ 16 มี.ค.2564)
คดีที่สาม คดีหมายเลขดำที่ อ.1772/2564
บริษัท โอเชี่ยน เด็คคอร์ จำกัด (โจทก์) ยื่นฟ้อง บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด และพวก รวม 6 คน (บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด จำเลยที่ 1 และบริษัท ดาราเทวี จำกัด จำเลยที่ 2) ในข้อหา ‘กระทำเพื่อมิให้โจทก์และเจ้าหนี้อื่นได้รับชำระหนี้ฯ’ ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ พ.ศ.2499 มาตรา 40
โจทย์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ (บริษัท โอเชี่ยน เด็คคอร์ จำกัด) เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดแล้วของศาลจังหวัดเชียงใหม่ แต่ภายหลังศาลมีคำพิพากษาแล้ว ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 (บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด) ผิดนัดชำระหนี้ โจทก์จึงได้ดำเนินการบังคับคดีเอากับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1
ต่อมาระหว่างวันที่ 13 มี.ค.2563 ถึงวันที่ 27 มี.ค.2563 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยที่ 1 (บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด) และจำเลยที่ 2 (บริษัท ดาราเทวี จำกัด)
โดยกรรมการผู้มีอำนาจ (จำเลยที่ 3-4) และนายบุญเลิศ เอี้ยวพรชัย ในฐานะส่วนตัวและในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 5 ตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 6 ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงินของจำเลยที่ 1 ได้บังอาจร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายอาญา โดยมีเจตนาทุจริต โดยมีลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ โดยมีพฤติการณ์ของการร่วมกันกระทำความผิด ดังนี้
เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2563 จำเลยที่ 1 (บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด) และจำเลยที่ 2 (บริษัท ดาราเทวี จำกัด) โดยจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 4 และนายบุญเลิศ เอี้ยวพรชัย ในฐานะส่วนตัวและในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 6
บังอาจย้าย ซ่อน หรือโอนให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งเงินที่บริษัท ซันนี่ ฟลาวเวอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ลูกค้าของจำเลยที่ 1 ชำระค่าอาหารและเครื่องดื่ม โดยใช้บัตรเครดิตเป็นเงิน 89,427.13 บาท ซึ่งเงินดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยทั้งหมดได้ร่วมกับให้ลูกค้าโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร ซึ่งเป็นบัญชีของจำเลยที่ 2 (บริษัท ดาราเทวี จำกัด) และได้ร่วมกันออกใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีในชื่อของจำเลยที่ 2
โดยจำเลยทั้งหมด ได้ร่วมกันกระทำ เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน ตามรายละเอียดสำเนาใบสลิปการใช้บัตรเครดิตและสำเนาใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษี ตามเอกสารท้ายคำฟ้อง
นอกจากนี้ คำบรรยายฟ้องของโจทก์ยังระบุถึงพฤติการณ์การกระทำผิดของจำเลยทั้ง 6 ในลักษณะเดียวกัน เช่น ให้ลูกค้ารายบริษัท เดสทิเนชั่น ออฟ เดอะเวิร์ล (ประเทศไทย) จำกัด ,รายซางไห่ ซีทริบ ออนไลน์ ,รายบริษัท ฮ่องกง จีล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นต้น ซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 โอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 (บริษัท ดาราเทวี จำกัด) เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน
“การร่วมกันกระทำความผิดของจำเลยทั้งหกคน ได้กระทำโดยรู้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 หรือเจ้าหนี้ของบุคคลอื่น ซึ่งจะใช้สิทธิของเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว บังคับการชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ดังกล่าว ใช้หรือน่าจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้
ย้าย ซ่อน หรือโอน ให้แก่ผู้อื่น ซึ่งทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 หรือแกล้งให้จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ซึ่งไม่เป็นความจริง โดยจำเลยทั้งหกคน ได้กระทำเพื่อมิให้โจทก์และเจ้าหนี้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งบริษัทจำเลยที่ 1 ประกอบกิจการโรงแรม ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นไม่ปรากฏว่าได้ประกอบกิจการ โรงแรมแต่อย่างใด
การร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องเป็นการไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย มุ่งแต่จะรักษาประโยชน์ส่วนตนโดยมิชอบ และไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนเสียหายของโจทก์หรือเจ้าหนี้รายอื่น ซึ่งหากปล่อยให้จำเลยทั้งหกคน กระทำการตามอำเภอใจเช่นนี้ ย่อมทำให้เจ้าหนี้ทุกรายเสื่อมศรัทธาต่อการใช้สิทธิทางศาลในการฟ้องบังดับชำระหนี้เอาแก่ลูกหนี้
และเป็นการขัดขวางการบังคับคดีมิให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาล ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม ทำให้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับความเสียหาย โจทก็จึงขอศาลที่เคารพได้โปรดพิจารณาและมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งหกคนด้วย” คำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ อ.1772/2564 ของบริษัท โอเชี่ยน เด็คคอร์ จำกัด ลงวันที่ 17 มิ.ย.2564 ระบุ
คำสั่ง/คำพิพากษาศาลแขวงเชียงใหม่
“พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นสมควรวินิจฉัยใน ประการแรกว่า คดีของโจทก์มีมูลสำหรับจำเลยที่ 1 หรือไม่
เห็นว่า ข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 40 กำหนดบุคคลผู้รับผิดไว้ คือ บุคคลผู้ซึ่งต้องรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล อันหมายถึงผู้แทนนิติบุคคลหรือผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการนิติบุคคล
กรณีจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด การกระทำใดของจำเลยที่ 1 จะกระทำได้ ก็แต่โดยกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงมิใช่บุคคลผู้ซึ่งต้องรับผิดชอบในการดำเนินงานของตนเองซึ่งต้องรับผิดตามนัยแห่งบทบัญญัติดังกล่าว คดีของโจทก์ จึงไม่มีมูลสำหรับจำเลยที่ 1 (บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด)
เห็นสมควรวินิจฉัยในประการต่อไปว่า คดีของโจทก์มีมูลสำหรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 5 และที่ 6 เป็นผู้จัดการทั่วไปและผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและบัญชีของจำเลยที่ 1 ตามลำดับ
จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ย่อมต้องทำงานในหน้าที่ตามความรับผิดชอบของตน โดยดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 เป็นผู้แทนนิติบุคคลหรือผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการนิติบุคคล อันเป็นผู้ซึ่งต้องรับผิดชอบในการดำเนินงานของจำเลยที่ 1 ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 40 มีองค์ประกอบความผิดในประการสำคัญว่า ผู้กระทำจะต้องกระทำการโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้
สำหรับคดีนี้ แม้ข้อเท็จจริงรับฟังว่ามีการเปิดบัญชีธนาคารในนามจำเลยที่ 2 (บริษัท ดาราเทวี จำกัด) เพื่อรับโอนเงินจากลูกค้าของจำเลยที่ 1 และได้ความว่าลูกค้าของจำเลยที่ 1 ได้โอนเงินค่าบริการของจำเลยที่ 1 เข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 ซึ่งในการดำเนินการดังกล่าว จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของจำเลยที่ 1 อาจรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับการดำเนินการดังกล่าวก็ตาม
แต่การกระทำดังกล่าว ปรากฏตามสำเนารายงานการประชุมเอกสารหมาย จ.12 ว่า เป็นไปเพื่อให้การบริหารภายในของบริษัทไม่สะดุดและมีความคล่องตัว จึงเป็นการกระทำในขณะที่จำเลยที่ 1 ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ โดยบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 1 ถูกเจ้าหนี้ยึดและอายัดไว้ และเป็นการกระทำโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้จำเลยที่ 1 มีสภาพคล่องและดำเนินธุรกิจต่อไปได้
นอกจากนั้น ข้อเท็จจริงได้ความตามสำเนาคำฟ้องในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5206/2563 ของศาลนี้ ตามเอกสารหมาย ล.9 ที่โจทก์ในคดีนี้ฟ้องฝ่ายจำเลยเป็นอีกคดีหนึ่ง
และได้บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2563 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง โดยยื่นบัญชีรายชื่อเจ้าหนี้แนบท้ายคำร้อง ปรากฎชื่อโจทก์เป็นเจ้าหนี้ในลำดับที่ 37 ชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 พยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหาในการประกอบธุรกิจตลอดจนปัญหาภาระหนี้ เพื่อที่จะให้เจ้าหนี้ รวมทั้งโจทก์ได้รับชำระหนี้ต่อไป
การกระทำของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ตามที่โจทก์นำสืบ ไม่ปรากฏว่าเป็นกระทำโดยมีเจตนาพิเศษ เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ ขาดองค์ประกอบความผิดในข้อหาตามที่โจทก์ฟ้อง คดีของโจทก์จึงไม่มีมูลสำหรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6
เห็นสมควรวินิจฉัยในประการสุดท้ายว่า คดีของโจทก์มีมูลสำหรับจำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า กรณีจำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นกรรมการ เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคล จึงต้องกระทำการผ่านกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน
สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 กระทำการโดยไม่ปรากฏว่ามีเจตนาพิเศษเพื่อมิให้โจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้ตามที่วินิจฉัย ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่ 2 ซึ่งเกิดขึ้น โดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 กระทำการแทน จึงเป็นการกระทำที่ไม่ปรากฏว่ามีเจตนาพิเศษดังกล่าว ด้วยเช่นกัน คดีของโจทก์จึงไม่มีมูลสำหรับจำเลยที่ 2 พิพากษายกฟ้อง” คำสั่งศาลแขวงเชียงใหม่ คดีหมายเลขดำที่ อ 1772/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ 854/2565 ลงวันที่ 30 มี.ค.2565 ระบุ
(ที่มา : คำสั่งศาลแขวงเชียงใหม่ คดีหมายเลขดำที่ อ 1772/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ 854/2565 ลงวันที่ 30 มี.ค.2565)
@‘โอเชี่ยนเด็คคอร์’ ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง คดี‘ย้ายโอนทรัพย์’เจ้าหนี้
ด้านแหล่งข่าวจากผู้บริหารระดับสูงของบริษัท โอเชี่ยน เด็คคอร์ จำกัด กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ว่า บริษัทฯจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลแขวงเชียงใหม่ ที่มีคำสั่งยกฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ อ.1772/2564 (ความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ พ.ศ.2499 มาตรา 40)
เนื่องจากบริษัทฯ เชื่อว่า บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด และพวก จงใจย้าย ซ่อน หรือโอน ทรัพย์สินของโรงแรมดาราเทวี ซึ่งเป็นของเจ้าหนี้ไปให้กับ บริษัท ดาราเทวี เพื่อไม่ให้โจทก์และเจ้าหนี้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งเป็นการทำผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ พ.ศ.2499 มาตรา 40
ผู้บริหารระดับสูงรายนี้ กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ มีคดีเจ้าหนี้รายหนึ่งยื่นฟ้องบริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด และพวก ในข้อหาจงใจย้าย ซ่อน หรือโอน ทรัพย์สินของโรงแรมดาราเทวี เพื่อไม่ให้โจทก์และเจ้าหนี้อื่นได้รับชำระหนี้ ซึ่งเป็นการทำผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนฯพ.ศ.2499 มาตรา 40
โดยในคดีดังกล่าว หรือคดีหมายเลขดำที่ 6808/2563 นั้น ศาลแขวงเชียงใหม่ มีคำสั่งว่าคดีมีมูลตาม พ.ร.บ.กำหนดความรับผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 40 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ประทับฟ้องไว้
นอกจากนี้ ผู้บริหารระดับสูงบริษัท โอเชี่ยน เด็คคอร์ ยังระบุว่า ในส่วนคดีหมายเลขดำที่ อ.1829/2563 ซึ่งบริษัทฯ ยื่นฟ้อง บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด และพวก ในข้อหา ‘ร่วมกันโกงเจ้าหนี้’ ซึ่งศาลแขวงเชียงใหม่ มีคำสั่งรับฟ้อง นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบพยาน
(บทบัญญัติ มาตรา 350 ประมวลกฎหมายอาญา ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้)
(พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ พ.ศ.2499 มาตรา 40)
@ทนาย ‘โรงแรมดาราเทวี’ ชี้ศาลฯสั่งยกฟ้องหลายคดีแล้ว
ขณะที่ สนทยา น้อยเจริญ ทนายความและที่ปรึกษากฎหมายของบริษัท ฟินิกซ์ แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ในฐานะทนายความ บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด กล่าวถึงกรณี โอเชี่ยน เด็คคอร์ ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ ก.ต. ขอให้ตรวจสอบว่าสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ว่า มีการแทรกแซงการสั่งคดีหรือไม่
โดย สนทยา ระบุว่า ในส่วนของคดีที่ศาลฯมีคำสั่งยกฟ้องนั้น นอกจากคดีที่บริษัท โอเชี่ยน เด็คคอร์ จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด แล้ว ยังมีคดีของเจ้าหนี้รายอื่นๆอีก 10-11 คดี ที่ศาลฯมีคำสั่งยกฟ้อง เพราะคดีไม่มีมูล และคำตัดสินดังกล่าวไม่ได้มาจากผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่ง แต่การเป็นสั่งคดีของผู้พิพากษาไม่น้อยกว่า 7 คน
“ไม่ใช่มีผู้พิพากษาท่านเดียวที่มีพิพากษายกฟ้อง ส่วนที่เขา (บริษัท โอเชี่ยน เด็คคอร์ จำกัด) บอกว่า เขาฟ้องคดีแรก มีมูล แต่พอฟ้องคดีที่สอง ไม่มีมูล ซึ่งคดีที่ศาลยกฟ้องเขา ไม่ใช่คดีของเขาคนเดียว แต่ศาลฯยังยกฟ้องในคดีอื่นๆด้วย ซึ่งรวมแล้ว 10-11 คดี และผู้พิพากษาที่สั่งคดีเหล่านี้มีไม่น้อยกว่า 7 คน” สนทยา กล่าว
สนทยา ยังย้ำว่า การที่ศาลฯมีคำสั่งในคดีแรก ซึ่งบริษัท โอเชี่ยน เด็คคอร์ จำกัด ฟ้อง บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด ในข้อหาร่วมกันโกงเจ้าหนี้ ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 และศาลฯมีคำสั่งว่า คดีมีมูลและรับคดีไว้พิจารณา
กับคดีที่สอง ซึ่งบริษัท โอเชี่ยน เด็คคอร์ จำกัด ฟ้อง บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด ในข้อหากระทำเพื่อมิให้โจทก์และเจ้าหนี้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ พ.ศ.2499 มาตรา 40 แล้ว ศาลฯมีคำสั่งว่า คดีไม่มีมูล ให้ยกฟ้อง นั้น
เมื่อ บริษัท โอเชี่ยน เด็คคอร์ จำกัด ยื่นฟ้อง บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด โดยอ้างอิงกฎหมายคนละฉบับกัน โดยคดีแรกเป็นข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา แต่คดีที่สอง เป็นข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ พ.ศ.2499 การพิจารณาและตัดสินคดี ย่อมมีความแตกต่างกัน
“เวลาที่คดีมีมูล คุณก็บอกว่าคำพิพากษาเป็นธรรม แต่พอคดียกฟ้อง คุณกลับบอกว่า การพิพากษาคดีไม่เป็นธรรม” สนทยา ย้ำและว่า "ในการพิจารณาคดีหรือการมีคำสั่งของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนนั้น ไม่มีใครแทรกแซงได้ แม้แต่ ก.ต.เอง ก็ไม่มีอำนาจชี้นำหรือสั่งตุลาการได้"
เหล่านี้ เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีพิพาทระหว่าง ‘เจ้าหนี้’ และบริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด ในข้อกล่าวหาความผิดต่างๆ ก่อนที่ บริษัท โอเชี่ยน เด็คคอร์ จำกัด ในฐานะเจ้าหนี้ บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด จะยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ ก.ต. เพื่อขอให้ตรวจสอบสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5
อ่านประกอบ :
ฟ้องอย่างน้อย 73 คดี! เจ้าหนี้เอาผิด‘บ.โรงแรมดาราเทวี’-เผยภาพ‘รร.’หลังถูกทิ้งร้าง 2 ปี
ร้อง 'ก.ต.' ตรวจสอบ 'สนง.อธิบดีผู้พิพากษาภาค 5' แทรกแซงสั่งคดีโกงเจ้าหนี้ 'ดาราเทวี'
ใกล้ถึงเส้นตาย! ‘บ.ลูก IFEC’ วางเงินค่าซื้อ ‘โรงแรมดาราเทวี’ ส่วนที่เหลือ 1.9 พันล้าน
‘เจ้าหนี้’ยื่นศาลฯค้าน‘บ.ลูก IFEC’ขอขยายเวลาวางเงินซื้อ‘ดาราเทวี’-อ้าง'เสี่ยงล้มละลาย'
นัดใหม่! ขายทอดตลาด‘ดาราเทวี’ หลังเอกชน‘รายเดียว’ที่ร่วมประมูลฯ ไม่รับราคา 2.1 พันล.
รับคดีไว้พิจารณา!‘ศาลคดีทุจริตฯ’นัดไต่สวนมูลฟ้อง คดีขายทอดตลาด‘ดาราเทวี’ 20 ธ.ค.นี้
โชว์คำสั่งย้ายด่วน 'ผอ.บังคับคดีฯ' จ.เชียงใหม่ หลังถูกร้องปมขายทอดตลาด ‘รร.ดาราเทวี’
ขายทอดตลาด‘ดาราเทวี’ 3 ธ.ค.นี้ หลังศาลฯเพิกถอนคำสั่ง‘เจ้าพนักงานบังคับคดีฯ’ยกเลิกนัด
ฟ้องศาลคดีทุจริตฯ! 'เจ้าพนักงานบังคับคดีฯ'ขัดขวางขายทอดตลาด‘รร.ดาราเทวี’ 2.6 พันล้าน