นักวิจัยยังได้พยายามที่จะเปรียบเทียบประสิทธิภาพของวัคซีนโดยตรวจสอบว่าแอนติบอดีซึ่งเกิดจากการฉีดวัคซีนที่แตกต่างกันออกไปนั้นจะรับมือกับสายพันธุ์ที่แตกต่างกันออกไปอย่างไร ด้วยการทดลองในห้องแล็บ ซึ่งผลการศึกษาบางส่วนนั้นแสดงให้เห็นว่าวัคซีนชนิดใหม่ดูจะยังไม่ให้ภูมิคุ้มกันที่ครอบคลุมมากกว่าสูตรการใช้วัคซีนแบบดั้งเดิม
สถานการณ์โควิดหรือโคโรน่าไวรัสของประเทศไทยและของโลก ณ เวลานี้นั้นถูกวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญหลายคนว่าในช่วงปลายปี 2565 จะมีผู้ติดเชื้อมากขึ้นเป็นพิเศษด้วยเหตุผลอาทิ เข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ,การระบาดของไข้หวัดใหญ่ การเกิดขึ้นของโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ เป็นต้น
นี่จึงทำให้มีบทวิเคราะห์กันว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดไบวาเลนต์ หรือที่ติดปากคนไทยว่าวัคซีนป้องกันโควิดเจน 2 นั้นอาจจะเป็นเรื่องที่จำเป็นหรือไม่
ล่าสุดมีรายงานข่าวจากสำนักข่าว STAT News ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเน้นการรายงานข่าวทางด้านสถิติ ได้รายงานข่าวว่าการฉีดวัคซีนบูสเตอร์เพื่อป้องกันโควิดนั้นยังคงจำเป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนแบบที่อัปเดตแล้วหรือว่าวัคซีนแบบดั้งเดิมก็ตาม และยังได้มีการเผยข้อมูลประสิทธิภาพของวัคซีนรุ่นใหม่
โดยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำข่าวดังกล่าวมานำเสนอมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
การอัปเดตการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ป้องกันโควิด-19 นั้นถูกรายงานว่าได้ผลดีสำหรับการป้องกันการติดเชื้อโควิดแบบมีอาการ โดยผลการวิจัยดังกล่าวนั้นถือได้ว่าเป็นผลการวิจัยในโลกจริงฉบับแรกๆที่ได้นำเสนอออกมา ยิ่งไปกว่านั้นยังพบด้วยว่าการฉีดวัคซีนบูสเตอร์จะทำให้ภูมิคุ้มกันป้องกันโควิดสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับการฉีดวัคซีนครบโดสแรก
โดยข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 22 เกี่ยวกับผลการฉีดวัคซีนที่มีการเปิดเผยจากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกาหรือว่า CDC ได้มีการเปรียบเทียบระหว่างวัคซีนป้องกันโควิดแบบไบวาเลนต์กับวัคซีนแบบดั้งเดิม ซึ่งข้อมูลดังกล่าวนั้นมาจากการที่หน่วยงานด้านกำกับและดูแลสุขภาพของสหรัฐฯได้ดำเนินการฉีดวัคซีนชนิดใหม่ให้กับเด็กที่มีอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไปในช่วงเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ก่อนที่จะฉีดวัคซีนชนิดใหม่ให้กับเด็กที่อายุเกิน 5 ปี ในช่วงเดือน ต.ค.
สำหรับวัคซีนแบบไบวาเลนต์ชนิดใหม่ที่เพิ่งจะมีการใช้งานครั้งแรกในเดือน ก.ย.นั้นมุ่งเน้นไปที่การป้องกันโควิดทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิม และโควิดโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5 ซึ่งเป็นโควิดที่ครองส่วนแบ่งการระบาดส่วนมากในสหรัฐฯในช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยในปัจจุบันพบว่า 13 เปอร์เซ็นต์ของประชากรผู้ใหญ่และ 65 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่สูงอายุเกิน 65 ปีนั้นได้รับวัคซีนชนิดใหม่ไปแล้ว
นักวิจัยได้มีการเก็บข้อมูลเปรียบเทียบกับข้อมูลของผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนบูสเตอร์แต่ไม่ได้รับวัคซีนประเภทไบวาเลนต์ และผู้ที่ได้รับวัคซีนไบวาเลนต์บูสเตอร์ภายในระยะเวลา 2-3 เดือนหลังจากการฉีดวัคซีนรุ่นดั้งเดิมเพื่อนำมาประกอบการวิจัยด้วย ซึ่งกลุ่มประชากรในการทดลองทั้งหมดนั้นพบว่าเป็นกลุ่มผู้ที่เคยมีอาการของไวรัสโควิด-19 และไม่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ผลการวิจัยพบว่าผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี การฉีดวัคซีนแบบไบวาเลนต์นั้นจะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 28 เปอร์เซ็นต์ ถ้าหากว่าฉีดเป็นระยะเวลาไม่นานหลังจากการฉีดวัคซีนแบบดั้งเดิม และปะสิทธิภาพจะเพิ่มขึ้น 43 เปอร์เซ็นต์สำหรับผู้ที่ทิ้งระยะเวลาการฉีดวัคซีนอยู่ที่ประมาณ 8 เดือนขึ้นไปจากวัคซีนดั้งเดิม
สำหรับผู้ที่อายุระหว่าง 50-64 ปีนั้นมีการประเมินว่าประสิทธิภาพของวัคซีนจะอยู่ที่ 31 เปอร์เซ็นต์ ถ้าหากว่าฉีดเป็นระยะเวลาไม่นานหลังจากการฉีดวัคซีนแบบดั้งเดิม และประสิทธิภาพจะเพิ่มขึ้น 48 เปอร์เซ็นต์สำหรับผู้ที่ทิ้งระยะเวลาการฉีดวัคซีนอยู่ที่ประมาณ 8 เดือนขึ้นไปจากวัคซีนดั้งเดิม
ส่วนผู้ที่อายุระหว่าง 18-49 ปีนั้นมีการประเมินว่าประสิทธิภาพของวัคซีนจะอยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ ถ้าหากว่าฉีดเป็นระยะเวลาไม่นานหลังจากการฉีดวัคซีนแบบดั้งเดิม และประสิทธิภาพจะเพิ่มขึ้น 56 เปอร์เซ็นต์สำหรับผู้ที่ทิ้งระยะเวลาการฉีดวัคซีนอยู่ที่ประมาณ 8 เดือนขึ้นไปจากวัคซีนดั้งเดิม
รัฐเวอร์จิเนียมีความต้องการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ลดลง (อ้างอิงวิดีโอจาก 13News)
ดังนั้นผลการวิจัยจึงสรุปได้ว่าการฉีดวัคซีนเจน 2 ถ้าหากทิ้งช่วงห่างจากการฉีดวัคซีนแบบดั้งเดิมโดสสุดท้ายได้นานเท่าไร ก็จะยิ่งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันได้มากขึ้นเท่านั้น ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญยังได้ให้ความเห็นยืนยันว่าประสิทธิภาพภูมิคุ้มกันไม่ว่าจะมาจากวัคซีนหรือว่ามาจากการติดเชื้อนั้นจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไปนานยิ่งขึ้น นี่จึงเป็นเหตุผลทำให้มีคำแนะนำว่าควรรอหลังจากสามเดือนหลังจากการติดเชื้อจึงจะฉีดวัคซีนบสเตอร์ได้อีกครั้งหนึ่ง
อนึ่งผลการวิจัยดังกล่าวนั้นทดลองกับกลุ่มตัวอย่างจำนวนกว่า 3.6 แสนคนที่ไปฉีดวัคซีน ณ ร้านขายยา 10,000 แห่งทั่วประเทศสหรัฐฯ โดยเริ่มการวิจัยตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย.-11 พ.ย. ซึ่งยังคงเป็นช่วงเวลาที่โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5 ยังคงระบาดอยู่
อย่างไรก็ตามการประมาณการประสิทธิภาพเกี่ยวกับวัคซีนชนิดใหม่นั้นยังเป็นการทดลองแค่ในช่วงเวลาเดียวเท่านั้น เพราะวัคซีนแบบไบวาเลนต์นั้นเพิ่งถูกอนุมัติใช้งานในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ดังนั้นนักวิจัยยังคงไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นนั้นจะอยู่ได้นานแค่ไหน เพราะที่ผ่านมานั้นความสามารถของวัคซีนแบบ mRNA นั้นลดลงเป็นอย่างยิ่งในช่วงเวลาหลายเดือน โดยเฉพาะเมื่อไวรัสมีการวิวัตนาการ อันเป็นสาเหตุทำให้ผู้คนจำนวนมากติดเชื้อไวรัสแม้ว่าจะฉีดวัคซีนหรือว่าฉีดวัคซ๊นบูสเตอร์แล้วในช่วงปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามการป้องกันที่เกิดขึ้นใหม่นั้นสามารถจะป้องกันผลที่เลวร้ายที่เกิดจากโควิดได้ดีกว่าเดิมมาก
แต่ทั้งนี้ผลลัพธ์ใหม่ที่ว่ามานั้นยังคงไม่สามารถจะยุติการถกเถียงในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญได้ว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนการฉีดวัคซีน หรือว่าจะต้องเพิ่มการฉีดวัคซีนแบบดั้งเดิมขึ้นไปอีกเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพคล้ายๆกัน
นักวิจัยยังได้พยายามที่จะเปรียบเทียบประสิทธิภาพของวัคซีนโดยตรวจสอบว่าแอนติบอดีซึ่งเกิดจากการฉีดวัคซีนที่แตกต่างกันออกไปนั้นจะรับมือกับสายพันธุ์ที่แตกต่างกันออกไปอย่างไร ด้วยการทดลองในห้องแล็บ ซึ่งผลการศึกษาบางส่วนนั้นแสดงให้เห็นว่าวัคซีนชนิดใหม่ดูจะยังไม่ให้ภูมิคุ้มกันที่ครอบคลุมมากกว่าสูตรการใช้วัคซีนแบบดั้งเดิม
ประเทศสิงคโปร์เริ่มกระบวนการฉีดวัคซีนแบบไบวาเลนต์ (อ้างอิงวิดีโอจาก CNA)
แต่ก็มีนักวิจัยอีกส่วนหนึ่งเชื่อกันว่าวัคซีนไบวาเลนต์นั้นสามารถที่จะป้องกันโควิดโอไมครอนที่กำเนิดสายพันธุ์ย่อยต่างๆออกมามากมายได้
ขณะที่บริษัทไฟเซอร์และไบออนเทคและบริษัทโมเดอร์นาได้ออกมากล่าวว่าพวกเขานั้นเห็นข้อมูลภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้นจากผลการทดลองวัคซีนที่อัปเดตแล้วเมื่อต้องรับมือกับโควิดสายพันธุ์โอไมครอน
“มันเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าวัคซีนแบบไบวาเลนต์เพื่อป้องกัน BA.4/BA.5 หรือที่เราเรียกกันว่าวัคซีนอัปเดตนั้นสามารถจะทำให้เกิดการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันต่อ BA.4/5 และสายพันธุ์ย่อยอื่นๆได้ดีกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม” นพ.นายแอนโธนี เฟาชี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อชั้นนําของประเทศกล่าวที่ทําเนียบขาว
ทว่าผลการศึกษาฉบับใหม่นั้นยังคงมีข้อจำกัดหลายประการ อาทิ ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโดยเฉพาะผู้ที่รีบออกไปรับบูสเตอร์ไบวาเลนต์อาจมีพฤติกรรมหรือปัจจัยเสี่ยงที่แตกต่างกันในการติดเชื้อโควิด และก็มีความเป็นไปได้อีกเช่นกันว่ามีประชากรบางส่วนนั้นอาจจะเคยติดเชื้อไปแล้วแต่ว่าไม่มีอาการหรือว่ามีอาการน้อยมาก คนกลุ่มนี้จึงไม่ได้ไปรับการตรวจหาเชื้อ และทำให้คนกลุ่มนี้มีภูมิป้องกันโควิดเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย