“…หากกรณีมีผู้ร้องเรียนต่อหน่วยงานของรัฐ และเป็นที่ประจักษ์ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐภายใต้การบังคับบัญชาของตนจงใจปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ของขวัญหรือรับของขวัญโดยฝ่าฝืนระเบียบนี้ ให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามข้อ 13 พร้อมทั้งให้ความคุ้มครองแก่ผู้แจ้งเบาะแสด้วย…”
.......................................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการ 'ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. ...' เพื่อปรับปรุงแนวทางปฏิบัติในการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
โดยมุ่งส่งเสริมกลไกการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ และให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2544 นั้น (อ่านประกอบ : ห้ามเกิน 3 พันบ.! ครม.เห็นชอบ'ร่างระเบียบฯ'แนวปฏิบัติเจ้าหน้าที่รัฐ รับ-ให้'ของขวัญ'ฉบับใหม่)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอสรุปสาระสำคัญของร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. ... ที่ ครม.มีมติให้ความเห็นชอบในหลักการ และให้รับความเห็นของหน่วยงานต่างๆไปปรับปรุงร่างระเบียบดังกล่าวก่อนประกาศใช้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
@ปรับปรุงบทนิยาม ‘ของขวัญ-เจ้าหน้าที่ของรัฐ-บุคคลในครอบครัว’
คำปรารภ
เนื่องจากร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ.... เป็นการแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
ตลอดจนสถานการณ์และบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงการไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม เพื่อให้ระบบราชการไทยโปร่งใส ไร้ผลประโยชน์ และเพื่อเสริมมาตรการของคณะกรรมการข้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จึงได้มีการแก้ไขคำปรารภใหม่
บทอาศัยอำนาจ
ร่างระเบียบนี้ออกโดยอาศัยอำนาจของนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ตามความในมาตรา 11 (8) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มีรายละเอียด ดังนี้
ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. …”
ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3 บทยกเลิกระเบียบ
เนื่องจากร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. มีการแก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในหลายส่วน เช่น คำนิยาม แนวทางการดำเนินการภายหลังการรับของขวัญโดยฝ่าฝืนระเบียบ แนวทางในการคืนของขวัญ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ
และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไข ตลอดจนสถานการณ์และบริบทต่างที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ.2544
ข้อ 4 บทนิยาม
แก้ไขบทนิยามคำว่า “ของขวัญ” ให้หมายถึง เงินหรือทรัพย์สิน รวมถึงประโยชน์อื่นใด ที่ให้แก่กันในโอกาสต่างๆ โดยปรับถ้อยคำจากเดิมให้เข้าใจง่ายขึ้น และสอดคล้องกับกรณีการรับทรัพย์สินตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
เพิ่มบทนิยามคำว่า “ทรัพย์สิน” เพื่อให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นโดยระบุให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และครอบคลุมถึงสินทรัพย์ดิจิทัลตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย
คงความหมาย “ปกติประเพณีนิยม” ตามระเบียบฉบับเดิมไว้ที่ให้หมายความว่า เทศกาลหรือวันสำคัญ ซึ่งอาจมีการให้ของขวัญกัน และให้หมายความรวมถึงโอกาสในการแสดงความยินดี การแสดงความขอบคุณ การต้อนรับ การแสดงความเสียใจ หรือการให้ความช่วยเหลือตามมารยาทที่ถือปฏิบัติกันในสังคมด้วย
แก้ไขบทนิยามคำว่า “หน่วยงานของรัฐ” เนื่องจากร่างระเบียบฉบับนี้ มีเจตนารมณ์ให้ครอบคลุมหน่วยงานของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหารที่มีสถานะเป็นนิติบุคคลทั้งหมด จึงแก้ไขคำนิยามเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการจำแนกประเภทหน่วยงานของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหารตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2552 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 เรื่อง การปรับปรุงหลักการจำแนกประเภทหน่วยงานของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหาร
แก้ไขบทนิยามคำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” โดยเพิ่มผู้ปฏิบัติงานอื่น เพื่อให้ครอบคลุมบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่น ซึ่งนอกเหนือจากข้าราชการ พนักงานและลูกจ้าง
คงความหมาย “ผู้บังคับบัญชา” ตามระเบียบฉบับเดิมไว้ ที่ให้หมายความรวมถึง ผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าหน่วยงานที่แบ่งเป็นการภายในของหน่วยงานของรัฐและผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงกว่าและได้รับมอบหมายให้มีอำนาจบังคับบัญชา หรือกำกับดูแลด้วย
แก้ไขบทนิยามคำว่า “บุคคลในครอบครัว” โดยเพิ่มบุคคลซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยา โดยมิได้จดทะเบียนสมรสอันถือว่าเป็นคู่สมรส ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกำหนดไว้ และบุตรบุญธรรม ผู้รับบุตรบุญธรรม เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพครอบครัวในปัจจุบัน
ข้อ 5 กรณีระเบียบฉบับนี้ไม่ใช้บังคับ
ระเบียบนี้ไม่ใช้บังคับกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
@ห้ามให้ ‘ของขวัญ’ ผู้บังคับบัญชา เว้นแต่เป็นการให้ตามประเพณีนิยม
ข้อ 6 หลักการห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ของขวัญกับผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลในครอบครัวของผู้บังคับบัญชา
กำหนดห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ของขวัญแก่ผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลในครอบครัวของผู้บังคับบัญชา เว้นแต่เป็นการให้ตามปกติประเพณีนิยม ซึ่งมีราคาหรือมูลค่าไม่เกินสามพัน (3,000) บาท จากผู้ให้แต่ละคนและแต่ละโอกาส หรือตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกำหนดไว้
ข้อ 7 ข้อห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการใดๆ ในการให้ของขวัญกับผู้บังคับบัญชา
กำหนดห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐจะกระทำการใดๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดเพื่อมอบให้หรือจัดหาของขวัญให้ผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลในครอบครัวของผู้บังคับบัญชา ซึ่งเป็นการขยายความจากระเบียบฉบับเดิมที่กำหนดเพียงห้ามทำการเรี่ยไรเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดหรือใช้เงินสวัสดิการใดๆ เท่านั้น
ข้อ 8 หลักการห้ามผู้บังคับบัญชาให้บุคคลในครอบครัวรับของขวัญจากผู้ใต้บังคับบัญชา
กำหนดห้ามผู้บังคับบัญชายินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลในครอบครัวของตนรับของขวัญจากเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลในครอบครัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นผู้อยู่ในบังคับบัญชาเว้นแต่เป็นการรับของขวัญตามข้อ 6
ข้อ 9 หลักการห้ามผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้บุคคลในครอบครัวรับของขวัญจากผู้ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
กำหนดห้ามผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลในครอบครัวของตนรับของขวัญอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่เป็นการรับของขวัญตามข้อ 6
หรือการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกำหนดไว้สำหรับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
ข้อ 10 กำหนดบุคคลและลักษณะที่เข้าข่ายเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามข้อ 9
กำหนดบุคคลดังต่อไปนี้ เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้แก่ ผู้มาติดต่องาน ผู้ซึ่งได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกำลังพิจารณา ในลักษณะเป็นผู้ซึ่งมีคำขอให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด
ผู้ซึ่งประกอบธุรกิจหรือมีส่วนได้เสียในธุรกิจที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ ผู้ซึ่งกำลังดำเนินกิจกรรมใดๆ ที่มีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ควบคุมหรือกำกับดูแล ผู้ซึ่งอาจได้รับประโยชน์หรือผลกระทบจากการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
@กำหนดแนวปฏิบัติการจัดการ ‘ของขวัญ’ ที่รับโดยฝ่าฝืนร่างระเบียบ
ข้อ 11 การดำเนินการเมื่อครอบครัวเจ้าหน้าที่ของรัฐรับของขวัญมาโดยฝ่าฝืนระเบียบ
กำหนดวิธีการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรายงานข้อเท็จจริงต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้นจนถึงผู้บังคับบัญชาสูงสุดภายในสามสิบ (30) วัน นับแต่วันที่ได้ทราบ ตามแบบที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้กำหนดไว้
ข้อ 12 การดำเนินการกับของขวัญที่ได้รับมาโดยฝ่าฝืนระเบียบ
กำหนดขั้นตอนในการดำเนินการกับของขวัญที่ได้รับมาหากผู้บังคับบัญชาสูงสุดเห็นว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบนี้ให้มีคำสั่งคืนของขวัญนั้นแก่ผู้ให้โดยทันที ในกรณีที่ไม่สามารถคืนได้ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรายงานเหตุผลที่ไม่สามารถคืนได้และส่งของขวัญที่ได้รับให้เป็นสิทธิของหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นสังกัดโดยเร็ว
และให้หน่วยงานของรัฐเก็บรักษาของขวัญนั้นไว้ตามระยะเวลาที่ระเบียบกำหนดไว้ เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวหรือในระหว่างเวลาดังกล่าวหากการเก็บรักษาไว้จะเป็นภาระแก่ทางราชการมากเกินสมควร หรือจะกระทบต่อมูลค่าสินทรัพย์นั้นอย่างมีนัยสำคัญ
ผู้บังคับบัญชาสูงสุดอาจสั่งให้นำของขวัญนั้นออกขาย แลกเปลี่ยน โอน แปรสภาพหรือทำลาย ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐได้ แต่หากเป็นของขวัญ เช่น สินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐได้ ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และนำเงินที่ได้ส่งคืนเป็นรายได้ของแผ่นดิน
ข้อ 13 บทลงโทษ
ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใด จงใจปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ของขวัญหรือรับของขวัญโดยฝาผืนระเบียบนี้ ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยหรือไม่ประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และให้ดำเนินการตามกฎหมาย กฎ ประมวลจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป
@กำหนดหน้าที่ ‘ผู้บังคับบัญชา’ ให้มีหน้าที่คุ้มครองแก่ ‘ผู้แจ้งเบาะแส’
ข้อ 14 กำหนดหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐในการสอดส่อง ดูแล และให้คำแนะนำ
กำหนดให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งมีหน้าที่สอดส่อง ดูแลและให้คำแนะนำในการปฏิบัติตามระเบียบนี้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐภายใต้การบังคับบัญชาของตน และหากกรณีมีผู้ร้องเรียนต่อหน่วยงานของรัฐ และเป็นที่ประจักษ์ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐภายใต้การบังคับบัญชาของตนจงใจปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ของขวัญหรือรับของขวัญโดยฝ่าฝืนระเบียบนี้ ให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามข้อ 13 พร้อมทั้งให้ความคุ้มครองแก่ผู้แจ้งเบาะแสด้วย
แต่หากมีการร้องเรียนไปยังสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีแจ้งไปยังผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นเพื่อดำเนินการตามระเบียบนี้ต่อไป
ข้อ 15 การเสริมสร้างค่านิยมการแสดงออกในโอกาสต่างๆ แทนการให้ของขวัญ
กำหนดให้ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่เสริมสร้างค่านิยมการแสดงออกในโอกาสต่างๆ เช่น การใช้บัตรอวยพร การลงนามในสมุดอวยพร การสื่อสารผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือการทำกิจกรรมจิตอาสา แทนการให้ของขวัญ
ข้อ 16 บทรักษาการ
กำหนดให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีรักษาการตามระเบียบนี้ และเพิ่มอำนาจในการตีความ และวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้
เหล่านี้เป็นรายละเอียดของ ‘ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. ...’ ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุง และเตรียมประกาศลงราชกิจจานุเบกษาในเร็วๆนี้
อ่านประกอบ :
ห้ามเกิน 3 พันบ.! ครม.เห็นชอบ'ร่างระเบียบฯ'แนวปฏิบัติเจ้าหน้าที่รัฐ รับ-ให้'ของขวัญ'ฉบับใหม่