“...เท่าที่ตรวจสอบ ไม่พบรายการนาฬิกาหรูในรายการการจัดการมรดก แต่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ได้ตั้งข้อสังเกตว่า แม้จะไม่พบรายการดังกล่าวในช่วงที่จัดการมรดก แต่ในช่วงระหว่าง 2-3 เดือนหลังจากนายปัฐวาทเสียชีวิต หรือก่อนที่จะมาแจ้งให้ตนเป็นผู้จัดการมรดก อาจจะมีการแบ่งสรรนาฬิกาไปก่อนก็ได้ ซึ่งในส่วนนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรก็ไม่ทราบแน่ชัด…”
กรณีการยืมนาฬิกาหรูเพื่อนมาสวมใส่ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กลับมาเป็นประเด็นร้อนทางสังคมอีกครั้ง
หลังปรากฏข่าวว่า เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2565 ที่ผ่านมา นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โฆษกกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ออกมาเปิดเผยต่อสาธารณชน ว่า กมธ.ป.ป.ช. ได้เชิญ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกฯ ในฐานะผู้จัดการมรดก นายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ เพื่อนของ พล.อ.ประวิตรที่เสียชีวิตไป ที่ถูกอ้างว่าเป็นเจ้าของนาฬิกาหรู 20 เรือนที่ยืมมาใส่ มาให้ข้อมูลถึงทรัพย์สินของนายปัฐวาท มีรายการนาฬิกาหรูอยู่ในบัญชีมรดกหรือไม่ โดยได้รับคำชี้แจงจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธรว่า ไม่มีนาฬิกาหรูอยู่ในบัญชีมรดกของนายปัฐวาท แต่ก่อนหน้านี้จะเป็นอย่างไรไม่ทราบ
นายธีรัจชัย ยังย้ำด้วยว่า "จึงมีข้อน่าสงสัยว่า พล.อ.ประวิตรยืมนาฬิกาใครมาใส่ หากไม่มีอยู่ในมรดกของนายปัฐวาท ถ้านายปัฐวาทเสียชีวิต เดือน ก.พ.2560 ตามกฎหมายเมื่อเจ้าของมรดกเสียชีวิต ทรัพย์มรดกย่อมตกแก่ทายาท คือลูกของนายปัฐวาท"
"นาฬิกาหรูที่ตกเป็นข่าว อยู่กับ พล.อ.ประวิตร เดือน ธ.ค.2560 ห่างจากที่นายปัฐวาทเสียชีวิตไปแล้ว 10 เดือน จึงอธิบายยากว่าเป็นนาฬิกายืมเพื่อน ควรเป็นนาฬิกายืมลูกเพื่อนมากกว่า หรือถ้านาฬิกาหรูไม่ใช่ทรัพย์สินนายปัฐวาทแล้ว พล.อ.ประวิตรยืมนาฬิกาใครมาใส่ ข้อเท็จจริงที่ พล.อ.ประวิตรให้การจึงขัดกันเอง อธิบายยากว่าเป็นของนายปัฐวาท"
@เปิดคำให้การ 'หม่อมอุ๋ย'
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งข่าวใน กมธ.ป.ป.ช. เกี่ยวกับรายละเอียดการเชิญ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร มาให้ข้อมูลถึงทรัพย์สินของนายปัฐวาทดังกล่าว
แหล่งข่าวใน กมธ.ป.ป.ช. เล่าว่า ในการเข้าชี้แจงข้อมูล ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ได้เล่าถึงที่มาการเป็นผู้จัดการมรดกของนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ ว่า เกิดขึ้นในช่วงหลังจากที่นายปัฐวาทเสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2560 ประมาณ 2-3 เดือน ได้รับการติดต่อจากทายาทของนายปัฐวาทให้มาเป็นผู้จัดการมรดก เพราะมีทรัพย์สินหลายรายการที่ต้องทำการจดทะเบียนและใช้หนังสือเอกสารประกอบ เช่น ทรัพย์สินอสังหาริมทรัพย์, รถยนต์, เงินสดในธนาคาร และหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น
หลังจากนั้นทายาทก็ยื่นเรื่องต่อศาลแพ่ง ขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก ซึ่งทรัพย์สินของนายปัฐวาทใช้เวลาประมาณ 6-7 เดือน ในการตรวจสอบและจัดสรรทรัพย์สินทั้งหมดให้ทายาท
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ได้ยืนยันต่อที่ประชุมว่า "เท่าที่ตรวจสอบ ไม่พบรายการนาฬิกาหรูในรายการการจัดการมรดก"
อย่างไรก็ดี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า แม้จะไม่พบรายการดังกล่าวในช่วงที่จัดการมรดก แต่ในช่วงระหว่าง 2-3 เดือนหลังจากนายปัฐวาทเสียชีวิต หรือก่อนที่จะมาแจ้งให้เป็นผู้จัดการมรดก อาจจะมีการแบ่งสรรนาฬิกาไปก่อนก็ได้ ในส่วนนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรก็ไม่ทราบแน่ชัด
แหล่งข่าวยืนยันว่า ในการเข้าชี้แจงครั้งนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรได้มอบเอกสารชี้แจงการจัดการมรดกของนายปัฐวาทให้กับกรรมาธิการครบแล้ว แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะทางกรรมาธิการมองว่าไม่อยากให้เปิดเผยเอกสาร หลักฐานในส่วนนี้
@ถก กมธ. เชิญ ป.ป.ช. หารือ ฟื้นคดีนาฬิกา
ขณะที่ นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โฆษกกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า หลังจากเชิญม.ร.ว. ปรีดิยาธร มาให้ข้อมูลแล้ว หลังจากนี้จะหารือกับกมธ.ป.ป.ช. เพื่อเชิญนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาสอบถามถึงการขอรื้อฟื้น กรณีการถือครองนาฬิกาหรูจำนวน 22 เรือน ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ปรากฏในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. อีกครั้งหนึ่ง หลังจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ระบุว่า นาฬิกาทั้งหมดไม่มีในทรัพย์สินของนายปัฐวาท ตามที่พล.อ.ประวิตร ชอบกล่าวถึง
ทั้งนี้ เนื่องจากประเด็นนี้ นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส. กทม. พรรคเพื่อไทย จึงต้องหารือกันในกมธ.ก่อน ส่วนปลายทางจะไปถึงการแจ้งข้อกล่าวหายื่นบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จกับ พล.อ.ประวิตร หรือไม่นั้น คงต้องเป็นกระบวนการทีทาง คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องดำเนินการเองก่อน แต่กมธ.ป.ป.ช.จะสรุปเรื่องนี้ให้เสร็จภายในวาระประชุมนี้ แล้วจะส่ง ป.ป.ช.ต่อไป
เมื่อถามว่า จะเชิญทางฝั่ง พล.อ.ประวิตร มาชี้แจงข้อเท็จจริงในส่วนนี้หรือไม่ นายธีรัจชัย ตอบว่า หากเชิญไป พล.อ.ประวิตรก็คงไม่มา
นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โฆษกกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) ภาพจาก Facebook: ธีรัจชัย พันธุมาศ - Teerajchai Phunthumas
ทั้งหมดนี่ เป็นข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับรายละเอียดคำให้การของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกฯ ในฐานะผู้จัดการมรดก นายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ ต่อ กมธ.ป.ป.ช. เกี่ยวกับนาฬิกาหรู 20 เรือน ที่ พล.อ.ประวิตร หยิบยืมมาใส่ ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบล่าสุด
หากมีรายละเอียดเพิ่มเติม จะนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับกรณี นาฬิกาหรู 20 เรือน ของ พล.อ.ประวิตร สวมใส่ นั้น ก่อนหน้านี้ นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา เคยตั้งคำถามกับสำนักงาน ป.ป.ช. ถึงเงื่อนปมคดียืมนาฬิกามูลค่า 3 ล้านบาทต่อเนื่องกันเป็นเวลา 10 เดือนเป็นอย่างน้อยตั้งแต่ผู้ให้ยืมเสียชีวิต การยืมแบบนี้นั้นถือว่าเป็นการให้ทรัพย์สินที่มูลค่าเกินกว่า 3,000 บาทหรือไม่ มาแล้ว
เบื้องต้น นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. ตอบคำถามว่า ในประเด็นการกล่าวหาเรื่อง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในกรณีเรื่องการยืมนาฬิกาเพื่อนนั้น ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีการวินิจฉัยไปแล้วว่าการยืมทรัพย์สินตัวนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินของเขาเอง เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องลงรายการในบัญชีทรัพย์สิน เรื่องนี้จบไปแล้ว
"ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือว่าแล้วการยืมนั้นเป็นการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเกินกว่า 3,000 บาท ตามประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในมาตรา 103 ตามกฎหมายเดิมหรือไม่ เรื่องนี้ทางเจ้าหน้าที่เจ้าของเรื่องได้มีการตรวจสอบรายละเอียดรวมทั้งมูลค่า มีการขอทราบข้อเท็จจริงไปยังกรมศุลกากรกรณีที่มีบุตรสาวของทางผู้ให้ยืมนาฬิกาไปเสียค่าปรับนาฬิกา เพราะฉะนั้นขั้นตอนในกระบวนการเหล่านี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อเท็จจริงและมันจะมีข้อกฎหมายตามมาว่าการให้ยืมนั้นถือเป็นประโยชน์อื่นใดหรือไม่"
เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวด้วยว่า "นี่ถือเป็นประเด็นกฎหมายที่สำคัญ เพราะว่าการยืมมันจะมีอยู่สองกรณีคือยืมแบบมีมูลค่า เช่น เวลาที่เราไปเช่าสินค้าหรือเช่ารถยนต์ในทางธุรกิจ มันก็จะมีลักษณะของการประกอบธุรกิจซึ่งมันมีมูลค่าอยู่ แต่ในกรณีที่เพื่อนซึ่งให้ยืมกันเอง การคิดมูลค่า ตรงนี้นั้นจะสามารถคิดมูลค่าเป็นเงินได้หรือไม่ เพราะบางครั้งมันอาจจะเป็นเรื่องน้ำใจ หรือว่าเขามีสิ่งของซึ่งเขาอาจจะให้ยืมไปก่อนหรืออะไรต่าง ๆ นั้นตรงนี้ถือเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยพอสมควร"
"ในปัจจุบันเราก็ให้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติม ความจริงนั้นมีการเข้าอนุกรรมการกลั่นกรองมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ประเด็นนั้นยังไม่ตกผลึก ก็เลยต้องให้มีการไปตรวจสอบว่าในประเด็นที่มีการเสียค่าปรับที่ศุลกากรนั้นมีมูลค่าเท่าไรกันแน่ ซึ่งเข้าใจว่าทางศุลกากรส่งรายละเอียดมาให้แล้ว แต่คงต้องตรวจสอบอีกว่าเรื่องนี้ไปถึงไหน สรุปหรือยัง" เลขาธิการ ป.ป.ช. ระบุ
ขณะที่ คณะอนุกรรมการกลั่นกรองเรื่องกล่าวหาประจำสำนักไต่สวนการทุจริตภาคการเมืองและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ได้ตีตกข้อกล่าวหา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี "ประยุทธ์ 1" รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด จากบุคคล นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมายกรณียืมนาฬิกาหรู จำนวน 25 เรือน ของเพื่อนมาใช้ ในประเด็นข้อกล่าวหาสุดท้าย ว่าการยืมนาฬิกาหรูแบบนี้ถือว่าเป็นการให้ทรัพย์สินที่มูลค่าเกินกว่า 3,000 บาทหรือไม่
เบื้องต้น พนักงานเจ้าหน้าที่มีความเห็นว่า ผู้ถูกร้องยืมนาฬิกา จำนวน 22 เรือน มาจากนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ และเมื่อใช้เสร็จก็ได้คืนเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งเป็นการยืมใช้คงรูป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 640, 641 ดังนั้น การได้รับประโยชน์ใช้สอยจากนาฬิกาจึงเป็นประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมายที่ผู้ยืมพึงมีสิทธิได้รับ การกระทำของผู้ถูกร้องจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 103 เห็นควรไม่รับเรื่อง
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการดำเนินการสอบสวนของคณะอนุกลั่นกรองฯ ที่ผ่านมา ได้มีการให้ขอทราบผลการดำเนินการของกรมศุลกากร ซึ่งมีการตรวจสอบแล้ว พบว่า น.ส.จุติพร สุขศรีวงศ์ ผู้รับมรดก เป็นผู้ครอบครองนาฬิกา จำนวน 20 เรือน แต่ไม่ทราบว่า ผู้ใดนำเข้ามาในประเทศไทย และไม่ทราบว่าบิดาครอบครองมาตั้งแต่เมื่อใด
นอกจากนี้ คณะอนุกลั่นกรองฯ ยังมีการขอเอกสารการเรียกเก็บภาษีนำเข้านาฬิกา จำนวน 20 เรือน ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้ว พบว่า กรมศุลกากร ได้ทำความตกลงระงับคดีและจำหน่ายนาฬิกาจำนวน 20 เรือน คืนให้แก่ น.ส.จุติพร ในราคารวมค่าภาษีอากรเป็นเงิน 19,979,523.96 บาท ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ประกอบประมวลระเบียบปฏิบัติศุลกากร พ.ศ. 2560
คณะอนุกลั่นกรองฯ ได้ส่งประเด็นข้อกฎหมายให้สำนักการขัดกันแห่งผลประโยชน์วินิจฉัย ซึ่งสำนักการขัดกันฯ แจ้งว่า คณะอนุกรรมการป้องกันฯ ไม่มีอำนาจพิจารณาให้ความเห็นด้วย
ซึ่งความเห็นของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองเรื่องกล่าวหาประจำสำนักไต่สวนการทุจริตภาคการเมืองและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่ให้ตีตกข้อกล่าวหา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ดังกล่าว มีการเสนอเรื่องให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ พิจารณาด้วย
อ่านประกอบ :
- ทำความเข้าใจช่องทางถอด กก.ป.ป.ช. ปมตีตกคดีนาฬิกาหรู-‘พรเพชร’ตัวแปรสำคัญ?
- 'ศรีสุวรรณ'ล่า 2 หมื่นชื่อชงถอดถอน 5 กก.ป.ป.ช.ข้างมากตีตกคดีนาฬิกา'บิ๊กป้อม'
- ชอตต่อชอต! เทียบคดีนาฬิกาหรู 'บิ๊กป้อม' - รถโฟล์คตู้ ‘สุพจน์’
- เบื้องหลัง กก.ป.ป.ช. เสียงข้างมาก ลงมติ 5:3 ตีตกคดีนาฬิกาหรู'บิ๊กป้อม' ยืมเพื่อนไม่ผิด!
- ยืมเพื่อนไม่ผิด! ป.ป.ช.มติ 5 ต่อ 3 ตีตกคดีนาฬิกาหรู'บิ๊กป้อม'
- ปิดม่านมหากาพย์นาฬิกาเพื่อน‘บิ๊กป้อม’ ป.ป.ช.ตีตก-เหลือปมรับทรัพย์สินเกิน 3 พัน?