“ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ระหว่างนายศรีสุวรรณ กับ นายวีรวิทย์ เป็นผลสะท้อนจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ฝังอยู่ในรากลึกของสังคมไทยมาอย่างยาวนาน จนเกิดการแบ่งขั้วทางการเมือง (political polarization) ในหมู่สังคมไทยขึ้น เมื่อสมาชิกในสังคมมีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกัน จึงเป็นเรื่องปรกติที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง”
กรณี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ถูก นายวีรวิทย์ รุ่งเรืองศิริผล สมาชิกกลุ่มศักดินาเสื้อแดงต้านเผด็จการ ทำร้ายร่างกายขณะที่เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนขอให้ตรวจสอบ ‘เดี่ยวไมโครโฟน 13’ ของ โน้ต อุดม แต้พาณิช กรณีพูดพาดพิงถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาล ว่ามีลักษณะเข้าข่ายยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นกระทำความผิดหรือไม่? ที่เกิดขึ้นไปเมื่อเร็ว ๆ นี้
กลายเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่ทำให้ผู้คนในสังคมไทยได้ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านโซเชียลมีเดียกันอย่างกว้างขวาง จนแฮ็กแท็ก #ศรีสุวรรณ ขึ้นอันดับ 1 บนเทรนทวิตเตอร์ของประเทศไทย โดยความเห็นส่วนใหญ่แบบออกเป็น 2 ฝ่ายหลัก ๆ คือฝ่ายที่สนับสนุนผู้ก่อเหตุทำร้ายนายศรีสุวรรณ ว่า ‘เป็นตัวแทนของคนไทยทั้งประเทศ’, ‘โดนบ้างสักที’ หรือมีการล้อเลียนเหตุการณ์ดังกล่าวที่แสดงออกไปในเชิงสนับสนุนการใช้ความรุนแรง และฝ่ายที่มองว่าการกระทำนี้ถือเป็นการใช้ความรุนแรง และไม่ควรสนับสนุนความรุนแรงใด ๆ ทั้งสิ้น
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาปรากฏการณ์นี้โดยละเอียด จะพบว่ามีข้อสังเกตสำคัญหลายประการที่สะท้อนให้เห็นถึงนัยยะสำคัญปัญหาเรื่องการใช้ความรุนแรงในการตัดสินปัญหาของคนในสังคม อันมีรากฐานสำคัญมาจากเรื่องความเห็นต่างทางการเมืองอย่างชัดเจนมากที่สุด
ขณะที่การใช้ความรุนแรงตัดสินปัญหา ดูเหมือนจะกลายเป็นธรรมดา เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในสังคมไทยไปแล้ว?
ดร.นิชานท์ สิงหพุทธางกูร อาจารย์สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ กับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ไว้อย่างน่าสนใจว่า นายศรีสุวรรณ อาจจะไม่บาดเจ็บมีแผล แต่อาจจะเสียหน้าและเจ็บใจมากกว่า โดยเฉพาะสังคมไทยเสียหน้าไม่ได้ (losing face) ซึ่งนายศรีสุวรรณมีพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้น เพราะไม่ควรมีใครถูกใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะมีความขัดแย้งมากเพียงใด
“นายศรีสุวรรณแม้จะเป็นนักร้องแต่ไม่เคยทำร้ายใครโดยใช้ความรุนแรง อีกทั้งยังเน้นย้ำถึงสังคมประชาธิปไตยควรเจรจารับฟังกัน แต่นายศรีสุวรรณ อยากฟ้องเรื่องเล็กใหญ่ต้องฟ้องได้ ทำได้ทุกครั้งที่อยากทำ ไม่ต้องพูดจากันให้เสียเวลา” ดร.นิชานท์ กล่าว
ดร.นิชานท์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม จุดยืนของนายศรีสุวรรณ ยังคงตั้งหน้าตั้งตาฟ้องต่อไปเรื่อย ๆ ถนัดและสะดวกแบบนี้ ซึ่งมีผลต่ออารมณ์ของสังคม
ส่วนนายวีรวิทย์ หรือ ลุงเสื้อแดง ที่ภูมิใจกับสิ่งที่กระทำลงไป และชี้ให้เห็นถึงความกล้าหาญครั้งนี้ ยอมรับใช้ความรุนแรงแต่จำเป็น ลุงเสื้อแดงได้ตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ ความรู้สึกของตนเองอย่างถึงที่สุด ถึงแม้ว่าจะพลาดเป้าสำคัญ แต่ลุงเสื้อแดงรู้สึกได้ทำหน้าที่สำคัญแทนกลุ่มก้อนของตนเองที่เป็นที่รัก และเป็นการบอกนายศรีสุวรรณว่า ทนไม่ไหวแล้วด้วยการใช้ความรุนแรง เพราะมันเกินไป ร้องเฉพาะคนด้านอื่น
ถึงแม้ว่า ลุงเสื้อแดงจะใช้ความรุนแรง ตอบสนองตัวเองและกลุ่ม และยอมรับในสิ่งที่ตนเองทำ แต่ก็อาจจะกังวลเรื่องการหาเงินสำหรับการถูกฟ้อง
“ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ระหว่างนายศรีสุวรรณ กับ นายวีรวิทย์ เป็นผลสะท้อนจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ฝังอยู่ในรากลึกของสังคมไทยมาอย่างยาวนาน จนเกิดการแบ่งขั้วทางการเมือง (political polarization) ในหมู่สังคมไทยขึ้น เมื่อสมาชิกในสังคมมีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกัน จึงเป็นเรื่องปรกติที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง”
“เมื่อสังคมไทยมีความขัดแย้งทางการเมือง ทหารจึงทำการรัฐประหารเข้ามา และบอกว่า จะสร้างความสงบสุขให้ประชาชน ซึ่งคือเหตุผลในการทำรัฐประหาร แต่เวลาผ่านไปไม่มีแม้แต่ครั้งเดียว ที่จะ “แก้ไขความขัดแย้งให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้” (conflict resolution) แต่ทำเพียงการระงับความรุนแรง (crisis management) ไม่ให้เกิดและเรียกสิ่งนี้ว่า ‘ความสงบสุข’ ซึ่งมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเป็นอย่างมาก ระหว่างความคิดเรื่อง ‘ความขัดแย้ง’ กับ ‘ความรุนแรง’ ที่มันสัมพันธ์กันแต่ไม่เหมือนกัน”
“ทั้งนี้ ทหารระงับความรุนแรงในสังคมใหญ่ได้ดี แต่ในสังคมเล็ก ๆ ความขัดแย้งได้พัฒนาขึ้นไปสู่ความรุนแรงจากทั้งของเดิมที่แฝงไว้ และที่สะสมเพิ่มเติมขึ้นใหม่ในโครงสร้างทางสังคมต่าง ๆ มันกระจายตัวมากขึ้น และกว้างออกไปในทุกสถาบันของสังคม เพราะความขัดแย้งใจกลางที่ไม่ได้รับการรับมือจึงพัฒนาไปสู่ความรุนแรงย่อย ๆ ต่อไป” ดร.นิชานท์ กล่าว
ดร. นิชานท์ สิงหพุทธางกูร อาจารย์สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
ดร.นิชานท์ ยังกล่าวย้ำว่า สังคมไทยเป็นสังคมแห่งอารมณ์ (emotionalize) มากกว่าสังคมแห่งเหตุผล (rationalize) ซึ่งส่งผลให้คนไทยบางคน เป็นคนแบบนายศรีสุวรรณ และเป็นคนแบบลุงเสื้อแดง และอีกหลาย ๆ คนในแบบของตนเอง ผ่านมุมมอง ประสบการณ์ชีวิต และวัยที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติที่นำไปสู่ความไม่ลงรอยกัน แต่ไม่ควรพัฒนาไปสู่การใช้ความรุนแรง
ดังนั้น อย่างน้อยหลักเหตุผลเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรง ต้องเป็นพื้นฐานในการสอนในโรงเรียน ซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่างกัน หากเราบอกว่าเราคือสังคมประชาธิปไตย ที่ให้ความสำคัญกับหลักนิติรัฐ และหลักนิติธรรมเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ดังนั้นเราก็ไม่ที่จะใช้ความรุนแรงต่อกัน เมื่อเรามีความเห็นที่ไม่ตรงกัน ซึ่งมันสามารถเป็นตัวบ่งบอกถึงระดับประชาธิปไตยของสมาชิกในสังคมเป็นอย่างไร (infantcy) ทุกฝ่ายเชื่อว่าตนเองมีสิทธิ ทำได้ โดยไม่ต้องคิดถึงคนอื่นในสังคม
“สังคมไทยยังรับมือกับความขัดแย้งไม่ดีพอ และไม่ได้เป็นสังคมที่เห็นอกเห็นใจผู้อื่นจริง (sympathy and empathy) ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ การออกแบบการรับมือความขัดแย้งทางการเมืองไม่ดีพอ ล้มเหลว เลือกใช้วิธีการที่ไม่ควรใช้ และทำให้ความขัดแย้งลุกลามและลงเอยเป็นความรุนแรงทางตรง โครงสร้าง และวัฒนธรรมในสถาบันต่าง ๆ ทางสังคม”
“สังคมไทยมีความรู้น้อยในการรับมือความขัดแย้งไม่ให้นำไปสู่ความรุนแรงและสร้างการอยู่ร่วมกันในสังคมแห่งความหลากหลายที่มีความขัดแย้ง ปรากฏการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นต่อไป และถี่มากขึ้นเรื่อย ๆ ในสังคม ซึ่งเราได้ความรู้จากเรื่องความขัดแย้งและความรุนแรงของครั้งนี้มากพอสมควร สุดท้ายแล้ว ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมชาติ ความรุนแรงเป็นเรื่องที่เราต้องป้องกัน ความท้าทายอยู่ที่เราจะรับมือการแก้ไขแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งอย่างไร” ดร.นิชานท์ กล่าว
ทางด้าน ดร.ชัยวัฒน์ มีสันฐาน ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ตั้งข้อสังเกตกับเหตุการณ์ นายศรีสุวรรณ ถูกทำร้ายร่างกายไว้ว่า
“เราปฏิเสธไม่ได้ว่า สังคมไทยมีปัญหาในเรื่องมุมมองต่อความรุนแรง เพราะว่าสิ่งที่มันสะท้อนเห็นได้อย่างชัดเจน คือ ความรุนแรงจะถูกนำมาเป็นประเด็นขึ้นมา ก็ต่อเมื่อความรุนแรงนั้น เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากฝ่ายที่อยู่ตรงข้าม ถ้าเราสังเกต เราสามารถเห็นได้ชัดว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากผู้กระทำ ที่ผู้กระทำเป็นคนในฝ่ายตนเอง คนในกลุ่ม คนในเครือข่าย หรือคนที่มีแนวคิดเดียวกัน เราจะไม่พูดถึง หรือเลือกที่จะเงียบ แต่ในขณะที่การต่อต้านความรุนแรง มันจะปรากฏขึ้นในกรณีที่ผู้ที่ก่อความรุนแรงเป็นฝ่ายตรงข้าม”
“ในกรณีเหตุการณ์ นายศรีสุวรรณ ถูกทำร้ายร่างกาย ในมุมมองของผมเราค่อยข้างจะเห็นได้ชัดเจนว่าคนที่ออกมาสะใจ หรือเห็นด้วย ก็คือคนที่ต่อต้านความรุนแรงที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ซึ่งความรุนแรงในก่อนหน้านี้ มีหลายเคสมาก ๆ เช่น เหตุการณ์สลายการชุมนุม, เหตุการณ์อาจารย์วรเจตน์ถูกทำร้ายร่างกาย และเหตุการณ์จ่านิวถูกรุมซ้อม เป็นต้น ซึ่งมันมีหลายคนที่สะใจในขณะนั้น แต่คนที่สะใจในขณะนั้น กลับมาต่อต้านความรุนแรงในกรณีเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายนายศรีสุวรรณ” ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว
ดร.ชัยวัฒน์ มีสันฐาน ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดร.ชัยวัฒน์ ยังย้ำว่า
“เพราะฉะนั้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น คือ ปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นความเป็นฝักฝ่ายที่ชัดเจนอย่างมาก ในสังคมไทย และแสดงให้เห็นว่า สุดท้ายแล้วในสังคมไทยมันไม่ได้ต่อต้านความรุนแรง หรือรังเกียจความรุนแรงเลย”
“ความรุนแรง เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันยังเป็นทางออกที่ทำให้ผู้คนรู้สึกว่ามันสาสม สบายใจ เราไม่ได้ต่อต้านความรุนแรงอย่างแท้จริง เราเพียงต่อต้านความรุนแรงที่เกิดจากฝ่ายตรงข้ามแนวคิดของเราเพียงเท่านั้น ถ้ามันเป็นความรุนแรงที่เกิดจากการต่อต้านความรุนแรงจริง ๆ ไม่ว่าใครก็ตามที่ก่อให้เกิดความรุนแรง เราก็จะต้องปฏิเสธอย่างเท่าเทียมกัน แต่ด้วยความที่สังคมไทยมีการแบ่งฝักฝ่ายกันมาอย่างยาวนาน จึงทำให้การมองมุมนี้แตกต่างกันออกไป จนกลายเป็นความตรงข้าม”
“ดังนั้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น มันสะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งในสังคมไทยที่ฝังอยู่อย่างรากลึกมาอย่างยาวนาน จนความรุนแรงที่ควรจะเป็นสิ่งที่ ไม่ว่าใครก็ตามต้องไม่สนับสนุน มันกลับกลายเป็นว่าเรามีความสะใจ และความสะใจที่เกิดขึ้น มันคือตัวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่อยู่ในสังคมไทย และเป็นปัญหาใหญ่ที่ควรแก้ไขเป็นอย่างยิ่ง มันไม่มีความรุนแรงใดที่มีความชอบธรรม” ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว
ดร.ชัยวัฒน์ ระบุด้วยว่า สำหรับฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามนายศรีสุวรรณ สามารถเห็นอย่างชัดเจนว่าการที่เราไปทำร้ายร่างกายนายศรีสุวรรณ มันเป็นเพียงความสะใจชั่วครู่เท่านั้น แต่ในระยะยาวมันไม่มีประโยชน์ใด ๆ เลยสำหรับฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามนายศรีสุวรรณ เพราะหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้นายศรีสุวรรณกลับมีพื้นที่ในสังคมมากขึ้น และมีความชอบธรรมในการฟ้องร้องมากขึ้น เพราะฉะนั้น สุดท้ายแล้วมันก็ไม่ใช่ทางออกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอยู่ดี
“เหตุการณ์นายศรีสุวรรณ ถูกทำร้ายร่างกาย เป็นเครื่องบ่งบอกที่ชัดเจนมากว่า คนไม่ได้รังเกียจความรุนแรงที่ความรุนแรง แต่รังเกียจความรุนแรงที่เกิดกับฝ่ายใคร ซึ่งมันเป็นคอนเซ็ปต์สองมาตรฐาน (double standard)”
“ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยดังกล่าว สิ่งสำคัญที่สุด ต้องเริ่มต้นจากวิธีคิด ถ้าเมื่อไรก็ตามที่เราสามารถยกระดับความคิดที่เป็นความคิดเลือกข้างเลือกฝ่ายได้ แล้วให้อยู่เหนือปรากฏการณ์ หรือความผิดนั้น ๆ จะทำให้คนในสังคมไทยสามารถยกระดับจากความเกลียดชังที่เลือกฝักฝ่าย เป็นความเกลียดชังที่ตัวของความผิด หรือตัวของปรากฏการณ์นั้น ๆ ได้ และสามารถให้สังคมไทยสามารถมุ่งหน้าสู่หนทางที่ลดปัญหาความขัดแย้งได้มากขึ้น” ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว
สำนักข่าวอิศรา รายงานเพิ่มเติมว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับนายศรีสุวรรณไม่ใช่เหตุการณ์แรกสำหรับการเมืองไทย ที่เกิดจาก คนที่เห็นต่างทางการเมืองใช้ความรุนแรงกระทำต่อกัน เพราะก่อนหน้านี้ ก็เคยมีเหตุการณ์ที่นักเคลื่อนไหวทางการเมือง นักการเมือง นักวิชาการ และสื่อมวลชน ถูกกลุ่มคนที่เห็นต่างทางการเมืองทำร้ายร่างกาย อาทิ
กรณีนักร้องเรียน อย่าง นายอุทิศ เหมวัฒนกิจ หรือเสี่ยตราชั่ง เมื่อปี 2552 ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัว ระหว่างไปดักรอนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี อยู่ที่บริเวณหน้าคูหาเลือกตั้ง โดยได้ดักรอนายกรัฐมนตรี เพื่อที่จะเรียกร้องนายกรัฐมนตรี คือ
1.ในพื้นที่ สน.ทองหล่อ มีโครงสร้างของอาคารไม่ได้มาตรฐาน ขอให้นายกรัฐมนตรีช่วยทำการตรวจสอบดัวย
2.ให้ตรวจสอบการคอร์รัปชันภายในกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่ง นายอุทิศ แจ้งความต่อเจ้าพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาจับกุมตัวขึ้นรถมาที่ สน.ทองหล่อ ทำให้ข้อมือพลิก และแว่นตาชำรุด
หรือเหตุการณ์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำกลุ่มนักวิชาการนิติราษฎรที่รณรงค์การแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ปรากฏว่า วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 ดร.วรเจตน์ ถูกทำร้ายร่างกายบริเวณลานจอดรถคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ผู้ก่อเหตุคือ นายสุพจน์ และนายสุพัฒน์ สุรารัตน์ สองพี่น้องฝาแฝด เข้ามอบตัวกับตำรวจ โดยยอมรับว่าเป็นผู้ก่อเหตุทำร้ายร่างกาย ดร.วรเจตน์ ต่อมาอัยการเป็นโจทย์ยื่นฟ้องผู้ก่อเหตุในข้อหาร่วมกันทำร้ายคนอื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ โดยไตร่ตรองไว้ก่อน
นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ถูกดักทำร้ายร่างกายถึง 2 ครั้ง เช่น วันที่ 2 มิถุนายน 2562 โดยรุมทำร้ายที่ป้ายรถประจำทางซอยรัชดาภิเษก 7 และวันที่ 28 มิถุนายน 2562 โดยรุมทำร้ายที่ปากซอยบ้าน จนได้รับบาดเจ็บสาหัส พักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล 9 วัน
หลากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปแล้ว ณ วันนี้ ยังไม่มีข้อสรุปบทสุดท้ายว่าในท้ายที่สุดแล้ว แต่ละเหตุการณ์จบลงอย่างไร และกลุ่มผู้ใช้ความรุนแรงได้รับบทลงโทษอะไรบ้าง?
แต่จากข้อมูลที่ผ่านมาชี้ให้เห็นแนวโน้มว่า ปัญหานี้อาจจะเกิดให้เห็นและนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ตราบใดสังคมไทยยังเป็นสังคมการเมืองที่แบ่งขั้วกันอย่างชัดเจน แบบที่เห็นและเป็นอยู่ทุกวันนี้ และยังสะท้อนให้เห็นปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลการบังคับใช้กฎหมายในสังคมไทยด้วย
จึงนับเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ต้องหันกลับมามองหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน
ก่อนที่ทุกอย่างจะลุกลามบานปลายใหญ่โตไปมากกว่านี้