“…มีข้อสังเกต ข้อพิรุธ กรณี “การจงใจทุจริตเงินงบกลาง” คือ 1.มีการสมรู้ร่วมคิดในระดับปฏิบัติ ระหว่างรัฐมนตรีกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยมีนายเสกสกล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 คนสนิทของ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เป็นตัวเชื่อมอย่างใกล้ชิด…”
...................................
สืบเนื่องจากกรณีที่แกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน เข้ายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ไต่สวนฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ,รมว.กลาโหม ,นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และนายเสกสกล อัตถาวงศ์ กับพวก รวม 7 คน
ในข้อหากระทำการทุจริตต่อหน้าที่เพื่อประโยชน์ต่อตนเองและพวกพ้อง กรณีอนุมัติงบกลาง 2,051 ล้านบาท เพื่อดำเนินกิจกรรมในโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ซึ่งผิดวัตถุประสงค์และหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ รวมทั้งไม่ดำเนินการตามทีโออาร์ นั้น (อ่านประกอบ : ฝ่ายค้านยื่น ป.ป.ช.สอบประยุทธ์-เอนก อนุมัติงบ 2 พัน ล.มิชอบ,จุรินทร์โดนปมถุงมือยางด้วย)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ขอนำเสนอสาระสำคัญของคำร้องในเรื่องดังกล่าว ซึ่ง นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย เป็นผู้ยื่นคำร้อง สรุปได้ดังนี้
@เร่งรีบอนุมัติงบกลางฯ 2,051 ล้าน-โครงการมีความ ‘ซ้ำซ้อน’
ข้าพเจ้า (นายประเสริฐ) ขอกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ ,นายเอนก และนายเสกสกล กับพวกรวม 7 คน เป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดในลักษณะ ‘แบ่งแยกหน้าที่กันกระทำ’ ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ เป็นการกระทำโดยมีเจตนาทุจริต ตั้งแต่การริเริ่มโครงการโดยไม่ชอบ
กระบวนการอนุมัติโครงการเป็นไป 'โดยเร่งรีบ รวบรัดภายในวันเดียว' ทั้งที่เป็นเงินจำนวนสูงถึง 2,051 ล้านบาท และกระบวนการจัดจ้างไม่เป็นไปตามกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นเหตุให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับความเสียหาย
โดยพฤติการณ์ในคดีนี้ กล่าวคือ นายเสกสกล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกฯ (พล.อ.ประยุทธ์) ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ได้กราบเรียน พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เพื่อพิจารณากรณีสถาบันอุดมศึกษาในสังกัด อว. ขอรับการสนับสนุนโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
ซึ่งปรากฏตามหนังสือสำนักเลขาธิการนายกฯ ที่ นร 0403/3550 ถึง ปลัดกระทรวง อ.ว. ลงวันที่ 11 มี.ค.2565 เรื่อง การสนับสนุนโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19)
ต่อมาวันที่ 19 เม.ย.2565 นายเอนก ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ในฐานะ รมว.อว. ทำหนังสือกระทรวง อว. ด่วนที่สุด ที่ อว (ปคร) 0213/8365 เรียน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 19 เม.ย.2565 เรื่อง การขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินงานโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) วงเงิน 2,051 ล้านบาท
ในวันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ในฐานะนายกรัฐมนตรี อนุมัติให้นำเรื่องที่นายเอนก ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เสนอ เข้าสู่ที่ประชุม ครม. ทั้งๆที่เรื่องดังกล่าว 'มิใช่เรื่องเร่งด่วนแต่อย่างใด' ซึ่งขัดต่อมติ ครม. เรื่อง แนวทางปฏิบัติกรณีขออนุมัติใช้เงินงบกลางฯ และมติ ครม. เรื่อง การเสนอเรื่องเร่งด่วนต่อคณะรัฐมนตรี เป็นต้น
อีกทั้งมีข้อทักท้วงจากสำนักงบประมาณ ตามหนังสือสำนักงบฯ ด่วนที่สุด ที่ นร 0722/6584 ลงวันที่ 19 เม.ย.2565 ว่า โครงการที่นายเสกสกล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ,นายเอนก ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และพล.อ.ประยุทธ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 อนุมัติให้เข้าสู่ที่ประชุม ครม. นั้น 'มีความซ้ำซ้อนกับโครงการภาครัฐที่ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์'
แต่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และนายเอนก ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 รับทราบข้อสังเกต ข้อเสนอแนะ และข้อทักท้วงของสำนักงบประมาณแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ กลับเร่งรีบ รวบรัด ไม่ปฏิบัติตามข้อสังเกตของสำนักงบประมาณ และปฏิบัติขัดต่อมติ ครม. โดยอนุมัติให้นำโครงการดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม ครม. และ ครม.ได้อนุมัติตามที่นายเอนกเสนอ
@จัดอบรมไม่ตรง TOR-ปล่อย ‘เสกสกล’ ก้าวก่ายจัดสรรงบฯ
ทั้งนี้ หลังจาก ครม. มีมติอนุมัติจัดสรรงบกลางฯ 2,051 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) แล้ว
นายเอนก ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ปล่อยให้นายเสกสกล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ซึ่งไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เข้าไปก้าวก่ายการจัดสรรงบฯให้กับบรรดา ‘คนสนิท’ ตามมหาวิทยาลัยเพียง 4 แห่ง โดยไม่มีการคัดเลือกตามกระบวนการของกระทรวงอุดมศึกษาฯ ไม่มีการตรวจสอบความเหมาะสมและความพร้อมของมหาวิทยาลัยทั้ง 4 แห่ง ก่อนให้เป็นผู้ดำเนินโครงการ ตามที่สำนักงบประมาณตั้งข้อสังเกตทั้งสิ้น
นอกจากนี้ นายเอนก ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้กระทำการในลักษณะ ‘แบ่งย่อย ซอยแบ่งงานกัน’ ใน 4 มหาวิทยาลัย และได้ดำเนินโครงการไปแล้วในบางมหาวิทยาลัย ตัวอย่างเช่น
โครงการของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดยได้ใช้สถานที่หลายแห่ง โดยเฉพาะที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา เป็นสถานที่ในการจัดอบรมผิดวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยมีการเกณฑ์ผู้เข้ารับการอบรมที่ ‘ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย’ และมีพฤติการณ์การจัดการอบรม ‘ไม่สอดคล้องกับ TOR’
อาทิ การดำเนินโครงการได้กำหนดไว้ใน TOR ว่า ค่าจัดอบรมและฝึกอบรมให้แยกหมวดหมู่ค่าใช้จ่ายอย่างชัดเจน แต่จากการตรวจสอบของข้าพเจ้าพบว่า ในการอบรมที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา ไม่ปรากฏการแจกแจงค่าใช้จ่ายการจัดอบรมและการฝึกอบรม จึงอาจมีการใช้งบประมาณของโครงการนี้ซ้ำซ้อนกันไปมา
และจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยการสอบถามกับผู้ที่ได้เข้าร่วมอบรมพบว่า ผู้ที่เข้ารับการอบรมได้รับเงินคนละ 400 บาท กับข้าวกล่อง 1 กล่อง ซึ่งไม่มีอยู่ในข้อกำหนด TOR ขณะที่ใน TOR กำหนดไว้ชัดเจนว่า ในการอบรมในครั้งนี้ต้องจ่ายค่าอาหารจำนวน 4 มื้อ มื้อละ 150 บาท และค่าอาหารว่างและเครื่องดื่ม 4 มื้อ มื้อละ 35 บาท
ดังนั้น จึงอาจมีการจัดทำเอกสารเบิกเงินไม่ตรงกับความเป็นจริงตามที่ TOR กำหนด และไม่มีการใช้จ่ายเป็นไปตามใบจัดสรรเงินงบประมาณจากกรมบัญชีกลาง ทำให้เกิด ‘ส่วนต่าง’ ที่ไม่ได้นำไปใช้จ่ายจริง
การดำเนินโครงการได้กำหนดไว้ใน TOR ว่า ให้มีค่าเอกสารประกอบการฝึกอบรม 37,000 เล่มๆละ 100 บาท งบประมาณ 3.7 ล้านบาท แต่จากการตรวจสอบพบว่า ในการอบรมที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา ไม่มีเอกสารประกอบการฝึกอบรมแจกให้กับผู้เข้ารับการอบรมจริงตาม TOR
การดำเนินโครงการได้กำหนดไว้ใน TOR ว่า ให้มีการกำหนดค่าเช่าที่พัก คนละไม่เกิน 500 บาท จำนวน 37,000 ราย งบประมาณ 18.5 ล้านบาท บาท แต่จากการตรวจสอบพบว่าการอบรมที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา ไม่มีการพักค้างคืนจริงตาม TOR และไม่มีการใช้จ่ายเป็นไปตามใบจัดสรรเงินงบประมาณจากกรมบัญชีกลาง เป็นต้น
นอกจากนี้ ในรายการการจัดซื้อจัดจ้างของโครงการนี้ เช่น โครงการชุดปฏิบัติการเพาะเห็ด ต.หนองระเวียง อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา ,โครงการประกวดราคาซื้อวัสดุการเกษตร รายการชุดผลิตเห็ดนางรม และโครงการซื้อวัสดุวิทยาศาสตร์หรือการแพทย์ รายการชุดผลิตเห็ดนางรม นั้น
พบว่าแหล่งที่มาของราคากลาง (ราคาอ้างอิง) เป็นการสืบราคาจากบริษัทที่มีวัตถุประสงค์ของการประกอบกิจการไม่ตรงกับโครงการ ซึ่งถือว่าไม่มีศักยภาพที่จะสืบราคากลาง จึงไม่สามารถนำมาเป็นแหล่งที่มาของราคากลาง (ราคาอ้างอิง) ของโครงการดังกล่าวได้ รวมทั้งมีการสืบราคาจากบริษัทฯ ที่มีที่ปรึกษาโครงการฯ เป็นกรรมการบริษัทฯด้วย
@เผยพบพิรุธทุกขั้นตอน-ความผิดสำเร็จ ส่อทุจริต 300 ล้าน
“จากที่ข้าพเจ้า (นายประเสริฐ) ได้กราบเรียนมาข้างต้น ประกอบพยานหลักฐานต่างๆ ที่ได้ตรวจสอบตั้งแต่การริเริ่มโครงการในระดับนโยบายและการดำเนินโครงการในระดับปฏิบัติ พบว่า มีข้อพิรุธทุกขั้นตอนในการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ซึ่งโครงการนี้มีการตั้งงบประมาณที่ใช้ในโครงการเป็นจำนวน 368 ล้านบาท
แต่ข้อเท็จจริงที่ข้าพเจ้าได้ตรวจสอบพบว่าในการดำเนินโครงการทุกกิจกรรมที่ได้ดำเนินการมาแล้ว มีการวางแผนตั้งแต่การเขียน TOR ที่ซ้ำซ้อน การจัดทำที่มาของราคากลางไม่โปร่งใส ทำให้ราคาจัดซื้อจัดจ้างสูงกว่าความเป็นจริง ไม่มีการวางแผนให้มีประสิทธิภาพ มีปัจจัยการผลิตที่ไม่เหมาะสมเป็นนวัตกรรมและไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้อย่างยั่งยืน
ไม่มีแนวทางการต่อยอดทางการตลาดที่ทำให้โครงการยั่งยืน กลุ่มเป้าหมายไม่มีวิธีการดำเนินการในการคัดสรรที่ครอบคลุมตามสำนักงบประมาณให้ข้อสังเกต และไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นเกษตรกรจริงหรือไม่ บุคลากรไม่มีความเชี่ยวชาญ ไม่มีการประเมินผลความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและการตลาด
และทุกกิจกรรมมีข้อพิรุธเคลือบแคลงและสงสัยทุกขั้นตอน เช่น มีการจัดอบรมจำนวนหลายรุ่นประมาณร่วม 10,000 ราย ที่ไม่สอดคล้องกับ TOR ทำให้โครงการนี้ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินโครงการและเกิดความเสียหายอย่างชัดเจน ถึงแม้จะมีการดำเนินการต่อเนื่องไปอีก ก็จะไม่สัมพันธ์กับ TOR วัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ แผนการจ่ายเงิน และการตรวจรับงานอย่างแน่นอน
เพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ทราบข้อเท็จจริงของการทุจริต ที่เกิดขึ้น และถือว่าความผิดได้สำเร็จแล้ว จากการตรวจสอบพบว่ามีเพียงการจัดอบรมโดยไม่มีการแจกปัจจัยการผลิตจริง จะทำให้โครงการที่ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยราชมงคลเทคโนโลยีอีสาน อาจมีการทุจริตมากถึง 300 ล้านบาท จากงบประมาณ 368 ล้านบาท
และหากปล่อยให้มีการดำเนินโครงการที่เหลือในลักษณะเดียวกันอีก จะทำให้มียอดทุจริตประมาณ 1,600 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งหมด 2,051 ล้านบาท” คำร้องของนายประเสริฐ ระบุ
@จี้ ‘ป.ป.ช.’ฟัน ‘บิ๊กตู่-เอนก-เสกสกล-พวก’ ส่อจงใจทุจริตเงินงบกลาง
หนังสือคำร้องของนายประเสริฐ ยังสรุปความพฤติการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ และพวกด้วย ว่า “พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ปล่อยให้นักการเมืองคนใกล้ชิด และเครือข่ายทุจริตประยุทธ์ มีการดำเนินการฉ้อราษฎร์บังหลวง บนความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสในสถานการณ์โควิดและเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในปัจจุบัน
มีข้อสังเกต ข้อพิรุธ กรณี 'การจงใจทุจริตเงินงบกลาง' คือ
1.มีการสมรู้ร่วมคิดในระดับปฏิบัติ ระหว่างรัฐมนตรีกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยมีนายเสกสกล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 คนสนิทของ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เป็นตัวเชื่อมอย่างใกล้ชิด
2.พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 อ้างเอาสถานการณ์โรคระบาดโควิด เป็นเหตุบังหน้า เพื่อให้ดูมีเหตุผล อ้างเรื่องการว่างงาน การสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร
แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า การอบรมไม่มีความเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีเพียงแต่การแนะนำการปลูกเห็ด และสมุนไพร โดยเฉพาะกัญชา นอกจากนั้น ยังไม่มีการประเมินผลความสำเร็จของโครงการ อาทิ ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ผลกระทบ และความคุ้มค่าของโครงการ
3.ไม่ใช่ภารกิจหลักของกระทรวงอุดมศึกษาฯ กำกับดูแลมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โครงการที่จะต้องทำต้องเป็นโครงการที่เป็นการวิจัย และเป็นนวัตกรรมใหม่ เช่น การวิจัยข้าวพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตสูง หรือคิดค้นอุปกรณ์ที่ใช้ในการเกษตร เช่น โดรน
แต่กลับไปทำงานที่กระทรวงอื่นเขาทำอยู่แล้ว เช่น การอบรมของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน อบรมเรื่องการปลูกเห็ด การปลูกสมุนไพร ดันไปส่งเสริมการปลูกกัญชา ซึ่งขณะนี้ยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมว่า โทษมีมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับ
กระบวนการทุจริตเครือข่าย พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มีการดำเนินการทุจริตใน 2 กลุ่ม
กลุ่มแรก เป็นกลุ่มระดับนโยบาย ริเริ่มโครงการในการจัดหางบประมาณโดยมิชอบ กลุ่มนี้ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นายเสกสกล อัตถาวงษ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3
กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มระดับปฏิบัติการ ดำเนินการบริหารงบประมาณ เพื่อหาประโยชน์จากการทุจริต กลุ่มนี้ประกอบด้วย ผู้บริหารและอาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง โดยบุคคลทั้ง 2 กลุ่มมีนายเสกสกล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เป็นผู้ประสานงาน
ข้าพเจ้าขอเรียนว่าในเรื่องที่ข้าพเจ้ากล่าวหานี้ ข้าพเจ้าได้อภิปรายไม่ไว้วางใจพล.อ.ประยุทธ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นายอเนก ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 โดยได้ให้ข้อมูลและแสดงพยานหลักฐานต่อที่ประธานสภาฯ ซึ่งมีข้อมูลและพยานหลักฐานเพียงพอที่จะให้ผู้เกี่ยวข้องตรวจสอบว่ามีการทุจริตจริงหรือไม่
ด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายข้าพเจ้า จึงทำหนังสือฉบับนี้ เพื่อกล่าวหาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นายเอนก ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นายเสกสกล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 กับพวกดังกล่าวข้างต้น มีพฤติกรรมในลักษณะเป็นขบวนการแบ่งแยกหน้าที่กันกระทำการ
อันเป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และความผิดตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2540 เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานรัฐ
โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาจัดจ้าง โดยมีการสั่งการอนุมัติงบกลางตามโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี “งบกลาง” ในปี 2563-2565 ให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อ.ว.)
กระทำผิดต่อกฎหมายฮั้ว กฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง กระทำผิดต่อมติคณะรัฐมนตรี ในลักษณะบิดผันการใช้อำนาจ ทำให้งบประมาณของแผ่นดินที่ต้องกู้มาในยามที่ประเทศเกิดวิกฤติโรคระบาดโควิด 19 เสียหาย
แต่พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ยังหาช่องทางการทุจริตโดยเสกสรรปั้นแต่งโครงการที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นให้ซ้ำซ้อนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีกทั้งการอนุมัติโครงการเป็นไปโดยเร่งรีบ รวบรัดเพียงวันเดียว ฝ่าฝืนต่อมติคณะรัฐมนตรี โดยไม่สนใจไม่นำพาข้อทักท้วงของสำนักงบประมาณ
อีกทั้งปล่อยให้การจัดจ้างของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ไม่มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม การกระทำตามที่ได้กล่าวมาถือเป็นการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ทำให้ประเทศชาติและประชาชนเสียหาย
ข้าพเจ้าจึงขอให้คณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น และกรณีที่กล่าวหานี้เป็นการกล่าวหาบุคคลระดับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี กับพวกอีกหลายราย ข้าพเจ้าจึงขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะเป็นองค์คณะผู้ไต่สวนคดีนี้ โดยเร่งด่วนเพื่อมิให้มีการทำลายพยานหลักฐานในคดีนี้ได้...”
เหล่านี้เป็นสาระสำคัญคำร้องของ ‘ประเสริฐ จันทรรวงทอง’ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. ขอให้ไต่สวนฯ ‘พล.อ.ประยุทธ์-เอนก-เสกสกล-พวก’ ในข้อหาร่วมกันการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ กรณีอนุมัติงบกลางฯเพื่อดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรฯกว่า 2,000 ล้าน!