"...บริษัท เซ็มโก้ฯ เป็นบริษัทในเครือของ กคช. โดย กคช. มีสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 49 โดย บริษัท เซ็มโก้ ได้แต่งตั้งให้บุคคลหนึ่งดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการและกรรมการผู้จัดการบริษัท เซ็มโก้ฯ ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2558 - 28 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันบุคคลดังกล่าว ยังคงเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทเอกชน คู่สัญญาของ กคช. ด้วย ดังนั้น จึงถือว่าเป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4 และมาตรา 100 ..."
กรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่า สตง.ได้เคยตรวจสอบพบปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนในการบริหารงานของบริษัท จัดการสินทรัพย์และชุมชน จำกัด หรือ เซ็มโก้ เป็นกรณีอดีตผู้บริหารบริษัท เซ็มโก้ รายหนึ่ง มีฐานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจและผู้ถือหุ้นของบริษัทเอกชน 2 แห่ง ที่เป็นคู่สัญญาของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) จึงส่อว่าเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100
อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ กคช. ได้ทำเรื่องชี้แจง สตง. ระบุว่า คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงของ กคช. ได้รายงานผลการตรวจสอบว่า อดีตผู้บริหารฯ รายนี้ ไม่มีพฤติการณ์มิชอบในเรื่องการขัดกัน ระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ส่วนรวม และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการปฏิบัติหน้าที่ในขณะบริหารงาน เป็นการทำให้บริษัทเสียประโยชน์และไม่มีผลทำให้เกิดความเสียหายแก่ กคช. แต่อย่างใด
- องค์กรไม่เสียหาย! เผยผลสอบ กคช. เรื่องมาตรา 100 อดีตบิ๊กเซ็มโก้ สรุปไร้ความผิด
- อภิปรายไม่ไว้วางใจ : 'จุติ'โต้ข้อมูลเท็จซักฟอกปมการเคหะฯ ซัดเอกชนใช้สภาบิดเบือนข้อมูล
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกพบว่า ในรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ สตง. ระบุว่า บริษัท เซ็มโก้ฯ เป็นบริษัทในเครือของ กคช. โดย กคช. มีสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 49 โดย บริษัท เซ็มโก้ ได้แต่งตั้งให้บุคคลหนึ่งดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการและกรรมการผู้จัดการบริษัท เซ็มโก้ฯ ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2558 - 28 กุมภาพันธ์ 2560
ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันบุคคลดังกล่าว ยังคงเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทเอกชน คู่สัญญาของ กคช. ด้วย
ดังนั้น จึงถือว่าเป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4 และมาตรา 100
รายงานตรวจสอบ สตง.ยังระบุด้วยว่า อีกทั้งระหว่างที่บุคคลดังกล่าวดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการในบริษัท เซ็มโก้ฯ ได้ใช้อำนาจหน้าที่เปลี่ยนแปลงข้อบังคับของบริษัท เพื่อให้เอื้อต่อการบริหารจัดการงานในบริษัทจนมีผลทำให้ในรอบปี 2559 บริษัท เซ็มโก้ฯ มีผลขาดทุนสูงถึง 9,020,928.59 บาท
นอกจากนี้ สตง.ยังตรวจสอบพบว่า บริษัท เซ็มโก้ฯ ได้ทำสัญญาเช่าพื้นที่อาคารสันทนาการ ชั้นลอย ที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณที่ตั้งสำนักงานใหญ่ กคช. ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวเป็นของ กคช. ที่มอบให้สมาคมสโมสรการเคหะแห่งชาติใช้ประโยชน์และสมาคมได้นำมาให้บริษัทเอกชนเช่า และบริษัท เซ็มโก้ฯ ได้เช่าช่วงต่ออีกทอดหนึ่ง
@ สำนักงานใหญ่ กคช.
กรณีดังกล่าวมีผลทำให้บริษัท เซ็มโก้ฯ ได้รับความเสียหายเพราะต้องจ่ายค่าเช่าพื้นที่ในอัตราที่สูงเกินจริงผ่านบริษัทเอกชนที่มีกรรมการผู้จัดการบริษัท เซ็มโก้ฯ เป็นกรรมการ แทนที่จะทำสัญญาเช่าพื้นที่และจ่ายค่าเช่าให้แก่ กคช. โดยตรง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทและเป็นการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 100 (1) และ (2) เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งกฎหมายได้กำหนดข้อห้ามไว้แล้วตามมาตรา 100 (4)
เบื้องต้น ผู้ว่าฯ สตง. จึงได้มีข้อเสนอแนะให้ ประธานคณะกรรมการ กคช. ดำเนินการติดตามผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงและการดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้อง กรณีการแต่งตั้งและการบริหารงานของกรรมการผู้จัดการบริษัท เซ็มโก้ฯ และแจ้งผลการดำเนินการดังกล่าวให้ สตง. ทราบจนกว่าการดำเนินการจะเสร็จสิ้น
ขณะที่แหล่งข่าวจาก สตง. ให้ข้อมูลยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า จุดเริ่มต้นในการตรวจสอบเรื่องนี้ ของ สตง.มาจากการตรวจสอบงบการเงิน กคช. พบว่า มีระบบการควบคุมภายในที่ไม่เพียงพอ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อเงินและทรัพย์สินของ กคช. และกรณีการแต่งตั้งกรรมการผู้จัดการบริษัท เซ็มโก้ฯ ท่านหนึ่ง พบว่า บุคคลดังกล่าว มีฐานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจและผู้ถือหุ้นของ บริษัทเอกชน 2 แห่ง ซึ่งทั้ง 2 บริษัทเป็นคู่สัญญาของ กคช. กรณีดังกล่าวจึงเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 100 ซึ่ง สตง. ได้แจ้งให้ประธานกรรมการ กคช. พิจารณาดำเนินการเร่งรัดสั่ง การให้ผู้ว่าการเคหะแห่งชาติดำเนินการแก้ไข ปรับปรุงระบบควบคุมภายในที่มีความเสี่ยงตามข้อเสนอแนะของ สตง. และแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีการแต่งตั้งกรรมการผู้จัดการบริษัท เซ็มโก้ฯ โดยขาด คุณสมบัติเนื่องจากมีผลประโยชน์ทับซ้อน
จากนั้น สตง. มีหนังสือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ลับ ด่วนมาก ที่ ตผ 0034/578 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2562 ถึงประธานคณะกรรมการ กคช. แจ้งผลการตรวจสอบติดตามผลการดำเนินงานในงวดปี 2562 พบว่า กคช. ยังไม่ได้ปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวกับการจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สินและแจ้งผลให้สตง. ทราบ
สตง. จึงได้แจ้งผลการตรวจสอบ เรื่อง การบริหารจัดการและการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สิน ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ของ กคช. เป็นทางการอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือนมกราคม 2563 กคช. มีหนังสือ ลับ ที่ พม 5135/003 ลงวันที่ 15 มกราคม 2563 แจ้งผลการดำเนินการให้ สตง. รับทราบ โดยมีผลการดำเนินงานโดยสรุป ดังนี้
1. คณะกรรมการ กคช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ พิจารณาปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติมซึ่งกฎหมายข้อบังคับกฎบัตรระเบียบและคำสั่งของ กคช. ตามคำสั่งที่ 015/2562 ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2562 โดยข้อมูล ณ เดือน มกราคม 2563 พบว่า คณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวอยู่ระหว่างพิจารณายกร่างหรือปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับ และระเบียบที่เกี่ยวกับด้านการบริหารบุคคลและด้านการบริหารจัดการทรัพย์สินและการลงทุนของ กคช. รวมถึงพิจารณาศึกษาข้อบังคับ ระเบียบของบริษัท เซ็มโก้ฯ เพื่อให้สามารถสนับสนุนการดำเนินการของ กคช.
2. ผลการตรวจสอบกรณีการร้องเรียนกรรมการผู้จัดการบริษัท เซ็มโก้ฯ คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงของ กคช. ได้รายงานผลการตรวจสอบว่า บุคคลดังกล่าวไม่มีพฤติการณ์มิชอบในเรื่องการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ส่วนรวม เนื่องจากไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการปฏิบัติหน้าที่ในขณะดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท เซ็มโก้ฯ เป็นการทำให้บริษัทเสียประโยชน์และไม่มีผลทำให้เกิดความเสียหายแก่ กคช.
3. สมาคมสโมสรการเคหะแห่งชาติได้ส่งคืนพื้นที่ที่ กคช. ให้สมาคมบริหารจัดการ คืนให้แก่กคช. เรียบร้อยแล้ว และสมาคมซึ่งมีรายรับจากการนำทรัพย์สินดังกล่าวไปจัดประโยชน์ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2559-2561 เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 25,370,783.16 บาท ได้นำไปเป็นสวัสดิการพนักงานของ กคช. จำนวน 18,451,019.13 บาท และได้นำส่งเงินที่เหลือจำนวน 6,919,76.03 บาท ให้แก่ กคช. แล้วในวันที่ 14 มีนาคม 2562
ทั้งหมดเป็นข้อมูลเชิงลึกปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนในการบริหารงานของบริษัท เซ็มโก้ ในกรณีอดีตผู้บริหารบริษัท เซ็มโก้ รายหนึ่ง มีฐานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจและผู้ถือหุ้นของบริษัทเอกชน 2 แห่ง ที่เป็นคู่สัญญาของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) จึงส่อว่าเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100 ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบล่าสุด
ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ รวมถึง อดีตผู้บริหารบริษัท เซ็มโก้ รายนี้เป็นใคร? หากมีข้อมูลเพิ่มเติมจะนำมาเสนอต่อไป