"...จากการสอบปากคำบุคคลที่มีรายชื่อเข้าร่วมโครงการ พบว่ามีผู้เข้าร่วมเดินทางไปศึกษาดูงาน 52 คน ไม่เคยเข้าร่วมโครงการ 13 คน ไม่ใช่ลายมือชื่อของตน 2 คน ไม่สามารถติคตามมาสอบปากคำ 53 คน จึงมีจำนวนผู้เข้าร่วมเดิบทางไปศึกษาดูงานไม่ครบตามเป้าหมายที่กำหนด..."
จำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา
คือ บทลงโทษตามคำพิพากษาของ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 ที่ตัดสินในคดีกล่าวหา นายมานพ ศรีผึ้ง ส.ส.นครสวรรค์ เขต 4 พรรคภูมิใจไทย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครสวรรค์ จัดทำกิจกรรมโครงการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพกลุ่มอาชีพกลุ่มสตรีแม่บ้านและกลุ่มผู้นำชุมชนซึ่งมีการเบิกจ่ายเงินเป็นเท็จโดยไม่รอลงอาญา
ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีนี้มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา สรุปข้อมูลคำพิพากษาตัดสินคดี ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 มาเสนอ ณ ที่นี้
@ จำเลยและผู้เกี่ยวข้อง
คดีนี้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 ภาค 6 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายมานพ ศรีผึ้ง เป็นจำเลยรายเดียว
ในข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ, ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร, ความผิดต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
ขณะเกิดเหตุ นายมานพ ศรีผึ้ง จำเลย ดำรงตำแหน่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครสวรรค์
ส่วนผู้เกี่ยวข้องรายอื่น มี 3 ราย คือ นางกาญจนา ไชยพรม จำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท.114/2563 (อีกคดี) ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองส่งเสริมคุณภาพชีวิต รักษาราชการแทนหัวหน้าฝ่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตและจัดสวัสดิการ
นางสาวธีรดา วรอินทร์ จำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท.114/2563 (คดีเดียวกับ นางกาญจนา ไชยพรม) เป็นผู้รับจ้างจัดทำอาหารตามคำสั่งผู้ว่าจ้าง
นางเฉลิมศรี ทองตะนุนาม จำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท.114/2563 (คดีเดียวกับ นางกาญจนา ไชยพรม) เป็นลูกจ้างประจำ ตำแหน่งพี่เลี้ยง ปฏิบัติหน้าที่ช่วยงานธุรการ ฝ่ายบ้านพักคนชรา กองส่งเสริมคุณภาพชีวิต
@ อบจ.นครสวรรค์
@ พฤติการณ์การกระทำความผิด
สำหรับพฤติการณ์การกระทำความผิดตามคำฟ้องโจทก์ ระบุว่า เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2553 นางกาญจนา ทำบันทึกขออนุมัติดำเนินงานโครงการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพกลุ่มอาชีพ กลุ่มสตรีแม่บ้าน และกลุ่มผู้นำชุมชนรุ่นที่ 1 ต่อ นายมานพ ศรีผึ้ง
โดยให้นายมานพ ศรีผึ้ง เป็นประธานการเปิดโครงการ ลงนามในหนังสือแจ้งกลุ่มอาชีพ กลุ่มสตรีแม่บ้าน และกลุ่มผู้นำชุมชน แจ้งวิทยากร แจ้งขอใช้สถานที่ฝึกอบรม แจ้งสถานที่ศึกษาดูงาน แต่งตั้งคณะทำงาน
นายมานพ ศรีผึ้ง เห็นชอบอนุมัติ
ต่อมาวันที่ 15 ธันวาคม 2553 นางกาญจนา ขอยืมเงินงบประมาณขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ 114,600 บาท
นายมานพ ศรีผึ้ง อนุมัติและออกเช็คสั่งจ่ายให้นางกาญจนา เพื่อจ่ายเงินตามโครงการ การดำเนินการตามโครงการมีสมาชิกกลุ่มอาชีพ กลุ่มสตรีแม่บ้าน และกลุ่มผู้นำชุมชนในเขตพื้นที่ตำบลพยุหะ อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 110 คน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานจำนวน 10 คน
วันที่ 20 ธันวาคม 2553 เวลากลางวัน จัดฝึกอบรมที่ห้องประชุมอเนกประสงค์ สถานสงเคราะห์คนชรา บ้านเขาบ่อแก้ว ตำบลนิคมเขาบ่อแก้ว อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์
มีชื่อนางสาวธีรดา รับเงินค่าอาหารว่างในภาคเช้า อาหารกลางวัน และอาหารว่างในภาคบ่าย
แต่ผู้มีรายชื่อเข้าร่วมโครงการประมาณ 60 คน ให้การทำนองเดียวกันว่าไม่เคยเข้าร่วมอบรมและไม่เคยเดินทางไปศึกษาดูงานที่จังหวัดเชียงราย
นายกษิภณ กันยาสิน เป็นวิทยากรบรรยายและมีชื่อรับเงินค่าวิทยากร ยืนยันว่าเดินทางไปถึงสถานที่จัดโครงการอบรมตั้งแต่เวลา 8.30 นาฬิกา
แต่ไม่พบผู้ใดเข้าร่วมฟังการบรรยาย
ต่อมานางกาญจนา มอบหมายให้ นางสาวธุรส ดวงจันทร์ นำใบเสร็จรับเงินไปให้ลงลายมือชื่อและมอบซองใส่เงินให้ไม่ทราบจำนวน แต่คืนให้นางสาวมธุรสนำไปบริจาคแก่สถานสงเคราะห์คนชราบ้านเขาบ่อแก้ว และยังเบิกเงินค่าวัสดุ 2,790 บาท
จากพยานหลักฐานดังกล่าวยืนยันว่า ไม่มีพิธีเปิดโครงการ ไม่มีผู้ใดเข้าร่วมอบรม ไม่มีการทำอาหารว่างและอาหารกลางวัน
แต่นางกาญจนาฝากใบเสร็จรับเงิน 2 ฉบับ ซึ่งยังมิได้กรอกข้อความรายการอาหารให้ นางเฉลิมศรีนำไปให้นางสาวธีรดาลงลายมือชื่อ
โดยรู้อยู่แล้วว่าไม่มีการทำอาหารว่างและอาหารกลางวันตามความเป็นจริง
เมื่อนางสาวธีรดาลงลายมือชื่อแล้วคืนให้นางเฉลิมศรีนำไปมอบให้นางกาญจนา วันที่ 21 ธันวาคม 2553 ศึกษาดูงานที่องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ฟ้าหลวงและที่บ้านนาหลังคาแดง อาจารย์แปลก เตชะบุญ จังหวัดเชียงราย จนถึงเวลา 16.30 นาฬิกา เดินทางเข้าที่พักและรับประทานอาหารเย็นที่โรงแรมศิลามณี รีสอร์ท วันที่ 22 ธันวาคม 2553 เวลากลางวัน ประชุมกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดและเดินทางกลับจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งแบบลงทะเบียนมีผู้เข้าร่วมโครงการ 120 คน
แต่จากการสอบปากคำบุคคลที่มีรายชื่อเข้าร่วมโครงการ พบว่ามีผู้เข้าร่วมเดินทางไปศึกษาดูงาน 52 คน ไม่เคยเข้าร่วมโครงการ 13 คน ไม่ใช่ลายมือชื่อของตน 2 คน ไม่สามารถติคตามมาสอบปากคำ 53 คน
จึงมีจำนวนผู้เข้าร่วมเดิบทางไปศึกษาดูงานไม่ครบตามเป้าหมายที่กำหนด
แต่กลับมีการเบิกจ่ายเงินจากทางราชการเต็มจำนวน โดยมิได้มีการคืนเงินส่วนที่มิได้ใช้จ่ายจริงคืนทางราชการ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมการจัดงานและการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ. 2549 (ที่ถูกระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2549)
นายมานพ ศรีผึ้ง และนางกาญจนา ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่จัดซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ จัดทำกิจกรรมโครงการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพกลุ่มอาชีพ กลุ่มสตรีแม่บ้าน และกลุ่มผู้นำชุมชน รวมทั้งอนุมัติการเบิกจ่ายเงินตามโครงการ
โดยรู้อยู่แล้วว่า วันที่ 20 ธันวาคม 2553 ไม่มีพิธีเปิดอบรมและไม่มีการอบรมกันจริง ไม่มีการทำอาหารว่างและอาหารกลางวันแจกจ่ายแก่ผู้เข้าอบรม
แต่ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ ด้วยการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอนที่จะทุจริตเบียดบังเอาเงินในโครงการดังกล่าวไปเป็นของตน ด้วยการร่วมกันปลอมเอกสารใบเสร็จรับเงินค่าอาหารกลางวันและอาหารว่าง ซึ่งมีลายมือชื่อ นางสาวธีรดาเป็นผู้รับเงิน แต่ยังมิได้กรอกข้อความรายการอาหารใต ๆ อันเป็นการกระทำการปลอมเอกสารสิทธิซึ่งเป็นเอกสารราชการ โดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น
จากนั้นนำใบเสร็จรับเงินไปขออนุมัติเบิกจ่ายเงินจากทางราชการ
นายมานพ ศรีผึ้ง อนุมัติให้เบิกจ่ายเงินขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ไปเป็นประโยชน์ของจำเลยหรือบุคคลอื่นโดยทุจริต
โดยมีนางสาวธีรดาและนางเฉลิมศรีเป็นผู้สนับสนุน
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2553 ไม่มีการอบรม และวันที่ 21 ถึง 22 ธันวาคม 2553 มีผู้เข้าร่วมอบรมไม่ครบจำนวน แต่กลับมีการลงลายมือชื่อในแบบลงทะเบียนผู้เข้าร่วมอบรมครบจำนวนตามเป้าหมาย
จึงเป็นการปลอมลายมือชื่อผู้เข้าอบรม
การกระทำของนายมานพ ศรีผึ้ง กับนางกาญจนาจึงเป็นการร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริตและใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมีชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสาร กระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น รับรองเป็นหลักฐาน ซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ ปลอมเอกสารสิทธิหรือเอกสารราชการปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ ใช้หรืออ้างเอกสารปลอม เป็นเหตุให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 72,600 บาท โดยมีนางสาวธีรดาและนางเฉลิมศรีเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด
เหตุเกิดที่ตำบลนครสวรรค์ตก อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ และที่ตำบลอำเภอใดไม่ปรากฏชัด จังหวัดเชียงราย เกี่ยวพันกัน
ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 , 147, 151 , 157 , 161 , 266 และ 268 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 และให้จำเลยร่วมกันหรือแทนกันคืนเงินจำนวน 72,600 บาท แก่องค์การบรัหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ และให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอื่นของศาลนี้ด้วย
@ วินิจฉัยของศาลฯ
ขณะที่ในการวินิจฉัยของศาลฯ ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ระบุว่า จำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านพยานหลักฐานประกอบการนำสืบของโจทก์ว่าไม่ถูกต้องอย่างไร พยานหลักฐานของโจทก์น่าเชื่อถือรับฟังได้ อาทิ นายกษิภณ กันยาสิน วิทยากร เบิกความว่า ไปสถานที่ดังกล่าว แต่ไม่ได้บรรยาย เพราะไม่มีผู้เข้ารับการอบรมโดยไม่ทราบสาเหตุ ระหว่างรอการบรรยายไม่เห็นผู้ใดนำข้าวของเครื่องใช้ จาน ช้อนส้อม แก้วน้ำดื่ม ถ้วยกาแฟ หม้อ กา หรือ กระติกต้มน้ำร้อย มาวางที่บริเวณห้องประชุมอเนกประสงค์ และไม่มีการนำอาหารคาว เครื่องดื่ม อาหารว่าง มาเลี้ยงรับรองผู้เข้าร่วมอบรม เป็นต้น
ศาลฯ ระบุด้วยว่า คำให้การพยานโจทก์รับฟังได้ว่า เบิกการไปตามความสัตย์จริงตามที่รู้เห็น ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะเบิกความหรือทำหลักฐานปรักปรำจำเลยด้วยเรื่องที่ไม่เป็นความจริง ตรงกับที่ให้การในชั้นสอบสวน มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ส่วนจำเลยมิได้นำพยานหลักฐานมาสืบโต้แย้งคัดค้านหรือแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
แต่เนื่องจากโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานมาสืบแสดงว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมลงมือกระทำการปลอมลายมือชื่อ ของผู้เข้าร่วมโครงการ จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานทำการปลอมเอกชน และไม่ต้องร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่ อบจ.นครสวรรค์
แต่มีความผิดทางอาญา ในฐานะเป็นผู้ออกคำสั่งให้ดำเนินโครงการฯ ซึ่งในฐานะห้วหน้าหน่วยงานของรัฐต้องพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงตามมาตรฐานของวิญญูผู้เป็นหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ ติดตามตรวจสอบว่ามีการจัดกิจกรรมครบถ้วนหรือไม่ ก่อนจะลงนามอนุมัติใช้ยืมเงินทดรอง โดยใช้ความรอบคอบและเอาใจใส่ในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ตรวจสอบการดำเนินการตามโครงการทุกขั้นตอน ก็ย่อมจะทราบและพบเห็นการทุจริตได้โดยง่าย จะอ้างสาเหตุเพราะไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในระเบียบกฎหมายในการปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่มาเป็นข้อแก้ตัวไม่ได้
ข้อกล่าวอ้างของจำเลย จึงไม่มีน้ำหนักรับฟัง
ทั้งหมดนี่ เป็นรายละเอียดสรุปข้อมูลคำพิพากษาตัดสินคดี ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 ที่พิพากษาตัดสินคดีนี้ไปแล้ว
ส่วนผลคดีอาญาในส่วนของ นางกาญจนา ไชยพรม , นางสาวธีรดา วรอินทร์ และนางเฉลิมศรี ทองตะนุนาม อีกคดีหนึ่ง ยังไม่ข้อมูลยืนยันว่าศาลพิพากษาตัดสินคดีไปแล้วหรือไม่
@มานพ ศรีผึ้ง
ขณะที่ในคดีนี้ นายมานพ ศรีผึ้ง เคยให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศราทางโทรศัพท์ว่า ถูกศาลฯ ตัดสินลงโทษจำคุก 5 ปี ในคดีนี้จริง ปัจจุบันอยู่ระหว่างต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของตนเอง
เมื่อถามว่า กรณีนี้จะกระทบต่อการดำรงตำแหน่ง ส.ส.หรือไม่ นายมานพ ตอบว่า "ไม่กระทบ เพราะคดีนี้ต้องสู้กันถึงชั้นฎีกา และถูกฟ้องในช่วงดำรงตำแหน่งนายก อบจ. ไม่ใช่ ส.ส. คนละตำแหน่งกัน"
ผลการต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ของ นายมานพ จะออกมาเป็นอย่างไร ต้องคอยติดตามดูกันต่อไป
อ่านข่าวอื่นที่เกี่ยวข้องกับ "นายมานพ ศรีผึ้ง"