"...มีผู้เข้าร่วมโครงการไม่พร้อมที่จะดำเนินการตามโครงการ ในการเป็นแหล่งเรียนรู้ จำนวน 15 ราย โดยบางรายให้เหตุผลว่า ไม่มีเวลา บางรายไม่สามารถจัดกิจกรรม ส่งเสริมการเรียนรู้ได้ หรือไม่เข้าใจว่าต้องดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้อย่างไร บางรายมีความรู้ ความเข้าใจไม่เพียงพอที่จะถ่ายทอดหรือส่งเสริมการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงได้ และบางรายไม่มีแนวคิด ที่จะดำเนินการเป็นศูนย์เรียนรู้หรือแหล่งเรียนรู้ตามที่โครงการกำหนด..."
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคกหนอง นา โมเดล” ของกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นโครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 พ.ศ. 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์สู่การปฏิบัติรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล ด้วยการพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ"โคก หนอง นา โมเดล" ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระดับตำบล และระดับครัวเรือน และเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนผ่านการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร แรงงาน และบัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
จากการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการฯ ตั้งแต่เริ่มดำเนิน โครงการในเดือน กรกฎาคม 2563 จนสิ้นสุดโครงการในเดือน มีนาคม 2565 พบปัญหาใน 3 ประเด็น คือ 1. การดำเนินงานโครงการล่าช้าไม่เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด 2. ผลการดำเนินโครงการบางส่วนมีความเสี่ยงที่จะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการ เป็นพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบตามที่โครงการมุ่งหวัง และ 3. การใช้ประโยชน์จากครุภัณฑ์ที่ได้รับการสนับสนุนของพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล ไม่คุ้มค่า
ต่อไปนี้ เป็นรายงานผลการตรวจสอบ โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคกหนอง นา โมเดล” ของ สตง. ฉบับเต็ม
โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ของกรมการพัฒนาชุมชน เป็นโครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจ พอเพียงประยุกต์สู่การปฏิบัติรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล ด้วยการพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ "โคก หนอง นา โมเดล" ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระดับตำบล และระดับครัวเรือน และเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนผ่านการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร แรงงาน และบัณฑิต จบใหม่ กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในช่วงวิกฤตการ แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
จากการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ตั้งแต่เริ่มดำเนิน โครงการในเดือน กรกฎาคม 2563 จนสิ้นสุดโครงการในเดือน มีนาคม 2565 มีประเด็นข้อตรวจพบ ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 การดำเนินงานโครงการล่าช้าไม่เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด
จากการตรวจสอบผลการดำเนินโครงการ ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุด การดำเนินโครงการตามกรอบระยะเวลาที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 พบว่า กรมการพัฒนาชุมชนดำเนินโครงการยังไม่แล้วเสร็จตามแผนงานที่กำหนดไว้ จำนวน 6 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 - 5 และกิจกรรมที่ 7 โดยมีกิจกรรมที่ดำเนินการแล้วเสร็จเพียง จำนวน 1 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมที่ 6 พัฒนาการสร้างมาตรฐานผลผลิต การแปรรูปและการตลาดตามมาตรฐานอินทรีย์วิถีไทย
ทั้งนี้ การที่กรมการพัฒนาชุมชนยังดำเนินกิจกรรมตามโครงการส่วนใหญ่ไม่แล้วเสร็จตาม กรอบระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติ ทำให้ต้องมีการขอขยายระยะเวลาการดำเนินงานโครงการต่อคณะรัฐมนตรี จากเดิมสิ้นสุดเดือนกันยายน 2564 เป็นสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งผลการดำเนินโครงการ ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2564 พบว่า ยังมีกิจกรรมที่ยังไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ จำนวน 4 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมที่ 2 กิจกรรมที่ 4 กิจกรรมที่ 5 และกิจกรรมที่ 7 กรมการพัฒนาชุมชนจึงต้องขอขยาย ระยะเวลาดำเนินโครงการครั้งที่ 2 จากสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2564 เป็นสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2565 และ จากการตรวจสอบผลการดำเนินโครงการ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 พบว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้ ดำเนินการแล้วเสร็จทุกกิจกรรมแล้ว
ข้อตรวจพบที่ 2 ผลการดำเนินโครงการบางส่วนมีความเสี่ยงที่จะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการ เป็นพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบตามที่โครงการมุ่งหวัง
2.1 พื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบลบางแห่งยังดำเนินการ ไม่เป็นไปตามแนวทางที่โครงการกำหนด
จากการตรวจสอบพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล จำนวน 48 แปลง พบว่า ณ วันที่สังเกตการณ์ มีพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล ที่ยังดำเนินการไม่เป็นไปตามแนวทางที่โครงการกำหนด รายละเอียด ดังนี้
2.1.1 พื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบลส่วนใหญ่ยังมี ฐานการเรียนรู้ไม่ครบทั้ง 9 ฐาน
จากการตรวจสอบ พบว่า มีพื้นที่ที่ยังสร้างฐานการเรียนรู้ไม่ครบถ้วนทั้ง 9 ฐาน จำนวน 31 แปลง โดยสถานภาพการสร้างฐานการเรียนรู้ สามารถสรุปได้ ดังนี้
1) พื้นที่ที่อยู่ระหว่างการสร้างฐานการเรียนรู้ จำนวน 24 แปลง โดยเป็นพื้นที่ ที่ยังอยู่ระหว่างการสร้างฐานการเรียนรู้ทั้ง 9 ฐาน จำนวน 12 แปลง และพื้นที่ที่สร้างฐานการเรียนรู้ เสร็จแล้วบางส่วนและอยู่ระหว่างการสร้างฐานการเรียนรู้ในส่วนที่เหลือ จำนวน 12 แปลง
2) พื้นที่ที่สร้างฐานการเรียนรู้เสร็จแล้วบางส่วนและยังไม่ได้สร้างฐานการเรียนรู้ ที่เหลือ จำนวน 5 แปลง
3) พื้นที่ที่ยังไม่ได้สร้างฐานการเรียนรู้ จำนวน 2 แปลง
2.1.2 พื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบลที่มีฐานการเรียนรู้แล้ว ส่วนใหญ่ยังไม่มีการจัดเตรียมความพร้อมด้านสื่อการเรียนรู้ วัสดุ อุปกรณ์เพื่อใช้สำหรับการสาธิตและ ฝึกปฏิบัติประจำฐานเพื่อการเรียนรู้
จากการตรวจสอบพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล ที่มีฐานการเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองในแปลง จำนวน 34 แปลง พบว่า พื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการ พัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบลมีการจัดเตรียมความพร้อมด้านสื่อการเรียนรู้ วัสดุ อุปกรณ์เพื่อใช้ สำหรับการสาธิตและฝึกปฏิบัติประจำฐานเพื่อการเรียนรู้ยังไม่ครบถ้วนทุกฐาน จำนวน 29 แปลง ดังนี้
1) พื้นที่ที่มีฐานการเรียนรู้ครบถ้วนทุกฐานแล้วแต่ฐานทั้งหมดยังไม่มีการจัดเตรียม ความพร้อมด้านสื่อการเรียนรู้ วัสดุ อุปกรณ์เพื่อใช้สำหรับการสาธิตและฝึกปฏิบัติประจำฐานเพื่อการ เรียนรู้ จำนวน 6 แปลง
2) พื้นที่ที่มีฐานการเรียนรู้ครบถ้วนทุกฐานแล้วและมีการจัดเตรียมความพร้อม ด้านสื่อการเรียนรู้ วัสดุ อุปกรณ์เพื่อใช้สำหรับการสาธิตและฝึกปฏิบัติประจำฐานเพื่อการเรียนรู้เพียง บางฐานเรียนรู้ จำนวน 6 แปลง
3) พื้นที่ที่มีฐานการเรียนรู้แล้วบางส่วนและมีการจัดเตรียมความพร้อมด้านสื่อ การเรียนรู้ วัสดุ อุปกรณ์เพื่อใช้สำหรับการสาธิตและฝึกปฏิบัติประจำฐานเพื่อการเรียนรู้เพียงบางฐาน เรียนรู้ จำนวน 17 แปลง
2.2 ผู้เข้าร่วมโครงการไม่พร้อมที่จะดำเนินการตามโครงการในการเป็นแหล่งเรียนรู้ จากการตรวจสอบ พบว่า มีผู้เข้าร่วมโครงการไม่พร้อมที่จะดำเนินการตามโครงการ ในการเป็นแหล่งเรียนรู้ จำนวน 15 ราย โดยบางรายให้เหตุผลว่า ไม่มีเวลา บางรายไม่สามารถจัดกิจกรรม ส่งเสริมการเรียนรู้ได้ หรือไม่เข้าใจว่าต้องดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้อย่างไร บางรายมีความรู้ ความเข้าใจไม่เพียงพอที่จะถ่ายทอดหรือส่งเสริมการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงได้ และบางรายไม่มีแนวคิด ที่จะดำเนินการเป็นศูนย์เรียนรู้หรือแหล่งเรียนรู้ตามที่โครงการกำหนด
2.3 พื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตมีองค์ประกอบไม่เป็นไปตามแนวทาง ที่โครงการกำหนด หรือมีสภาพพื้นที่ไม่เหมาะสม
จากการตรวจสอบ พบว่า มีพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่มีองค์ประกอบ ไม่เป็นไปตามแนวทางที่โครงการกำหนด หรือมีสภาพพื้นที่ไม่เหมาะสม จำนวน 34 แปลง โดยเป็น พื้นที่ที่มีองค์ประกอบด้านภูมิไม่ครบถ้วน จำนวน 19 แปลง และเป็นพื้นที่ไม่เหมาะสมโดยไม่สามารถ กักเก็บน้ำ หรือไม่สามารถทำการเกษตรได้ หรือต้องใช้วิธีการที่เหมาะสมและระยะเวลาในการแก้ไข ฟื้นฟู หรือปรับปรุงดิน จำนวน 15 แปลง
ข้อตรวจพบที่ 3 การใช้ประโยชน์จากครุภัณฑ์ที่ได้รับการสนับสนุนของพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล
จากการตรวจสอบการใช้ประโยชน์จากครุภัณฑ์ในพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนา คุณภาพชีวิตระดับตำบล จำนวน 48 แปลง พบว่า พื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบที่สุ่มตรวจสอบทั้งหมด ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากครุภัณฑ์ที่ได้รับการสนับสนุนครบทุกรายการ ณ วันที่ตรวจสอบ โดยเป็นพื้นที่ ที่ยังไม่มีการใช้ประโยชน์จากครุภัณฑ์ทุกรายการตั้งแต่ได้รับมอบ จำนวน 11 แปลง คิดเป็นร้อยละ 22.92 ของพื้นที่ที่สุ่มตรวจสอบทั้งหมด และพื้นที่ที่ยังไม่มีการใช้ประโยชน์จากครุภัณฑ์บางรายการ จำนวน 37 แปลง คิดเป็นร้อยละ 77.08 ของพื้นที่ที่สุ่มตรวจสอบทั้งหมด
การที่ผลการดำเนินงานโครงการล่าช้าไม่เป็นไปตามงานที่กำหนด และผลการดำเนินงาน บางส่วนมีความเสี่ยงที่จะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการเป็นพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ รวมทั้ง ครุภัณฑ์ ที่ได้รับการสนับสนุนบางรายการมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้ใช้ประโยชน์ ส่งผลกระทบทำให้ประชาชน ในพื้นที่เป้าหมายได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ต้นแบบสำหรับการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาและยกระดับ คุณภาพชีวิต โดยนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้และพัฒนาพื้นที่ในการอยู่อาศัยให้พึ่งตนเองอย่างพอเพียง ตามที่โครงการมุ่งหวังล่าช้า การฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนและท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เกิดความล่าช้า อีกทั้งยังส่งผลกระทบสืบเนื่องถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและ สังคมของประเทศ ซึ่งไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจ กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจาก สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 รวมทั้ง ทำให้ชุมชนในบางพื้นที่ สูญเสียโอกาสในการมีพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี และไม่มีศูนย์เรียนรู้หรือแหล่งเรียนรู้ สำหรับการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิต หรือสถานที่เสริมสร้างโอกาสในการเรียนรู้ ถ่ายทอดและฝึกปฏิบัติฐานการเรียนรู้ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติรวมถึงไม่มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ในการประกอบอาชีพด้านต่าง ๆ ตลอดจนทำให้การใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินโครงการบางส่วน มีความเสี่ยงที่จะไม่คุ้มค่า จากการที่ผลการดำเนินโครงการบางส่วนมีความเสี่ยงที่จะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ในการเป็นพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบตามที่โครงการมุ่งหวังและครุภัณฑ์บางรายการไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่ต่อเนื่อง
โดยสาเหตุเกิดจาก กรมการพัฒนาชุมชนกำหนดพื้นที่เป้าหมายโดยขาดการพิจารณาถึง ความพร้อมและข้อจำกัดของพื้นที่ที่จะดำเนินโครงการ รวมถึงไม่ได้กำหนดให้มีการสำรวจพื้นที่ที่จะ เข้าร่วมโครงการ และขาดหลักเกณฑ์หรือแนวทางในการประเมินศักยภาพและความพร้อมของผู้ที่จะ เข้าร่วมโครงการ อีกทั้ง แบบมาตรฐานโคก หนอง นา โมเดล ยังไม่ครอบคลุมและสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ เป้าหมาย รวมทั้งไม่ได้กำหนดเงื่อนไขระยะเวลาที่ต้องดำเนินการจัดสร้างฐานเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเอง ให้แล้วเสร็จและสามารถเป็นพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบตามที่โครงการมุ่งหวัง ตลอดจนมีการกำหนด รายการครุภัณฑ์ที่จะให้การสนับสนุนโดยไม่ได้มีการสำรวจความต้องการครุภัณฑ์จากพื้นที่เป้าหมาย และมีการกำหนดแนวทางในการประเมินความจำเป็นและความเหมาะสมก่อนจัดซื้อครุภัณฑ์แต่ละ รายการให้แก่พื้นที่เป้าหมายไม่ชัดเจนและครอบคลุมถึงประเภท ปริมาณ และแหล่งที่มาของผลผลิต ทั้งในพื้นที่แปลงและพื้นที่ใกล้เคียง
ข้อสังเกตที่ 1 ผู้ที่ได้รับการจ้างงานตามโครงการบางส่วนมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามที่โครงการกำหนด
จากการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่ได้รับการจ้างงาน จำนวน 11,332 ราย พบว่า มีผู้ที่ได้รับการจ้างงาน มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามที่โครงการกำหนด จำนวนทั้งสิ้น 36 ราย รายละเอียด ดังนี้
1.1 ผู้ที่ได้รับการจ้างงานตามโครงการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 12 ราย
1.2 ผู้ที่ได้รับการจ้างงานตามโครงการเป็นผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 24 ราย นอกจากนี้ ผลการตรวจสอบของกรมการพัฒนาชุมชน พบว่า มีผู้ที่ได้รับการจ้างงานเป็นทายาท โดยธรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 จำนวน 9 ราย
ข้อสังเกตที่ 2 ความเหมาะสมและความปลอดภัยของสถานที่จัดเก็บครุภัณฑ์
จากการสังเกตการณ์สถานที่จัดเก็บครุภัณฑ์ของพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับตำบล จำนวน 48 แปลง พบว่า มีพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล จัดเก็บครุภัณฑ์บางรายการในสถานที่ไม่เหมาะสมและปลอดภัย จำนวน 28 แปลง
ข้อเสนอแนะ
ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจและรวบรวมข้อมูลการสร้างฐานการเรียนรู้ การจัดเก็บ และการใช้ประโยชน์ครุภัณฑ์ตามโครงการของพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล พร้อมทั้ง ปัญหาอุปสรรคหรือข้อจำกัดที่เกิดขึ้นและดำเนินการ ดังนี้
1.1 กำหนดแนวทางดำเนินการกรณีพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบลยังมี ฐานการเรียนรู้ไม่ครบ จำนวน 9 ฐาน หรือยังขาดการเตรียมความพร้อมในการรองรับการเป็นศูนย์เรียนรู้ หรือแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต
1.2 กำหนดมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริม สนับสนุนให้การใช้ครุภัณฑ์เกิดประโยชน์ สูงสุด และการดูแล บำรุงรักษาครุภัณฑ์อย่างเหมาะสม รวมทั้งแนวทางดำเนินการกรณีผู้เข้าร่วมโครงการ หรือสมาชิกของพื้นที่ต้นแบบไม่มีความประสงค์ที่จะใช้ประโยชน์ครุภัณฑ์ที่โครงการสนับสนุน
2. ควรพิจารณาทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์การประเมินศักยภาพพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” โดยกำหนดคำอธิบายในแต่ละตัวชี้วัดและ เกณฑ์การพิจารณาและให้คะแนนให้มีความชัดเจน เพื่อให้การประเมินศักยภาพเป็นไปในแนวเดียวกัน และลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน พร้อมทั้งกำหนดให้มีการเก็บข้อมูลของแต่ละองค์ประกอบ ทั้ง 5 ด้าน ตามสภาพความเป็นจริง โดยละเอียด ครบถ้วน โดยเฉพาะสภาพปัญหาของพื้นที่ต้นแบบ ซึ่งเป็น ข้อมูลสำคัญสำหรับใช้ในการวิเคราะห์และจัดทำแผนพัฒนาศักยภาพพื้นที่ต้นแบบตามแนวทางการดำเนินงาน การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 - 2568)
3. ในอนาคตหากมีการดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกับโครงการดังกล่าว ควรพิจารณา ดำเนินการ ดังนี้
3.1 การคัดเลือกพื้นที่ดำเนินการจะต้องให้ความสำคัญกับศักยภาพและความพร้อมของ พื้นที่เป้าหมายและผู้เข้าร่วมโครงการ โดยกำหนดเงื่อนไขและคุณสมบัติให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และเป้าหมายของโครงการ และมีการสำรวจและรวบรวมข้อมูลของพื้นที่ให้มีรายละเอียดเพียงพอต่อ การพิจารณาถึงความเหมาะสมของพื้นที่ที่จะดำเนินการ รวมทั้งให้ความสำคัญกับปัจจัยเสี่ยงหรือ สภาพปัญหาอื่น ๆ อย่างรอบด้าน ตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางหรือวิธีการในการพิจารณา คัดเลือกพื้นที่เป้าหมายและผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการที่มีศักยภาพและความพร้อมให้ชัดเจน และสั่งการ ให้หน่วยปฏิบัติดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวอย่างเคร่งครัด
3.2 กำหนดแนวปฏิบัติในการดำเนินโครงการในแต่ละกิจกรรมให้ชัดเจนทั้งในส่วนของ รูปแบบการดำเนินงานและกรอบระยะเวลาที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ รวมทั้งกำหนดให้มีการชี้แจง รายละเอียดการดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดำเนินงานให้แก่ ผู้เข้าร่วมโครงการ ตลอดจนซักซ้อมความเข้าใจและกำชับหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการกำกับและติดตาม การดำเนินงานของผู้เข้าร่วมโครงการให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติที่กำหนดอย่างเคร่งครัด
3.3 กรณีที่มีการสนับสนุนครุภัณฑ์ให้แก่ผู้ร่วมโครงการ ในการกำหนดรายการครุภัณฑ์ ที่จะให้การสนับสนุน ต้องพิจารณาถึงความต้องการใช้งาน ความพร้อม และความสอดคล้องกับบริบท ของสภาพพื้นที่เป็นสำคัญ โดยจะต้องสำรวจความต้องการและพิจารณาองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างรอบด้านและเพียงพอ เพื่อให้ครุภัณฑ์ที่ให้การสนับสนุนมีการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า
3.4 กำหนดแนวทางและวิธีการในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ ให้มีความชัดเจน และสั่งการให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติให้เป็นไป ตามแนวทาง หลักเกณฑ์การดำเนินโครงการอย่างเคร่งครัด และดำเนินการด้วยความรอบคอบ รัดกุม
**************************
ผลการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอ สตง. จากนี้เป็นอย่างไร ต้องคอยติดตามดูกันต่อไป