สตง.แพร่ผลสอบโครงการ "โคกหนอง นา โมเดล”แก้วิกฤตโควิดส่อเหลว ล่าช้าไม่เป็นไปตามแผน เสี่ยงไม่บรรลุวัตถุประสงค์พื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ-ครุภัณฑ์ไม่ได้ใช้ประโยชน์เพียบ จี้กรมการพัฒนาชุมชน แก้ไขปัญหาด่วน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคกหนอง นา โมเดล” ของกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นโครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 พ.ศ. 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์สู่การปฏิบัติรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล ด้วยการพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ"โคก หนอง นา โมเดล" ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระดับตำบล และระดับครัวเรือน และเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนผ่านการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร แรงงาน และบัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
จากการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการฯ ตั้งแต่เริ่มดำเนิน โครงการในเดือน กรกฎาคม 2563 จนสิ้นสุดโครงการในเดือน มีนาคม 2565 พบปัญหาใน 3 ประเด็น คือ 1. การดำเนินงานโครงการล่าช้าไม่เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด 2. ผลการดำเนินโครงการบางส่วนมีความเสี่ยงที่จะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการ เป็นพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบตามที่โครงการมุ่งหวัง และ 3. การใช้ประโยชน์จากครุภัณฑ์ที่ได้รับการสนับสนุนของพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล ไม่คุ้มค่า
ทั้งนี้ ในประเด็นสอบการใช้ประโยชน์จากครุภัณฑ์นั้น จากการตรวจสอบพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนา คุณภาพชีวิตระดับตำบล จำนวน 48 แปลง พบว่า พื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบที่สุ่มตรวจสอบทั้งหมด ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากครุภัณฑ์ที่ได้รับการสนับสนุนครบทุกรายการ ณ วันที่ตรวจสอบ โดยเป็นพื้นที่ ที่ยังไม่มีการใช้ประโยชน์จากครุภัณฑ์ทุกรายการตั้งแต่ได้รับมอบ จำนวน 11 แปลง คิดเป็นร้อยละ 22.92 ของพื้นที่ที่สุ่มตรวจสอบทั้งหมด และพื้นที่ที่ยังไม่มีการใช้ประโยชน์จากครุภัณฑ์บางรายการ จำนวน 37 แปลง คิดเป็นร้อยละ 77.08 ของพื้นที่ที่สุ่มตรวจสอบทั้งหมด
รายงาน สตง. ระบุว่า การที่ผลการดำเนินงานโครงการล่าช้าไม่เป็นไปตามงานที่กำหนด และผลการดำเนินงาน บางส่วนมีความเสี่ยงที่จะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการเป็นพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ รวมทั้ง ครุภัณฑ์ ที่ได้รับการสนับสนุนบางรายการมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้ใช้ประโยชน์ ส่งผลกระทบทำให้ประชาชน ในพื้นที่เป้าหมายได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ต้นแบบสำหรับการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาและยกระดับ คุณภาพชีวิต โดยนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้และพัฒนาพื้นที่ในการอยู่อาศัยให้พึ่งตนเองอย่างพอเพียง ตามที่โครงการมุ่งหวังล่าช้า การฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนและท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เกิดความล่าช้า อีกทั้งยังส่งผลกระทบสืบเนื่องถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและ สังคมของประเทศ ซึ่งไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจ กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจาก สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 รวมทั้ง ทำให้ชุมชนในบางพื้นที่ สูญเสียโอกาสในการมีพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี และไม่มีศูนย์เรียนรู้หรือแหล่งเรียนรู้ สำหรับการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิต หรือสถานที่เสริมสร้างโอกาสในการเรียนรู้ ถ่ายทอดและฝึกปฏิบัติฐานการเรียนรู้ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติรวมถึงไม่มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในการประกอบอาชีพด้านต่าง ๆ ตลอดจนทำให้การใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินโครงการบางส่วน มีความเสี่ยงที่จะไม่คุ้มค่า จากการที่ผลการดำเนินโครงการบางส่วนมีความเสี่ยงที่จะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ในการเป็นพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบตามที่โครงการมุ่งหวังและครุภัณฑ์บางรายการไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่ต่อเนื่อง
รายงาน สตง. ชี้ว่า "สาเหตุเกิดจาก กรมการพัฒนาชุมชนกำหนดพื้นที่เป้าหมายโดยขาดการพิจารณาถึง ความพร้อมและข้อจำกัดของพื้นที่ที่จะดำเนินโครงการ รวมถึงไม่ได้กำหนดให้มีการสำรวจพื้นที่ที่จะ เข้าร่วมโครงการ และขาดหลักเกณฑ์หรือแนวทางในการประเมินศักยภาพและความพร้อมของผู้ที่จะ เข้าร่วมโครงการ อีกทั้ง แบบมาตรฐานโคก หนอง นา โมเดล ยังไม่ครอบคลุมและสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ เป้าหมาย รวมทั้งไม่ได้กำหนดเงื่อนไขระยะเวลาที่ต้องดำเนินการจัดสร้างฐานเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเอง ให้แล้วเสร็จและสามารถเป็นพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบตามที่โครงการมุ่งหวัง ตลอดจนมีการกำหนด รายการครุภัณฑ์ที่จะให้การสนับสนุนโดยไม่ได้มีการสำรวจความต้องการครุภัณฑ์จากพื้นที่เป้าหมาย และมีการกำหนดแนวทางในการประเมินความจำเป็นและความเหมาะสมก่อนจัดซื้อครุภัณฑ์แต่ละ รายการให้แก่พื้นที่เป้าหมายไม่ชัดเจนและครอบคลุมถึงประเภท ปริมาณ และแหล่งที่มาของผลผลิต ทั้งในพื้นที่แปลงและพื้นที่ใกล้เคียง"
เบื้องต้น ผู้ว่าฯ สตง. มีข้อเสนอแนะให้อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้ว โดยเฉพาะการกำหนดมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริม สนับสนุนให้การใช้ครุภัณฑ์เกิดประโยชน์ สูงสุด และการดูแล บำรุงรักษาครุภัณฑ์อย่างเหมาะสม รวมทั้งแนวทางดำเนินการกรณีผู้เข้าร่วมโครงการ หรือสมาชิกของพื้นที่ต้นแบบไม่มีความประสงค์ที่จะใช้ประโยชน์ครุภัณฑ์ที่โครงการสนับสนุนแล้ว
(ภาพประกอบปก จาก https://www.ryt9.com/)