“…จากผลคะแนน ITA รายตัวชี้วัด สะท้อนปัญหาเกี่ยวกับการใช้ทรัพย์สินของราชการอย่างถูกต้อง จากการที่เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานภาครัฐยังไม่ทราบถึงแนวปฏิบัติและวิธีการขอใช้ทรัพย์สินของทางราชการที่ถูกต้อง ตลอดจนปัญหาการเรียกรับสินบนเพื่อแลกกับการเข้ารับบริการจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการขออนุมัติ ขออนุญาต หรือการให้บริการต่างๆ…”
......................................
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ ‘สภาพัฒน์’ ได้เผยแพร่เอกสาร ‘รายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศ ประจำปี 2564’ ซึ่งเป็นรายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศ ทั้ง 13 ด้าน และเป็นรายงาน ‘ฉบับที่ 3’ นับตั้งแต่แผนการปฏิรูปประเทศประกาศใช้ครั้งแรกในปี 2561
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ในประเด็นที่ 11 ‘ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต’ ประจำปี 2564 ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
@คะแนนดัชนี CPI ของไทย ปี 64 ห่างจากเป้าหมาย
แผนการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ มีเป้าหมาย อันพึงประสงค์คือ ประเทศไทยมีการทุจริตและประพฤติมิชอบลดลง และหน่วยงานภาครัฐมีวัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริต มีผลการดำเนินการ ได้แก่
กิจกรรม (Big Rock) CR11G01 ประเทศไทยมีการทุจริตและประพฤติมิชอบลดลง
แผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ มีเป้าอันพึงประสงค์ คือ ค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ซึ่งจัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International : TI) อยู่ที่ 40 คะแนน ในปี 2564 และ 45 คะแนน ในปี 2565
โดยคะแนนดัชนี CPI เป็นการสะท้อนภาพลักษณ์การทุจริตของประเทศต่างๆ ทั่วโลก และเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่กลุ่มนักลงทุนใช้ประเมินความน่าสนใจในการลงทุนของแต่ละประเทศ เนื่องจากการทุจริตเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เป็นต้นทุนหรือเป็นความเสี่ยงในการเข้ามาประกอบธุรกิจ
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีคะแนนในปี 2562 และปี 2563 อยู่ที่ 36 คะแนน และอยู่ในอันดับที่ 101 และ 104 ตามลำดับ สำหรับในปี 2564 จะมีการเผยแพร่คะแนนประมาณเดือน ม.ค.-ก.พ.2565 (คะแนนดัชนี CPI ประจำปี 2564 ประเทศไทยได้ 35 คะแนน อยู่ที่อันดับ 110 จาก 180 ประเทศทั่วโลก-สำนักข่าวอิศรา)
อย่างไรก็ตาม ค่าคะแนน CPI ของประเทศไทย ยังมีค่าห่างจากค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปี 2564 และ 2565 จึงเห็นควรเร่งดำเนินการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศฯ เพื่อบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้
(ที่มา : รายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศ ประจำปี 2564)
การดำเนินงานที่ผ่านมา
การขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ฉบับปรับปรุง) กำหนดให้ปี 2564 คะแนนการรับรู้การทุจริตมีคะแนนเท่ากับหรือมากกว่า 40 คะแนน นั้น การบรรลุค่าเป้าหมายดังกล่าวต้องอาศัยรูปแบบการทำงานที่สำคัญหลายประการ
โดยเฉพาะการดำเนินกิจกรรมปฏิรูปที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) ทั้งนี้ กิจกรรมปฏิรูปดังกล่าว เน้นการขับเคลื่อนตามเป้าหมายย่อย (Milestone : MS) โดยมีขั้นตอนและวิธีการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของกิจกรรมตามช่วงเวลาของแผนการปฏิรูปประเทศ ประกอบด้วย
(1) การพัฒนาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและระบบการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการผลักดันการออกกฎหมายข้อมูลสาธารณะที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายโดยไม่ต้องร้องขอ
โดยในปี 2564 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีดำเนินการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารของทางราชการและ ยกร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ... เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางราชการหรือข่าวสารสาธารณะได้โดยสะดวก ตามมาตรา 59 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งจะนำไปสู่การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่ามีประสิทธิภาพ
(2) การพัฒนากระบวนการยุติธรรมที่รวดเร็ว โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ ในการดำเนินคดีทุจริตทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ท. กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ดำเนินการผ่านโครงการเผยแพร่องค์ความรู้และการบังคับใช้กฎหมายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อส่งเสริมความโปร่งใสในองค์กร
นอกจากนี้ ยังมีการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย อาทิ ร่าง พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เกี่ยวกับการเฝ้าระวังงบประมาณรายจ่ายและการติดตามทรัพย์สินที่เกิดจากการกระทำความผิดคืน
(3) การพัฒนาระบบราชการไทยให้โปร่งใส ไร้ผลประโยชน์ มีผลการดำเนินการขับเคลื่อนการบริหารบุคคลภาครัฐในระบบคุณธรรมตามรัฐธรรมนูญบัญญัติ และยกระดับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับส่วนรวม
สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์สภาพปัญหา เพื่อจัดทำรายงานการพิจารณาศึกษาและยกร่ากฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. ...
นอกจากนั้น ได้กำหนดการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐที่ตนสังกัดหรือปฏิบัติงานอยู่ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการตรวจสอบการร่ำรวยผิดปกติ และการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับการประพฤติมิชอบและร่ำรวยผิดปกติของเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงาน และบังคับใช้มาตรการทางจริยธรรมวินัย และอาญาต่อผู้กระทำผิด
ในประเด็นการป้องกันภาคการเมืองและภาคธุรกิจมีความสัมพันธ์เพื่อกระทำการทุจริต ได้มีการพัฒนามาตรการสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบายในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ มีผลการดำเนินการที่สำคัญเกี่ยวกับการกำหนดเกณฑ์การประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบายในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่
โดยสำนักงาน ป.ป.ท. สำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดเกณฑ์การประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบายและแนวทางในการตรวจสอบ กำกับ ติดตามเรียบร้อยแล้ว
รวมทั้งสำนักงาน ป.ป.ท. ได้ดำเนินการจัดทำร่างคู่มือการประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบายในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศฯ ได้เห็นชอบกับคู่มือฯดังกล่าวแล้ว และสำนักงาน ป.ป.ท. ได้แจ้ง ‘คู่มือฯ’ ไปยังส่วนราชการ เพื่อให้ส่วนราชการทำการประเมินความเสี่ยงและแผนบริหารความเสี่ยง ประกอบการจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 แล้วเมื่อเดือน ต.ค.2564
@การผลักดันกฎหมายป้องกันทุจริตหลายฉบับ 'ล่าช้า'
ประเด็นท้าทายที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมาย
ประเด็นท้าทายที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบนั้น ได้แก่
(1) สถานการณ์เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อกิจกรรม มีการดำเนินการล่าช้ากว่ากำหนดการเดิม
(2) (ร่าง) กฎหมายหลายฉบับมีการดำเนินการล่าช้า ไม่สามารถผลักดันให้สำเร็จได้ตามแผนที่วางไว้
(3) หน่วยงานหลักที่ดำเนินกิจกรรมปฏิรูปประเทศที่สำคัญหลายหน่วยงาน เป็นองค์กรอิสระ และองค์การมหาชน ส่งผลให้การดำเนินการและการประสานขับเคลื่อนอาจเกิดปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ
ข้อเสนอแนะเพื่อการบรรลุเป้าหมาย
การยกระดับค่า CPI ถือเป็นภารกิจระดับชาติที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ทั้งนี้ การดำเนินการเพื่อยกระดับคะแนนดัชนี CPI ต้องให้ความสำคัญกับการร่วมกันสร้างความชัดเจนของกิจกรรม/โครงการ ในการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับ CPI
โดยเฉพาะการสนับสนุนสำนักงาน ป.ป.ท. ให้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการยกร่างแผนงานเชิงรุกระยะ 3 ปีเพื่อยกระดับค่าคะแนน CPI ผ่าน 3 มาตรการ ได้แก่ มาตรการลงโทษทางกฎหมาย (Punishment) มาตรการป้องกัน (Prevention) และมาตรการส่งเสริม สนับสนุน (Promotion) ซึ่งจะดำเนินการภายใต้ 16 แนวทาง
อาทิ ในด้าน Punishment ควรเร่งรัดติดตามการดำเนินคดีขนาดใหญ่เพื่อให้สาธารณชนเกิดความเชื่อมั่น ในการปราบปรามการทุจริต ในด้าน Prevention ควรมุ่งสร้างสภาพแวดล้อมทางการทำธุรกิจหรือ Ecosystem ที่เอื้อต่อการค้า การลงทุน ลดอุปสรรคในการให้บริการของผู้ประกอบการธุรกิจ ที่เป็น Pain Point ของผู้ประกอบการ
และในด้าน Promotion ควรมุ่งสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมในการต่อต้านการทุจริต โดยสนับสนุนให้ภาคเอกชนบรรจุกิจการเพื่อสังคมที่มีกิจกรรมต่อต้านการทุจริตไว้ในแผนธุรกิจ เป็นต้น
นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญกับการบริหาร และการประเมินความเสี่ยงโครงการขนาดใหญ่ รวมถึงการจัดทำแผนรองรับหรือแผนสำรองในกรณีที่เกิดสถานการณ์ที่อาจเป็นข้อจำกัดในการดำเนินการที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต อาทิ ข้อจำกัดจากสถานการณ์โรคระบาด สถานการณ์การเมือง สถานการณ์จากภาวะเศรษฐกิจ สถานการณ์จากปัญหาสังคม สถานการณ์จากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
โดยในแผนรองรับสถานการณ์นั้น ควรกำหนดแนวทางการปรับเปลี่ยนกำหนดการ และรูปแบบการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของกิจกรรมภายใต้ข้อจำกัดจากสถานการณ์ต่างๆ
ตลอดจนให้ความสำคัญกับการนำระบบดิจิทัลมาใช้สนับสนุนการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศให้มีการบริหารงานภาครัฐที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน เพื่อนำประเทศไทยเข้าสู่เวทีโลกให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) และมีศักยภาพด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตได้มากขึ้น
ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์และหลักการเดิมของกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 59 และมีความเป็นข้อมูลข่าวสารสาธารณะ (Public Information) ตามหลักการสากล
@หน่วยงานภาครัฐได้คะแนน ITA ต่ำกว่าเป้าหมาย
กิจกรรม (Big Rock) CR11G02 หน่วยงานภาครัฐมีวัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริต
แผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ มีเป้าอันพึงประสงค์ในปี 2564 เกี่ยวกับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในหน่วยงานภาครัฐ (ITA) โดยกำหนดให้คะแนนการประเมินฯในหน่วยงานภาครัฐร้อยละ 65 ของหน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมการประเมินทั้งหมด ได้คะแนน 85 คะแนนขึ้นไป
ทั้งนี้ ผลการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ 2564 ในภาพรวมของประเทศไทย สรุปได้ว่า มีหน่วยงานภาครัฐร้อยละ 49.95 ที่ได้คะแนน ITA ระดับ 85 คะแนนขึ้นไป ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเป้าหมายปี 2564 ที่กำหนดให้ต้องมีหน่วยงานร้อยละ 65 ของหน่วยงานภาครัฐได้คะแนน 85 คะแนนขึ้นไปนั้น
จึงสรุปได้ว่าผลคะแนน ITA ในปีงบประมาณ 2564 ดังกล่าวยังต่ำกว่าค่าเป้าหมาย
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานภาครัฐโดยส่วนใหญ่สามารถทำคะแนน ITA ในภาพรวมสูงขึ้นกว่าการประเมินในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า หน่วยงานภาครัฐได้เกิดความตระหนักในการบริหารงานและกำกับดูแลการดำเนินงานให้มีคุณธรรมและให้ความสำคัญกับความโปร่งใสขององค์กรเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความตื่นตัวในแง่ของการจัดการข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นระบบ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน
(ที่มา : รายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศ ประจำปี 2564)
การดำเนินงานที่ผ่านมา
การขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบเพื่อให้บรรลุค่าเป้าหมายในปี ที่กำหนดให้ร้อยละ 65 ของหน่วยงานภาครัฐ มีคะแนนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) 85 คะแนนขึ้นไปนั้น
กิจกรรมปฏิรูปที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) ที่มีส่วนสนับสนุนค่าเป้าหมายด้านการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ปี 2564 ประกอบด้วยกิจกรรมปฏิรูปประเทศ 4 กิจกรรม มีผลการดำเนินการที่สำคัญ 4 ประเด็น ดังนี้
1.การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริต
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ทำงานร่วมกับคณะทำงานฯ และผู้แทนองค์กรชุมชนระดับตำบล โดยมีพื้นที่เป้าหมายการดำเนินการ 5 จังหวัด 25 ตำบล เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการป้องกันและเฝ้าระวังการทุจริตในพื้นที่ มีจัดทำคู่มือการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริต เป็นต้น
2.การพัฒนากระบวนการยุติธรรมที่รวดเร็ว โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติในการดำเนินคดีทุจริตทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
สำนักงาน ป.ป.ช. ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ท. กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ดำเนินการผ่านโครงการเผยแพร่องค์ความรู้และการบังคับใช้กฎหมายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
เพื่อส่งเสริมความโปร่งใสในองค์กรในพื้นที่ภูมิภาค เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่ายในการบังคับใช้กฎหมายและรับฟังความคิดเห็นในแนวทางการพัฒนากฎหมาย รวมถึงการมีระบบติดตาม ตรวจสอบหรือแจ้งความคืบหน้าในการดำเนินงานให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบ เป็นต้น
3.การพัฒนาระบบราชการไทยให้โปร่งใส ไร้ผลประโยชน์ มีผลการดำเนินการ สรุปได้ดังนี้
(1) การขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูป เรื่อง “นโยบาย No Gift Policy จากการปฏิบัติหน้าที่” ปีงบประมาณ 2564 ได้รับความร่วมมือจากศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) ของหน่วยงานภาครัฐ 39 หน่วยงาน ในการดำเนินการ
(2) การขับเคลื่อนการบริหารบุคคลภาครัฐในระบบคุณธรรมตามรัฐธรรมนูญบัญญัติ และยกระดับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับส่วนรวม
สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์สภาพปัญหาเพื่อจัดทำรายงานการพิจารณาศึกษา และยกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. ... ซึ่งมีการวางกรอบการดำเนินการจัดทำกฎหมายเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม
(3) การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐที่ตนสังกัดหรือปฏิบัติงานอยู่ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการตรวจสอบการร่ำรวยผิดปกติ และ
(4) การจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับการประพฤติมิชอบและร่ำรวยผิดปกติของเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงาน และบังคับใช้มาตรการทางจริยธรรม วินัย และอาญาต่อผู้กระทำผิด
สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและสำนักงาน ป.ป.ช. จัดส่งข้อมูลเกี่ยวกับพฤติการณ์หรือช่องทางความเสี่ยงการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐและการร่ำรวยผิดปกติไปยังสำนักงาน ป.ป.ท. เพื่อทำการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับ รวมทั้งจัดทำข้อมูลเพื่อแจ้งหัวหน้าหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
4.การพัฒนามาตรการสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบายในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่
มีผลการดำเนินการที่สำคัญเกี่ยวกับการกำหนดเกณฑ์การประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบายในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ โดยสำนักงาน ป.ป.ท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดเกณฑ์การประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบายและแนวทางในการตรวจสอบ ติดตาม กำกับ เรียบร้อยแล้ว
@ผลคะแนน ITA สะท้อนมีการใช้ 'ทรัพย์สินราชการ' มิชอบ
ประเด็นท้าทายที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมาย
ประเด็นท้าทายที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบนั้น ได้แก่
(1) สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การดำเนินกิจกรรมที่สอดคล้องกับตัวชี้วัดการประเมิน ITA มีความล่าช้ากว่ากำหนดการเดิม ซึ่งส่งผลต่อระดับคะแนน ITA
(2) เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานภาครัฐบางส่วนยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับแนวปฏิบัติการขอใช้ทรัพย์สินของทางราชการ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาการใช้ทรัพย์สินของทางราชการในทางมิชอบได้
รวมทั้งระเบียบการใช้งบประมาณภายใต้กองทุน ป.ป.ช. มีระเบียบการใช้จ่ายงบประมาณเฉพาะตามที่กองทุนกำหนด ซึ่งไม่เอื้อต่อการดำเนินงานของเครือข่ายภาคประชาชนและองค์กรชุมชน ขาดความยืดหยุ่นตามบริบทสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ เป็นต้น
(3) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งมีข้อจำกัดในการดำเนินกิจกรรมที่สอดคล้องกับตัวชี้วัดการประเมิน ITA (อปท. 7,850 แห่ง มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 80.63 คะแนน) อันเป็นผลมาจากความไม่เข้าใจความหมายของประเด็นการประเมินและตัวชี้วัดของการประเมินอย่างถ่องแท้
รวมทั้งมีข้อจำกัดด้านปริมาณงานและงบประมาณการดำเนินงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณงานที่มีจำนวนมาก และขาดแคลนงบประมาณเพื่อพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งส่งผลทำให้องค์กรไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมการประเมิน ITA ได้อย่างเต็มที่
ข้อเสนอแนะเพื่อการบรรลุเป้าหมาย
จากผลคะแนน ITA รายตัวชี้วัด สะท้อนปัญหาเกี่ยวกับการใช้ทรัพย์สินของราชการอย่างถูกต้อง จากการที่เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานภาครัฐยังไม่ทราบถึงแนวปฏิบัติและวิธีการขอใช้ทรัพย์สินของทางราชการที่ถูกต้อง ตลอดจนปัญหาการเรียกรับสินบนเพื่อแลกกับการเข้ารับบริการจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการขออนุมัติ ขออนุญาต หรือการให้บริการต่างๆ
ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐจะต้องดำเนินการแก้ไขให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์ของส่วนรวม เพื่อปรับพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อป้องกันปัญหาเกี่ยวกับการใช้ทรัพย์สินของราชการ
ส่วนปัญหาการเรียกรับสินบน ควรส่งเสริมศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจให้องค์กรกลุ่มดังกล่าว เกี่ยวกับแนวทางและตัวชี้วัดของการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA)
เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพัฒนาแนวทางการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับตัวชี้วัด ITA ที่นำไปสู่การยกระดับผลคะแนน ITA ระดับองค์กรที่เพิ่มสูงขึ้น และส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายในปี 2565 ที่กำหนดให้ร้อยละ 80 ของหน่วยงานภาครัฐได้คะแนน ITA ที่ระดับ 85 คะแนนขึ้นไป
เหล่านี้เป็นผลงานของ ‘รัฐบาล-หน่วยงานของรัฐ’ ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ประจำปี 2564 ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งพบว่ายัง ‘สอบตก’ ในขณะที่การผลักดันกฎหมายสำคัญๆในการป้องกันและปราบการทุจริตหลายฉบับ มีความ ‘ล่าช้า’!
อ่านฉบับเต็ม : รายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศ ประจำปี 2564
อ่านประกอบ :
ชำแหละปม'คอร์รัปชัน' จาก'เรียกเงิน'ถึง'ทุจริตอีบิดดิ้ง' รธน.ฉบับปราบโกงไม่ศักดิ์สิทธิ์!
บทวิเคราะห์ ป.ป.ช.เหตุ CPI ไทยอันดับตก แนะแก้ปัญหาจริงจัง โดยเฉพาะ จนท.รัฐเรียกรับสินบน