“…มีการพูดกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับปราบโกง แต่ถ้ารัฐธรรมนูญศักดิ์สิทธิ์จริง วันนี้หัวข้อการปราบคอร์รัปชัน ทางออกลงทุนไทยคงไม่เกิดขึ้น หรือพูดง่ายๆ คือ รัฐธรรมนูญอยู่เฉยๆไม่สามารถไปปราบทุจริตได้ จึงต้องอยู่ที่ภาคปฏิบัติ…”
...........................
เมื่อวันที่ 10 ส.ค. สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี เอชดี ช่อง 36 ร่วมกับกองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (กองทุน ป.ป.ช.) จัดงานเสวนาออนไลน์หัวข้อ ‘ปราบคอร์รัปชัน ทางออกลงทุนไทย’ Ending Corruption : Key to Boosting Investment in Thailand โดยวิทยากรที่เข้าร่วมการเสวนาฯ มีมุมมองว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับที่รุนแรง พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้ มีรายละเอียด ดังนี้
@ชี้ ‘คอร์รัปชัน’ เป็นต้นทุนการลงทุน-ห่วงระบบการเมืองใช้เงินมากขึ้น
ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘ปราบคอร์รัปชัน ทางออกลงทุนไทย’ โดยระบุตอนหนึ่งว่า การคอร์รัปชัน เป็นต้นทุนของการลงทุนอย่างหนึ่ง และทุกวันนี้ยังคงมีอยู่ ทั้งนี้ หากเราไม่สามารถสกัดการใช้เงินซื้อเสียงเพื่อให้มาซึ่งตำแหน่ง ส.ส.ได้ เราก็จะได้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร คือ รัฐบาล ที่มาจากการซื้อเสียง ซึ่งเขาก็ต้องเอาเงินคืนโดยการคอร์รัปชัน และสิ่งเหล่านี้จะเป็นต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ
“ผมให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร โดยรณรงค์ต่อต้านการทุจริตซื้อเสียงมาตลอดชีวิต 50 กว่าปี แต่อาจไม่ประสบความสำเร็จ เพราะแนวโน้มของความรุนแรงในการใช้เงินมีมากขึ้น ถ้าเราไม่สามาถสกัดจุดนี้ได้ เราจะได้ผู้แทนฯที่มาจากระบบใช้เงิน แล้วแน่นอนเขาต้องเอาเงินคืน การคอร์รัปชันก็ติดตามมา และเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นภาคใดก็ตาม นี่คือความจริงที่เราเห็นภาพ” ชวน กล่าว
ชวน กล่าวว่า ตอนที่ตนเป็น ส.ส.ใหม่ๆ เคยได้รับแต่งตั้งเป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ และได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่กำกับดูแลคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) ในสมัยนั้น แต่เมื่อตนเสนอรายชื่อ กรรมการ ป.ป.ป. ซึ่งคัดสรรมาจากคนที่ดีที่สุดในทุกวงการเข้ามาเป็นกรรมการ ป.ป.ป. แต่ปรากฏว่าไม่ได้รับความเห็นชอบ เพราะคนในรัฐบาลไม่พอใจ เนื่องจากเขาทำธุรกิจอยู่ จึงกลัวว่าจะมีปัญหาได้
“อย่าไปคิดว่า ถ้าเราคิดสิ่งที่ดีแล้วคนอื่นจะชอบ จะเห็นกับเราหมด เพราะผมเจอมากับตัวเอง ตอนนั้นอายุยังน้อย ก็รู้สึกเสียใจ เพราะเมื่อนายกฯให้เราเป็นคนดูแล ป.ป.ป. ผมสรรหาคน คัดคนที่ดีที่สุดในแต่ละวงการมาเป็นกรรมการ ป.ป.ป. เรามองด้วยความภาคภูมิใจว่า กรรมการชุดนี้แหละ จะเป็นจุดสำคัญที่จะแก้ไขปราบปรามการทุจริตได้ แต่พอเข้าสภาฯ กลับหลุด แพ้ กรรมการฯที่เสนอไป ไม่ได้รับการรับรองจากคนในรัฐบาลที่ไม่พอใจว่า เอาคนดีเกินไปเข้ามา
เพราะตัวทำธุรกิจ กลัวมีปัญหา แต่ผมก็ได้ประจักษ์ความจริงวันนั้นว่า เราอย่าไปคิดว่า เมื่อเราทำสิ่งที่ดีถูกต้องแล้ว มันจะเป็นที่ชื่นชมชอบของคน บางทีเราอยู่ในหมู่คนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 รับสั่งว่า มีทั้งคนดีและคนไม่ดี คนที่มีพฤติกรรมทุจริจคอร์รัปชัน เขาก็ไม่ชอบให้เราทำสิ่งที่สวนทางกับเขา จึงไม่ได้รับการยอมรับ ผมก็เสียใจมาก แต่ท่านนายกฯ (มรว.เสนีย์ ปราโมช) ท่านปลอบใจว่า อย่าเสียใจ ทำใหม่ แต่บทเรียนอันนี้ ทำให้ได้ข้อคิดตลอดชีวิตมา” ชวน กล่าว
@รัฐธรรมนูญฉบับ ‘ปราบโกง’ ไม่ศักดิ์สิทธิ์-ทุจริตกระจัดกระจาย
ชวน กล่าวต่อว่า จากปี 2519 จนถึงวันนี้ เหตุการณ์ต่างๆเปลี่ยนไปมาก โดยประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 หรือที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับ ‘ปราบโกง’ แต่หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ศักดิ์สิทธิ์จริง วันนี้เราคงไม่ต้องมาพูดกันในหัวข้อ ‘การปราบคอร์รัปชัน ทางออกลงทุนไทย’
“ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีการบัญญัติในเรื่องที่เกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบ มีเขียนคำที่เกี่ยวข้องกับการซื่อสัตย์สุจริตเอาไว้ โดยมีคำว่า ‘ซื่อสัตย์’ ในรัฐธรรมนูญอยู่ 22 คำ ส่วนคำว่า ‘สุจริต’ มีอยู่ 38 คำ อย่างที่เราได้ยินในการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่เป็นประจักษ์ในแต่ละตำแหน่ง แต่ขนาดรัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างนี้ และมีการพูดกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับปราบโกง
แต่ถ้ารัฐธรรมนูญศักดิ์สิทธิ์จริง วันนี้หัวข้อการปราบคอร์รัปชัน ทางออกลงทุนไทยคงไม่เกิดขึ้น หรือพูดง่ายๆ คือ รัฐธรรมนูญอยู่เฉยๆไม่สามารถไปปราบทุจริตได้ จึงต้องอยู่ที่ภาคปฏิบัติ ซึ่งเขาไม่รู้หรือว่าการทุจริตคอร์รัปชันมันอันตรายต่อบ้านเมืองอย่างไร รู้ทั้งนั้นแหละ ใครบ้างไม่รู้ แต่ที่ยังมีปัญหาอย่างนี้ คำตอบก็คือ ภาคปฏิบัติ ซึ่งถ้าย้อนไปที่ภาคปฏิบัติ ก็อยู่ที่คนนั่นเอง
เพราะฉะนั้น จึงอย่าแปลกใจที่ตอนนี้สภาฯกำลังทำเรื่อง 'บ้านเมืองสุจริต' ซึ่งหลายคนก็ถามว่า ท่านประธานฯทำเรื่องนี้ ไม่ popular (เป็นที่นิยม) ไม่เป็นข่าวพาดหัว ผมก็รู้ แต่ถ้าเราอยู่เฉยๆไม่คิดทำอะไร ในขณะที่สภาพบ้านเมืองว่าการทุจริตยังกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป เราก็เหมือนดูดาย ไม่ทำสิ่งที่ควรมีส่วนร่วม เราจึงทำโครงการบ้านเมืองสุจริต โดยถือหลักว่า ‘ประเทศจะรุ่งเรือง เมื่อบ้านเมืองสุจริต’ เพื่อกระจายความคิดเรื่องซื่อสัตย์สุจริตไปในหมู่เยาวชน” ชวน กล่าว
ชวน ระบุด้วยว่า แม้ว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ได้บัญญัติเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศและการปฏิรูปการเมือง โดยต้องการให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมและมีความรับผิดชอบอย่างแท้จริงในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และการคัดเลือกผู้มีความสามารถซื่อสัตย์สุจริตและมีคุณธรรมจริยธรรมเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม แต่หากเราได้รัฐบาลที่มาจากการซื้อเสียงแล้ว คงจะเชื่อไม่ได้ว่ารัฐบาลนั้น จะเข้ามาปราบคอร์รัปชัน
“ถ้าคนที่มาจากการเลือกตั้ง ทุจริตมา ซื้อเสียงมา เราก็ได้รัฐบาลที่มาจากการทุจริตและซื้อเสียง รัฐบาลอย่างนี้ คิดหรือว่าจะเชื่อเรื่องการปราบคอร์รัปชัน นอกจากจะคอร์รัปชันเสียเอง และถ้าฝ่ายบริหารมาจากฝ่ายนิติบัญญัติที่ไม่ชอบธรรม ฝ่ายบริหารก็ยากที่จะชอบธรรม และในที่สุดฝ่ายบริหารที่มาดูแลกระทรวง ทบวง กรม ก็จะหาประโยชน์แก่ตน จะตั้งข้าราชการก็ตั้งคนที่มีความคิดเหมือนตัวเอง คือ ยอมรับการทุจริตโกงกินได้และหาประโยชน์ให้ฝ่ายการเมือง” ชวน ย้ำ
@เผยมี ‘ที่ปรึกษา-ผู้ช่วยปฏิบัติงาน’ใน ‘กมธ.’ เรียกรับผลประโยชน์
ชวน ยอมรับว่า แม้แต่ในสายนิติบัญญัติใช่ว่าจะบริสุทธิ์กันทุกคน เพราะในคณะกรรมาธิการฯที่มีจำนวน 35 ชุดนั้น มีบางชุดได้แต่งตั้งที่ปรึกษาฯ และตั้งคณะทำงานผู้ช่วยต่างๆ แต่ปรากฎว่าคนเหล่านี้กลับไปแสวงหาผลประโยชน์ โดยการเรียกรับเงินต่างๆ ตนจึงทำหนังสือไปยังประธานคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้แจ้งต่อประธานคณะกรรมาธิการฯทุกชุด ให้กำชับการปฏิบัติตนของบุคคลที่มีช่วยปฏิบัติงานในคณะกรรมาธิการฯให้มีความเหมาะสม
“มีผู้ได้รับผลกระทบจากการที่คณะทำงานของกรรมาธิการฯไปเรียกเงิน โดยไปเรียกเงิน 1 แสนบาท โดยบอกว่า เขาอยู่ในคณะกรรมาธิการชุดนั้นๆ สามารถไปเจรจาให้คู่กรณีไม่ฟ้องร้องกันได้ คนที่ร้องเป็นฝรั่งเนเธอร์แลนด์ ร้องมาว่าได้จ่ายเงินไป 1 แสน แต่ปรากฏว่าล้มเหลว ไม่ได้เป็นอย่างที่รับปากไว้ จึงร้องมาที่ผม ส่วนคนที่ถูกร้องนั้น ไม่ได้เป็น ส.ส. จึงสอบจริยธรรมก็ไม่ได้ แต่ผมก็ส่งข้อความถามไปว่า จะดำเนินคดีอาญาได้หรือไม่
นี่เป็นหนึ่งในหลายเรื่องที่ผ่านมาเข้ามา จนกระทั่งเรารู้สึกว่าฝ่ายนิติบัญญัติที่มีคณะกรรมาธิการฯอยู่ทั้ง 35 ชุด มีบางชุดที่พฤติกรรมไม่เหมาะ เช่น มีคนในกรรมาธิการฯชุดหนึ่งบางคน อาจจะเป็นที่ปรึกษาฯหรือคณะทำงานก็แล้วแต่ ไปเรียกผลประโยชน์จากพ่อค้าคนจีน แต่บังเอิญคนจีนที่มาทำธุรกิจบางคน ก็ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จึงกลายเป็นเหยื่อเขา โดนขอประโยชน์ครั้งละหลายล้าน แต่ไม่กล้ามาร้องเรียน เพราะตัวก็ทำสิ่งไม่ถูกต้อง ก็เป็นเหยื่อคนเหล่านี้
ดังนั้น ผมจึงต้องมีหนังสือสั่งกำชับไปยังประธานคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้แจ้งว่า ด้วยมีข้อกล่าวหาพฤติกรรมของบุคคลที่มาช่วยปฏิบัติงานในคณะกรรมาธิการบางคณะว่า มีลักษณะที่ไม่หมาะสม โดยมีการเรียกรับผลประโยชน์จากเอกชน เพื่อให้การปฏิบัติตนของบุคคลที่มีช่วยปฏิบัติงานในคณะกรรมาธิการฯ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นไปด้วยความสุจริต เพื่อรักษาเกียรติศักดิ์ศรีของฝ่ายนิติบัญญัติ
จึงขอให้ประธานคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร นำเรื่องไปหารือกับประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎรทุกคณะ เพื่อกำชับการปฏิบัติตนของบุคคลที่มีช่วยปฏิบัติงานในคณะกรรมาธิการฯให้มีความเหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ นี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในฝ่ายนิติบัญญัติเองส่วนหนึ่ง ซึ่งแม้ว่าจะเป็นส่วนที่ปลีกย่อย แต่เราไม่สามารถปล่อยปละละลายได้
แม้แต่ข้าราชราชการเอง บางทีข้าราชการของเราเองก็เสี่ยง ก็เลยต้องสั่งการพิเศษไปยังเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ว่า ขอให้แจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในคณะกรรมาธิการฯชุดต่างๆว่า อย่าไปทำอะไรตามที่ฝ่ายการเมืองเขาสั่งโดยไม่ชอบ ไม่เช่นนั้น ฝ่ายการเมืองรอด แต่คุณติดคุก ผมได้สั่งเป็นการภายในแล้ว และที่ผมเล่าให้ฟังนี่ ก็เพื่อจะบอกว่าไม่ใช่ว่าในสภาฯทุกอย่างจะโปร่งใสทั้งหมด” ชวน กล่าว
(ชวน หลีกภัย)
@ห่วงการทุจริตกระจายสู่ ‘ท้องถิ่น’ มากขึ้น-หวัง ป.ป.ช.จัดการโดยเด็ดขาด
ชวน ย้ำว่า วันนี้ปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับภาคธุรกิจนั้น ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะในระดับประเทศเท่านั้น เพราะขณะนี้การคอร์รัปชันกระจายไปถึงท้องถิ่น และภูมิภาค เพราะหลังจากรัฐบาลมีกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นไปตั้งแต่ปี 2542 ต้องยอมรับว่าบางท้องถิ่นมีการทุจริต และมีรายงานเข้ามาเกือบทุกวัน แต่เรื่องเหล่านี้ไม่ควรทำให้เราเสียกำลังใจ และตนอยากขอให้หน่วยงาน ป.ป.ช. ช่วยลงไปดู หากท้องถิ่นไหนทุจริตก็ขอให้จัดการโดยเด็ดขาด
“การกระจายอำนาจ คือ หัวใจของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ต้องไม่ใช่การกระจายทุจริตออกไป อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้จะทำได้ ก็ต่อเมื่อท้องถิ่นนั้นมาจากการเลือกตั้งโดยสุจริต ราชการส่วนภูมิภาคก็เหมือนกัน ถ้าท่านซื้อตำแหน่งไป ท่านก็ต้องไปหาผลประโยชน์ ซึ่งต้นทุนเหล่านี้ ทำให้การทุจริตเกิดขึ้นโดยทั่วไป เพราะเมื่อผู้ว่าราชการฯ ผู้การฯ ต้องซื้อตำแหน่ง ทุกอย่างก็ต้องหาผลประโยชน์
เช่นกัน เมื่อฝ่ายท้องถิ่นต้องซื้อเสียง กว่าจะได้เป็นนายก อบต. นายกเทศมนตรี นายก อบจ. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต้องใช้เท่านั้นเท่านี้ มีหรือที่เขาจะเอาแค่เงินเดือน ฉันใดก็ฉันนั้น ส.ส.ก็เหมือนกัน เขาลงทุนไป 20-30 ล้าน แล้วจะไปเอาเงินเดือนๆละ 1 แสนบาท มันไม่คุ้ม ซึ่งทั้งหมดนี้ คือ ต้นตอของปัญหา จึงอยู่ที่ว่าเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร เพราะอันนี้เป็นต้นทุนที่เลวร้ายที่สุดที่ผู้ประกอบการต้องจ่าย ถ้าผู้ประกอบการไม่ยอม ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
แม้กระทั่งการประมูลที่ใช้ e-bidding (การประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์) ผู้ประกอบการมาเล่าให้พวกเราฟังว่า e-bidding ที่เราคิดว่าเป็นความลับ ก็ยังมีคนไปตั้งห้องพิเศษ เราได้เล่าให้อธิบดีกรมบัญชีกลางฟังว่า มีนักธุรกิจพูดว่า มีห้องพิเศษที่สามารถล้วงไปดูได้ว่าใครเสนอราคาเท่าไหร่ แต่ต้องจ้างพิเศษและจ่าย 1% เช่น 100 ล้าน ก็ต้องจ่ายให้เขา 1 ล้านบาท ซึ่งเขาจะไปแอบดูว่าคนนี้เสนอเท่านี้ แล้วเอาความลับไปบอกคนที่จ้าง เพื่อให้รู้ว่ารายสุดท้ายเสนอราคามาเท่านั้น
แล้วเขาก็เสนอราคาต่ำกว่าราคาสุดท้ายนิดหนึ่ง และชนะไปเลย รัฐบาลและหน่วยราชการ ก็ต้องเลือกรายที่เสนอต่ำสุด ซึ่งความจริงอันนี้ ราชการซึ่งเป็นตัวหลักในการคุมทุจริตแท้ๆ กลับเป็นหน่วยงานที่สร้างปัญหานี้ขึ้นมา เดี๋ยวนี้ยังอยู่หรือเปล่าไม่ทราบ เราเคยคุยกับผู้ใหญ่ในกรมบัญชีกลางว่า มีเรื่องร้องเรียนอย่างนี้ ต้องเข้าไปดูแลแก้ไข เหนือสิ่งอื่นใด ต้นทุนที่เลวร้ายเหล่านี้ เมื่อผู้ประกอบการจำเป็นต้องยอมรับ แล้วจะให้เขาทำงานขาดทุน คงเป็นไปไม่ได้
เขาก็ต้องไปทำโดยการลดคุณภาพงานลงมา ลดสเปกลงมา ลดข้อกำหนดต่างๆลงมา ทำให้ของที่ควรใช้ 20 ปี ใช้ได้ 2 ปี ก็ทรุด ของที่ควรจะใช้ 30 ปี ใช้ 3 ปี ก็มีปัญหา สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นทั่วไปทุกระดับ อย่างที่เรารู้กันอยู่ แต่ยังมีเรื่องดีที่มีองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนหลายหน่วยงานที่ตั้งใจ ผมอยากให้กำลังว่าอย่าไปย่อท้อ อย่าไปหวั่นไหวว่ามันยาก หันไปทางไหนก็เจอแต่ปัญหาทั้งหมด” ชวน กล่าว
ชวน ยังกล่าวว่า “ผมเคยเป็น รมว.กลาโหม 3 ปี วันที่ผมพ้นตำแหน่ง ปลัดกระทรวงฯเอาเงินราชการลับมาให้ผม 7.5 ล้านบาท โดยบอกว่าเงินราชการลับของท่านเหลืออยู่ ขอให้ท่านรับไป ผมก็บอกว่าปลัดฯไปว่า ผมไม่รับ เขาก็บอกว่าอันนี้เงินท่าน ผมก็บอก ผมรู้ เงินราชการลับ รมว.คนก่อนๆเอาไปหมดแล้ว แต่ผมมาจากสายการเมือง ผมไม่ได้มาจากสายทหาร ผมเป็นหนี้บุญคุณชาวบ้านที่เลือกผมโดยไม่ต้องใช้เงิน สิ่งที่ตอบแทนบุญคุณเขา คือ ความซื่อสัตย์สุจริต”
“ความชอบธรรมอันเป็นจุดเริ่มต้นของฝ่ายการเมือง จะเป็นที่มาของความชอบธรรมของฝ่ายบริหาร ถ้าฝ่ายบริหารถูกต้อง ชอบธรรม ฝ่ายบริการก็จะไม่โกง ไม่ทุจริต และแน่นอนที่สุด การทุจริตอันเป็นต้นทุนของการลงทุนทั้งหลายก็จะลดน้อยลง แต่จะหวังให้หมดไปโดยสิ้นเชิงอาจไม่ง่ายนัก ซึ่งเราหวังว่าให้ลดน้อยลงไปให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพราะอุตส่าห์มีรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง แต่ก็อยากให้ ‘โกง’ ปราบรัฐธรรมนูญ” ชวน กล่าวทิ้งท้าย
@ปราบคอร์รัปชันไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ
ด้าน บรรยง พงษ์พาณิช ประธานกรรมการบริหารกลุ่มภารกิจการเงินธนาคารเกียรตินาคินภัทร กล่าวในการอภิปรายหัวข้อ ‘ปัญหา ช่องโหว่ และการควบคุมปราบปรามการทุจริต’ ว่า ที่ผ่านมามีการอ้างว่าเราอยู่ในยุครัฐธรรมนูญปราบโกง แต่ความรู้สึกของประชาชนและข้อเท็จจริงต่างๆ กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม และเราเองก็ต้องยอมรับว่าการปราบคอร์รัปชันไม่ใช่เรื่องง่าย ในขณะที่การแก้ปัญหาคอร์รัปชันต้องทำอย่างเป็นระบบ
“การปราบคอร์รัปชันไม่ใช่เรื่องง่าย และจะต้องแก้ทั้งระบบ อย่างที่ ก.ล.ต. กำลังทำ คือ regulatory guillotine (การยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็น) หรือที่ ACT กำลังทำร่วมกับ กทม. คือ เรื่องการแก้ไขระบบการขอใบอนุญาตก่อสร้าง เพราะการปราบคอร์รัปชันนั้น ไม่ได้อยู่ที่การไปสั่งห้ามเขตฯเรียกเงิน เพราะถ้าห้าม จะไม่มีใบอนุญาตออกเลย จึงต้องไปแก้ไขที่เงื่อนไขการอนุญาต และกฎระเบียบที่หยุมหยิมไร้สาระ” บรรยง กล่าว
บรรยง ยังระบุว่า “ถ้ามีการปราบคอร์รัปชันให้หมดไปทันที จะทำให้การลงทุนระยะสั้นลดลง เพราะแรงจูงใจที่ภาครัฐและรัฐวิสาหกิจจะลงทุนในระยะสั้น อาจจะน้อยลง หากยังไม่เปลี่ยนโครงสร้างด้านอื่นๆ”
บรรยง กล่าวด้วยว่า ในประเทศที่มีคอร์รัปชันสูง นักลงทุนจะสามารถซื้อหาความได้เปรียบในการแข่งขันได้ เช่น ล็อกสเปก ได้สัมปทาน ทำให้เกิดผูกขาด (monopoly) หรือตลาดมีผู้แข่งขันน้อยราย (Oligopoly) ซึ่งประเทศไทยกำลังเจอปัญหานี้เต็มไปหมด และการที่นักลงทุนใช้วิธีซื้อความได้เปรียบในการแข่งขัน แทนที่จะพัฒนาตัวเองให้มีประสิทธิภาพ ลงทุน R&D หรือสร้างนวัตกรรมนั้น จะสร้างต้นทุนในระบบเศรษฐกิจ และทำให้ต้นทุนของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นมหาศาล
บรรยง ยังกล่าวถึงการบทบาทในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันขององค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช. ว่า นับตั้งแต่รัฐบาล คสช. จนถึงปัจจุบัน สำนักงาน ป.ป.ช. มีอัตรากำลังคนเพิ่มขึ้นเท่าตัว และได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นเท่าตัว จาก 1,200 ล้านบาท เป็นกว่า 2,000 ล้านบาท แต่การแก้ปัญหาคอร์รัปชันก็ไม่ดีขึ้น พร้อมกันนั้น นายบรรยง ยังตั้งข้อสังเกตกรณีที่ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติไม่เห็นชอบแต่งตั้งนายอารยะ ปรีชาเมตตา เป็นกรรมการ ป.ป.ช.คนใหม่ ว่ามีคนสั่งหรือไม่
“เมื่ออาทิตย์ก่อน รู้สึกว่าท่านกรรมการ (ป.ป.ช.) ท่านใหม่ ที่ผ่านการสรรหาฯ และมีชื่อเสียงอย่างดี แต่ต้องสอบตกในกระบวนการแต่งตั้งขั้นสุดท้าย คือ วุฒิสมาชิก (ส.ว.) ซึ่งเมื่อดู ก็รู้ว่ามีคนสั่ง” บรรยง กล่าว
บรรยง กล่าวอีกว่า จากทฤษฎีมีการระบุว่า ตราบใดที่ผลประโยชน์ที่คนจะได้รับจากคอร์รัปชันยังมากกว่าโทษคูณกับโอกาสที่จะถูกจับได้ การคอร์รัปชันจะยังมีอยู่ และที่ผ่านมาจะพบว่า คนที่สังคมรู้สึกว่าเป็นนักคอร์รัปชันใหญ่ๆไม่เคยถูกลงโทษเลยหรือหากถูกลงโทษก็ไม่ได้รุนแรง ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องเห็นใจทาง ป.ป.ช. อย่างไรก็ตาม มีเรื่องหนึ่งที่ตนอยากถามกับ ป.ป.ช. คือ ป.ป.ช. มีความเป็นอิสระจริงหรือไม่
“ผมมีคำถามง่ายๆ คือ ป.ป.ช.เป็นอิสระจริงไหม ตั้งแต่การตั้งกรรมการฯลงมาเป็นอิสระจริงหรือเปล่า อันที่สอง คือ ภารกิจของ ป.ป.ช. ซึ่งตอนหลัง มันถูกโยงกับการเมือง เช่น การทำภารกิจให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ เป็นต้น ซึ่งนี่เป็นการเมือง และถ้า ป.ป.ช. ยังมีภารกิจนี้ ป.ป.ช.ก็ไม่มีทางที่จะพ้นจากการเมือง” บรรยง ระบุ
(บรรยง พงษ์พาณิช)
@ACT ชี้สถานการณ์ ‘คอร์รัปชัน’ ไทยแย่ลง-จับได้เฉพาะคดีเล็ก
ด้าน มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อค้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT กล่าวว่า จากผลการสำรวจและผลศึกษาจากงานวิจัยต่างๆในช่วงที่ผ่านมา พบว่า สถานการณ์การทุจริตในประเทศไทยออกมาในทิศทางเดียวกัน คือ ผู้ตอบสอบถาม 80% บอกว่าสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐในปี 2564 แย่ลง โดยมีการคอร์รัปชันมากขึ้น และประชาชนส่วนใหญ่หรือกว่า 80% ยังบอกว่าสถานการณ์คอร์รัปชันในอีก 1 ปีข้างหน้า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นในภาคเอกชน สิ่งที่พบ คือ คนที่ทำธุรกิจที่ตอบแบบสอบถาม มี 20% ที่บอกว่า เขามีปัญหาเจอการทุจริตในระบบของภาคเอกชนด้วยกันเอง ขณะเดียวกัน มีนักธุรกิจที่ตอบแบบสอบถามจำนวนมากที่บอกว่า เวลาที่ติดต่อหรือดีลงานกับทางราชการ ต้องมีการจ่ายสินบน
“การแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่ผ่านมา เรายังเอาปัญหาพวกนี้ไม่อยู่ และสิ่งที่ประชาชนเห็นในวันนี้ คือ คดีคอร์รัปชันที่ถูกจับ ถูกลงโทษ มักเป็นคดีขนาดเล็ก เช่น คดีในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คดีติดสินบนเจ้าหน้าที่หลักแสน หลักล้าน หรือไม่กี่ล้านบาท แต่คดีที่เกี่ยวกับข้าราชการระดับสูง นักการเมือง คดีที่เป็นการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย หรือคดีคอร์รัปชันทางการเมือง สิ่งเหล่านี้เราไม่ได้เห็นเป็นคดี แม้แต่คดีสินบนข้ามชาติ เราก็แทบไม่เห็นความคืบหน้า เพราะสิ่งเหล่านี้มีข้อจำกัดในตัวเอง และเป็นอุปสรรคที่ทำให้การคอร์รัปชันในบ้านเราเลวร้ายลง” มานะ กล่าว
มานะ กล่าวถึงช่องโหว่ที่ทำให้เกิดปัญหาคอร์รัปชัน ว่า “สิ่งที่เราเจอปัญหาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นในภาครัฐหรือภาคเอกชน คือ ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเรา เป็นตัวชักใยอยู่เบื้องหลัง หรือเวลามีปัญหาก็ยักคิ้วหลิ่วตา หลับตาข้างหนึ่ง ปล่อยให้พรรคพวก บริวาร ทำอะไรที่ผิด ทำให้คนไม่เอาจริงเอาจัง ส่วนในภาคธุรกิจ คนที่เป็นขาใหญ่ในแต่ละวงการของภาคธุรกิจ มักจะยินยอมหรือเป็นฝ่ายกระทำด้วยตัวเอง
เพื่อให้เกิดสินบนและการทุจริตในระบบราชการ คือ ไปสนับสนุนเขาเอง เพื่อให้ตนเองได้เปรียบ และคนที่จะเข้ามาเป็นคู่แข่งก็มาได้น้อยลง ซึ่งทำให้ตลาดการค้าเสรีในประเทศไม่มา พอเราไปเชิญชวนต่างชาติมาลงทุน เขาก็ไม่มา อย่างบ้านเรา เวลาจะประมูลงานอะไรกันซักอย่าง เราจะไม่เห็นต่างชาติเข้ามามีส่วนร่วมในการประมูลเท่าไหร่ หรือมีน้อยมาก แล้วเวลามีปัญหา มีน้อยมากที่เราจะเห็นผู้ประกอบการกล้าสู้กับผู้มีอำนาจ
แต่ขอยกตัวอย่างกรณีรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) อันนี้ ผมขอชมทางบีทีเอส กรณีที่กล้าสู้ กล้าสู้กับอำนาจมืด เพราะที่ผ่านมาพอเอกชนโดนกดดันมากๆ เช่น อาจมีการเรียกรับต่อรอง ส่วนใหญ่เอกชนจะถอย แต่อันนี้เขาสู้ อย่างไรก็ดี มีสิ่งที่ตามมา คือ ถ้าทุกคนไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ พ่อค้า หรือนักลงทุน เห็นว่าถ้าตัวใหญ่หรือผู้ใหญ่เขาทำกันได้ ทำไมเขาจะทำไม่ได้ ผมจึงใช้คำว่ามันมี ecosystem ของมันในเรื่องนี้”
มานะ กล่าวด้วยว่า การแก้ปัญหาคอร์รัปชันจะไปหวังพึ่งหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เช่น ป.ป.ช. ทำงานแต่ลำพังคงไม่ได้ แต่ประชาชนทุกคนต้องเข้ามาร่วมมือกันในการแก้ปัญหานี้
(มานะ นิมิตรมงคล)
@ต้นตอปัญหา ‘ทุจริตคอร์รัปชัน’ มาจากทั้งฝ่าย ‘หน่วยงานรัฐ-เอกชน’
นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า เรื่องคอร์รัปชันเป็นปัญหาของสังคม ซึ่งไม่ใช่เฉพาะไทย แต่เป็นปัญหาของโลก และวันนี้องค์กรสหประชาชาติ (UN) มีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003 โดยให้ประเทศภาคีสมาชิก 100 ประเทศ ต้องร่วมมือกันในการปราบปรามการทุจริตในด้านต่างๆ
“ประเทศไทยยังคงมีการทุจริตคอร์รัปชันอยู่ แต่วันนี้สถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชันนั้น ถ้าวัดจากสถิติเรื่องกล่าวร้องเรียน ป.ป.ช. เราได้รับเรื่องกล่าวหาร้องเรียนลดน้อยลง ซึ่งสาเหตุอาจเป็นเพราะว่าประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นปัญหาการทุจริตมากขึ้น และเรามีองค์ต่างๆที่เริ่มไม่ทนต่อปัญหาการทุจริตในประเทศ พอประชาชนเริ่มรู้มาก การร้องเรียนจึงไม่ได้สะเปะสะปะแล้ว แต่ร้องเรียนแบบมีข้อมูล มีหลักฐาน” นิวัติไชย กล่าว
นิวัติไชย ยังระบุว่า สำหรับต้นตอของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันนั้น นอกจากจะมีจากหน่วยงานของรัฐแล้ว อาจมีภาคประชาชนหรือภาคเอกชนเข้ามาไปมีส่วนร่วมด้วย
“วันนี้ถามว่าเอกชนอยากได้งานไหม ก็ตอบว่า อยากได้ ผมเคยคุยกับเพื่อนว่า ทำไมต้องเสียเงินให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการเข้าไปเสนองานหรืออยากได้งานจากหน่วยงานของรัฐด้วย เราแข่งขันโดยความเป็นธรรมได้หรือไม่ เขาบอกว่า ถ้าทำอย่างนั้น เราก็ไม่ได้งาน เขาตั้งบริษัทขึ้นมา เพราะต้องการรายได้และกำไร ซึ่งในการแข่งขันต้องมีการลงทุน ดังนั้น เงินลงทุนอย่างหนึ่งก็คือ เปอร์เซ็นต์ที่เขาต้องไปใช้จ่ายให้กับหน่วยงานภาครัฐ
ถ้าถามว่าบริษัทเอกชนจะร่วมมือกัน ไม่จ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่รัฐ เป็นไปได้ไหม ก็คงยาก อาจมี 5 บริษัทที่บอกว่า ไม่จ่ายเงิน แต่บริษัทที่ 6 บริษัทที่ 7 จะบอกว่า สบายแล้ว เพราะ 5 บริษัทนี้ ไม่ใช่คู่แข่งแล้ว ดังนั้น วันนี้ภาคเอกชนเองยังไม่สามารถควบคุมกันให้มีจริยธรรม หรือธรรมาภิบาลในการประกอบการ ส่วนการคอร์รัปชันในฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐ เกิดจากกิเลสของ คือ อยากมี อยากได้ และมาจากความกลัว คือ กลัวผู้บังคับบัญชา กลัวไม่ได้เลื่อนขั้น กลัวถูกกลั่นแกล้ง โยกย้าย” นิวัติไชย กล่าว
(นิวัติไชย เกษมมงคล)
นิวัติไชย ยอมรับว่า การปราบปรามทุจริตไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และแม้ว่า ป.ป.ช.จะเป็นองค์กรอิสระที่มีอัตรากำลัง 2,500 คนทั่วประเทศ แต่ ป.ป.ช.มีอัตรากำลังที่เป็นงานปราบปรามเพียง 700-800 อัตรา เทียบกับเรื่องที่กล่าวหาร้องเรียนเข้ามาปีละกว่า 1 หมื่นเรื่อง ส่วนงบประมาณที่ ป.ป.ช. ได้รับการจัดสรรปีละกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนเนื้องานต่างๆ นั้น ถือว่ามีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาล
ส่วน รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า การจะทำเรื่องต่างๆให้เกิดความโปร่งใสนั้น การจัดเก็บข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์และเปิดเผยข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ รวมทั้งจะต้องลดการใช้ดุลพินิจให้มากที่สุด โดยต้องมีหลักเกณฑ์กติกาต่างๆให้ชัดเจน และหน่วยงานภาครัฐต้องเดินตามกติกา นั้น เช่น หากมีการอนุมัติที่ล่าช้าจากหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ก็ต้องบอกว่า ช้า เพราะเหตุผลอะไร
“พวกเราถูกสอนมาในเรื่องความโปร่งใส และการทำอะไรที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งทั้ง 2 คำนี้ จะมีส่วนช่วยลดโอกาสการคอร์รัปชันได้ รวมถึงในทางปฏิบัติต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็ง” รื่นวดี กล่าว
(รื่นวดี สุวรรณมงคล)