“…แม้ว่าในปัจจุบันจะมี ‘กองทุนคืนสิทธิ’ เป็นกลไกหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุข ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาของกลุ่มคนไร้รากเหง้าและผู้มีปัญหาสิทธิสถานะหลายกลุ่ม แต่ ‘คนไทยไร้สิทธิ’ เหล่านี้ก็ยังต้องประสบปัญหาในการเข้าถึงสวัสดิการด้านอื่นๆ ของรัฐ โดยเฉพาะการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สวัสดิการสังคม เช่น สวัสดิการผู้สูงอายุ สวัสดิการคนพิการ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ…”
สิทธิในการได้รับหลักประกันด้านสุขภาพ เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมี สำหรับประเทศไทย ‘กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)’ ถือเป็นกลไกหลักดำเนินงานในดูแลประชาชนผู้มีสิทธิกว่า 47.5 ล้านคน ได้ครอบคลุมเกือบ 99% แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในจำนวนประชากรทั้งกว่า 66 ล้านคน ยังคงมีกลุ่มบุคคลที่ยังมีปัญหาสถานะทางทะเบียน ซึ่งทำให้ไม่สามารถเข้าไม่ถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพพื้นฐานและเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ เช่นเดียวกับที่คนไทยคนอื่น ๆ ได้รับ
‘คนไทยตกหล่น’ หรือ ‘คนไทยไร้สิทธิ’ คือ บุคคลที่มีสัญชาติไทย แต่ยังไม่ได้รับการกำหนดสถานะบุคคลที่ถูกต้องทำให้ไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิพลเมือง เนื่องจากไม่มีชื่อในระบบทะเบียนราษฎรที่ถูกต้อง หรือได้รับการจัดทำทะเบียนราษฎรแล้วแต่ถูกจำหน่ายรายการบุคคลออกจากทะเบียนบ้านกลางตามเงื่อนไขของกฎหมายว่าด้วยเรื่องทะเบียนราษฎร หรือเป็นคนไทยที่อยู่ระหว่างการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร
หรือเป็นบุคคลที่เกิดและเติบโตในประเทศไทย มีสายสัมพันธ์กับบุคคลที่มีสัญชาติไทย หากแต่ตกหล่นจากการมีสถานะทางทะเบียน ทั้งจากการตกหล่นจากกระบวนการแจ้งเกิด และทั้งจากการประสบปัญหาในการยืนยันสิทธิสถานะ เนื่องจากพยานเอกสารที่ใช้ประกอบการยืนยันตัวบุคคลสูญหาย หรือพยานใกล้ชิดที่อาจล้มหายตายจาก รวมทั้งสาเหตุจากการเจ็บป่วยทางกายและทางจิตที่ทำให้ความทรงจำเกี่ยวกับภูมิหลังของตนเองพร่าเลือน
ทำให้บุคคลนั้นไม่ได้รับการกำหนดสถานะบุคคลที่ถูกต้อง ส่งผลต่อการได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิพลเมือง เนื่องจากไม่มีชื่อในระบบทะเบียนราษฎรอย่างถูกต้อง
ปัจจุบันแม้ยังไม่มีการสำรวจอย่างเป็นทางการ ทำให้ไม่มีตัวเลขที่ยืนยันอย่างแน่ชัดถึงจำนวนของ ‘คนไทยไร้สิทธิ’ แต่ข้อมูลจากการทำงานของทางภาคประชาสังคมและภาครัฐที่เกี่ยวข้อง มีการคาดการณ์ว่า มีประชาชนอยู่ในทะเบียนบ้านกลางราว 2 แสนคน และอีกจำนวนหนึ่งที่อยู่ระหว่างรอการพิสูจน์สิทธิสถานะ โดนผู้คนเหล่านี้แทรกตัวอยู่อาศัยใช้ชีวิตในพื้นที่ชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งในเขตเมืองและเขตชนบท ทั้งนี้ไม่นับรวมบุคคลตกหล่นที่ไม่สัญชาติ (ไม่มีบัตรประชาชน) หรือกลุ่มชาติพันธุ์
โดยส่วนใหญ่มีฐานะยากจนและมีแนวโน้มที่จะส่งต่อความยากจนไปยังรุ่นต่อไปหากมิได้รับการแก้ไขปัญหา เพราะการไม่มีสิทธิสถานะทางทะเบียนส่งผลให้ไม่สามารถเข้าถึงงานและอาชีพที่มีความมั่นคงทางรายได้ ตลอดจนสวัสดิการทั้งทางสังคม สุขภาพ และการศึกษาที่เหมาะสม
และบางรายชุมชนแทบไม่รู้มาก่อนว่าเป็นคนไทยไร้สิทธิจนกระทั่งพวกเขาเริ่มเจ็บป่วยและต้องการเข้าถึงสิทธิในสวัสดิการของรัฐ
จากผลการสำรวจสถานการณ์คนไร้บ้านเชิงลึกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และในเมืองใหญ่ของประเทศไทยในปี 2559-2560 ของ สสส. และภาคีเครือข่าย พบว่า คนไร้บ้านประมาณ 30% ในทุกพื้นที่มีปัญหาตกหล่นจากสิทธิสถานะ ส่งผลกลุ่มเปราะบางทางสังคมนี้เข้าไม่ถึงหลักประกันคุณภาพ และสวัสดิการพื้นฐานสำคัญของการมีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดี อันเนื่องมาจากการตกหล่นจากสิทธิสถานะ
เช่นเดียวกับข้อมูลของกองคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ปี 2559 ที่ชี้ให้เห็นว่าประมาณ 35% หรือประมาณ 1,500 คน ของคนไร้ที่พึ่งในความดูแลของสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งของรัฐทั่วประเทศ มีปัญหาด้านสิทธิสถานะ โดยส่วนใหญ่เป็นผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิตและกายซึ่งส่งผลต่อการสืบค้นรากเหง้าที่ครบถ้วน เพื่อใช้ในการยืนยันตัวบุคคล
แม้ว่าในปัจจุบันจะมี ‘กองทุนคืนสิทธิ’ เป็นกลไกหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุข ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาของกลุ่มคนไร้รากเหง้าและผู้มีปัญหาสิทธิสถานะหลายกลุ่ม แต่ ‘คนไทยไร้สิทธิ’ เหล่านี้ก็ยังต้องประสบปัญหาในการเข้าถึงสวัสดิการด้านอื่นๆ ของรัฐ โดยเฉพาะการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สวัสดิการสังคม เช่น สวัสดิการผู้สูงอายุ สวัสดิการคนพิการ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
จึงนำมาสู่การผลักดันดันข้อเสนอในการเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพของคนไทยไร้สิทธิหรือคนไทยที่ตกหล่นจากสถานะทางทะเบียน ในวันที่อยู่อาศัยโลก เมื่อปี 2561 อันนำไปสู่การจัดตั้ง ‘คณะทำงานพัฒนาการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพของกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสถานะ’ ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง 9 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย
โดยมีเป้าหมายสำคัญ เพื่อบูรณาการความร่วมมือดูแลประชาชนกลุ่มที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนโดยเฉพาะคนไทยตกหล่น หรือ คนไทยไร้สิทธิ ให้เข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพมากยิ่งขึ้น
เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา สสส. ร่วมกับ สปสช. และสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีเสวนา ‘ไม่มีใครต้องไร้สิทธิ’ เผยความคืบหน้า หลังจากการลงนาม MOU ประสานความร่วมมือพัฒนาการเข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพของคนไทยที่ตกหล่นจากสิทธิสถานะทางทะเบียน มาเกือบ 2 ปี โดยนำร่อง 7 จังหวัดครอบคลุมทุกภาคทั่วประเทศ คือ กทม. ปราจีนบุรี ตราด อุบลราชธานี กาญจนบุรี สงขลา และสระบุรี
ผศ.ภก.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า บันทึกความร่วมมือนี้ เกิดขึ้นจากการผลักดันของหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่มีความมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาและลดอุปสรรคการเข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพของคนไทยตกหล่น โดยเริ่มต้นจาก การพัฒนาเครือข่ายเพื่อแก้ไขปัญหาคนไทยไร้สิทธิใน 7 จังหวัด ที่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาสังคมมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย สสส., สปสช. สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อให้คณะทำงานฯสามารถให้คำปรึกษา คำแนะนำ หรือพาคนไทยไร้สิทธิสถานะมาขึ้นทะเบียนรองรับสถานะ และพาเข้าสู่กระบวนการต่าง ๆ รวมถึงการพิสูจน์อัตลักษณ์ด้วยการตรวจสารพันธุกรรม (DNA) จนได้รับบัตรประชาชน หรือ บัตรประจำตัวบุคคลที่ขึ้นต้นด้วยเลข 0 กรณีที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน
ในปัจจุบันทั้งสองกลุ่มนี้ ได้รับสิทธิด้านสุขภาพในการรักษาใกล้เคียงกันมาก แต่กลุ่มที่มีบัตรประชาชนที่ขึ้นต้นด้วยเลข 0 จะมีสถานพยาบาลรองรับการเข้าใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้น้อยกว่า
นอกจากนี้ ยังพัฒนาประสิทธิภาพโรงพยาบาลในพื้นที่ ให้สามารถเก็บสารพันธุกรรม (DNA) เพื่อพิสูจน์อัตลักษณ์สำหรับกลุ่มตกหล่นได้ จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางในการตรวจพิสูจน์หลักฐานเพื่อยืนยันตัวจนได้ ปัจจุบันได้มีการนำร่องแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และโรงพยาบาลตราด
แต่ทั้งนี้ การเจ็บป่วย หรือปัญหาด้านสุขภาพ เป็นเรื่องที่ไม่มีสัญญาณเตือนว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร ทาง สปสช.จึงปลดล็อกให้ ‘คนไทยไร้สิทธิสถานะ’ ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนกลาง (กลุ่มมีบัตรประชาชนแต่รายชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลาง) กลุ่มรอการพิสูจน์ตัวตน หรือกลุ่มที่บัตรประจำตัวสูญหาย สามารถใช้สิทธิระบบหลักประกันสุขภาพได้ เพื่อลดการสูญเสียในช่วงการรอการพิสูจน์ตัวตน โดยจะต้องยื่นหลักฐานเอกสารการทะเบียนราษฎร ท.ร.14/1 หรือ ทร.12 เพื่อยืนยันตัวจน ส่วนกรณีเหตุฉุกเฉิน สามารถเข้ารับบริการจากหน่วยงานเพียงลงทะเบียนด้วยเลขทะเบียน 13 หลักของผู้มีสิทธิ คู่กับบัตรประจำตัวประชาชนของพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือได้
น.ส.วรรณา แก้วชาติ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวว่า ปัญหาที่ยังพบอยู่หลัก ๆ คือ กลุ่มประชาชนที่ตกหล่น เป็นกลุ่มคนเปราะบางที่อ่อนแอที่สุดในสังคม การที่พวกเขาจะลุกขึ้นมาต่อสู้กับระบบราชการที่แข็ง และยืดหยุ่นน้อย เรื่องนี้แทบเป็นไปไม่ได้ ที่สำคัญพวกเขาแทรกตัวอยู่ทั่วประเทศ แต่มักอยู่อย่างไร้ตัวตน เปรียบเหมือนดอกเห็ด ที่จะผุดขึ้นมาต่อเมื่อเผชิญกับปัญหาจริง ๆ เช่น การเจ็บป่วย หรือการเข้าสู่ระบบการศึกษา ฉะนั้นการสำรวจตัวเลขที่แน่นอนของพวกเขาเหล่านี้ จึงเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะพวกเขาจะออกมาเฉพาะเวลาที่เจอปัญหาหนักๆ แล้วเท่านั้น ซึ่งในบางครั้งอาจจะเลวร้าย เกินกว่าที่จะแก้ไขได้ทันการณ์
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้านอื่นๆ อีก เช่น ความล่าช้าของระบบราชการในการดำเนินเรื่องต่างๆ บางครั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานไม่เข้าใจ และไม่สนใจในการช่วยเหลือ รวมถึงปัญหาการเดินทางและค่าใช้จ่ายในการตรวจหาหลักฐานพิสูจน์ตัวตนอีกด้วย
ฉะนั้น การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ จำเป็นต้องมีเครือข่ายที่จะคอยต่อสู้เคียงข้างกันไปร่วมกับพวกเขา โดยจะต้องขยายสู่ระดับจังหวัด ให้แต่ละจังหวัดมีอย่างน้อย 1 คณะทำงานดูแลและประสานงานเรื่องนี้ และที่สำคัญจะต้องทำหน้าที่สังเกตและเก็บข้อมูลกลุ่มเปราะบางที่ตกหล่นผ่านการเข้ารักษาในสถานพยาบาลต่าง ๆ หรือการเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนด้วย เพื่อวางแผนขับเคลื่อนเมืองไทยไปสู่เป้าหมายสังคมไทยไม่มีใครต้องไร้สิทธิให้ใกล้ความเป็นจริงได้เร็วขึ้น
“ความร่วมมือที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้คนไร้สิทธิ์ที่เป็นกลุ่มเปราะบางในสังคมเหล่านี้ จะมีโอกาสเข้าสู่กระบวนการพัฒนาสถานะบุคคลได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญ มันอาจทำให้หลายคนกล้าเดินไปที่เขตหรืออำเภอเพื่อบอกว่า ผมอยากขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านได้” น.ส.วรรณา กล่าว
ทั้งหมดนี้ นับว่าเป็นความสำเร็จอีกหนึ่งขั้นในการขับเคลื่อนให้ ‘คนไทยไร้สิทธิ’ ได้เข้าถึงสิทธิที่ควรจะได้รับที่เป็นรูปธรรมและชัดเจนมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น