“…เมื่อสังคมต้องการหาคนผิด ในขณะที่วิถีชุมชนไม่ได้เปลี่ยน ยังคงมีการเผา ชุมชนเลยถูกสังคมมองว่าเป็นจำเลย ทั้ง ๆ ที่กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่กลับไม่ถูกเพ่งเล็ง เพราะมีเสียงที่ดังกว่า มีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายด้านนโยบายและกฎหมาย…”
ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องของทุกคนบนโลก ทุกภาคส่วนล้วนแต่เป็นต้นต่อของปัญหานี้ ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบ ปัจจุบัน ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญและตื่นตัวกับปัญหาและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่ได้ตั้งเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2608 หรือการทำให้อุณหภูมิโลกลดลง 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เกิดขึ้นหลังจากเข้าร่วมประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of the Parties: COP) ที่ผ่านมา
เมื่อเร็วๆ นี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะผลักดันนโยบายต่าง ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมาย ตามกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 26 (COP26) ในความตกลงปารีสที่ไทยได้เข้าร่วม ณ เมือง กลาสโกว์ สหราชอาณาจักร รวมถึงยกระดับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง
จึงได้มีการสร้างความตระหนักรู้ในทุก ๆ ระดับ พร้อมประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อร่วมขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ควบคู่กับการส่งเสริมการปลูกป่า และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศให้ได้ 55% ตามที่กำหนดไว้ในกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
นายวราวุธ กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทย ถือเป็นประเทศลำดับต้น ๆ ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง ระดับน้ำทะเลหนุนสูง จนก่อให้เกิดมูลค่าความเสียหายนับล้านล้านบาท ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องร่วมมือกันเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย Net Zero ให้ได้
“สิ่งที่เราทำ ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของเราทุกคน” นายวราวุธ กล่าว
- 'วราวุธ' ลั่นมุ่งผลักดัน พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสอดรับโลกยุคปัจจุบัน
- 'วราวุธ'ผลักดันไทยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เผยเอกชนเป็นส่วนสำคัญสู่เป้า Net Zero
แม้ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมจะเป็นเรื่องของเราทุกคน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า คนบางกลุ่มถูกมองว่าเป็นจำเลย หรือ ตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เป็นอุปสรรคต่อเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ซึ่งในประเทศไทย ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ หรือ ชนเผ่าพื้นเมือง กำลังเผชิญข้อกล่าวหานี้ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา
นายกันตพงศ์ จองนัน ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์จากจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยกับ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับชนเผ่าพื้นเมือง ว่า กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ทำการเกษตรเพื่อดำรงชีวิต และมีวิถีชีวิตที่เกี่ยวโยงกับธรรมชาติมาตลอด เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของโลก สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนไป จึงได้รับผลกระทบโดยตรงไม่แตกต่างจากคนอื่นๆ และที่เห็นได้ชัดคือความยากลำบากในการทำการเกษตร
“ในพื้นที่ที่พวกเราอยู่อาศัย เมื่อก่อนในลำห้วยไม่เคยแห้ง แต่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หน้าแล้งแทบไม่มีน้ำในลำห้วยแม้แต่นิดเดียว เป็นผลกระทบต่อเนื่องถึงการทำเกษตรกรรม เพราะต้องรอเฉพาะน้ำฝนอย่างเดียว” นายกันตพงศ์ ระบุ
นายกันตพงศ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากลุ่มชาติพันธุ์ถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุของการตัดไม้ทำลายป่า ทำลายธรรมชาติ แต่แท้จริงแล้วกลุ่มชาติพันธุ์แทบจะไม่ทำลายป่าไม้เลย แต่ด้วยวิถีชีวิตที่ต้องทำการเกษตร ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นในรูปแบบอนุรักษ์มากกว่า เพราะเราก็ต้องพึ่งพาสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์
“การชี้นิ้วว่าพี่น้องเราผิด ก็ไม่ถูก เพราะอย่างอุตสาหกรรมในเมือง เป็นเหตุผลสำคัญ สังคมในเมืองการปล่อยมลพิษทางอากาศ การเปิดเครื่องปรับอากาศ ปล่อยควันเสียรถยนต์ ซึ่งทั้งหมดล้วนส่งผลกระกระทบถึงสิ่งแวดล้อม ส่วนการทำไร่หมุนเวียนของกลุ่มพี่น้องหรือที่ในอดีตเรียกว่าการทำไร่เลื่อนลอย ถูกตรีตราให้เป็นบาปของพวกเรา ทั้งที่เมื่อเทียบกับสังคมในเมือง เราเพียงเป็นเพียงจุดเล็กๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น” นายกันตพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 ส.ค.2565 สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยได้ จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ ‘เสียงชนเผ่าพื้นเมืองกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น นักกฎหมาย สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ ร่วมสะท้อนปัญหาและแนวทางในการกำหนดนโยบายแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างมีส่วนร่วม
นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล นักกฎหมายและตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ กล่าวว่า ปัญหาโลกร้อนไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มาเป็นที่รับรู้เมื่อคนชนชั้นกลางเริ่มได้รับผลกระทบ โดยที่ต้นตอของปัญหาอย่างโครงการอุตสาหกรรม ไร่ข้าวโพด ท่อไอเสียจากรถยนต์ ไม่ได้ถูกพูดถึงหรือมีกฎหมายเข้าไปกำกับหรือควบคุมมากนัก แต่กลับเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หรือคนบนพื้นที่สูงที่ถูกกล่าวหา ซึ่งประวัติศาสตร์ถูกเขียนขึ้นจากคนฝ่ายเดียว ฉะนั้นการจะทำให้คนกลุ่มนี้เป็นจำเลยของประเด็นโลกร้อนจึงเป็นเรื่องที่ง่ายที่สุด
ขณะที่ น.ส.วนัน เพิ่มพิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์กร Climate Watch Thailand กล่าวว่า หากพูดถึงปัญหาโลกร้อนในทางวิชาการ ต้องดูจาก 3 ปัจจัยด้วยกัน คือ 1.อุณหภูมิในโลกสูงขึ้น 2.น้ำแข็งขั้วโลกละลาย และ 3.ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น แต่นั่นยังไม่ลงมาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นเชิงประจักษ์ คือ สิ่งที่ชาวบ้านที่อยู่กับป่าต้องเจอในฐานะคนต้นน้ำ
ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือการเร่งสื่อสารไปสู่สาธารณะให้รับทราบถึงต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริงที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เช่น การใช้ถ่านหิน การเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล เผาป่า สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
นอกจากนั้น ต้องมองลึกเข้าไปในต้นเหตุของปัญหาด้วย เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมเก่าที่มีมานานแล้วและเป็นขนาดใหญ่ การผลิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือยเพื่อความสะดวกสบายที่เรามักไม่เคยพูดถึง แต่กลับไปพูดกันแต่ฝ่ายเดียวถึงการเผาเพื่อการดำรงชีพของชาวบ้าน ซึ่งการทำไร่หมุนเวียนชาวเขา ยังมีแนวทางการแก้ไขได้ เช่น ปลูกต้นไม้ 10 ต้น เพื่อตัด 10 ต้น ซึ่งต้นจะช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ทดแทนกันในทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า 'วงจรคาร์บอน'
ขณะที่ปัญหาหลักอย่างการเผาไหม้ของถ่านหิน กลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนเกินในโลกนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศที่เจริญแล้ว อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และตอนนี้กำลังมีการปรับแผนสร้างให้เกิดภาพพจน์สีเขียว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก
“โลกเราไม่ควรจะดำเนินไปในรูปแบบนี้ พวกคุณนั่นแหละคือกลุ่มที่ต้องรับผิดชอบ ทุกคนที่รู้ว่าใครมีส่วนร่วมในการทำก็ต้องช่วยกันชี้ให้เห็นว่าคนๆ นั้นเป็นใคร ชี้ไปที่ช้าง อย่าไปบี้กับยุง หรือทำให้ชาวบ้านอยู่ในวงจรปัญหากับคุณไปด้วย" น.ส.วนัน กล่าว
ด้าน น.ส.สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ว่า กลุ่มชาติพันธุ์หรือคนรากหญ้าที่ทำงานในวิถีเกษตรเป็นหลัก คือกลุ่มที่ใช้วิถีชีวิตที่อยู่กับระบบนิเวศน์ คือใช้วิถีคู่กับทรัพยากรธรรมชาติ ฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงกระทบกับพวกเขาอย่างเห็นได้ชัด เช่นดินน้ำอากาศเปลี่ยนแปลงไป ในมิติการประกอบอาชีพก็จะได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน
น.ส.สุภาภรณ์ กล่าวว่า สาเหตุภาวะโลกร้อน ส่วนใหญ่เกิดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งกลุ่มที่ใช้ในจำนวนมากนี้ คือ กลุ่มอุตสาหกรรม มีการใช้ผลิตสินค้า จำนวนมาก แต่สินค้านั้น ไม่ได้จำเป็นถึงขนาดว่า ถ้าไม่มี จะไม่สามาารถอยู่ได้
แต่กลุ่มชาติพันธุ์ แม้ว่าจะมีการเผา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีวิถีชีวิตดั้งเดิม คือ การทำไร่หมุนเวียน แต่เท่าที่ทราบ คนกลุ่มนี้เผาแล้ว ปลูกต้นใหม่วนเวียนกัน และเป็นการทำเพื่อดำรงชีวิต
น.ส.สุภาภรณ์ กล่าวอีกว่า เมื่อมองเรื่องการเผาเหมือนกัน แต่กลุ่มอุสาหกรรมไม่ได้นิ่งเฉย เพราะรู้ว่าถูกเพ่งเล็งก็จะมีวิธีการหลบเลี่ยง เช่น สร้างพื้นที่ป่า เก็บรักษาพื้นที่ป่า เพื่อดูดก๊าซที่ตัวเองปล่อยออกมา แต่บริษัทยังคงปล่อยก๊าซแบบเดิมแทนที่จะเป็นการสร้างพลังงานหมุนเวียน ก็เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งที่ทำให้ปัญหาเหล่านี้ยังไม่หมดไป
อย่างไรก็ตาม มาตรการคาร์บอนเครดิต เมื่อคิดในเชิงหลักการตัวเลข การที่จะเพิ่มพื้นที่ป่าอีกที่หนึ่งให้เทียบเท่ากับคาร์บอนที่ปล่อยออกไป และนำมาลบกันให้ตัวเลขเป็นศูนย์ แต่นั่นก็เป็นแค่ตัวเลข ในชีวิตจริงมันไม่สามารถหักลบได้
“ตัวอย่าง ธุรกิจอยู่ระยอง ปล่อยคาร์บอน 100 หน่วย แต่ไปปลูกป่าที่เชียงใหม่ คำถามคือคนที่ระยองก็ยังได้รับคาร์บอนอยู่หรือไม่ เป็นภาพตัวอย่างให้เห็นว่า คาร์บอนมันหักลบกันได้จริงๆหรือไม่ คำตอบคือหักลบไม่ได้ ดังนั้นการทำให้คาร์บอนเป็นศูนย์ ทำได้อย่างเดียวคือ ลด ละ เลิก” น.ส.สุภาพรณ์ กล่าว
น.ส.สุภาภรณ์ กล่าวด้วยว่า เมื่อสังคมต้องการหาคนผิด ในขณะที่วิถีชุมชนไม่ได้เปลี่ยน ยังคงมีการเผา ชาวบ้านและชุมชนเลยถูกสังคมมองว่าเป็นจำเลย ทั้ง ๆ ที่กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่กลับไม่ถูกเพ่งเล็ง เพราะมีเสียงที่ดังกว่า มีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายด้านนโยบายและกฎหมายมากกว่า
ทั้งหมดนี้ คือเสียงสะท้อนจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกมองว่าเป็นจำเลยที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่แม้จริงแล้ว ไม่ว่าใคร จะอยู่ที่ในในชุมชนเมืองหรือในธรรมชาติ ต่างเป็นต้นเหตุของปัญหานี้ได้ทั้งนั้น ดังนั้นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด อาจต้องเริ่มต้นจากการเปลี่ยนวิธีคิด เริ่มที่ตัวเรา เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ได้มีต้นเหตุจากใครคนใดคนหนึ่ง และผลกระทบที่ตามมาก็มีผลต่อทุกคนบนโลกใบนี้