'วราวุธ' ตั้งเป้าลดคาร์บอน-ก๊าซเรือนกระจก 40% ภายใน ค.ศ.2030 เผยเอกชนเป็นส่วนสำคัญสู่ Net Zero พร้อมมุ่งเดินหน้า BCG Model เพื่อความยั่งยืน ย้ำ ทส.พูดจริงทำจริง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2565 นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในงาน 'GC Circular Living Symposium 2022: Together to Net Zero' การประชุมระดับนานาชาติที่รวมพลังขับเคลื่อนสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ว่า การจัดการกับวิกฤตโลกร้อนในทุกมิติ เป็นสิ่งสำคัญที่ประเทศไทยต้องจัดการ รัฐบาลกำลังพิจารณาการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC Nationally Determined Contributions) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 โดยเพิ่มเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี ค.ศ.2050 และก้าวสู่สถานะการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ.2065 ซึ่งความตั้งใจดังกล่าว ทำให้รัฐบาลได้ปรับเพิ่มมาตรการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากเดิมที่ตั้งไว้ 30% เป็น 40% ภายในปี ค.ศ.2030 โดยเน้นไปที่การลดการใช้สารเคมี และลดการใช้พลังงาน ที่ก่อให้เกิดคาร์บอนลง แบ่งส่วนสัดการจัดการภายในประเทศเป็น 30% และจากความร่วมมือระหว่างประเทศ 10%
โดย ทส.มีความตั้งใจในการยกระดับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง จึงได้มีการสร้างความตระหนักรู้ในทุก ๆ ระดับ พร้อมประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อร่วมขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ควบคู่กับการส่งเสริมการปลูกป่า และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศให้ได้ร้อยละ 55 ตามที่กำหนดไว้ในกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่สอดรับกับแนวทางที่รัฐบาลได้มุ่งเน้นขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) ที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
นายวราวุธ กล่าวว่า ความมุ่งมั่นของรัฐบาล ในการเข้าร่วมข้อตกลงปารีส ที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) รวมไปถึงเจตนารมณ์ที่ไทยได้ประกาศไว้บนเวที COP26 ซึ่งถือว่ามีความสำคัญ เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทย ถือเป็นประเทศลำดับต้น ๆ ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง ระดับน้ำทะเลหนุนสูง จนก่อให้เกิดมูลค่าความเสียหายนับล้านล้านบาท ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องร่วมมือกันเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย Net Zero ให้ได้
นายวราวุธ กล่าวด้วยว่า สำหรับภาคเอกชนของประเทศไทย มีการตื่นตัวและขับเคลื่อนกันอย่างมหาศาล GC เป็นหนึ่งในผู้นำ และ มีอีกหลายบริษัทในประเทศที่มีการขับเคลื่อน จะทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็น Supply Chain ต้นน้ำ-ปลายน้ำ เมื่อขยายวงไปแล้ว ผู้ผลิตทั้งหลายจะมีการปรับตัวตามกัน สิ่งต่อมาที่ภาครัฐจะต้องเร่งทำ คือ การออกระเบียบกฎหมาย จากนี้ไปหากเราจะอยู่กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ได้ จะต้องมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชนทุกคน
ดังนั้น ทส.ในทุกองคาพยพของกระทรวงได้ขับเคลื่อนกันอย่างเต็มที่ การสร้างความตื่นตัว สร้างความตระหนักรู้ และประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เช่น การที่ไทยไปเซ็นสัญญากับทางสวิตเซอร์แลนด์ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต และ การสนับสนุนทางการเงิน ทำให้ กทม. สามารถปรับเปลี่ยนรถขนส่งมวลชน เป็นรถไฟฟ้า 100% สิ่งเหล่านี้เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงภาพรวมประเทศไทยของรัฐบาล ที่มีความพยายามอย่างเต็มที่ที่จะทำให้ประเทศไทยของเราเป็นผู้นำ ในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้
“เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาคเอกชนที่มีงบประมาณและความคล่องตัวในการดำเนินการสูง อย่างเช่นวันนี้ที่ GC ได้ดำเนินให้เห็นว่าการนำวัสดุเหลือใช้ การลดปริมาณขยะพลาสติก มาแปรสภาพให้เป็นเฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า เป็นสิ่งของที่สามารถใช้ได้ แสดงให้เห็นว่าเป็นการสอดคล้องกับโรดแมปที่ประเทศไทยต้องการกำจัดขยะพลาสติกให้ได้ 100% ภายในปี 2570 โดยการทำงานของกระทรวงทรัพยากรฯ ไม่ได้เป็นการพูดไปเรื่อย ๆ ว่าจะทำอย่างนั้น อย่างนี้ แต่เราได้ทำในสิ่งที่พูดไว้จริง และความตั้งใจนี้ได้สะท้อนผ่านเวที TCAC ที่ผ่านมา และเตรียมนำไปเสนอในเวที COP27 ในเดือน พ.ย.ที่จะถึงนี้" นายวราวุธ ระบุ
นายวราวุธ กล่าวอีกว่า ขอให้ทุกคนร่วมกันเอาชนะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ได้ โดยระบุว่าเวลานี้หมดเวลาที่จะพูดเรื่องหวาน ๆ และชี้ให้คนอื่นทำ เพราะการสร้างความเปลี่ยนแปลง หากไม่เริ่มที่ตัวเอง จะไปเริ่มที่ใด จึงขอให้ทุกภาคส่วนมาริเริ่มและให้ความร่วมมือช่วยกันลดการปลดปล่อยคาร์บอน และก๊าซเรือนกระจก โดยส่วนตัวยังเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทยและมนุษยชาติในการฝ่าวิกฤตนี้ ซึ่งถ้าทุกคนร่วมมือกันก็สามารถทำให้เป็นจริงได้