"...ทั้งนี้ การทำให้การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่..) พ.ศ.. ที่พิจารณาการใช้สูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อโดยการหาร 500 อาจจะถูกตีตกไปเพราะใกล้ครบกำหนด 180 วันในวันที่ 15 ส.ค.นี้ และจะต้องกลับไปใช้สูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อโดยการหาร 100 ในร่างเดิมที่คณะรัฐมนตรีเสนอแทน..."
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 13 สิงหาคม 2565 จากกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้เชิญวิปทั้ง 3 ฝ่ายคือ วิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา มาประชุมร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ… รัฐสภา ที่มีปัญหาอยู่ ซึ่งวันที่ 15 ส.ค. จะครบกรอบระยะเวลา 180 วัน เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2565 โดยที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายจึงมีมติให้ประชุมในวันที่ 15 ส.ค. เวลาตั้งแต่ 09.00 น. เป็นต้นไป
โดยเป็นผลมาจากการประชุมร่วม ส.ส.และส.ว.เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2565 ล่ม เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ โดยมีนัยยะว่า เป็นการยื้อเวลา เพื่อไม่ไม่ทันเดดไลน์ 180 วัน โดยหวังผลไปถึงการล้มสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อหาร 500 หาค่าเฉลี่ยกลับไปใช้วิธี สูตรหาร 100 ตามที่เสนอเข้ามาในชั้นรับหลักการ
- สภาล่ม!ไม่ครบองค์ประชุม ส.ส.-ส.ว.ถกกฎหมายลูกเลือกตั้งใช้สูตรหาร 500 ส่อแท้ง
- 'ชวน'นัดประชุมรัฐสภา 15 ส.ค.ถกกฎหมายลูกเลือกตั้ง ส.ส.ก่อนครบเส้นตาย 180 วัน
‘เพื่อไทย’ กร้าวไม่ร่วมประชุม
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน เขต 2 พรรคเพื่อไทย ในฐานะหัวหน้าพรรค โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘ชลน่าน ศรีแก้ว’ ความว่า ในวันที่ 15 ส.ค 65 นี้ ประธานรัฐสภานัดประชุมพิจารณา กฎหมายเลือกตั้งหาร 500 เวลา 09.00 น. ตามข้อบังคับฯ ถ้าเวลา 09.30 น. องค์ประชุมไม่ครบ ต้องประกาศเลื่อนประชุมออกไป เนื่องจากประชุมไม่ได้
ถ้าประชุมได้ องค์ประชุมครบ ลงมติรายมาตรา วาระ 2 เริ่มที่ มาตรา 24/1 ถ้าองค์ประชุมไม่ครบ ปิดประชุม ครบ 180 วัน พิจารณาไม่แล้วเสร็จ ถือว่า รัฐสภาให้ความเห็นชอบ ร่างกฎหมายเลือกตั้งหาร 100
ถ้าองค์ครบลงมติ ในวาระที่ 3
แนวโน้ม รัฐสภาจะมีมติไม่เห็นชอบ ตกทั้งร่าง เพราะเสียงเห็นชอบไม่ถึง 365 ต้องเริ่มทำกฎหมายเลือกตั้งใหม่ หรือ ถือโอกาสแก้รัฐธรรมนูญ นำระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียว หาร 500 มาใช้ใหม่
ถ้ามีการยุบสภาช่วงนี้ ไม่มีกฎหมายใช้ในการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม อยู่ยาวแน่นอน บวกกับกระแสประชาชนต่อต้าน ครบ 8 ปี ส่อเค้าเกิดวิกฤตการเมืองได้
ดังนั้น วันที่15ส.ค.นี้ กำหนดชะตาประเทศ สมาชิกรัฐสภาต้องกล้าที่จะไม่เป็นองค์ประชุมเพื่อให้ได้กฎหมายมาใช้ในการเลือกตั้งป้องกันวิกฤตของประเทศ
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
‘ก้าวไกล’ เข้าประชุมสภา 15 ส.ค.นี้
ด้านนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล (กก.) กล่าวถึงกรณีเดียวกันนี้ว่า พรรคก้าวไกลยังเหมือนเดิมคือวันที่ 15 ส.ค. ก็จะเข้าประชุมร่วมรัฐสภา และจะทำหน้าที่ในการยืนยันว่าระบบที่กลับไปกลับมามันไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งในจุดยืนของก้าวไกลยังคงเหมือนเดิม
เมื่อถามว่า เข้าประชุมและจะร่วมเป็นองค์ประชุมด้วยหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า สำหรับพรรคก้าวไกลก็จะเข้าเป็นองค์ประชุม เพราะเรายังมองว่าการเป็นองค์ประชุมไม่ได้เสียหายอะไร และคิดว่าการเป็นองค์ประชุมเราสามารถแสดงเจตจำนงได้ว่าสุดท้ายเราไม่เห็นด้วยกับระบบสูตรหาร 500 อย่างไร และตนคิดว่าทางพรรคก้าวไกลก็ชัดเจน แต่ว่ากระบวนการก็ต้องเดินหน้าต่อซึ่งเราก็ทำหน้าที่ของเรา
รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล (กก.)
รัฐขานรับเข้าประชุม
นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล)ให้สัมภาษณ์ว่า พปชร.เข้าประชุมอยู่แล้ว ส่วนการประชุมครั้งที่แล้วเมื่อวันที่10 ส.ค.ที่เกิดปัญหา ก็เข้าร่วมประชุมแต่ต้องยอมรับว่ามีผู้แทนบางส่วนที่ติดภารกิจ วันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็ขอให้เข้าใจความรู้สึกของส.ส.ไม่ใช่มีหน้าที่แค่ในสภาฯแต่ยังมีภารกิจลงพื้นที่พบปะประชาชน โดยวันดังกล่าวเปรียบไปก็เหมือนวันเกิด ที่ไม่ได้มีบ่อยครั้งก็ต้องเห็นใจส.ส.ด้วย สำหรับการประชุมวันที่ 15 ส.ค.นี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพปชร.สั่งให้สมาชิกพรรคเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพียง
ผู้สื่อข่าวถามว่าพรรคพปชร.ที่เป็นแกนนำรัฐบาล ถูกจับจ้องว่าจะกระทำซ้ำรอย เหมือนวันที่10 ส.ค.ได้พูดคุยกำชับส.ส.อย่างไรบ้าง นายนิโรธ กล่าวว่า เรื่องการเข้าร่วมประชุม ทางวิปรัฐบาลมีมติแล้วว่าให้เป็นไปตามครรลองของสภา ซึ่งทุกพรรคก็ปฏิบัติตาม แต่ย้ำว่าเมื่อเกิดเหตุวันที่ 10 ก็ยอมรับสภาพที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์
เมื่อถามว่าประเมินว่าการประชุมวันสุดท้าย ทุกฝ่ายจะร่วมมือกัน ทำให้สามารถลงมติในวาระสามได้หรือไม่ นายนิโรธ กล่าวว่า ทุกคนรู้หน้าที่ แต่ตนไม่สามารถไปคาดเดาการตัดสินใจของแต่ละคนได้ เพราะเป็นเจตจำนงที่จะลงหรือไม่ลงมติ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ส่วนพรรคพปชร.ยืนยันมาตลอดไม่ว่าจะใช้สูตรคำนวณหาร 500 หรือหารด้วย 100 ก็ได้ทั้งนั้น เราไม่เกี่ยง
นิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล)
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ไม่ต้องกำชับส.ส. ให้เข้าร่วมประชุม เพราะเราไปกันครบอยู่แล้ว ถ้าจะโหวตก็โหวตตามกรรมาธิการ (กมธ.)
เมื่อถามว่า ถ้าสภาใช้การเมืองปั่นป่วนเหมือนช่วงที่ผ่านมา คิดว่าจะโหวตได้ทันหรือไม่ เพราะเป็นวันสุดท้ายเเล้ว นายอนุทิน กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับส.ส. และ ส.ว. ในส่วนของพรรคภูมิใจไทยเชื่อขนมกินได้เลย ว่าเรารักษาระบอบประชาธิปไตย ที่ผ่านมาเราก็แสดงจุดยืนด้วยกันเข้าร่วมประชุมทุกครั้ง และแสดงตนทุกครั้ง ซึ่งตนก็อยู่ในที่ประชุมด้วย
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า พรรคเราจะไปประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณากฎหมายเลือกตั้งที่ยังค้างอยู่ตามที่ประธานรัฐสภา นายชวน หลีกภัย มีหนังสือเชิญประชุม
พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้กำชับอะไรกับ ส.ส. เป็นพิเศษ เพราะที่ประชุม ส.ส. ของพรรค เคยมีมติชัดเจนไปแล้วก่อนหน้านี้ว่า ส.ส. ของพรรคจะเข้าประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณากฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ถึงแม้จะมีความพยายามจากบางฝ่ายบางคนบางพรรคต้องการทำให้สภาล่ม เพื่อให้กฎหมายตกไป เพราะพิจารณาเสร็จไม่ทันภายใน 180 วันที่จะครบกำหนดในวันที่ 15 ส.ค.นี้ก็ตาม
“พรรคประชาธิปัตย์ไม่ขอเข้าร่วมสังฆกรรมทำให้สภาล่มตามความต้องการของใครคนใดคนหนึ่ง หรือพรรคใดพรรคหนึ่ง เรายึดมั่นในระบบรัฐสภา และเชื่อมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้วยเหตุนี้ ส.ส. ของพรรค จึงเข้าร่วมประชุมรัฐสภาในวันที่ 15 ส.ค.นี้ ตามภาระหน้าที่ของเราที่ได้รับมอบหมายจากประชาชนเต็มกำลังความสามารถอย่างแน่นอน” ประธาน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ระบุ
ส.ว.เสียงยังแตก
ส่วนท่าที่ของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พบว่าความเห็นยังไม่ตรงกัน โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวว่า ยังไม่ทราบจะมีส.ว.มาร่วมประชุมวันดังกล่าวมากน้อยเพียงใด เพราะให้เป็นเอกสิทธิส.ว. แต่ละคนจะมาหรือไม่มาประชุม ส่วนตัวมองทิศทางแล้วน่าจะเกิดเหตุสภาล่มเหมือนการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 10 ส.ค. 2565 เพราะหากมาร่วมประชุมแล้วไปลงมติในร่างกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ อาจยิ่งถลำลึกผิดมากกว่าเดิม
พร้อมกันนี้ ยืนยันว่า การแก้รัฐธรรมนูญเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ต้องใช้วิธีคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ หาร 100 เท่านั้น เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ การใช้วิธีหาร 500 คำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อไม่ถูกหลักกฎหมาย จะปล่อยให้กฎหมายผ่านไป จนเกิดความเสียหายต่อประเทศไม่ได้ จำเป็นต้องใช้วิธีพิจารณากฎหมายไม่แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา132(1) กำหนดไว้ ให้กลับไปใช้เนื้อหาร่างแรกที่ครม. เสนอมาคือการใช้สูตร 100 หาร อาจเป็นกระบวนการที่ดูประหลาด แต่เป็นกลไกที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีทางเลือกอื่น
หากให้โหวตวาระ 3 แล้วกฎหมายไม่ผ่าน ต้องไปนับหนึ่งใหม่ทั้งหมด ยิ่งเสียเวลา ถ้าออกกฎหมายเลือกตั้งไม่ทันการเลือกตั้งคราวหน้า ต้องไปออกพ.ร.ก.แทน ยิ่งสร้างความขัดแย้งหนักขึ้น ประชาชนคงไม่ยอม จึงจำเป็นต้องใช้วิธีนี้ ป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติในประเทศ
นายเสรี กล่าวว่า การใช้กลไกให้กฎหมายลูกเสร็จไม่ทันใน 180 วัน จนเกิดสภาล่ม ถือเป็นกรณีพิเศษจากการที่รัฐธรรมนูญบัญญัติในมาตรา 132(1) เป็นปรากฏการณ์แปลกใหม่ที่หลายฝ่ายเห็นตรงกัน ไม่ใช่สภาล่มเพราะมีเจตนาไม่ทำงาน ไม่ทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกรัฐสภา แต่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้ได้กฎหมายเลือกตั้งส.ส. โดยไม่เสียเวลาไปมากกว่านี้
"ยืนยันไม่ได้ทำตามใบสั่งพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่อยากได้สูตรหาร 100 เพราะตนยืนยันหลักการมาตลอด บัตร 2ใบ ต้องใช้สูตรหาร 100 เท่านั้น โหวตสนับสนุนการหาร 100 มาตลอด และส.ว.หลายคนก็เห็นตรงกันว่า การใช้สูตรหาร 500 ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ"นายเสรี กล่าว
ขณะที่พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.อีกคนหนึ่ง กล่าวว่า การประชุมรัฐสภา วันจันทร์ที่ 15 ส.ค. ซึ่งเปิดการประชุมการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ภายใน 180 วัน เป็นเกมการเมืองของฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน กับพรรคการเมืองอื่นๆ วุฒิสภาซึ่งกล่าวอ้างเสมอว่ามีความเป็นกลาง มีหน้าที่กลั่นกรอง ตรวจสอบ ปฎิรูปประเทศ จะเป็นองค์กรนิติบัญญัติหลัก มีความเป็นกลางทางการเมือง เป็นที่พึ่งของประชาชน
จึงเป็นสิ่งที่ส.ว. ทุกคน สมควรตระหนัก ใคร่ครวญให้ถี่ถ้วนว่า สมควรที่จะเข้าไปมีบทบาท หรือมีส่วน ไปร่วมมือกับพรรคการเมืองที่แก้ไขกฎหมายเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองในการเข้าสู่อำนาจบริหาร โดยที่ประชาชนมิได้ประโยชน์ใดๆจากการแก้ไขกฎหมายนี้ ทำให้การประชุมรัฐสภาในวันที่ 15 ส.ค. ไม่ครบองค์ประชุม หรือไม่
"หากจะรักษาไว้ซึ่งองค์กรวุฒิสภา ให้เป็นหลักที่สังคม ไว้วางใจ ว่าเป็นองค์กรหลักเพื่อการแก้ไขปัญหาของชาติที่สำคัญในสถานการณ์ข้างหน้า ส.ว.ทุกคน สมควรจะต้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน เพื่อยืนยันว่า หากองค์ประชุมรัฐสภาไม่ครบ เกิดจากการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของส.ส. มิใช่เกิดจากการร่วมผสมโรงของส.ว."
ทั้งนี้ การทำให้การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่..) พ.ศ.. ที่พิจารณาการใช้สูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อโดยการหาร 500 อาจจะถูกตีตกไปเพราะใกล้ครบกำหนด 180 วันในวันที่ 15 ส.ค.นี้ และจะต้องกลับไปใช้สูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อโดยการหาร 100 ในร่างเดิมที่คณะรัฐมนตรีเสนอแทน