โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมา ที่มีสถานการณ์โควิดที่รุนแรง มีการพุ่งขึ้นของผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ทางคลินิกนั้นได้มีการให้บริการเทเลเมดิซีนฟรี ให้กับคนที่ถูกวินิจฉัยว่าติดโควิด-19 ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้นก็ถือว่าเป็นการตอบแทนให้กับสังคมของทางบริษัท และยังลดความจำเป็นของผู้ป่วยในการต้องเข้าไปรักษาในโรงพยาบาลอีกด้วย
สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือโคโรนาไวรัสนั้น ถือว่าเป็นการระบาดของโรคอุบัติใหม่ที่ส่งผลต่อระบบสาธารณสุขเป็นวงกว้างมาก และเนื่องจากว่าการที่โควิด-19 นั้นแพร่เชื้อได้ง่ายมาก ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถจะไปพบปะกับบุคลากรทางการแพทย์โดยตรงได้ ก็ส่งผลทำให้มีผู้ป่วยเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้เข้ามาสู่ระบบสาธารณสุข ซึ่งนี่ถือว่าเป็นสิ่งที่ซ้ำเติมสถานการณ์มากขึ้นไปอีก
และจากสถานการณ์ดังกลาวนี้เอง ทำให้คำว่าเทเลเมดิซีน หรือว่าการแพทย์ทางไกลผ่านระบบออนไลน์นั้นเป็นสิ่งที่ได้ยินกันแพร่หลายมากขึ้น
ล่าสุดเมื่อประมาณสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้มีโอกาสร่วมคณะผู้สื่อข่าวเดินทางไปทำข่าวการขยายสาขาของธนาคารกสิกรไทยที่เมืองโฮจิมินห์ ซิตี้ ประเทศเวียดนาม และได้มีโอกาสร่วมสัมภาษณ์นายรากูน ไร ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Jio Health แพลตฟอร์มเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ (HealthTech) แบบบูรณาการทั้งออนไลน์และออฟไลน์ในเวียดนาม รวมไปถึงการสัมภาษณ์ในประเด็นการใช้เทเลเมดิซีนเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19
มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
นายรากูน ไร ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Jio Health
@โอกาสของเทคโลยีเพื่อสุขภาพกับผู้ป่วย
นายรากูนกล่าวว่าคลิกนิกของบริษัทนั้นเป็นบริษัทเมคโนโลยีสุขภาพที่เปิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงที่มีสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเป็นบริษัทแห่งแรกๆที่ทำธุรกิจในด้านนี้ที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งถือว่าโควิดแม้จะเป็นวิกฤติทางด้านสุขภาพแต่ก็เป็นโอกาสของบริษัทในการที่จะเข้ามาช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยเช่นกัน โดยในปัจจุบันบริษัทมีโครงข่ายของบุคลากรทางการแพทย์ และร้านขายยาต่างๆที่ร่วมมือกับบริษัทอยู่ทั่วประเทศ เพื่อที่จะรับมือกับโรคต่างๆ และแน่นอนว่าจากการที่ระบบสาธารณสุขของเวียดนามอาจจะยังไม่แข็งแกร่งจึงทำให้ธุรกิจนี้ค่อนข้างจะได้รับความสนใจ โดยเฉพาะในเรื่องของการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ในระยะไกล หรือที่เรียกกันว่าเทเลเมดิซีน (Telemedicine)
สำหรับระบบการดูแลสุขภาพของคลินิกนั้นก็จะเป็นการเก็บข้อมูลทางดิจิตัล ซึ่งเวลาตรวจสอบและมีการวินิจฉัยโรคต่างๆ นั้นก็จะมีการบันทึกข้อมูลของผู้ป่วยลงไปยังฐานข้อมูลดิจิตัล และข้อมูลเหล่านี้ก็จะไปปรากฎบนแอปพลิเคชันในโทรศัพท์ของผู้ให้บริการด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นการเอ็กซเรย์ปอด ก็จะเห็นว่าจุดไหนของปอดนั้นมีปัญหาบ้าง แล้วเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือว่าเอไอก็จะวินิจฉัยปอดเพิ่มเติมได้ว่าบุคคลนี้ป่วยเป็นโรคอะไร ซึ่งความแม่นยำของระบบเอไอดังกล่าวนี้ก็จะอยูที่ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้พอระบบตรวจสอบ ทราบว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไรแล้ว ก็จะมีการออกใบสั่งยาให้กับผู้ป่วยคนนั้นเพื่อให้ไปรับยากับร้านขายยาที่อยู่ในเครือข่ายของบริษัท
การใช้เทคโนโลยีเอไอวินิจฉัยโรคที่เกิดขึ้นในปอด
@ธุรกิจ HealthTech กับลูกค้าที่เวียดนาม
เมื่อถามถึงระบบเอไอกับการตรวจพบผู้ป่วยโควิดที่มีอาการ นายรากูนกล่าวว่าต้องยอมรับว่าโควิดนั้นยังไม่สามารถสังเกตุอาการที่เด่นชัดได้จากการเอ็กซเรย์ปอด เทคโนโลยีการตรวจสอบ โดยใช้เอไอนั้นจะสามารถตรวจสอบโรคได้จำพวกโรควัณโรค,มะเร็งปอด,หรือความผิดปกติของโครงสร้างปอดอื่นๆ ส่วนการตรวจโควิดนั้นสิ่งที่ดีที่สุดก็ยังคงเป็นเรื่องของการตรวจด้วย RT-PCR เช่นกัน
นายรากูนกล่าวต่อไปว่าเรื่องของการรับมือกับโควิดนั้นยังเป็นโรคที่อุบัติขึ้นมาใหม่ ซึ่งทั้งโลกนั้นต้องปรับตัวกันอย่างรวดเร็วเพื่อจะรับมือทั้งในเรื่องของการตรวจหาเชื้อ การพัฒนาวัคซีน สำหรับบริษัท Jio Health นั้น ก็ต้องทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานเช่นกันเพื่อให้มีความมั่นใจว่าจะสามารถรับมือได้
เมื่อถามถึงตัวลูกค้าของคลินิกว่าอยู่ในกลุ่มประเภทไหนบ้าง นายรากูนกล่าวว่านับตั้งแต่ที่เปิดกิจการมาเป็นระยะเวลา 4 ปี คลินิกก็มีลูกค้าประมาณ 2.5 แสนราย ซึ่งลูกค้าดังกล่าวนี้ก็อยู่ในกลุ่มของคนชั้นกลางที่เป็นคนรุ่นใหม่เป็นส่วนมาก โดยกลุ่มคนเหล่านี้ก็จะอาศัยอยู่ในเมืองอย่างเช่นกรุงฮานอย เมืองโฮจิมินห์ ซิตี้เป็นต้น ซึ่งในเมืองดังกล่าวก็เป็นเมืองที่บริษัทได้ไปเปิดคลินิกเอาไว้ แต่ก็มีกลุ่มลูกค้าอีกประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์เช่นกันที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท โดยลูกค้าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทดังกล่าวก็สามารถเข้าถึงการบริการของคลินิกได้ผ่านทางระบบเทเลเมดิซีนของคลินิก
หน้าเว็บไซต์บริษัท Jio Health ที่ผู้ใช้บริการสามารถแชทหาบุคลากรทางการแพทย์ได้
@ธุรกิจเทเลเมดิซีนกับ โควิด-19
เมื่อถามถึงสถานการณ์โควิดว่าถ้าหากสถานการณ์โควิดนั้นกลับมามีความรุนแรงขึ้นมาอีกครั้ง เป็นไปได้ไหมว่าปริมาณผู้ใช้งานเทเลเมดิซีนจะมหาศาลมากขึ้นตามไปด้วย ตรงนี้คลินิกจะรับมือกันอย่างไร จะมีการเก็บข้อมูลกันอย่างไร นายรากูนกล่าวว่านี่ก็เป็นเรื่องที่ทางคลินิกกังวลเช่นกัน ถ้าหากมีความหนาแน่นของการใช้บริการที่ค่อนข้างเยอะ แต่อย่างไรก็ตาม ทุกคนนั้นจะมีอุปกรณ์ที่สามารถวัดอาการอยู่แล้ว อาทิ ที่วัดอุณหภูมิ ที่วัดอัตราการเต้นของหัวใจเป็นต้น ลูกค้าก็จะมีการวัดข้อมูลในส่วนนี้ และมาส่งข้อมูลให้กับหมอของทางคลินิก เพื่อให้มีความมั่นใจมากขึ้นในการวินิจฉัยอาการ
โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมา ที่มีสถานการณ์โควิดที่รุนแรง มีการพุ่งขึ้นของผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ทางคลินิกนั้นได้มีการให้บริการเทเลเมดิซีนฟรี ให้กับคนที่ถูกวินิจฉัยว่าติดโควิด-19 ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้นก็ถือว่าเป็นการตอบแทนให้กับสังคมของทางบริษัท และยังลดความจำเป็นของผู้ป่วยในการต้องเข้าไปรักษาในโรงพยาบาลอีกด้วย
การใช้ฐานข้อมูลเพื่อดูความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของคนไข้
"ข้อดีของระบบนั้นก็คือว่าหมอสามารถจะทำงานได้จากทุกที่และทุกเวลา ดังนั้นการบริการให้ลูกค้าก็จะเร็วขึ้นกว่าการไปโรงพยาบาล ที่ลูกค้าต้องมารอ หรือก็คือว่าสามารถให้บริการกับลูกค้าได้มากขึ้นกว่าการใช้ระบบออฟไลน์แบบเดิมๆนั่นเอง"นายรากูนกล่าว
เมื่อถามถึงช่วงเวลาโควิดว่าช่วงไหนที่ต้องมีการให้บริการลูกค้าผ่านระบบเทเลเมดิซีนเป็นปริมาณที่มากที่สุด นายรากูนกล่าวว่าช่วงเวลาระหว่าง พ.ค.-ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่คู่สายการให้บริการเทเลเมดิซีนนั้นแน่นที่สุด โดยโทรผ่านทางแอปพลิเคชันต่างๆรวมถึงของทางคลินิก อีกทั้งช่วงเวลาดังกล่าวนั้นยังเป็นช่วงที่ได้มีการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้า และเวียดนามก็ยังไม่มีวัคซีนที่แพร่หลายด้วย ดังนั้นจึงถือว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความสุ่มเสี่ยงมากที่สุด
นายรากูนกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่าในอนาคตบริษัทนั้นอาจจะมีแผนการขยายกิจการเทเลเมดิซีนไปยังประเทศอื่นๆในภูมิภาค ซึ่งก็รวมไปถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน
@ประเทศไทยยังไม่มีสตาร์ทอัพเรื่องเทคโนโลยีสุขภาพ
สำนักข่าวอิศรารายงานข่าวเพิ่มเติมว่าหลังจากนั้น ทางด้านของนายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทยได้กล่าวในงานแถลงข่าวการขยาายธุรกิจตอนหนึ่งว่ากรณีการเกิดขึ้นของบริษัท Jio Health นั้นถือว่าเป็นสตาร์ทอัพที่ทางธนาคารกสิกรไทยได้เข้าไปลงทุน ซึ่งสตาร์ทอัพในด้าน HealthTech เช่นนี้ ในประเทศไทยยังไม่มีเลย
"ถ้าเปรียบเทียบระหว่างเขากับเราแล้ว อาจจะเป็นไปได้ว่าเพราะเราสบาย เรามีระบบสาธารณสุขที่ดีอยู่แล้ว เราก็ไม่ได้ก่อกำเนิดอะไรพวกนี้ออกมา แต่ว่าประเทศเวียดนามเขามีหนุ่มสาวพลังสูงพวกนี้เยอะ เขาก็มีความจำเป็นจะต้องปล่อยตัวเทคโนโลยีพวกนี้ออกมา" นายพิพิธกล่าว
นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย