ค่า R ของโรคฝีดาษลิงในกลุ่มประชากรชายซึ่งมีเพศสัมพันธ์กับเพศชายด้วยกัน ในปัจจุบันนั้นอยู่ที่ระหว่าง 1.4-1.8 ราย ขณะที่กลุ่มอื่นๆพบว่ามีค่า R อยู่ที่ 1.0 ราย ดังนั้นจึงหมายความว่ามีความเป็นไปได้ที่อาจจะมีการติดเชื้อรั่วไหลไปถึงกลุ่มที่ไม่ใช่ผู้ชายซึ่งมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย แต่ว่าการแพร่กระจายต่อไปอย่างมีนัยยะสำคัญนั้นก็ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
ข่าวคราวในแวดวงสาธารณสุขในระดับโลกซึ่งถูกพูดถึงกันมากที่สุดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น คงหนีไม่พ้นข่าวคราวเกี่ยวกับการที่องค์การอนานัยโลกหรือ WHO ที่ออกมาประกาศให้โรคฝีดาษลิงหรือว่า Monkey Pox นั้นเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศแล้ว
โดยคำถามสำคัญก็คือว่าคำว่าภาวะฉุกเฉินดังกล่าวนี้ มีความสำคัญขนาดไหน และการระบาดจะส่งผลเลวร้ายเหมือนที่เกิดกับการระบาดของไวรัสโควิด-19หรือโคโรน่าไวรัสหรือไม่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้นำเอารายงานจากเว็บไซต์ข่าว The Conversation เกี่ยวกับนิยามของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวมานำเสนอ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ย้อนไปเมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการที่ปรึกษาอิสระได้มีการหารือกัน โดยในวงหารือนั้นมีการแบ่งความเห็นออกเป็นสองฝ่ายว่าจะประกาศกรณีการระบาดของโรคฝีดาษลิงนี้ให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศในระดับสูงสุด (PHEIC) หรือไม่ ซึ่งการหารือนั้นไม่อาจจะหาข้อสรุปได้
จนกระทั่งนายเทดรอส อัดฮาโนม เกเบรเยซัส ผู้อำนวยการ WHO ต้องยุติการถกเถียงด้วยการประกาศสถานการณ์ PHEIC ออกมา ซึ่งนี่นั้นถือว่าเป็นครั้งแรกที่ทางผู้อำนวยการ WHO ต้องออกมายุติข้อถกเถียงระหว่างคณะกรรมการที่ปรึกษาด้วยตัวเอง
อนึ่งโรคฝีดาษลิงนั้นเป็นโรคที่ถูกพบเจอครั้งแรกในสาราณรัฐคองโกร์หรือว่าซาอีร์ในช่วงปี 2513โดยพบในเด็กก่อน หลังจากนั้นก็มีการระบาดแต่ว่ายังเป็นการระบาดที่อยู่ในวงแคบและสามารถจะติดตามตัวผู้ที่เพิ่งจะเดินทางกลับมาจากประเทศที่มีการระบาดได้ ทั้งในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลาง แต่ว่าการระบาดในครั้งนี้นั้นไม่เหมือนกับการระบาดนอกประเทศแอฟริกาในครั้งก่อน เนื่องจากพบว่ามีการระบาดอย่างยั่งยืนระหว่างคนสู่คน
ข่าวการประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (อ้างอิงวิดีโอจาก PBS)
โดยเมื่อประมาณวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา มีการยืนยันตัวเลขของผู้ติดโรคฝีดาษลิงว่าอยู่ที่ 16,593ราย ใน 68 ประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศเหล่านี้ก็ไม่พบประวัติว่ามีการระบาดของฝีดาษลิงในประเทศมาก่อน ซึ่งการระบาดส่วนมากนั้นพบว่ามีการรายงานมาจากทวีปยุโรป โดยมักจะอยู่ในกลุ่มผู้ที่เป็นผู้ชายซึ่งเคยมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายด้วยกัน และเปลี่ยนคู่หลับนอนกันอยู่บ่อยครั้ง
และนับตั้งแต่ที่มีรายงานการระบาด ทาง WHO ก็ได้มีการชาร์ตเพื่อนำเสนอตัวเลขจำนวนเฉลี่ยของผู้ติดเชื้อทวีคูณที่เกิดขึ้นมาจากจำนวนผู้ติดเชื้อเพียงแค่รายเดียว หรือที่เรียกกันว่าค่า R
ก็ปรากฏว่าค่า R ของโรคฝีดาษลิงในกลุ่มประชากรชายซึ่งมีเพศสัมพันธ์กับเพศชายด้วยกัน ในปัจจุบันนั้นอยู่ที่ระหว่าง 1.4-1.8 ราย ขณะที่กลุ่มอื่นๆพบว่ามีค่า R อยู่ที่ 1.0 ราย ดังนั้นจึงหมายความว่ามีความเป็นไปได้ที่อาจจะมีการติดเชื้อรั่วไหลไปถึงกลุ่มที่ไม่ใช่ผู้ชายซึ่งมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย แต่ว่าการแพร่กระจายต่อไปอย่างมีนัยยะสำคัญนั้นก็ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
โดยในยุโรปในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาก็ปรากฏว่าพบการชะลอของอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดโรคฝีดาษลิงในแต่ละสัปดาห์ ซึ่งกลุ่มใหญ่ที่ยังมีการระบาดอยู่ ก็ยังคงเป็นกลุ่มผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายด้วยกัน
ขณะที่ในสหราชอาณาจักร พบว่า 97 เปอร์เซ็นต์ของการระบาดนั้นมาจากกลุ่มผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายด้วยกัน แต่ดูเหมือนว่าอัตราการเติบโตของการแพร่ระบาดนั้นลดลงเหลือศูนย์หรือไม่ก็อยู่ในอัตราติดลบแล้วในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ก็มีความเป็นไปได้อีกเช่นกันว่าการติดเชื้อที่ลดลงดังกล่าวนั้นอาจจะเป็นช่องว่างระหว่างคลื่นของการระบาดในแต่ระลอก
โดยผู้เชี่ยวชาญเองก็เพิ่งจะมีการหารือในประเด็นว่าโรคฝีดาษลิงนั้นถือว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพียงอย่างเดียวหรือไม่ แม้ว่าในปัจจุบันนั้นจะเป็นเรื่องที่ชัดเจนแล้วว่าฝีดาษลิงคือโรคที่มีการแพร่เชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์อย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งไม่ว่าจะใส่ถุงยางในระหว่างกิจกรรมหรือไม่ ก็ไม่อาจจะลดความเสี่ยงของการส่งต่อโรคลงแต่อย่างใด
อัตราผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงนับตั้งแต่ 5 พ.ค. 2565- 21 ก.ค.2565
@ความเห็นทั้งที่สนับสนุนและคัดค้านการประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุข
ตามที่นำเรียนไปแล้วว่าคณะกรรมการฉุกเฉินของ WHO นั้นมีการโต้แย้งว่าจะสนับสนุนภาวะฉุกเฉินทางด้านการระบาดของฝีดาษลิง ว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ PHEIC ภายในระเบียบการด้านสุขภาพระหว่างประเทศของ WHO หรือไม่
“คำว่าเหตุการณ์พิเศษนั้นถือว่าเป็นความเสี่ยงทางด้านสาธารณสุขต่อรัฐอื่นๆ ผ่านการแพร่เชื้อระหว่างประเทศ และอาจมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการดำเนินการสอดประสานระหว่างประเทศเพื่อจะรับมือกับสถานการณ์” หลักเกณฑ์ระบุ
นอกจากนี้การประกาศภาวะฉุกเฉินดังกล่าวนี้ ก็มีขึ้นเพื่อรับมือกับความกังวลกันว่าบางประเทศนั้นอาจจะมีแนวโน้มที่จะรายงานตัวเลขผู้ป่วยที่ต่ำเกินไปอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการรายงานตัวเลขผู้ที่ติดเชื้อซึ่งเป็นเด็กและหญิงตั้งครรภ์ และความกังวลว่าโรคฝีดาษลิงดังกล่าวนี้อาจจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นในประชากรมนุษย์ ก่อนจะลามไปติดเชื้ออีกครั้งและหมุนเวียนในกลุ่มประชากรกลุ่มเสี่ยงต่อไปเรื่อยๆ แม้ว่าภาวการณ์ระบาดของฝีดาษลิงนั้นจะสิ้นสุดไปแล้วก็ตาม
สำหรับข้อถกเถียงที่คัดค้านการประกาศให้ฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขนั้น ก็มีการพูดถถึงในประเด็นที่ว่าการติดเชื้อส่วนใหญ่นั้นพบว่ายังคงอยู่แค่ในกลุ่ม 12 ประเทศในทวีปยุโปและอเมริกาเหนือเท่านั้น และก็มีหลักฐานว่าการติดเชื้อนั้นค่อนข้างมีความเสถียรหรือไม่ก็ลดลงไปแล้วในประเทศเหล่านี้
โดยการติดเชื้อเกือบทั้งหมดนั้นพบว่าอยู่ในกลุ่มผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายจำนวนหลายคน ซึ่งนี่หมายความว่ายังคงมีวิธีการที่จะควบคุมและหยุดการแพร่เชื้อลงได้ด้วยการกำหนดเป้าหมายไปที่กลุ่มติดเชื้อดังกล่าว
ส่วนผู้เชี่ยวชาญอีกกลุ่มก็ได้คัดค้านภาวะฉุกเฉินเช่นกัน โดยให้เหตุผลว่าความรุนแรงของโรคฝีดาษลิงนั้นดูเหมือนว่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำอยู่
และการที่มีข้อถกเถียงดังกล่าวเกิดขึ้นมานั้นก็ทำให้คณะกรรมการฉุกเฉินไม่อาจจะหาข้อสรุปได้ว่าจะประกาศภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขดีหรือไม่ จนกระทั่งนายเทดรอสต้องตัดสินใจประกาศภาวะฉุกเฉิน PHEIC
แต่การประกาศภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขที่ว่ามานั้นอาจไม่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากนักในแง่ของการควบคุมกิจกรรมต่างๆ ในประเทศอื่นๆที่ได้รับผลกระทบนอกเหนือจากในทวีปแอฟริกา
อย่างไรก็ตามการประกาศภาวะฉุกเฉินที่ว่ามานี้ก็น่าจะกระตุ้นให้ประเทศเหล่านี้ ซึ่งยังมีผู้ป่วยไม่กี่รายได้ดำเนินการบางอย่างเพื่อให้มีความมั่นใจว่าจะสามารถจัดการกับระบบสาธารณสุขให้ดียิ่งขึ้น ถ้าหากพบว่ามีการระบาดเพิ่มขึ้นภายในประเทศ รวมไปถึงกระตุ้นให้รัฐบาลในประเทศอื่นๆนั้นมีการอัดฉีดงบประมาณให้มากขึ้นสำหรับทั้งการวิจัยและการพัฒนาขีดความสามารถในประเทศเพื่อที่จะจัดการโรคต่อไป