ผลการศึกษาในสหราชอาณาจักรนั้นพบว่าผู้ทีได้รับวัคซีนเป็นจำนวนสองโดสอย่างน้อยสองสัปดาห์ก่อนการติดเชื้อจะมีโอกาสที่จะลดการเกิดอาการลองโควิดได้ถึง 41 เปอร์เซ็นต์ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 12 สัปดาห์ ส่วนข้อมูลที่อิสราเอลก็มีลักษณะไปในทิศทางเดียวกัน
สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัส ณ เวลานี้นั้นมีการพูดถึงคำว่าลองโควิดหรืออาการของโควิดในระยะยาวกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดโควิดโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยใหม่ๆอย่าง BA.4/BA.5 และ BA.2.75 ที่ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่ทราบว่าเมื่อติดโควิดสายพันธุ์เหล่านี้แล้วอาการจะเป็นอย่างไรต่อไปกันแน่
ล่าสุดสำนักข่าววอชิงตันโพสต์ของสหรัฐอเมริกาได้มีการสรุปนิยามของคำว่าลองโควิดเอาไว้ ซึ่งสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จะได้นำเอารายงานดังกล่าวมานำเสนอมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1.อะไรคือลองโควิด?
คำนี้นั้นยังไม่มีการจำกัดความกันอย่างชัดเจนในระดับสากล แต่ว่ามีนิยามที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละองค์กร โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกหรือ WHO นั้นได้มีการระบุถึงคำว่าอาการหลังจากสถานะการติดโควิด สำหรับผู้ที่มีอาการเกิดขึ้นในระยะเวลาสามเดือนหลังจากการติดโควิด โดยอาการหลังจากโควิดที่ว่านี้จะกินระยะเวลาประมาณสองเดือนเป็นอย่างน้อยและไม่สามารถจะวินิจฉัยอาการดังกล่าวนี้ได้
โดยอาการที่ปรากฎดังกล่าวนี้อาจหมายถึงการเจ็บป่วยอย่างเฉียบพลัน หรือเป็นอาการที่เกิดขึ้นในกลุ่มที่ดูเหมือนจะไม่มีอาการป่วยหลังจากโควิดในตอนแรก แต่อยู่ดีๆก็เกิดภาวะความผันผวนของสุขภาพเป็นต้น
ขณะที่หน่วยงานอื่นๆอาทิ หน่วยงานสาธารณสุขของอังกฤษหรือว่า NHS ได้ระบุว่าอาการป่วยที่กินระยะเวลานานกว่าสี่สัปดาห์นั้นคืออาการต่อเนื่องของการติดโควิด และกลุ่มผู้ป่วยด้วยอาการหลังจากโควิด ซึ่งก็คือกลุ่มที่มีอาการป่วยคงอยู่เป็นระยะเวลานานกว่า 12 สัปดาห์เป็นต้น
2.ลองโควิดที่ว่ามานี้เกิดขึ้นถี่มากน้อยแค่ไหน ?
เรื่องนี้ยังเร็วไปที่จะพูดถึง เพราะยังขาดตัวแปรจะมาจำกัดความให้ชัดเจนว่า กลุ่มไหนบางที่จะมีการศึกษาเกี่ยวกับอาการลองโควิด และเมื่อไรจะมีการเก็บข้อมูลจนได้ประมาณที่มากพอจะทำให้เห็นผลลัพธ์ที่แตกต่างกันออกไป
ยกตัวอย่างเช่น
-มีรายงานในเดือน พ.ค.จากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกาหรือ CDC พบว่าหนึ่งในห้าของผู้ใหญ่ที่มีช่วงอายุตั้งแต่ 18-64 ปีนั้นนั้นอาจจะมีปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการติดโควิดในครั้งก่อน
-การศึกษาในเดือน ก.ค.ที่ศึกษาเกี่ยวกับอาการก่อนจะติดโควิดของชาวอเมริกันในช่วงปีแรกของการระบาด พบข้อมูลว่าประมาณ 23 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยนั้นมีอาการป่วยอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงเวลาที่ติดเชื้อ และอาการดังกล่าวนี้ก็อยู่ได้นานกว่า 12 สัปดาห์
ภาวะลองโควิดอาจส่งผลกระทบต่อสมองเป็นระยะเวลานานนับปี (อ้างอิงวิดีโอจาก 9 News Australia)
-การศึกษาในประชากรกลุ่มใหญ่ที่มีการเผยแพร่เมื่อปีที่ผ่านมา โดยใช้ข้อมูลจากกระทรวงกิจการทหารผ่านศึกของสหรัฐอเมริกา ได้มีการประเมินว่ามีอย่างน้อย 7 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งของลองโควิดเป็นระยะเวลาหกเดือนหลังจากที่ติดเชื้อโควิด
โดยในกลุ่มของผู้ที่ไม่ได้ไปรักษาในโรงพยาบาลในช่วง 12 สัปดาห์แรกของการเจ็บป่วยนั้นพบว่ามี 4.1 เปอร์เซ็นต์ที่มีอาการลองโควิด, 16 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มคนที่เข้าไปรักษาในโรงพยาบาลพบว่ามีอาการของลองโควิด และ 23 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มคนที่เข้าแอดมิทในห้องผู้ป่วยพิเศษหรือว่าไอซียูพบว่ามีอาการของลองโควิด ซึ่งการศึกษาดังกล่าวนี้นั้นพบว่ามีการแบ่งแยกอายุ,เชื้อชาติ,เพศ,และสถานะสุขภาพขั้นพื้นฐานเอาไว้แล้ว
ส่วนการศึกษาอื่นๆนั้นพบว่าผู้หญิง,ผู้ที่อยู่ในช่วงอายุกลางคน และผู้มีภาวะอ้วนจะมีโอกาสที่จะมีมีอาการลองโควิดมากกว่า
3.อะไรคืออาการหลังจากโควิด?
โดยมากแล้วจะเป็นอาการเหนื่อยล้า,หายใจถี่ภาวะสมองล้า ความยากลําบากตั้งสมาธิหรือจดจําสิ่งต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะมีอาการระยะยาวอื่นๆปะปนรวมอยู่ด้วย
4.สายพันธุ์ต่างๆทำให้เกิดความเลี่ยงต่อลองโควิดแตกต่างกันออกไปหรือไม่?
ดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลจากสํานักงานสถิติแห่งชาติของสหราชอาณาจักร พบว่าในช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมามีรายงานว่า อาการ อาทิ ความเหนื่อยล้า,การหายใจถี่,หายใจลําบาก,ภาวะการไม่มีสมาธิในการจดจ่อสิ่งต่างๆ และอาการถาวรอื่นๆนั้น อาการดังกล่าวนี้จะมีโอกาสเกิดได้น้อยลงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ สำหรับผู้ที่ติดโควิดโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 เมื่อเทียบกับผู้ติดโควิดสายพันธุ์เดลต้า
อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างดังกล่าวนี้พบได้ในการติดเชื้อในกลุ่มของผู้ที่เป็นผู้ใหญ่ซึ่งฉีดวัคซีนไปแล้วสองโดสเท่านั้น ส่วนในกลุ่มของผู้ที่ฉีดวัคซีนไปแล้วสามโดสนั้นยังไม่พบความแตกต่างในเชิงสถิติแต่อย่างใด
แต่ทั้งนี้ก็เริ่มมีรายงานว่าพบผู้มีอาการลองโควิดมากขึ้นเรื่อยๆในกลุ่มผู้ที่ติดเชื้อโควิดโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2
5.อะไรทำให้เกิดลองโควิด?
ปัญหาสุขภาพบางประการ อาทิ
-ผลกระทบโดยตรงจากไวรัสส่งตรงถึงอวัยวะหรือเนื้อเยื่อต่างๆ
-แนวโน้มของโควิดที่จะทำให้เกิดเลือกออกและอุดตันที่จะสามารถจำกัดหรือปิดกั้นหลอดเลือดรวมถึงปอดซึ่งอาจทำให้เส้นเลือดอุดตันที่ปอดได้
-การอักเสบที่มากเกินไป ซึ่งมาจากการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
-ความล้มเหลวของร่างกายในการดำเนินการซ่อมแซมปอดหรืออวัยวะอื่นๆที่บาดเจ็บได้อย่างเหมาะสม ทำให้เกิดกรณีแผลเป็นปรากฎที่บนเนื้อเยื่อ
-การขาดออกซิเจนที่ส่งผลร้ายต่อสมอง,ปอด และอวัยวะอื่นๆ
-ความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหาร
-ลองโควิดอาจเกิดจากการใช้ยาจำพวกยาระงับประสาท ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์และยาแก้ปวด รวมไปถึงเครื่องช่วยหายใจเพื่อดูแลกลุ่มผู้ป่วยหนัก
โดยในการศึกษาที่ถูกเผยแพร่ในเดือน ม.ค.นักวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์วิจัยมะเร็งเฟร็ดฮัทชินสันและมหาวิทยาลัยวอชิงตันในรัฐซีแอตเทิล พบว่าความเสี่ยงของลองโควิดนั้นมีโอกาสจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามปัจจัยที่มาจากการป่วยในช่วงเริ่มต้น อาทิ แอนติบอดีหรือสารภูมิคุ้มกันที่เล็งเป้าไปที่เยื้อเยื่อหรืออวัยวะบางอย่างเป็นต้น
6.วัคซีนช่วยป้องกันลองโควิดหรือไม่?
ในทางหนึ่งนั้นการฉีดวัคซีนถือว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการลดการติดเชื้อ SARS-CoV-2 โคโรน่าไวรัส ที่เป็นต้นเหตุของโควิด และลดความเสี่ยงจากการป่วยรุนแรง
โดยผลการศึกษาในสหราชอาณาจักรนั้นพบว่าผู้ทีได้รับวัคซีนเป็นจำนวนสองโดสอย่างน้อยสองสัปดาห์ก่อนการติดเชื้อจะมีโอกาสที่จะลดการเกิดอาการลองโควิดได้ถึง 41 เปอร์เซ็นต์ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 12 สัปดาห์ ส่วนข้อมูลที่อิสราเอลก็มีลักษณะไปในทิศทางเดียวกัน
อย่างไรก็ตามข้อมูลจากระบบบริหารสุขภาพทหารผ่านศึกของสหรัฐฯ ที่ศึกษากลุ่มประชากร 13 ล้านคนนั้นพบว่าการฉีดวัคซีนลดความเสี่ยงของลองโควิดได้แค่ 15.7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
7.ลองโควิดที่ว่านี้มันร้ายแรงแค่ไหน?
โดยมากแล้วอาการลองโควิดนั้นดูเหมือนกับว่าไม่ใช่อาการที่อันตรายต่อชีวิตแต่อย่างใด แต่ว่าอาการอาทิหายใจถี่หรือเหนื่อยล้านั้นสามารถส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ ซึ่งผู้ที่รอดชีวิตจากโควิดบางรายนั้น พบว่าการติดเชื้อได้ส่งผลทำร้ายต่ออวัยวะที่สำคัญและทำให้การป่วยโรคอื่นๆมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งผลกระทบดังของอาการที่ว่ามานี้นั้นไม่ใช่อาการที่จะเกิดขึ้นโดยปุบปับแต่อย่างใด แต่ว่าเป็นอาการที่เปรียบเสมือนกับระเบิดเวลาที่จะประทุเมื่อไรก็ได้
ทั้งนี้อาการที่อาจจะปะทุในภายหลัง เมื่อไรก็ได้ที่ว่ามานี้อาจจะรวมไปถึงอาการถึงภาวะหัวใจหยุดเต้น, โรคหลอดเลือดสมอง, หัวใจล้มเหลว, เส้นเลือดอุดตันที่ปอด, กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและโรคไตเรื้อรังเป็นต้น ซึ่งแพทย์ก็ได้ตั้งขัอสังเกตุว่าอาการเบาหวานนั้นอาจจะมีส่วนเชื่อมโยงกับโควิดด้วยก็เป็นได้
โดยการศึกษาในสหรัฐฯ ในช่วงเดือน ก.พ. พบว่าโควิดนั้นอาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคทางหัวใจเพิ่มมากขึ้นเป็นระยะเวลาอย่างน้อยหนึ่งปีหลังจากที่หายจากการติดเชื้อแล้ว แม้ว่าบุคคลนั้นจะไม่ได้ป่วยหนักจนถึงขึ้นเข้าโรงพยาบาลก็ตาม
ส่วนการศึกษาอื่นๆในสหรัฐฯ,สหราชอาณาจักรและเยอรมนีแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ผ่านการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากโควิดมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะต้องแอดมิทซ้ำหรือถึงขั้นเสียชีวิตในระยะเวลา 6 ถึง 12 เดือนต่อมาหลังจากนั้น
รายงานข่าวจากไต้หวันระบุว่าภาวะเบาหวานนั้นมีโอกาสเกิดมากขึ้นหลังจากติดโควิด (อ้างอิงวิดีโอจาก Formosa English News)
8.ผู้คนสามารถฟื้นตัวจากลองโควิดได้หรือไม่?
เส้นกราฟทางด้านสุขภาพของกลุ่มผู้ที่รอดจากโควิดนั้นค่อนข้างมีความหลากหลายเป็นอย่างยิ่ง นับตั้งแต่การที่หลายคนได้กลับไปมีชีวิตเหมือนกับผู้คนปกติด้วยภาวะสุขภาพสมบูรณ์ จนไปถึงการที่บางคนนั้นต้องเข้ารับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะที่จำเป็นเช่นปอดเป็นต้น
โดยการศึกษาในสหราชอาณาจักร ที่มีการเผยแพร่ในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ป่วยน้อยกว่า 3 ใน 10 รายที่หลังออกจากโรงพยาบาลนั้นรู้สึกว่าฟื้นตัวเต็มที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ก็มีความเป็นไปได้ว่าการรักษาผู้ป่วยโควิด ที่รวมไปถึงการใช้โมโนโคลนอลแอนติบอดี และยาต้านไวรัสั้นอาจจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดลองโควิดขึ้นมาได้บ้าง
9.โควิด-19 นั้นเป็นไวรัสที่มีส่วนทำให้เกิดอาการดังกล่าวนี้ทั้งหมดหรือไม่?
ไม่เสมอไป อาการที่คล้ายกับลองโควิดบางประการนั้นอาจจะไม่ได้มาจากลองโควิดก็เป็นได้ แต่ว่ามาจากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อเช่นภูมิแพ้ อาการป่วยที่มีอยู่แล้วเช่นเบาหวานเป็นต้น ซึ่งอาการดังกล่าวนี้นั้นอาจจะไม่ได้รับการวินิจฉัยอย่างเหมาะสมเพราะว่าต้องมีการใช้มาตรการป้องกันโรคในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19
10.ได้มีการดำเนินการอย่างไรแล้วบ้างเกี่ยวกับลองโควิด?
ในสหรัฐฯ ได้มีการจัดสรรงบกว่า 1.15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (42,121.6 ล้านบาท) ให้กับสถาบันสุขภาพแห่งชาติเพื่อให้ดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของโควิดในระยะยาว โดยคาดหวังว่าจะได้เห็นสาเหตุทางชีววิทยาที่ส่งผลรวมไปถึงวิธีการป้องกันอาการป่วยมากขึ้น
ขณะที่นักวิจัยก็ยังคงกดดันให้รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกนั้นมุ่งเน้นไปที่ปัญหาจากโควิดที่จะส่งผลทำร้ายต่ออวัยวะต่างๆ อาทิ นักวิจัยได้มีการเปิดเผยข้อมูลให้เห็นว่าไวรัสนั้นสามารถจะติดเชื้อในเนื้อเยื่อตับอ่อนที่ผลิตอินซูลินได้ อันจะส่งผลให้เกิดอาการของโรคเบาหวานตามมา และอาการดังกล่าวนี้ก็อาจจะคงอยู่หลังจากการติดเชื้อได้ผ่านพ้นไปแล้วเป็นต้น