"...ช่วงกลางเดือน ม.ค.2552 เมื่อขุนพล ปชป.ภาคใต้ ลงพื้นที่ไปแจกถุงยังชีพ จำนวน 2,500 ชุด ซึ่งภายในมี ‘ปลากระป๋อง’ บรรจุอยู่ด้วย ทว่าเมื่อเปิดออกมากลับพบว่าเป็น ‘ปลากระป๋องเน่าเสีย’ เมื่อทำการตรวจสอบพบว่า ปลากระป๋องดังกล่าว ผลิตโดยบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ซึ่งขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างมีเอกชนนำตัวอย่างมาเสนอว่า จะใช้ปลากระป๋องยี่ห้อดังใส่ในถุงยังชีพ ทว่าเมื่อถึงตอนแจกของมีการเปลี่ยนไปใช้อีกยี่ห้อหนึ่งซึ่งเป็นของไม่มีคุณภาพ..."
‘วิฑูรย์ นามบุตร’ คือนักการเมืองระดับ ‘บิ๊กเนม’ รายล่าสุดที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด กรณีถูกกกล่าวหาพร้อมพวกรวม 5 รายว่า กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น และมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด กรณีเรียกรับเงิน จำนวน 30 ล้านบาท ในการร่วมลงทุนและช่วยเหลือการก่อสร้างโครงการสิ่งสาธารณูปโภคของทางราชการ เมื่อปี 2556 - 2557
โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเสียงข้างมากเห็นว่า นายวิฑูรย์ นามบุตร และพวก มีความผิดทางอาญาตามมาตรา 149, 157 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 ส่วนกรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างน้อย 1 เสียง เห็นว่า ไม่ผิดตามมาตรา 149
ซึ่งข้อเท็จจริงทางคดี เป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์กันในชั้นอัยการ และชั้นศาลต่อไป
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าการถูกชี้มูลครั้งนี้ทำเอาดินแดน ‘อีสานใต้’ สะเทือน เพราะชื่อชั้นของ ‘วิฑูรย์’ คือหนึ่งใน ‘ขุนพล’ นักการเมืองดัง ‘บ้านใหญ่’ แห่ง อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี ผู้นำพา ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ปักธงในพื้นที่อีสาน
เส้นทางการเมือง ‘วิฑูรย์ นามบุตร’ เริ่มต้นจากการเมืองท้องถิ่น เป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ในพื้นที่ อ.เขื่องใน มาหลายสมัย ก่อนที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในปี 2535 ภายใต้สีเสื้อ ปชป.
นับจากวันนั้นในการเลือกตั้ง ส.ส.เขต 8 สมัย เจ้าตัวไม่เคย ‘สอบตก’ เลยแม้แต่ครั้งเดียว ก่อนที่จะเปลี่ยนไปลงโควตา ส.ส.บัญชีรายชื่อ และให้หลานชาย ‘วุฒิพงษ์ นามบุตร’ ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เขตแทน
ขั้วการเมืองของ ‘วิฑูรย์’ อยู่ข้างเดียวกับ ‘ลุงกำนัน’ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ โดยเมื่อครั้งเป็นเลขาธิการพรรค ปชป. ‘วิฑูรย์’ ถูกผลักดันขึ้นเป็น ‘แม่ทัพอีสานใต้’ นั่งเก้าอี้รองหัวหน้าพรรค พ่วงตำแหน่ง รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
แต่ไฮไลต์ในชีวิตของ ‘วิฑูรย์’ ที่ไม่กล่าวถึงคงไม่ได้ คือห้วงการเป็นรัฐมนตรี ที่ทำให้เขาถูกพูดถึง คือ ‘รัฐมนตรีปลากระป๋องเน่า’ ซึ่งเขาเคยยอมรับว่าเป็นฉายาที่สร้างความเจ็บปวดที่สุดในชีวิตทางการเมือง
โดยเมื่อต้นปี 2552 เกิดวาตภัยในพื้นที่ภาคใต้หลายจังหวัด และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ขับเคลื่อนคอยช่วยเหลือ ‘ถุงยังชีพ’ แต่เหตุของเรื่องเกิดขึ้นที่ จ.พัทลุง
ช่วงกลางเดือน ม.ค.2552 เมื่อขุนพล ปชป.ภาคใต้ ลงพื้นที่ไปแจกถุงยังชีพ จำนวน 2,500 ชุด ซึ่งภายในมี ‘ปลากระป๋อง’ บรรจุอยู่ด้วย ทว่าเมื่อเปิดออกมากลับพบว่าเป็น ‘ปลากระป๋องเน่าเสีย’ เมื่อรับประทานแล้วเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน เมื่อทำการตรวจสอบพบว่า ปลากระป๋องดังกล่าว ผลิตโดยบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ซึ่งขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างมีเอกชนนำตัวอย่างมาเสนอว่า จะใช้ปลากระป๋องยี่ห้อดังใส่ในถุงยังชีพ ทว่าเมื่อถึงตอนแจกของมีการเปลี่ยนไปใช้อีกยี่ห้อหนึ่งซึ่งเป็นของไม่มีคุณภาพ
ทว่าผ่านไปไม่กี่วัน เหตุการณ์เหมือนเป็น ‘หนังคนละม้วน’ เมื่อ ‘วิฑุรย์’ อ้างว่า ปลากระป๋องในถุงยังชีพดังกล่าว ไม่ได้เกิดจากการจัดจ้าง แต่มีผู้บริจาคมา หลังจากนั้นผลสอบของกระทรวง พม.ได้สรุปว่าไม่พบการทุจริตใด ๆ เพราะไม่มีการจัดซื้อจัดจ้าง และเป็นของรับบริจาค
ทว่าเรื่องนี้ทำเอาบรรดา ‘ผู้ใหญ่’ ในพรรค ปชป.กดดัน ‘วิฑูรย์’ อย่างหนัก จนเมื่อต้นเดือน ก.พ.2552 เจ้าตัวประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี
อย่างไรก็ดีในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เขากับ นายอภิสิทธิ์ ผิดใจกันอย่างแรง เมื่อถูกส่งลง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 40 ซึ่งถือว่ามีโอกาสน้อยมากที่จะเป็น ส.ส. พลันที่ ‘อภิสิทธิ์’ ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ‘วิฑูรย์’ เลือกที่จะอยู่เคียงข้าง ‘เสี่ยต่อ’ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน และ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์
อย่างไรก็ดี ‘เสี่ยต่อ-จุรินทร์’ ไม่อาจเนรมิตเก้าอี้ให้แก่ ‘วิฑูรย์’ ได้ สุดท้ายหลังเดินเกมต่อขาอำนาจในพรรคมาหลายปี จึงตัดสินใจยอมทิ้งเสื้อสีฟ้าออกจากพรรค ปชป.ไป เมื่อปี 2564
ตามคำพูดในแวดวงการเมือง นอกสภาทุกคนต่างเป็น ‘พวก’ ไม่มี ‘พรรค’ เช่นเดียวกับ ‘วิฑูรย์’ นอกศูนย์กลางอำนาจ เจ้าตัวเป็นเพื่อนรักกับ 2 พี่น้อง ‘กัลป์ตินันท์’ ทั้ง ‘เกรียง-กานต์’ 2 หัวหอกขุนพลอุบลราชธานีแห่ง ‘พรรคเพื่อไทย’ โดยทั้งคู่มี ‘สัญญาใจ’ แก่กันมานมนาน คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาโดยตลอด
จึงไม่แปลกที่ภายหลัง ‘วิฑูรย์’ ลาออกจาก ปชป. จะให้สัมภาษณ์ว่า ได้คุยกับสารพัดพรรคการเมือง ทั้งค่ายภูมิใจไทย ค่ายพลังประชารัฐ แต่สุดท้ายไปลงตัวกับค่ายเพื่อไทย ผ่านเพื่อนรัก ‘เกรียง กัลป์ตินันท์’
โดยเขาให้สัมภาษณ์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ Ubon Connect อุบล คอนเนก เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2564 อ้างว่า ได้ต่อสายตรงคุยกับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีมากบารมี เพื่อต่อรองตำแหน่งแห่งหน-ลำดับปาร์ตี้ลิสต์ในพรรคเพื่อไทยมาแล้ว
อย่างไรก็ดีด้วยกฎหมายพรรคการเมืองในปัจจุบัน มิอาจ ‘โจ่งแจ้ง’ ได้ขนาดนั้น ทำให้ ‘ชลน่าน ศรีแก้ว’ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จำเป็นต้องออกมาปฏิเสธข่าวทันควัน โดยยืนยันว่า การจัดคนลง ส.ส.นั้น เป็นอำนาจกรรมการบริหารพรรค ไม่อาจให้คนนอกแทรกแซงได้
ทำให้สถานะปัจจุบันของ ‘วิฑูรย์’ ยังคง ‘ลอยเคว้ง’ ยังมิได้สังกัดพรรคการเมืองไหนอย่างเป็นทางการ
ในมุมทรัพย์สิน ‘วิฑูรย์’ แจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีดำรงตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ครบ 1 ปี เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2557 ระบุว่า มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 140,337,807 บาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 15 ล้านบาท
ข้อมูล ณ วันที่ 12 ก.ค. 2565 ไม่พบว่า ‘วิฑูรย์’ เป็นกรรมการบริษัทแห่งใด
ทั้งหมดคือโพรไฟล์ของนักการเมืองดัง ‘ขุนพลอีสานใต้’ อีกหนึ่งรายที่ถูกกล่าวหาเข้าไปพัวพันกับการทุจริต จนสุดท้ายโดน ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดอยู่ในตอนนี้
อย่างไรก็ดีการชี้มูลดังกล่าวเป็นเพียงกระบวนการขั้นต้นเท่านั้น ‘วิฑูรย์’ ยังมีโอกาสพิสูจน์ความบริสุทธ์ในชั้นอัยการ และชั้นศาลต่อไป
ข่าวประกอบ :