เราคาดว่าคลื่นการระบาดในระลอกนี้นั้นจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของการติดเชื้อเป็นอย่างมาก,จะมีการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ที่รักษาในโรงพยาบาลมากขึ้น และที่น่าเศร้าที่สุดก็คือมีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น ในช่วงเวลาที่ชุมชนและระบบสาธารณสุขของเรานั้นเผชิญกับความตึงเครียดอยู่แล้ว โดยถ้าหากไม่มีการดำเนินการทางด้านชุมชนและสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้น ผลกระทบนั้นก็อาจจะคล้ายกับตอนที่เราต้องเจอกับการระบาดของโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา
สืบเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัส ที่ ณ เวลานี้เริ่มมีความกังวลกันมากขึ้นเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ในสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5
โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าแม้จะฉีดวัคซีนเป็นจำนวนหลายโดสแล้ว ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ดีว่าจะติดโควิดสายพันธุ์ดังกล่าว แต่ก็อาจจะมีข่าวดีบ้างว่าการฉีดวัคซีนนั้นทำให้อาการป่วยไม่รุนแรงจนถึงขั้นวิกฤติ
จากกรณีดังกล่าวนั้นสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สืบค้นข้อมูลในต่างประเทศว่ามีแผนการที่จะรับมือกับการระบาดอย่างไรบ้าง
ก็พบรายงานที่น่าสนใจจากออสเตรเลีย มีรายละเอียดดังนี้
นับตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค. เป็นต้นไป ชาวออสเตรเลียที่มีอายุมากกว่า 30 ปีเป็นต้นไป จะสามารถจะเข้ารับวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ในโดสที่สี่ได้ ตามคำแนะนำของกลุ่มที่ปรึกษาด้านเทคนิคของออสเตรเลียเกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกันโรค (ATAGI)
ทั้งนี้คำแนะนำใหม่ที่ว่ามานี้นั้นมาจากนายมาร์ค บัทเลอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของออสเตรเลียที่ออกคำเตือนว่าทุกคนในประเทศออสเตรเลียที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไปต้องได้รับวัคซีนบูสเตอร์สำหรับฤดูหนาวนี้ และยังได้มีการออกประกาศให้ขยายการฉีดวัคซีนมีให้ครอบคลุมกับกลุ่มประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 30-49 ปีด้วย แม้ว่าจะมีการตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มช่วงอายุระหว่าง 30-49 ปีนั้นจะได้ประโยชน์จากการฉีดวัคซีนในโดสที่ 4 ค่อนข้างไม่แน่นอนก็ตาม
โดยสาเหตุที่บอกว่ากลุ่มนี้จะได้ประโยชน์ที่ไม่แน่นอนก็เพราะว่าข้อมูลในปัจจุบันนั้นนั้นยังบ่งชี้ว่าผู้ที่มีอายุน้อยยังเป็นกลุ่มที่มีโอกาสมีอาการป่วยอย่างรุนแรงค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี
ออสเตรเลียปรับแผนการฉีดวัคซีนบูสเตอร์รับมือโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 (อ้างอิงวิดีโอจาก ABC)
การตัดสินใจให้มีการฉีดวัคซีนในโดสที่สี่อย่างครอบคลุมนั้นเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์การฉีดวัคซีนในโดสที่สามของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งดำเนินไปอย่างล่าช้า และมีการคาดการณ์กันว่าโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และBA.5 จะทำให้เกิดการระบาดพุ่งขึ้นมาอีก แต่ปรากฏว่าประชากรเกือบ 6 ล้านคนในประเทศออสเตรเลียยังไม่ได้รับวัคซีนในโดสที่สามหรือที่เรียกกันว่าวัคซีนบูสเตอร์โดสแรกเลย
โดยก่อนหน้านี้นั้นทางการออสเตรเลียระบุแค่ว่าเฉพาะผู้ที่มีอายุเกิน 65 ปีเท่านั้นถึงสามารถไปฉีดวัคซีนบูสเตอร์สำหรับฤดูหนาวได้ ก็ปรากฏว่ามีแค่ 60 เปอร์เซ็นต์ของประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีเท่านั้นที่ไปฉีดวัคซีนในโดสที่สี่ ดังนั้นทางการออสเตรเลียจึงต้องขยายขอบเขตของคนที่สามารถไปฉีดวัคซีนในโดสที่สี่ได้โดยคาดกันการขยายขอบเขตดังกล่าวนั้นจะลดแรกกดดันให้กับระบบสาธารณสุขได้เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น
“ไวรัสเหล่านี้เป็นสายพันธุ์ที่มีความชาญฉลาด สามารถเรียนรู้ที่จะหลบหลีกการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของเราได้และสามารถที่จะหลบหลีกแอนติบอดี (สารภูมิคุ้มกัน)ที่เกิดจากการฉีดวัคซีนได้ ดังนั้นการฉีดวัคซีนบูสเตอร์จะช่วยยกระดับการป้องกันได้จนเราสามารถจะจัดการกับโรคนี้ ลดการเข้ารักษาในโรงพยาบาลและลดอัตราการเสียชีวิตได้” พ.ญ.คาสซานดรา เบอร์รี่ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเมอร์ดอช สาขาภูมิคุ้มกันวิทยาไวรัสกล่าว
@การฉีดบูสเตอร์ยังช่วยปรับปรุงแอนติบอดีอยู่
ในขณะที่โควิดโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยตัวใหม่นั้นส่งผลทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อ ก็มีรายงานของการพัฒนาวัคซีนตัวใหม่ที่เน้นป้องกันไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนตามมา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญก็ได้ออกคำแนะนำว่าจนกว่าที่วัคซีนตัวใหม่จะมาถึง วัคซีนบูสเตอร์ที่มีอยู่นั้นจะยังคงมีประสิทธิภาพในการที่จะเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน
โดยอย่างน้อยวัคซีนที่มียังคงสามารถที่จะลดความเสี่ยงของการป่วยรุนแรงได้
“เรารู้ว่าวัคซีนจะกระตุ้นแอนติบอดีซึ่งมีประสิทธิภาพในการจับตัวสายพันธุ์โอไมครอนได้น้อยกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ก็ได้ระบุออกมาชัดเจนแล้วว่าการฉีดบูสเตอร์นั้นจะยังสามารถพัฒนาได้ทั้งระดับแอนติบอดีและความสามารถในการที่แอนติบอดีนั้นจะไปจับตัวโอไมครอนได้” นพ.เมนโน ฟาน เซลม หัวหน้าห้องปฏิบัติการโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยาคลินิกและรองหัวหน้าภาควิชาภูมิคุ้มกันวิทยาและพยาธิวิทยาที่มหาวิทยาลัยโมนาชกล่าว
นพ.ฟานเซลมกล่าวต่อไปว่าเป็นที่แน่นอนว่าหลังจากการฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดสนั้นความเสี่ยงที่คุณจะมีอาการป่วยรุนแรงจะลดลงไปอย่างมาก ดังนั้นสิ่งที่สำคัญก็คือว่าคุณต้องปกป้องตัวเองและคนรอบข้างไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมด้วยการพยายามลดแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุขให้ได้มากที่สุด
@วัคซีนโดสที่สี่เริ่มฉีดเมื่อวันที่ 11 ก.ค.
ย้อนไปเมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา ATAGI ได้ออกคำแนะนำเกี่ยวกับวัคซีนบูสเตอร์สำหรับฤดูหนาว โดยแนะนำให้คนที่ไม่ว่าจะผ่านการติดเชื้อหรือว่าผ่านการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ในโดสแรก เมื่อระยะเวลาผ่านไปครบสามเดือนแล้ว ให้ไปฉีดวัคซีนบูสเตอร์ทันที หรือก็คือหมายความว่าคนที่ติดโควิดในตอนนี้จะสามารถฉีดวัคซีนบูสเตอร์ได้อีกทีในช่วงเดือนปลายเดือน ต.ค.นั่นเอง
อย่างไรก็ตามในวันที่ 8 ก.ค. คณะกรรมการหลักการคุ้มครองสุขภาพของออสเตรเลีย หรือว่า AHPPC นั้นได้ออกแถลงการณ์ว่าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาสำหรับคำแนะนำเรื่องการฉีดวัคซีนดังกล่าวนี้
“จากรายงานที่ระบุว่าไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่นั้นอาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำได้ในระยะเวลา 28 วันหลังจากการหายป่วยจากโควิด-19 ในครั้งก่อน ทาง AHPPC จึงได้แนะนำเรื่องของการลดช่วงเวลาของการติดเชื้อซ้ำซึ่งจากเดิมอยู่ที่ 12 สัปดาห์ให้ลดเหลืออยู่แค่ 28 วัน ดังนั้นจึงหมายความว่าผู้ที่ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 เมื่อระยะเวลาผ่านพ้นช่วงกักตัวเองไปแล้ว 28 วัน คนกลุ่มนี้ถ้าหากมีการติดเชื้ออีก ก็ควรให้นับว่าเป็นการติดเชื้อครั้งใหม่”แถลงการณ์ AHPPC ระบุ
ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่ในอนาคต จะมีประกาศซึ่งจะระบุถึงการร่นระยะเวลาระหว่างการฉีดบูสเตอร์โดสแรกหรือว่าการติดเชื้อโควิดกับการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ในฤดูหนาวให้สั้นลงไปอีกเพื่อรับมือกับโควิดสายพันธุ์ย่อยทั้งสองสายพันธุ์นี้
ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโกระบุว่าโควิดโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5 นั้นเปรียบได้กับสัตว์ประหลาดที่มีพละกำลังสูงสำหรับไวรัสโควิด (อ้างอิงวิดีโอจาก CBS SF)
ในแถลงการณ์ของ AHPPC ยังได้เน้นย้ำด้วยถึงคลื่นการระบาดระลอกใหม่ของโควิดโอไมครอนทั้งสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ด้วย โดยระบุว่า “เราคาดว่าคลื่นการระบาดในระลอกนี้นั้นจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของการติดเชื้อเป็นอย่างมาก,จะมีการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ที่รักษาในโรงพยาบาลมากขึ้น และที่น่าเศร้าที่สุดก็คือมีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น ในช่วงเวลาที่ชุมชนและระบบสาธารณสุขของเรานั้นเผชิญกับความตึงเครียดอยู่แล้ว โดยถ้าหากไม่มีการดำเนินการทางด้านชุมชนและสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้น ผลกระทบนั้นก็อาจจะคล้ายกับตอนที่เราต้องเจอกับการระบาดของโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา”
แถลงการณ์ยังระบุต่อไปด้วยว่า BA.4 และ BA.5 นั้นมีความสัมพันธ์กับการหลบหนีภูมิคุ้มกันที่เพิ่มขึ้น ทำให้เรานั้นมีโอกาสจะเห็นอัตราการติดเชื้อซ้ำได้เพิ่มมากขึ้นทั้งในกลุ่มผู้ที่ติดโควิดสายพันธุ์ก่อนหน้านี้และผู้ที่ถึงกำหนดการฉีดวัคซีน ดังนั้นการฉีดวัคซีนก็จะยังคงเป็นทางที่สำคัญที่สุดในการป้องกันการป่วยรุนแรง
“ประเทศเรานั้นมีอัตราการฉีดวัคซีนในสองโดสแรกในอัตราที่ถือว่าสูงที่สุดในโลก แต่สิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับโอไมครอนก็คือว่าแค่วัคซีนสองโดสนั้นไม่เพียงพอในการมอบภูมิคุ้มกัน แม้ว่าคุณจะติดเชื้อไปแล้วก็ตาม” นายมาร์ค บัทเลอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของออสเตรเลีย
เรียบเรียงจาก:https://cosmosmagazine.com/health/fourth-dose-covid-vaccine/