ต้องยอมรับว่ากลยุทธ์การรับมือของประเทศญี่ปุ่นนั้นอาศัยการพึ่งพาประชาชนที่มีความสมัครในในการปฎิบัติตามคำแนะนำด้านการเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่จำนวนผู้ติดเชื้อนั้นพุ่งสูงขึ้น ซึ่งนี่เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการออกมาตรการควบคุมอย่างเข้มข้นจากบนลงล่าง อันจะส่งผลทำให้ประชาชนนั้นมีความรู้สึกต่อต้านและท้าทายกับสิ่งที่รัฐบาลได้บังคับมากกว่า
หนึ่งในสาระสำคัญของการทำให้โควิด-19 เข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นได้นั้นก็คือการทำให้มีผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยหนักจากไวรัสโควิด-19 นั้นมีจำนวนน้อยที่สุด ควบคู่ไปกับการกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ
ล่าสุดสำนักข่าวบลูมเบิร์กของสหรัฐอเมริกา ได้มีการเขียนบทวิเคราะห์ฉบับหนึ่งเอาไว้ว่าในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลกนั้น ประเทศญี่ปุ่นถือว่ามีอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 น้อยที่สุดในโลกเมื่อเทียบต่อสัดส่วนประชากร
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้เอารายงานดังกล่าวมานำเสนอเพื่อให้สอดรับกับการที่ประเทศไทยกำลังจะประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น โดยมีรายละเอียดดังนี้
ประเทศญี่ปุ่นนั้นถือว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 น้อยที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเมื่อเทียบกับประเทศที่ร่ำรวยอื่นๆ โดยผู้เชี่ยวชาญได้ชี้ให้เห็นว่าการสวมใส่หน้ากากต่อไป การฉีดวัคซีนที่เข้มข้นและการที่ประชากรมีภาวะสุขภาพที่ดีนั้นถือหัวใจสำคัญของความสำเร็จนี้
โดยประชากรของประเทศนั้นยังคงปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการติดเชื้อขั้นพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการหลีกเลี่ยงจากพื้นที่หนาแน่นของผู้คน และพื้นที่ที่มีการถ่ายเทอากาศไม่ดี ในช่วงเวลาที่ส่วนอื่นๆของโลกนั้นพบกับความเหนื่อยล้าจากการต่อสู้กับโรคระบาด ประเทศญี่ปุ่นก็ยังคงใช้มาตรการที่สำคัญก็คือการสนับสนุนโครการฉีดวัคซีนที่เข้มแข็งควบคู่กับการรักษาพยาบาลฟรี
อย่างไรก็ตาม มีข้อเปรียบเทียบในด้านความแตกต่างกับประเทศอื่นๆในเอเชีย โดยเฉพาะกับประเทศจีน ที่มีนัยยะสำคัญก็คือว่าประเทศญี่ปุ่นนั้นสามารถจำกัดผู้เสียชีวิตให้มีจำนวนน้อยได้ โดยไม่ต้องใช้มาตรการจำกัดโรคอันเข้มข้นแต่อย่างใด ซึ่งสาเหตุที่ญี่ปุ่นไม่สามารถใช้มาตรการดังกล่าวได้นั้นก็มาจากตัวรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นที่จำกัดให้ให้มีการใช้ตำรวจในช่วงของการล็อกดาวน์นั่นเอง
นั่นจึงหมายความว่าในช่วงของวิกฤติโรคระบาดนั้น ภาระจึงตกเป็นของภาคธุรกิจและประชาชนเป็นหลักในการจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพราะว่ารัฐบาลไปบังคับอะไรมากไม่ได้
ทว่าการใช้แนวทางการควบคุมโรคที่มีความนุ่มนวลของญี่ปุ่นนั้นก็ส่งผลที่น่าทึ่งมาก เมื่อญี่ปุ่นมีอัตราผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 247 ราย ต่อประชากรหนึ่งล้านคน ขณะที่ประเทศไทยมีอัตราผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 435 ราย ต่อประชากรหนึ่งล้านคน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนั้นถือว่าต่ำสุดในกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ทั้งๆที่ญี่ปุ่นนั้นถือว่าเป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่ถือว่าเป็นกลุ่มเปราะบางมากที่สุดในโลกด้วยเช่นกัน
ข้อมูลเปรียบเทียบอัตรการเสียชีวิตต่อประชากรหนึ่งล้านคนของญี่ปุ่นกับประเทศอื่นๆ (อ้างอิงข้อมูลจาก Worldometers)
มีข้อมูลทางตัวเลขที่น่าสนใจจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตส่วนเกินของญี่ปุ่นนั้นอยู่ในทิศทางขาลงตั้งแต่ปี 2563-2564 ขณะที่ข้อมูลจากวารสารการแพทย์ Lancet ระบุว่าญี่ปุ่นนั้นมีตัวเลขผู้เสียชีวิตส่วนเกินสูงกว่า 6 เท่าเมื่อเทียบกับตัวเลขผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ที่รายงานโดยรัฐบาลระหว่างปี 2563-2564
ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตในปี 2563 นั้นพบว่าน้อยกว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตในปี 2562 ถึง 9,000 ราย แม้ว่าตัวเลขดังกล่าจะพุ่งขึ้นมาเมื่อปีที่ผ่านมาก็ตาม
ดังนั้นมาตรการการรับมือของประเทศญี่ปุ่นนั้นอาจจะเป็นบทเรียนที่สำคัญให้กับประเทศอื่นๆได้ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร ถ้าหากมีการระบาดครั้งใหญ่อีกไม่ว่าจะทั้งในปัจจุบันหรือว่าในอนาคต ซึ่งมาตรการดังต่อไปนี้นั้นคือสิ่งที่ทางผู้เชี่ยวชาญได้วิเคราะห์ไว้แล้วว่าเป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นได้ดำเนินการอย่างถูกต้องเพื่อรับมือกับการระบาด
@การปฏิบัติตามกฎระเบียบทางสังคม
ต้องยอมรับว่ากลยุทธ์การรับมือของประเทศญี่ปุ่นนั้นอาศัยการพึ่งพาประชาชนที่มีความสมัครในในการปฎิบัติตามคำแนะนำด้านการเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่จำนวนผู้ติดเชื้อนั้นพุ่งสูงขึ้น ซึ่งนี่เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการออกมาตรการควบคุมอย่างเข้มข้นจากบนลงล่าง อันจะส่งผลทำให้ประชาชนนั้นมีความรู้สึกต่อต้านและท้าทายกับสิ่งที่รัฐบาลได้บังคับมากกว่า
“ผู้คนนั้นสามารถที่จะใช้วิจารณญาณของตัวเองในการที่จะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและปรับปรุงพฤติกรรมของตัวเองได้ ซึ่งนี่ถือว่าเป็นบทบาทที่สำคัญยิ่ง” นพ.โนริโอ โอมางาริ หัวหน้าศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคที่ศูนย์สุขภาพและการแพทย์แห่งชาติและการแพทย์โลก และที่ปรึกษาของรัฐบาลโตเกียวกล่าว
โดยวิจารณญาณดังกล่าวที่ว่านี้รวมไปถึงการให้สวมใส่หน้ากาก ที่เริ่มตั้งแต่ช่วงแรกของการระบาด และยังคงเป็นพฤติกรรมที่มีความเป็นสากลจนถึงปัจจุบัน แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะออกมาบอกว่าประชาชนนั้นสามารถผ่อนคลายจาการใส่หน้ากากเมื่ออยู่ในที่แจ้งได้แล้วก็ตาม
ทั้งนี้ข้อมูลจากสถาบันสําหรับตัวชี้วัดสุขภาพและข้อมูลการประเมินผลนั้นระบุว่าประเทศญี่ปุ่นมีอัตราการสวมใส่หน้ากากอยู่ที่ 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆในกลุ่มจี 7 แล้วจะพบว่าประเทศเหล่านี้เข้าถึงอัตราการสวมใส่หน้ากากดังกล่าวได้แค่ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น
รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้ออกสโลแกนสามซีเอาไว้ซึ่งสามซีที่ว่านี้ประกอบด้วย การเหลีกเลี่ยงพื้นที่ปิด (closed spaces) พื้นที่แออัด (crowded places) และหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่จะติดต่อกันอย่างใกล้ชิด (close contact situations) ซึ่งสโลแกนดังกล่าวนี้เป็นเหมือนกับการตอกย้ำว่าต้องการให้ประชาชนดำเนินการอย่างไร
มาตรการ 3 C ของญี่ปุ่น (อ้างอิงวิดีโอจาก MOFA)
ส่งผลทำให้มีการปรับปรุงทั้งอาคารและรถแท็กซี่ให้มีลักษณะของการระบายอากาศมากขึ้น รวมไปถึงการใช้เครื่องตรวจวัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อแสดงให้เห็นว่าในแต่ละอาคารที่อยู่อาศัยนั้นมีการแลกเปลี่ยนของอากาศมากน้อยเท่าใดกันแน่
และแน่นอนว่าการที่มีข้อจำกัดที่ค่อนข้างน้อยดังกล่าวนั้นหมายความว่าญี่ปุ่นก็ไม่ได้เผชิญกับภาวะชะงักงันของการใช้ชีวิตประจำวันอันมาจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างรุนแรง แบบที่ประเทศอื่นๆอาทิ อิตาลี,จีน และนิวซีแลนด์ต้องเผชิญ
โดยการที่ไม่มีการบังคับอย่างเข้มงวดไปสู่ประชาชน ก็ทำให้ประชาชนนั้นสามารถจะทำตามข้อจำกัดได้ยาวนานขึ้น และไม่ออกมาประท้วงก่อความไม่สงบต่อต้านมาตรการล็อกดาวน์แบบที่เห็นกันในต่างประเทศ
แม้ว่าประชาชนในประเทศอื่นๆจะเร่งกลับมาใช้ชีวิตปกติกันแล้ว แต่ดูเหมือนว่าญี่ปุ่นจะยังคงเฝ้าระวังตัวอยู่ โดยกิจกรรมในย่านสถานบันเทิงของกรุงโตเกียวนั้นพบว่าลดลงไปถึง 40 เปอร์เซ็นต์เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงปี 2562 ก่อนการระบาด
@การฉีดวัคซีน
ก่อนภาวะโรคระบาดนั้นประชาชนญี่ปุ่นถือว่าเป็นกลุ่มที่มีการฉีดวัคซีนต่ำที่สุดในโลก แต่ว่าตอนนี้กลับกลายเป็นกลุ่มประชากรที่ได้รับการปกป้องสูงสุดในกลุ่มประเทศจี-7 เทียบเท่ากับประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาที่ได้เริ่มโครงการฉีดวัคซีนเมื่อหลายเดือนก่อน ซึ่งการฉีดวัคซีนของญี่ปุ่นนั้นเป็นการดำเนินการกันโดยไม่ต้องมีคำสั่งจากรัฐบาลแต่อย่างใด
ผู้เชี่ยวชาญได้ชี้ให้เห็นว่าในช่วงแรกนั้นญี่ปุ่นมีการแจกจ่ายวัคซีนค่อนข้างช้ามาก และยังประสบกับปัญหาความขาดแคลนวัคซีนอันเนื่องมาจากความเร่งรีบ โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรผู้สูงอายุ อีกทั้งญี่ปุ่นยังไม่มีปัจจัยทางการเมืองมาผลักดันให้เกิดการฉีดวัคซีนเท่ากับสหรัฐอเมริกา
แต่ว่าตอนนี้ข้อมูลจากสำนักนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นได้รายงานว่า 93 เปอร์เซ็นต์ของประชากรญี่ปุ่นที่มีอายุมากกว่า 65 ปีนั้นได้รับวัคซีนสองโดสเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอีก 90 เปอร์เซ็นต์ก็ได้รับวัคซีนบูสเตอร์เรียบร้อยแล้วเช่นกัน ส่วนข้อมูลทั้งประเทศญี่ปุ่นนั้นพบว่า 81 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศได้รับวัคซีนสองโดสไปแล้ว และอีก 61 เปอร์เซ็นต์ได้รับวัคซีนในโดสที่สามไปแล้ว
ซึ่งข้อมูลนี้ถือว่าแตกต่างกับในสหรัฐฯ ที่ ณ เวลานี้พบว่า 94 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 -74 ปีนั้นได้รับวัคซีนครบโดสไปแล้ว และ 88 เปอร์เซ็นต์ของประชากรมากกว่า 75 ปีได้รับวัคซีนสองโดสไปแล้ว
“ในเรื่องภูมิคุ้มกันนั้นต้องยกความดีความชอบให้กับประชาชนที่ยอมไปฉีดวัคซีน และในส่วนที่ติดเชื้อไปแล้ว ผมไม่คิดว่าอัตราการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือว่าเสียชีวิตในญี่ปุ่นนั้นจะพุ่งขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในเร็วๆนี้” นพ.เคนจิ ชิบูย่า นักระบาดวิทยาของมูลนิธิวิจัยนโยบายโตเกียวกล่าว
@ภาวะสุขภาพที่ดีของประชากร
อีกเหตุผลประการสำคัญที่ประชากรญี่ปุ่นนั้นมีอัตราการเสียชีวิตที่น้อยในช่วงระหว่างการระบาดนั้นมาจากพื้นฐานสุขภาพที่ดีของประชากรญี่ปุ่น โดยประเทศนี้นั้นถือว่ามีกลุ่มประชากรที่มีอายุขัยยืนยาวที่สุดในโลก และถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกองค์การ OECD ที่ไม่เห็นอัตราการลดลงของอายุขัยประชากรในช่วงปี 2563 ที่ผ่านา
โดยมีรายงานว่ามีแค่ประชากร 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีภาวะโรคอ้วน อันเป็นสาเหตุสำคัญนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงว่าจะมีการป่วยรุนแรงจากโควิด-19
ส่วนการสวมหน้ากากและการล้างมือนั้นก็ยังมีการดำเนินการอย่างสม่ำเสมอหลัง ซึ่งนี่สามารถจะลดอาการป่วยจากโรคอื่นๆอาทิ ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมานั้นเป็นโรคที่คร่าชาวญี่ปุ่นไปมากกว่า 10,000 รายต่อปี
มีรายงานว่าอัตราการเสียชีวิตของญี่ปุ่นจากโควิด เกือบทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นกับกลุ่มประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ซึ่งนี่เป็นข้อบ่งชี้ว่ากลุ่มคนวัยกลางคนและอายุน้อยกว่านั้นมีภาวะสุขภาพขั้นพื้นฐานที่ค่อนข้างจะมั่นคง ขณะที่ในสหรัฐฯพบว่าผู้เสียชีวิตหนึ่งในสี่นั้นเป็นกลุ่มที่มีอายุต่ำกว่า 65 ปี
ข่าวการเริ่มฉีดวัคซีนโดสสามในกลุ่มผู้สูงอายุในญี่ปุ่น (อ้างอิงวิดีโอจาก WION)
@การรักษาพยาบาลฟรี
เหมือนกับอีกหลายประเทศทั่วโลก ระบบสาธารณสุขของญี่ปุ่นนั้นอยู่ในภาวะตึงเครียดหลังจากการติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นสามารถจัดการให้มีการตรวจเชิงรุกได้อย่างเข้มแข็งในช่วงระหว่างการระบาด นี่จึงหมายความว่าทรัพยากรทำคัญต่างๆนั้นจะถูกส่งไปให้กับกลุ่มคนที่ต้องการได้จริงๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
มีการรายงานว่ามีการใช้เครือข่ายของศูนย์สาธารณสุขในพื้นที่เพื่อติดตามตัวผู้ป่วย และค้นหาที่พักไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลหรือว่าโรงแรมสำหรับผู้มีผลตรวจเป็นบวก โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ส่วนผู้ที่กักตัวอยู่ที่บ้านนั้นก็จะมีเจ้าหน้าที่ศุนย์สุขภาพเข้าไปติดต่ออยู่เป็นระยะ และก็จะมีการส่งแพทย์หรือว่าพยาบาลไปหาถ้าหากมีความจำเป็น
“เราทราบดีว่าการเข้าไปดูแลตังแต่เนิ่นๆนั้นสามารถช่วยได้หลายชีวิตมากกว่า ซึ่งระบบของประเทศเราก็พยายามที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ดังนั้นจึงทำให้ผู้ป่วยทุกรายนั้นจะต้องมีการเข้าไปดูแลและแทรกแซงตั้งแต่แรก” นพ.โอกามาริกล่าว
เรียบเรียงจาก:https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-06-17/how-japan-achieved-one-of-the-world-s-lowest-covid-death-rates#xj4y7vzkg