นักวิจัยพบข้อมูลว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนไม่ว่าจะเป็นวัคซีน โคเมอร์นาตีจากบริษัทไฟเซอร์และไบออนเทค และวัคซีนสไปค์แวกซ์จากบริษัทโมเดอร์นา ในช่วงแรกๆที่มีการประกาศใช้วัคซีน แต่ว่าบุคคลเหล่านี้กลับละเลยที่จะไปเสริมภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ กลุ่มบุคคลดังกล่าวนี้จะขาดภูมิคุ้มกันในการป้องกันอาการป่วยที่รุนแรงน้อยจนไปถึงในระดับปานกลางอันเนื่องมาจากการติดเชื้อโควิด-19
สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ณ เวลานี้ แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทยจะอยู่ในทิศทางขาลงจนจะเข้าสู่การทำให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นแล้ว
อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ที่มีการรายงานในแต่ละวันนั้นพบว่ามีผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้ฉีดวัคซีนแค่สองโดสแต่ไม่ฉีดบูสเตอร์เพิ่มขึ้นเป็นอัตราส่วนที่สูงขึ้นมากจนแซงหน้าผู้เสียชีวิตที่ไม่ได้รับวัคซีนไปแล้ว โดยผู้เสียชีวิตใหม่ในวันที่ 20 มิ.ย.ที่มีจำนวน 22 รายนั้นพบว่าเป็นผู้เสียชีวิตที่ฉีดวัคซีนแค่สองโดสถึงจำนวน 19 ราย
จากกรณีดังกล่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สืบค้นรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศมานำเสนอ ก็พบว่าสำนักข่าวลอสแอนเจลิสไทม์ของสหรัฐอเมริกาได้เคยลงบทความอ้างอิงผลการศึกษาที่ประเทศกาตาร์ว่าการฉีดวัคซีนแค่เพียงครบโดสนั้นอาจไม่พอกับการป้องกันการป่วยโควิดสายพันธุ์โอไมครอน
มีรายละเอียดดังนี้
การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพียงแค่สองโดสโดยไม่มีการฉีดวัคซีนบูสเตอร์นั้นไม่ได้มอบภูมิคุ้มกันที่มีความยั่งยืนให้ในการที่จะป้องกันการติดเชื้อจากโควิดสายพันธุ์โอไมครอน และผลวิจัยล่าสุดก็ระบุแล้วว่าการติดโควิดนั้นมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการฉีดบูสเตอร์เพื่อป้องกันการเกิดโรคที่มาจากโควิดสายพันธุ์โอไมครอน
โดยภูมิคุ้มกันใดๆที่มีต่อโควิดสายพันธุ์ที่มีขีดความสามารถในการแพร่เชื้อได้สูง ไม่ว่าภูมิคุ้มกันดังกล่าวนั้นจะมาจากการติดเชื้อหรือว่าการฉีดวัคซีนก็ตาม ก็ปรากฎว่าสามารถให้การป้องกันได้อย่างมีนัยยะสำคัญและมีความยั่งยืนอย่างยิ่งต่อการเจ็บป่วยรุนแรง การต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิต
บทวิเคราะห์การฉีดวัคซีนบูสเตอร์ในสหรัฐอเมริกา (อ้างอิงวิดีโอจาก WFAA)
ทำให้นักวิจัยนั้นได้ออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าถ้าหากคุณยังไม่ได้รับไวรัสหรือว่าไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ก็ควรที่จะไปฉีดวัคซีนดีกว่า
ผลการวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ลงในวารสารทางการแพทย์นิวอิงแลนด์ยังได้แสดงข้อมูลให้เห็นถึงอายุของภูมิคุ้มกันต่อโควิดสายพันธุ์ต่างๆ และให้ข้อมูลในรายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับการระบาดครั้งใหญ่ในอนาคตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
“โควิด-19 จะอยู่กับเราตลาอดไป มันจะไม่มีทางหายไปได้จริงๆ แต่คำถามสำคัญคือว่าเราจะสามารถอยู่กับมันได้หรือไม่” นพ.ไลต์ จามาล อาบู-ราดดาด นักระบาดวิทยาโรคติดเชื้อ ที่ศูนย์ไวล์ คอร์เนล เมดิซีน ณ ประเทศกาตาร์ และยังเป็นผู้ที่เขียนงานวิจัยกล่าวและกล่าวต่อว่าผลลัพธ์เบื้องต้นที่ได้รับมาเกี่ยวกับประเด็นเรื่องของภูมิคุ้มกันนั้นถือว่าเป็นข่าวดีอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ผลการศึกษาล่าสุดที่มาจากการเก็บข้อมูลทั่วประเทศกาตาร์ ซึ่งมีประชากร 3 ล้านคน โดยประเทศนี้นั้นมีประชากร 9 เปอร์เซ็นต์เป็นกลุ่มที่อายุมากกว่า 50 ปี อีก 89 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในประเทศพบว่าเป็นชาวต่างชาติ โดยประเทศกาตาร์นั้นมีโครงการตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิดที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง การฉีดวัคซีนในอัตราที่สูง และมีฐานข้อมูลที่ชัดเจนเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบจากการฉีดวัคซีนเมื่อเวลาผ่านไป
ปรากฏว่าประเทศกาตาร์นั้นก็ไม่ต่างจากประเทศอื่นที่เจอกับการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนในสายพันธุ์ย่อย BA.1 และ BA.2 นับตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค.-ปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา
นักวิจัยพบข้อมูลว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนไม่ว่าจะเป็นวัคซีน โคเมอร์นาตีจากบริษัทไฟเซอร์และไบออนเทค และวัคซีนสไปค์แวกซ์จากบริษัทโมเดอร์นา ในช่วงแรกๆที่มีการประกาศใช้วัคซีน แต่ว่าบุคคลเหล่านี้กลับละเลยที่จะไปเสริมภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ กลุ่มบุคคลดังกล่าวนี้จะขาดภูมิคุ้มกันในการป้องกันอาการป่วยที่รุนแรงน้อยจนไปถึงในระดับปานกลางอันเนื่องมาจากการติดเชื้อโควิด-19
และหกเดือนให้หลังจากการฉีดวัคซีนในโดสสองประชากรกลุ่มนี้ก็จะมีความเสี่ยงในการที่จะมีผลตรวจเป็นบวกและมีอาการของโรคเช่นเดียวกับคนอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ยังจะมีภูมิคุ้มกันพอจะป้องกันอาการป่วยรุนแรงได้
สำหรับการติดเชื้อก่อนหน้านี้นั้นพบว่ามีประสิทธิภาพอยู่ที่ประมาณ 46 เปอร์เซ็นต์ในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ แต่ว่าถ้าหากเป็นการฉีดวัคซีนครบโดสไปแล้วบวกด้วยการฉีดวัคซีนบูสเตอร์เพิ่มเติมอีก จะพบว่าค่าประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการนั้นจะไปอยู่ที่ 52 เปอร์เซ็นต์ และถ้าหากพบว่ามีการติดเชื้อก่อนหน้า ควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีนและการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ด้วยแล้ว จะพบว่าบุคคลนั้นมีอัตราการป้องกันการติดเชื้อโควิดสูงที่สุด โดยอยู่ที่ 77 เปอร์เซ็นต์
อนึ่งตัวเลขดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นถึงการลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับวันแรกๆของการฉีดวัคซีน โดยข้อมูลทางด้านผลทดลองทางคลินิกแสดงให้เห็นว่าในวันแรกๆของการฉีดวัคซีน พบว่าประสิทธิภาพนั้นจะอยู่ที่ 94-95 เปอร์เซ็นต์ ในการป้องกันการป่วยที่ไม่รุนแรงขึ้นไป อย่างไรก็ตามเมื่อไวรัสโควิดได้มีการกลายพันธุ์ จะทำให้วัคซีนนั้นมีประสิทธิภาพลดน้อยลงในการจดจำไวรัส และทำให้สามารถป้องกันการติดเชื้อได้น้อยลงตามไปด้วย
“ตัวเลขการหลบภูมิคุ้มกันนั้นพบว่ามีสูงขึ้นมาก กับสายพันธุ์โอไมครอน หลักๆก็คือว่ามันนั้นเหมือนกับเป็นไวรัสตัวใหม่ไปแล้ว” นพ.อาบู-ราดดาดกล่าว
บริษัทโมเดอร์นาอ้างว่าวัคซีนบูสเตอร์ของบริษัทนั้นสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนได้ (อ้างอิงวิดีโอจาก WKYC)
ทั้งนี้ในช่วงเวลาที่ผ่านไปเรื่อยๆนับตั้งแต่การเพิ่มภูมิคุ้มกันครั้งสุดท้ายไม่ว่าจะมาจากการฉีดวัคซีนหรือว่าการติดเชื้อนั้น ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายมีความเสื่อมถอยลงไปเรื่อยๆ ซึ่งภูมิคุ้มกันเสื่อมถอยดังกล่าวก็ทำให้อาการตอนที่ติดโควิดแสดงออกมาชัดเจน
“อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าส่วนสำคัญของเรื่องนี้ก็คือว่าภูมิคุ้มกันที่จะกันการป่วยรุนแรงต่อการติดโควิดนั้นจะยังคงถูกรักษาเอาไว้เป็นส่วนมาก” นพ.ราดดาดกล่าว
ทั้งนี้ผลการศึกษาดังกล่าวอาจจะเป็นการสื่อได้ว่าการติดเชื้อนั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์เทียบเท่ากับการฉีดวัคซีนแต่อย่างไนก็ตาม แพทย์หลายคนได้ออกมาเตือนชัดเจนว่าควรไปรับการฉีดวัคซีน ไม่ใช่ไปรับไวรัส
“มันเป็นเรื่องที่ปลอดภัยกว่ามากในการรับการฉีดวัคซีนแทนที่จะไปติดเชื้อ” นพ.เจฟฟรีย์ เคลาส์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อที่คณะแพทยศาสตร์ Keck ของมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนียกล่าว และกล่าวต่อไปว่าการทำงานของวัคซีนนั้นเป็นการให้นำเสนอแค่บางชิ้นส่วนของไวรัสเท่านั้น แต่ว่าถ้าหากเป็นไวรัสทั้งตัวแล้ว ถ้าคุณติดเชื้อไป มันจะแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย ทำให้เกิดอาการป่วยที่แตกต่างกันออกไปในหลายส่วนของร่างกาย และนี่คือเหตุผลสำคัญอย่างยิ่งทำให้เกิดอาการโควิดระยะยาวหรือที่เรียกว่าลองโควิดตามมา