"...เมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2558 เวลากลางวัน นายนรวรรธน์ โทรศัพท์ติดต่อนายสุรเดช แจ้งว่าให้เตรียมเงินสดไว้ 2,000,000 บาท โดยใช้คําเรียกว่า ให้เตรียมกระสุนไว้ 2 กิโล ...กระสุน หมายถึง เงินสด ส่วน 2 กิโล หมายถึง จํานวน 2 ล้านบาท เนื่องจากธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท จํานวน 1 ล้านบาท มีน้ำหนัก 1 กิโลกรัม..."
ในคำพิพากษาตัดสินคดีนี้ ยังมีรายละเอียดในส่วนของการนัดพบกัน ระหว่าง นายอภิชาติ ถนอมทรัพย์ จำเลยที่ 1 นายอเนก ใจพยุงตน จำเลยที่ 2 กับ นายเกษม กลั่นยิ่ง นายสุรเดช พรหมโชติ เพื่อหารือถึงแนวทางในการช่วยเหลือคดีและเรียกรับเงิน ซึ่งใช้คำศัพท์ ว่า "กระสุน" แทนคำว่า "เงินสด" รวมอยู่ด้วย
คือ ข้อมูลสำคัญที่ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ทิ้งท้ายไว้ เกี่ยวกับรายละเอียดสถานะและพฤติการณ์การกระทำความผิด นายอภิชาติ ถนอมทรัพย์ จำเลยที่ 1 และ นายอเนก ใจพยุงตน จำเลยที่ 2 ที่ปรากฏอยู่ในคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564 ในคดี ร่วมกันเรียกเงิน จำนวน 20 ล้านบาท จากนายเกษม กลั่นยิ่ง และนายสุรเดช พรหมโชติ ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ที่ถูกตรวจสอบทรัพย์สินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตอบแทนในการช่วยเหลือทางคดีเกี่ยวกับการถอนอายัดทรัพย์สิน ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ได้ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตาม ป.อ.มาตรา 149, 157, 164 พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ.2542 มาตรา 103 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 66 (2) ประกอบ ป.อ.มาตรา 86
- คุก12 ปี! อดีต ผอ.ปปง.ทุจริตเรียก20ล.ช่วยถอนอายัดทรัพย์คดีเงินกู้ช.พ.ค.-พวกรับโทษด้วย
- เปิดพฤติการณ์ทุจริตอดีตผอ.ปปง.-พวก(1) ถ่ายคำสั่งเพิกถอนทรัพย์ส่ง'ไลน์' ก่อนเรียก 20ล.
ต่อไปนี้ คือ รายละเอียดการนัดพบเพื่อหารือถึงแนวทางในการช่วยเหลือคดีและเรียกรับเงิน ของทั้งสองฝ่าย ซึ่งใช้คำศัพท์ ว่า "กระสุน" แทนคำว่า "เงินสด" ดังกล่าว
@ คำให้การ 'เกษม กลั่นยิ่ง' มัดติดต่อนัดพบเจรจาเรียกเงิน
ในการตัดสินคดีนี้ ของศาลฯ มีการพิจารณาคำให้การเบิกความของ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ที่ระบุว่า นายเกษม ได้ให้ถ้อยคํายืนยันต่อคณะอนุกรรมการไต่สวน ของ ป.ป.ช. ระบุว่า ไม่เคยรู้จัก นายอเนก ใจพยุงตน จำเลยที่ 2 มาก่อน แต่ได้รับทราบจาก นายนรวรรธน์ ภูภักดีสิรรัชต์ (ตัวละครสำคัญในคดีนี้) เล่าให้ฟังว่าได้รับติดต่อจากจําเลยที่ 2 ว่า รู้จักข้าราชการระดับสูงในสํานักงาน ปปง. ซึ่งเป็นผู้ดูแลคดีของนายเกษมและนายสุรเดชโดยตรง
สามารถจูงใจให้บุคคลดังกล่าวช่วยเหลือนายเกษมกับนายสุรเดชได้
นายเกษม จึงได้รู้จักและพบกับนายอเนก ใจพยุงตน จำเลยที่ 2 ครั้งแรก เมื่อช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม 2558 แล้วนายเกษมและนายสุรเดชได้มอบเงินสดดังกล่าวให้แก่นายนรวรรธน์ และนายนรวรรธน์ก็ได้นําไปมอบให้แก่จําเลยที่ 2 อีกทอดหนึ่ง
ในการพบกันครั้งที่ 1 ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2558 ที่ร้านอาหารชื่อ แมนโฮ โรงแรมเจดับบลิว แมริออทสุขุมวิท ซอย 2
วันดังกล่าวนายเกษมได้พบกับนายอเนก ใจพยุงตน จำเลยที่ 2 แล้วนายอเนก ใจพยุงตน แนะนําให้รู้จักนายอภิชาติ ถนอมทรัพย์ จำเลยที่ 1 โดยแนะนําให้ทุกคนรู้จักว่าชื่อ "นายอภิชาติ" แต่ไม่ได้บอกนามสกุล เป็นผู้อํานวยการประจําสํานักงาน ปปง. ซึ่งดูแลคดีของนายเกษมกับนายสุรเดชโดยตรง
นอกจากนั้น ยังพูดจูงใจว่า คดีที่นายเกษมและนายสุรเดชกําลังถูกตรวจสอบทรัพย์สินอยู่นี้ พอจะมีช่องทางที่จะช่วยเหลือกันได้
ต่อจากนั้นนายเกษมก็ได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับ สกสค. ให้นายอภิชาติ ถนอมทรัพย์ จำเลยที่ 1 ฟัง โดยขอโอกาสให้ตนเองได้ชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้นต่อนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ซึ่งนายอภิชาติ ถนอมทรัพย์ จำเลยที่ 1 ได้พูดคุยและสอบถามรายละเอียดต่าง ๆ จากนายเกษม
ก่อนแยกย้ายกลับ นายอภิชาติ ถนอมทรัพย์ จำเลยที่ 1 แจ้งว่าถ้ามีรายละเอียดเพิ่มเติมใดก็ขอให้แจ้งผ่านนายอเนก ใจพยุงตน จำเลยที่ 2
@ อภิชาติ ถนอมทรัพย์
การพบกันครั้งที่สอง เมื่อประมาณปลายเดือนพฤษภาคม 2558 ภายในร้านอาหารชื่อ “นายแกละ บางใหญ่" ตั้งอยู่ที่ทางคู่ขนานถนนกาญจนาภิเษกตําบลบางคูเวียง อําเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
นายอภิชาติ ถนอมทรัพย์ จำเลยที่ 1 เดินทางมาถึงสถานที่นัดหมายเวลาประมาณ 22 นาฬิกา อ้างว่าติดภารกิจร่วมประชุมกับ เลขาธิการ ปปง.
จากนั้นจําเลยทั้งสอง นายนรวรรธน์ ภูภักดีสิรรัชต์ และนายเกษมได้ร่วมกันเจรจาพูดคุยหาช่องทางช่วยเหลือนายเกษมและนายสุรเดช ซึ่งนายอภิชาติ ถนอมทรัพย์ จำเลยที่ 1 ได้นําเอกสารเกี่ยวกับรายการบัญชีธนาคารต่าง ๆ ของนายเกษมที่ถูกตรวจสอบมาแสดง แล้วแจ้งว่าหลายบัญชีมีเงินหมุนเวียนเกือบ 350,000,000 บาท และมีเงินเข้าบัญชีของนายสุรเดชประมาณ 400,000,000 บาท
อ้างว่าเป็นเงินที่โอนมาจากบัญชีของบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จํากัด
แต่บางบัญชีนายเกษมไม่รู้จัก
จึงได้โทรศัพท์หานายสุรเดช แล้วแจ้งให้นายสุรเดชทราบว่า ทางสํานักงาน ปปง. ตรวจสอบพบเงิน 200,000,000 บาท โอนเข้าบัญชีกสิกรไทยของนายสุรเดช
ให้นายสุรเดชคุยกับ จําเลยที่ 1
จากนั้นนายเกษมได้ส่งโทรศัพท์ให้นายอภิชาติ ถนอมทรัพย์ จำเลยที่ 1 พูดคุยกับนายสุรเดช
โดยจําเลยที่ 1 ได้สอบถามนายสุรเดชว่า “มีเงินเข้าบัญชีกสิกรไทย 200,000,000 บาท หรือไม่”
นายสุรเดชตอบว่า “ไม่มี” แล้วก็วางสายไป
หลังจากนั้น นายเกษม นายนรวรรธน์ และจําเลยทั้งสอง ได้ปรึกษาหารือเกี่ยวกับการช่วยเหลือทางคดีกันต่อ
แต่ก็ยังไม่ได้ระบุจํานวนเงินที่จะจ่ายเพื่อตอบแทนแลกเปลี่ยนกับการช่วยเหลือทางคดีที่ชัดเจน
โดยจําเลยที่ 1 ได้พูดแต่เพียงว่า ให้ไปคิดกันดู
ต่อมาการพบกันครั้งที่สี่ ช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2558 เวลาประมาณ 18 - 19 นาฬิกา ที่ร้านอาหารฮกกี่ ย่านถนนบรรทัดทอง ถนนจุฬา 34 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
หลังจากที่นายเกษมและนายสุรเดชได้รับแจ้งคําสั่งอายัดเงินฝากในบัญชีธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแล้ว นายนรวรรธน์นัดหมายกับนายเกษมและนายสุรเดชให้ไปพบจําเลยทั้งสองเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับคดี
หลังจากนั่งร่วมโต๊ะกัน จําเลยที่ 1 ได้หยิบเอกสารรายการเดินบัญชีของธนาคาร (Statement) และเอกสารจํานวนหลายแผ่นมาให้ดูรวมทั้งได้มีการพูดคุยกันในประเด็นเกี่ยวกับวิธีการในการช่วยเหลือทางคดีที่ถูกดําเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
ระหว่างรับประทานอาหารนายเกษมสังเกตว่าจําเลยทั้งสองมีความสนิทสนมกันเป็นอย่างยิ่ง
เพราะจําเลยที่ 1 จะมอบหมายเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับการช่วยเหลือทางคดีให้จําเลยที่ 2 เป็นตัวแทนอยู่ตลอด
สุดท้ายก่อนกลับ จําเลยที่ 2 เรียกเงินสดจากนายเกษมและนายสุรเดช 20,000,000 บาท เพื่อเป็นค่าตอบแทนในการช่วยเหลือทางคดีดังกล่าว
ซึ่งในขณะนั้น จําเลยที่ 1 ก็ได้อยู่ร่วมและรับรู้ถึงการกระทําของจําเลยที่ 2 ที่ได้เรียกเงินเพื่อเป็นค่าตอบแทนในการช่วยเหลือทางคดีเกี่ยวกับการถอนอายัดทรัพย์สินของบุคคลทั้งสองดังกล่าว
สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ได้ความจากนายสุรเดชที่ให้การหรือให้ถ้อยคําไว้ต่อคณะอนุกรรมการไต่สวน พนักงานสอบสวน และพนักงานเจ้าหน้าที่ของสํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพยานเบิกความว่า เคยให้การไว้ต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนพนักงานสอบสวน และพนักงานเจ้าหน้าที่ของสํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินตามบันทึกถ้อยคําและเอกสารที่เกี่ยวข้อง ยังคงยืนยันข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏดังกล่าวไม่ประสงค์เบิกความแก้ไขเปลี่ยนแปลง
โดยนายสุรเดชให้ถ้อยคําไว้ต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนว่า ยืนยันตามคําให้การที่ให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2558 และวันที่ 18 มกราคม 2559 พร้อมทั้งยืนยันตัวบุคคลจําเลยที่ 1
เมื่อพิจารณาคําให้การของนายสุรเดชเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2558 ตามบันทึกคําให้การพยานเอกสารซึ่งนายสุรเดชให้การว่า การพบกันระหว่างนายเกษม นายนรวรรธน์ และจําเลยทั้งสองในครั้งที่สอง นายเกษมส่งโทรศัพท์ให้นายสุรเดชคุยกับจําเลยที่ 1 แล้วจําเลยที่ 1 สอบถามนายสุรเดชว่ามีเงินโอนเข้าบัญชีเงินธนาคารกสิกรไทย 200,000,000 บาทหรือไม่
นายสุรเดชตอบว่าไม่มี และวางสายสนทนาไป
@ ระบุชัด เตรียมกระสุนไว้ 2 กิโล
ต่อมาเมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2558 เวลากลางวัน นายนรวรรธน์ โทรศัพท์ติดต่อนายสุรเดช แจ้งว่าให้เตรียมเงินสดไว้ 2,000,000 บาท โดยใช้คําเรียกว่า ให้เตรียมกระสุนไว้ 2 กิโล
(กระสุน หมายถึง เงินสด ส่วน 2 กิโล หมายถึง จํานวน 2 ล้านบาทเนื่องจากธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท จํานวน 1 ล้านบาท มีน้ำหนัก 1 กิโลกรัม)
เพื่อให้ดําเนินการช่วยเหลือทางคดีให้มีการเพิกถอนการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของนายสุรเดช
ส่วนวิธีในการนําเงินไปมอบให้กับจําเลยทั้งสองนั้น นายนรวรรธน์จะเป็นผู้ดําเนินการเช่นเดียวกับกรณีของนายเกษม
ต่อมาในวันที่ 23 กรกฎาคม 2558 เวลากลางวัน นายสุรเดชได้เตรียมเงินสด 2,000,000 บาท ไว้ที่บ้านพักโดยเป็นของตนเอง 1,000,000 บาท และอีก 1,000,000 บาทเป็นของภรรยา
โดยในวันดังกล่าวนายนรวรรธน์ขับรถยนต์ พานายอเนก ใจพยุงตน จำเลยที่ 2 เดินทางไปพบนายสุรเดช ที่บ้านพักเลขที่ 55/1 หมู่ 14 ตําบลบางวัว อําเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อรับเงิน 2,000,000 บาท ตามที่ตกลงกัน
แล้วนายนรวรรรธน์ก็ได้นําเงิน 2,000,000 บาท ซึ่งบรรจุอยู่ในซองกระดาษสีน้ำตาลเดินกลับไปที่รถยนต์แล้ว เดินทางออกจากบ้านพักของนายสุรเดชเพื่อกลับเข้ากรุงเทพมหานคร โดยนายสุรเดชได้รับแจ้งจากนายนรวรรธน์ว่าได้ไปส่ง นายอเนก ใจพยุงตน จำเลยที่ 2 ที่โรงแรมเอเชีย ถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เวลาประมาณ 16 นาฬิกา
ในส่วนข้อเท็จจริงที่ได้ความจากนายสุรเดชให้ถ้อยคําไว้ เมื่อพิจารณาบันทึกถ้อยคํา ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่สํานักงาน ปปง. สอบถ้อยคํานายสุรเดช เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 รวมทั้งให้ยืนยันภาพถ่ายและข้อมูลประจําตัวประชาชนของ นายอภิชาติ ถนอมทรัพย์ จำเลยที่ 1 และข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายอเนก ใจพยุงตน จำเลยที่ 2 ที่ใช้ติดต่อกับนายสุรเดช ก็ปรากฏข้อความว่า เมื่อประมาณปลายเดือนพฤษภาคม 2558 ถึงต้นเดือนมิถุนายน 2558 ในวันที่นายเกษม นายนรวรรธน์ และจําเลยทั้งสองนัดพบกัน นายเกษมโทรศัพท์หานายสรุเดช แจ้งว่า ทาง ปปง. ตรวจสอบพบเงิน 200,000,000 บาท โอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทยของนายสุรเดช นายสุรเดชจึงได้พูดคุยกับบุคคลซึ่งทราบภายหลังว่าคือ นายอภิชาติ ถนอมทรัพย์ จำเลยที่ 1 ทางโทรศัพท์
นายอภิชาติ ถนอมทรัพย์ จำเลยที่ 1 สอบถามนายสุรเดชว่ามีเงินโอนเข้าบัญชีธนาคารกสิกรไทย 200,000,000 บาท นายสุรเดชจึงตอบไปว่าไม่มี แล้ววางสาย
โดยในการให้ถ้อยคําดังกล่าวนายสุรเดชได้รับรองภาพถ่ายและบุคคลของ นายอภิชาติ ถนอมทรัพย์ จำเลยที่ 1 ซึ่งปรากฏข้อความว่านายสุรเดช มอบเงินสด 2,000,000 บาท ให้แก่นายอเนก ใจพยุงตน จำเลยที่ 2 เพื่อนําไปมอบให้แก่จําเลยที่ 1 ใช้เป็นค่าวิ่งเต้นช่วยเหลือไม่ให้มีการอายัดทรัพย์สินของนายสุรเดชที่ถูกสํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอายัดไว้
นอกจากนี้ ต่อมานายสุรเดชให้ถ้อยคําเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 โดยปรากฏข้อเท็จจริงว่านายสุรเดชเข้าให้ถ้อยคําเพิ่มเติมเนื่องจากนายอภิชาติ ถนอมทรัพย์ จำเลยที่ 1 โทรศัพท์ติดต่อนายสุรเดช เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2558 และวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 พร้อมทั้งให้ข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายสุรเดชที่จําเลยที่ 1 โทรศัพท์ติดต่อ และหมายเลขโทรศัพท์ของจําเลยที่ 1 ที่ใช้โทรศัพท์ติดต่อนายเกษมดังกล่าว รวมทั้งรายละเอียดในการสนทนา และภาพถ่ายหน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าว
@ สาวลึก! ข้อมูลการติดต่อทางมือถือโทรคุยนับร้อยสาย
ทั้งนี้ ในคำพิพากษายังระบุถึงคำให้การของ นาย ว. เจ้าหน้าที่สำนักงาน ปปง. ระบุว่า ได้รับคําสั่งจากเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้ตรวจสอบกรณีกองข่าวกรองทางการเงินได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ ปปง. มีพฤติการณ์ทุจริตในคดีการตรวจสอบธุรกรรมและทรัพย์สินรายนายเกษม กลั่นยิ่ง กับพวก ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ก่อนจะมีการรายงานผลการตรวจสอบกรณีร้องเรียนพนักงานเจ้าหน้าที่ ปปง.ดังกล่าวต่อเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน รายงานว่า ตามที่นายสุรเดชให้ถ้อยคําเกี่ยวกับการติดต่อทางโทรศัพท์กับ นายอภิชาติ ถนอมทรัพย์ จำเลยที่ 1 คณะพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวแล้วพบว่าเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2558 เวลา 17.35 นาฬิกา จําเลยที่ 1 ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข xx-xxxx--xxxx โทรศัพท์ติดต่อหมายเลขโทรศัพท์ xx-xxxx--xxxx ที่นายสุรเดชมีไว้ใช้ติดต่อ ในวันดังกล่าว เวลา 17.07 นาฬิกา และเวลา 17.58 นาฬิกา โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข xx-xxxx--xxxx ซึ่งเป็นหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่จําเลยที่ 1 แจ้งไว้ในสมุดโทรศัพท์สํานักงาน ปปง. โทรศัพท์ ติดต่อหมายเลขโทรศัพท์ xx-xxxx--xxxx ที่นายสุรเดชมีไว้ใช้ติดต่อ
โดยปรากฏข้อมูลการตรวจสอบดังกล่าวตามที่บริษัทแอดวานซ์ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จํากัด แจ้งผลการตรวจสอบ คณะพนักงานเจ้าหน้าที่ยังได้รายงานการตรวจสอบข้อมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายอเนก ใจพยุงตน จำเลยที่ 2 จากการตรวจสอบข้อมูลการใช้ โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข xx-xxxx--xxxx และ xx-xxxx--xxxx ที่จําเลยที่ 2 ใช้เป็นประจําตามที่นายนรวรรธน์และนายสุรเดชแจ้ง พบข้อมูลว่าช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2558 โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข xx-xxxx--xxxx มีการใช้โทรศัพท์ติดต่อกับนายนรวรรธน์ 103 ครั้ง และใช้โทรศัพท์ติดต่อกับจําเลยที่ 1 จํานวน 161 ครั้ง
ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่ หมายเลข xx-xxxx--xxxx ใช้โทรศัพท์ติดต่อกับนายนรวรรธน์ 50 ครั้ง และใช้โทรศัพท์ติดต่อกับจําเลยที่ 1 จํานวน 84 ครั้ง
แสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ของจําเลยที่ 1 ในการช่วยเหลือในทางคดีตามคําให้การของจําเลยที่ 2
โดยจําเลยที่ 1 ใช้ระบบไลน์ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่งภาพเข้ามายังเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจําเลยที่ 2 อันอาจเข้าลักษณะกระทําความผิดตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 กรณีรู้หรืออาจรู้ความลับในราชการเกี่ยวกับการดําเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว กระทําด้วยประการใดๆ ให้ผู้อื่นรู้หรืออาจรู้ความลับดังกล่าว
ทั้งยังปรากฏข้อมูลเอกสารและข้อมูลอื่นที่แสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ของจําเลยที่ 1 ในการช่วยเหลือทางคดีตามคําให้การของจําเลยที่ 2 ด้วย
การที่จําเลยที่ 1 เป็นผู้ส่งข้อมูลทางคดีของ ปปง. ให้ผู้อื่นทราบผ่านในช่องทางไลน์ กรณีดังกล่าวคณะพนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้รายงานผลการดําเนินการต่อเลขาธิการคณะกรรมการ ปปง. เพื่อประกอบ การพิจารณาดําเนินการทางวินัย รวมทั้งดําเนินคดีอาญาแก่เจ้าหน้าที่รัฐและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการ ปปง. ได้สั่งการให้ดําเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องประกอบกับทางไต่สวนก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการติดต่อสื่อสารกันในระบบไลน์ (LINE) ระหว่าง จำเลยทั้งสอง
โดยจำเลยที่ 2 บันทึกหมายเลข xx-xxxx--xxxx ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจําเลยที่ 2 โดยใช้ชื่อว่า “อภิชาติ ปปง.”
นอกจากนี้จําเลยที่ 1 ยังใช้หมายเลข xx-xxxx--xxxx , xx-xxxx-xxxx และ xx-xxxx-xxxx ในการติดต่อกับจําเลยที่ 2 ซึ่งจําเลยที่ 2 บันทึกหมายเลขดังกล่าวโดยใช้ชื่อว่า “ปปง”
ส่วนในระบบไลน์ (LINE) จะมีรูปภาพถ่ายโปรไฟล์ (Profile) เป็นภาพใบหน้าของจําเลยที่ 1 อย่างชัดเจน
@ ข้อต่อสู้จําเลยน้ำหนักน้อยฟังไม่ขึ้น
คำพิพากษาของศาลฯ ยังระบุด้วยว่า ข้อต่อสู้ที่จําเลยทั้งสองนําเข้าไต่สวนอ้างว่าจําเลยที่ 2 สร้างสถานการณ์แอบอ้างจําเลยที่ 1 เพื่อใช้ประโยชน์เรียกเงินค่าจ้างเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายมีน้ำหนักน้อย
ทั้งไม่ปรากฏว่าจําเลยที่ 2 ยกขึ้นอ้างตั้งแต่ต้น ทั้งที่เป็นข้อเท็จจริงอันสําคัญที่จะแสดงถึงนิติสัมพันธ์ระหว่างจําเลยที่ 2 กับนายเกษมและนายสุรเดช
ประกอบกับทางไต่สวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงให้รับฟังได้ว่า พยานบุคคลต่าง ๆ ดังกล่าวมีสาเหตุโกรธเคืองกับจําเลยที่ 1 แล้วสร้างเรื่องให้ถ้อยคําปรักปรำจําเลยที่ 1 จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่ามีบุคคลสร้างสถานการณ์เพื่อใส่ร้ายจําเลยที่ 1 ให้ต้องได้รับโทษทางอาญาร้ายแรง
ส่วนที่ได้ความจากนายนรวรรธน์เบิกความว่า กรณีที่เกิดขึ้นเนื่องจากจําเลยที่ 1 แอบอ้างจําเลยที่ 2 โดยจําเลยที่ 2 ไม่ได้นําเงินที่ได้รับจากนายเกษมและนายสุรเดชไปมอบให้แก่จําเลยที่ 1
ส่วนที่นายเกษมเบิกความว่าไม่ได้ติดต่อ จําเลยที่ 1 ขอให้ช่วยเหลือทางคดี เพียงแต่ขอความเป็นธรรม ยืนยันว่าไม่มีการวิ่งเต้นให้ล้มคดี จําเลยที่ 1 ไม่เคยนําเอกสารให้นายเกษมดู จําไม่ได้แล้วว่าได้ส่งโทรศัพท์ให้จําเลยที่ 1 หรือ จําเลยที่ 2 พูดคุยกับนายสุรเดชหรือไม่ ข้อความที่ปรากฏในบันทึกต่าง ๆ ไม่ได้อ่านก่อนลงลายมือชื่อเนื่องจากเข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องร้ายแรง และที่นายสุรเดชเบิกความว่าเหตุที่ไปกลับคําให้การว่าไม่มีการเรียกเงิน 2,000,000 บาท เนื่องจากเมื่อนึก ๆ ว่าเคยได้ให้การไว้จึงประสงค์ให้การแก้ไขข้อเท็จจริงโดยไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงปรากฏข้อความว่ามีการเรียกเงิน20,000,000 บาท อยู่ในบันทึกถ้อยคําได้ และที่ปรากฏข้อเท็จจริงจากทางไต่สวนว่านายนรวรรธน์ขอถอนคําร้องทุกข์กล่าวโทษ และจําเลยที่ 2 ไม่ประสงค์ขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. กันจําเลยที่ 2 ไว้เป็นพยานแล้วนั้น
ข้อเท็จจริงที่ได้ความจากพยานบุคคลดังกล่าวล้วนเป็นการกล่าวอ้างขึ้นภายหลังจากที่มีโอกาสใช้ระยะเวลาทบทวน ปั้นแต่งข้อเท็จจริงเพื่อยกขึ้นกล่าวอ้างจึงมีน้ำหนักน้อย
เมื่อประกอบกับ พยานหลักฐานที่จําเลยทั้งสองยกขึ้นเพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้ล้วนไม่มีน้ำหนักพิสูจน์หักล้างข้อเท็จจริง ที่ฟังได้จากพยานหลักฐานที่โจทก์ชี้ช่องนําเข้าไต่สวนดังกล่าว
ส่วนข้อเท็จจริงอื่นที่ยกขึ้นอ้างเป็น เพียงรายละเอียดของเหตุการณ์ ทั้งการอ้างฐานที่อยู่ของจําเลยที่ 1 ก็ไม่มีน้ำหนัก กรณีการร่วมมือกันรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อจัดทําสํานวนของพนักงานเจ้าหน้าที่และพนักงานสอบสวนหากแม้ฟังได้เช่นนั้นก็ไม่มีผลทําลายน้ำหนักพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการกระทําและพฤติการณ์ของจําเลยทั้งสอง
พยานหลักฐานที่จําเลยทั้งสองยกขึ้นเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่มีผลให้พยานหลักฐานที่โจทก์ชี้ช่องมีพิรุธไม่อาจรับฟังได้
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุนายอภิชาติ ถนอมทรัพย์ จำเลยที่ 1 ดํารงตําแหน่งผู้อํานวยกองคดี 2 สํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มีอํานาจหน้าที่รับผิดชอบในการสืบสวนและเก็บรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดําเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดและดําเนินคดีกับผู้กระทําความผิดฐานฟอกเงิน ปฏิบัติหรือประสานการปฏิบัติเพื่อการสืบสวน ตรวจค้น ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน และรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดําเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้บริหารระดับสูง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจําเลยทั้งสองร่วมกันกระทําการเรียกรับผลประโยชน์จากนายเกษมกับพวก
โดยมีพฤติการณ์ให้นายอเนก ใจพยุงตน จำเลยที่ 2 ร่วมติดต่อรับเงินเพื่อนําไปส่งมอบแก่จําเลยที่ 1 พยานหลักฐานที่โจทก์นําเข้าสืบไต่สวน
จึงมีน้ำหนักให้ฟังได้ว่าจําเลยทั้งสองร่วมกันส่งเอกสารดังกล่าวอันถือได้ว่าเป็นความลับของทางราชการให้แก่บุคคลภายนอกได้รับรู้
ข้อเท็จจริงที่จําเลยทั้งสองยกขึ้นอ้างโดยปราศจากพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนว่าภาพถ่ายเอกสารดังกล่าวจําเลยที่ 2 อาศัยโอกาสที่ไปพบจําเลยที่ 1 ที่ห้องทํางานของจําเลยที่ 1 แล้วแอบลักลอบถ่ายรูปเอกสารดังกล่าว รวมทั้งที่จําเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นการส่งให้ภายหลังจากประธานกรรมการธุรกรรมลงลายมือชื่อแล้ว ล้วนยังไม่มีน้ำหนักหักล้างข้อเท็จจริงดังกล่าวที่ฟังได้จากพยานหลักฐานที่โจทก์ชี้ช่อง การกระทําดังกล่าวของจําเลยทั้งสองจึงเป็นการกระทําความผิดฐานร่วมกันกระทําโดยประการใด ๆ อันมิชอบด้วยหน้าที่ให้ผู้อื่นล่วงรู้ความลับนั้น ฐานรู้หรืออาจรู้ความลับในราชการเกี่ยวกับการดําเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กระทําโดยประการใด ๆ ให้ผู้อื่นรู้หรืออาจรู้ความลับดังกล่าว และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการกระทํากรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทกระทงหนึ่ง และถือเป็นความผิดสําเร็จแยกต่างหากจากความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเองหรือผู้อื่นข้างต้นอีกกระทงหนึ่ง
ส่วนจําเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามิใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมาย เมื่อร่วมกันกระทําความผิดกับจําเลยที่ 1 การกระทําของจําเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทําความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวของจําเลยที่ 1
ในส่วนเงิน6,000,000 บาท เมื่อกรณีฟังได้ว่าจําเลยทั้งสองกระทําความผิดตามฟ้องโจทก์ จึงเป็นทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคํานวณเป็นราคาเงินได้ที่บุคคลได้มาจากการกระทําความผิด หรือจากการเป็นผู้ใช้ ผู้สนับสนุน หรือผู้โฆษณาหรือประกาศให้ผู้อื่นกระทําความผิด และเป็นทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคํานวณเป็นราคาเงินได้ที่บุคคลได้ให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อจูงใจให้กระทําการไม่กระทําการ หรือประวิ่งการกระทําอันมิชอบด้วยหน้าที่ หรือที่เจ้าหน้าที่รัฐได้มาจากการกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ จึงให้ริบตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพ.ศ. 2554 มาตรา 31 (2), 32 (1) (2) หากจําเลยทั้งสองไม่สามารถส่งมอบเงินได้ เพราะสูญหายหรือไม่สามารถติดตามเอาคืนได้ไม่ว่าด้วยเหตุใดหรือได้มีการนําเงินนั้นไปรวมเข้ากับทรัพย์สินอื่นหรือได้มีการจําหน่ายจ่ายโอนเงินนั้นหรือการติดตามเอาคืนจะกระทําได้โดยยากเกินสมควรหรือมีเหตุอันสมควรประการอื่น ให้จําเลยทั้งสองร่วมกันชําระเป็นเงินแทนตามมูลค่าเงินจํานวนดังกล่าวตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2554 มาตรา 33
@ ศาลพิพากษาลงโทษหนักไม่รอลงอาญา
พิพากษาว่า นายอภิชาติ ถนอมทรัพย์ จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 , 157 และ 164 ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 103, 122 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 66 (2)
นายอเนก ใจพยุงตน จำเลยที่ 2 มีความผิดตามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 , 157 และ 164 ประกอบมาตรา 86 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 66 (2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
การกระทําของจําเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเองหรือผู้อื่น และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลนอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย หรือกฎ ข้อบังคับ ที่ออกโดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เป็นการกระทําอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเองหรือผู้อื่นซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
ลงโทษจําคุกจําเลยที่ 1 เป็นเวลา 10 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานรู้หรืออาจรู้ความลับในราชการ กระทําโดยประการใด ๆ อันมิชอบด้วยหน้าที่ ให้ผู้อื่นล่วงรู้ความลับนั้น ฐานรู้หรืออาจรู้ความลับในราชการเกี่ยวกับการดําเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กระทําโดยประการใด ๆ ให้ผู้อื่นรู้หรืออาจรู้ความลับดังกล่าว และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเป็นการกระทําอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ลงโทษจําคุกจําเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเองหรือผู้อื่น และฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลนอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย หรือกฎ ข้อบังคับ ที่ออกโดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เป็นการกระทําอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานเรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเองหรือผู้อื่น ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษ
จําคุกจําเลยที่ 2 เป็นเวลา 5 ปี 4 เดือน ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานรู้หรืออาจรู้ความลับในราชการ กระทําโดยประการใด ๆ อันมิชอบด้วยหน้าที่ให้ผู้อื่นล่วงรู้ความลับนั้น ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และฐานรู้หรืออาจรู้ความลับในราชการเกี่ยวกับการดําเนินการตามพระราชบัญญัติเป็นการกระทําอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจําคุกจําเลยที่ 2 เป็นเวลา 1 ปี 4 เดือน
รวมจําคุกจําเลยที่ 1 เป็นเวลา 12 ปี จําคุกจําเลยที่ 2 เป็นเวลา 5 ปี 12 เดือน ให้ริบเงิน 6,000,000 บาท
หากจําเลยทั้งสองไม่สามารถส่งมอบเงินดังกล่าวได้ เพราะสูญหายหรือไม่สามารถติดตามเอาคืนได้ไม่ว่าด้วยเหตุใดหรือได้มีการนําเงินนั้นไปรวมเข้ากับทรัพย์สินอื่นหรือได้มีการจําหน่ายจ่ายโอนเงินนั้นหรือการติดตามเอาคืนจะกระทําได้โดยยากเกินสมควรหรือมีเหตุอันสมควรประการอื่น
ให้จําเลยทั้งสองร่วมกันชําระเป็นเงิน 6,000,000 บาท
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า คดียังไม่สิ้นสุด จำเลยทั้งสอง มีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
แต่ไม่ว่าผลการพิจารณาคดีจะออกมาเป็นอย่างไร คดีนี้นับเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาสำคัญ ของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ให้เดินย้ำซ้ำรอยเอาเป็นเยี่ยงอย่างในอนาคตอีกต่อไป